FTA …อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยขาดดุลกับญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้น

จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเจรจาเปิดเขตเสรีการค้า (FTA) กับนานาประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วกับ 5 ประเทศ และอีก 1 กลุ่มประเทศ ประกอบด้วย เขตเสรีการค้าไทย-จีน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน (ACFTA) เขตเสรีการค้าไทย-อินเดีย (ITFTA) เขตเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เขตเสรีการค้าไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) เขตเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และเขตเสรีการค้าไทย-อาเซียน (AFTA) ซึ่งแม้ว่าการเปิดเสรีการค้าจะมีผลดีต่อการช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขยายตลาดออกไปได้มากขึ้น จากราคาสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ และช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาดเนื่องจากสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงประโยชน์ที่จะได้จากผลของข้อตกลงในส่วนของสินค้าชนิดอื่นที่เป็นปัจจัยการผลิตซึ่งไทยจะสามารถนำเข้าได้ในราคาถูกลง เป็นต้น ทว่าการเปิดเสรีการค้าอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมได้เช่นกัน หากอุตสาหกรรมยังไม่มีความพร้อมพอที่จะแข่งขันกับประเทศที่ไทยไปทำการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะในแง่ของต้นทุนการผลิต ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยภายใต้การเปิดเขตเสรีการค้าในแง่มุมต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย

จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 3,905.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนประมาณร้อยละ 26.4 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ซึ่งแม้การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจะมีการขยายตัวดีในหลายประเทศ แต่พบว่ามีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และบางประเทศในสหภาพยุโรป ที่มีการหดตัวของยอดการส่งออก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลงอย่างมาก และการลดกำลังการผลิตในประเทศเหล่านี้

ส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 3,056.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนประมาณร้อยละ 27.3 โดยคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ซึ่งจากตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าดังกล่าวส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์เกินดุลเป็นมูลค่า 848.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้หากสังเกตจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยในช่วง 9 เดือนแรกตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2550 จะพบว่ามูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 34.1 ส่วนมูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ซึ่งหากดูจากตัวเลขการขยายตัวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 จะเห็นว่าการส่งออกมีการขยายตัวลดลงจากในอดีต ขณะที่การนำเข้ากลับมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากผลจากการเปิดเสรีการค้า โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น

จากมูลค่าการตลาดระหว่างประเทศกับประเทศที่ไทยได้ทำการเปิดเสรีการค้า และได้มีผลบังคับใช้แล้วนั้นพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 2,396.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงประมาณร้อยละ 40.7 และมูลค่าการส่งออกนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 61.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของชิ้นส่วนรถยนต์ไทยและเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ในปี 2550 มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55.1 โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย จีน และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้นนี้ คาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการทำเขตเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ส่งผลให้มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นถึงร้อยละ 36.4 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

ส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ในช่วง 9 เดือนแรกมีมูลค่ารวม 2,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนประมาณร้อยละ 22.7 และมูลค่าการนำเข้านี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 82.9 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของชิ้นส่วนฯทั้งหมดและเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้วที่มีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาประมาณร้อยละ 86.0 โดยคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ กลุ่มประเทศอาเซียน จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ซึ่งการขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลที่เกิดจากการทำเขตเสรีการค้า ไทย-ญี่ปุ่น ส่งผลให้มีการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นถึงร้อยละ 21.2 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จากที่มีการขยายตัวร้อยละ 0 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยที่ร้อยละ 87.0 ของชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีการนำเข้ามาจากญี่ปุ่นเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทส่วนประกอบ และอุปกรณ์รวมทั้งโครงรถและตัวถัง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมทั้งหมดเกินดุลก็ตาม แต่จากตัวเลขการค้าระหว่างประเทศคู่เจรจาดังกล่าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ขาดดุลเป็นมูลค่าประมาณ 135.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการขาดดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นสูงถึง 1138 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้วที่ขาดดุลไป 1,004.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 13.3 และเป็นการขาดดุลกับประเทศจีน 77.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้วที่ขาดดุลไป 41.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างมากถึงร้อยละ 85.8 ขณะที่คู่เจรจาอื่นๆไทยเกินดุลทั้งหมด โดยที่เกินดุลมากที่สุดกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันถึง 824.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลีย 132.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประเทศอินเดีย 100.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประเทศนิวซีแลนด์ที่ไทยได้ดุลรวม 21.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเปิดการค้าเสรีนั้นไม่เพียงสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทยเท่านั้น แต่ทว่ายังเป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศด้วยที่ต้องรับมือกับคู่แข่งหน้าใหม่จากต่างประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขัน

โอกาสและความท้าทายจากการเปิดเสรีการค้าต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย

จากข้อมูลตัวเลขการส่งออกในเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่าการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศของไทยส่งผลต่อการขยายการส่งออกไปยังนานาประเทศที่ไทยได้ร่วมทำการเปิดเสรีการค้า พร้อมกันนี้ก็เพิ่มความท้าทายและอุปสรรคให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศด้วย จากการเข้ามาทำตลาดของชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างประเทศ โดยในส่วนของประโยชน์และโอกาสจากการเปิดเสรีการค้าที่ไทยได้รับมีดังนี้

การเปิดเสรีการค้าส่งผลดีในทางตรงต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย โดยการทำให้ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้นทั้งในส่วนของชิ้นส่วน OEM และ REM เนื่องจากการลดกำแพงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศคู่สัญญาจะทำให้สินค้าจากไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในด้านราคาได้ ทั้งนี้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยนั้นได้มีแนวทางการลดภาษีภายใต้กรอบการเจรจาต่างๆดังนี้

– ชิ้นส่วนยานยนต์ 9 รายการที่อยู่ภายใต้กรอบการเจรจากับอินเดียซึ่งอยู่ในรายการสินค้าเร่งลดภาษี 82 รายการนั้นปัจจุบันได้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 แล้ว
– รายการที่ทำการเจรจากับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มอาเซียนนั้นจะทำการลดลงเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดในปี 2553
– ส่วนรายการที่ทำการเจรจากับจีน ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน
– จะมีเพียงบางรายการที่จัดอยู่ในประเภทสินค้าปกติ ซึ่งหากมีอัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าร้อยละ 20 ได้ทำการลดลงเหลือร้อยละ 20 แล้วในปี 2548 และจะทยอยลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 เช่น หม้อน้ำ และ กระปุกเกียร์ เป็นต้น และบางรายการที่จัดอยู่ในประเภทสินค้าปกติได้รับความยืดหยุ่นให้ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ได้ถึงปี 2557
– ในส่วนสินค้ารายการอื่นๆที่ได้มีการนำเข้าไปอยู่ในการเจรจานั้นยังจัดอยู่ในรายการที่มีความอ่อนไหวสูงและจะคงภาษีเดิมที่ร้อยละ 10 ถึง 42 ซึ่งก็อยู่ในข้อตกลงเบื้องต้นที่จะมีการลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 50 ในปี 2558 สำหรับสินค้าในกลุ่มอ่อนไหวสูง
– ส่วนรายการที่ทำการเจรจากับญี่ปุ่น
– ในส่วนของเครื่องยนต์พิกัด 8408 ที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าร้อยละ 20 ได้ทำการลดลงเหลือร้อยละ 20 แล้วในปี 2550 และจะคงอัตราภาษีที่ร้อยละ 20 แล้วลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2557 ส่วนรายการที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าร้อยละ 20 จะคงอัตราภาษีเดิมไว้แล้วลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2557 เช่นเดียวกัน
– ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆในพิกัด 8708 จะใช้วิธีการลดภาษีเช่นเดียวกับอัตราภาษีนำเข้าเครื่องยนต์ แต่จะต่างกันตรงที่จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ทั้งหมดในปี 2555
นอกจากนี้การเปิดเสรียังทำให้ผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นรู้จักกับสินค้าไทยมากขึ้น นำมาซึ่งโอกาสในการทำการค้าในระยะยาวตามมาหากชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยมีราคาและคุณภาพที่เหมาะสม

การเปิดเสรีการค้าจะเป็นตัวบังคับให้ไทยมีการปรับตัว โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปและเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ซึ่งการเปิดตลาดให้กับชิ้นส่วนรถยนต์ไทยที่มีศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่งจะส่งผลให้มีการพัฒนาความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าวถึงระดับที่เกิดความประหยัดต่อขนาด เป็นโอกาสให้ไทยสามารถขยายตลาดการส่งออกไปยังนานาประเทศทั่วโลกได้ง่ายขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง มีผลผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบเป็นอุตสาหกรรมหลักเพื่อการส่งออก สร้างดุลการค้าให้กับประเทศไทย

การเปิดเสรีการค้าจะทำให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือในการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Project : AHRDP)

ส่วนผลทางอ้อมที่จะได้รับ คือ การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เช่นเหล็กรีดร้อนจากญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านต้นทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศ

นอกจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าแล้ว การเปิดเสรีการค้ายังเป็นความท้าทายหนึ่งของผู้ประกอบการด้วย ดังนี้

การเปิดเสรีการค้าจะทำให้มีชิ้นส่วนสำเร็จรูปชนิดเดียวกันหรือมีความคล้ายคลึงกันจากคู่แข่งภายนอกประเทศมากขึ้น โดยการแข่งขันจะมีคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยไม่พัฒนาความสามารถในการผลิตให้ทัดเทียมกับต่างชาติ ก็อาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศได้ และอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติ เช่นจากญี่ปุ่น ซึ่งมาลงทุนผลิตแข่งขันกับผู้ประกอบการในไทยด้วย

การเปิดเสรีโดยเฉพาะกับประเทศที่มีการลงทุนผลิตรถยนต์ในไทย เช่น ญี่ปุ่น อาจทำให้ในอนาคตบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นมีโอกาสจะเลือกใช้ชิ้นส่วนโดยเฉพาะชิ้นส่วน OEM นำเข้าจากญี่ปุ่นสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เช่น รถอีโคคาร์ ภายหลังภาษีนำเข้าลดลงเป็นศูนย์ ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในไทยลดลง และการลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงจากญี่ปุ่นอาจจะลดลงเนื่องจากสามารถนำเข้าชิ้นส่วนที่ผลิตในญี่ปุ่นได้โดยตรงเพราะกำแพงภาษีที่ลดลง ประกอบกับหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะส่งผลทำให้สินค้าของไทยราคาแพงกว่าหรือเท่ากับสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน การพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยีตามมา

กำแพงภาษีที่หายไปจากการเปิดเสรีการค้าอาจทำให้บางประเทศหันไปใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีแทน เช่น การกำหนดมาตรฐานยานยนต์และส่วนประกอบต่างๆของออสเตรเลีย (Australia Design Rules : ADRs) การควบคุมและจำกัดปริมาณนำเข้า การที่รัฐให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆกับผู้ผลิตในประเทศ โดยการลดหย่อน Excise Tax ให้กับรถยนต์ที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักเดียวที่มีผลต่อการขยายตัวของการส่งออก ทิศทางเศรษฐกิจของโลกก็เป็นปัจจัยหลักอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการส่งออกในปี 2551 นี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจะได้รับผลกระทบพอสมควร โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐฯซึ่งคาดว่าจะชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิม จากการลดกำลังการผลิตรถยนต์ลงในทั้งสองประเทศนี้ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลักเป็นอันดับ 1 และ 5 ของไทยตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนแรกนี้มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศทั้งสองนี้รวมประมาณ 896 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 22.9 ของมูลค่าส่งออกรวม รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์บางรายในไทยก็เริ่มส่งสัญญาณการลดกำลังการผลิตลงจากที่ตั้งเป้าไว้เดิมด้วย แสดงถึงแนวโน้มการส่งออกทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่จะชะลอลง ซึ่งหากมองในด้านของอุปสงค์แล้ว จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ในปี 2552 อาจจะชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21.5 ในปี 2551 และร้อยละ 40.9 ในปี 2550 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปทาน เช่น การวางแผนการขยายกำลังผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดใหม่ เช่น อินเดีย โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แนวโน้มการเปิดโรงงานใหม่ หรือการย้ายฐานการผลิตมาไทย เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้กำลังการผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้การส่งออกอาจจะไม่ชะลอตัวลงมากก็เป็นได้

โดยสรุป การเปิดเสรีการค้าไม่เพียงแต่จะสร้างโอกาสในการขยายการส่งออกชิ้นส่วนของไทยไปยังต่างประเทศเท่านั้น แต่การเปิดเสรีการค้าของไทยกับบางประเทศกลับยิ่งเป็นการทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้นมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนโดยเฉพาะในรายผู้ประกอบการคนไทย และเอสเอ็มอีที่จะต้องพยายามหาตลาดใหม่อยู่เสมอ และผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น รวมถึงการพยายามให้เกิดความประหยัดต่อขนาดเพื่อลดต้นทุนการผลิตลงเพื่อให้ราคาสินค้ามีความเหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ตามในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศที่ไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปค่อนข้างมากนั้น ทำให้มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในปีนี้จะชะลอลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21.5 จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.9 ในปีก่อนหน้าและคาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2552 ด้วย

ดังนั้นเพื่อให้การเปิดเสรีการค้าเป็นการเพิ่มช่องทางในการขยายการส่งออก และเพื่อลดความท้าทายจากการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการเปิดเสรีในปัจจุบันนี้ ความร่วมมือจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนและพัฒนาปัจจัยต่างๆที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง เช่น การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหลักเช่นเหล็ก หรือมีการพัฒนาโครงการเหล็กต้นน้ำที่มีประสิทธิภาพในประเทศ การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในโครงการวิจัยและพัฒนาในประเทศให้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญภาครัฐควรมีบทบาทในการวางแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ร่วมกับการวางแผนการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการวางแผนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยด้วย

ส่วนการเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มเติมนั้น รัฐบาลควรต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะการเปิดเสรีกับจีนซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าในกลุ่มยานยนต์มากและมีค่าจ้างแรงงานต่ำ จึงทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทยทั้งในส่วนของรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาทำตลาดรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ราคาถูกจากจีน ภาครัฐจึงควรต้องพิจารณาในด้านความพร้อมของผู้ผลิตไทยและกรอบระยะเวลาการเปิดเสรีเป็นสำคัญ ประกอบกับความพร้อมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงมีการเตรียมการรับมือในเรื่องมาตรการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าโดยการใช้มาตรการที่ไม่ใช้ภาษีที่อาจจะตามออกมาจากประเทศที่ไทยทำการเจรจาด้วย

ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ในระยะสั้นนี้จากที่มีการออกมาแสดงความกังวลรวมถึงมีการกล่าวถึงแนวโน้มที่จะลดกำลังการผลิตรถยนต์ลงในปีหน้านั้น ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยเฉพาะ OEM อาจจำเป็นต้องมีการปรับแผนการผลิตในปีหน้านี้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศ และที่ส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อการส่งออกควรหาแนวทางในควบคุมต้นทุน เช่น การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีแนวโน้มผันผวนสูง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีกับประเทศที่ทำการเจรจากับไทย โดยการพยายามผลักดันให้เกิดการค้ากับประเทศเหล่านี้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และแม้ปัจจุบันรถยนต์และชิ้นส่วนที่ผลิตจากไทยส่วนใหญ่จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีคุณภาพ แต่ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างจีน จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ในระยะยาวจึงควรหาวิธีการที่จะลดต้นทุนการผลิตลง โดยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของบริษัท และการศึกษาวิจัยด้านการตลาดของแต่ละประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน