มาตรการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ 2552 …หวังกระตุ้นยอดขอรับส่งเสริมกว่า 6 แสนล้านบาท

ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวรุนแรง ประกอบกับสภาพคล่องของโลกที่ตึงตัวรวมไปถึงปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าแนวโน้มการลงทุนภายในประเทศของไทยในปีข้างหน้าอาจประสบปัญหา ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีความพยายามที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และเร่งรัดการลงทุน ตามนโยบายปีแห่งการลงทุน ปี 2551-2552 ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เน้นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินแก่กิจการที่ประกอบอยู่เดิม โดยมาตรการพิเศษดังกล่าวมีรายละเอียดที่สำคัญ กล่าวคือ

การให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1) กิจการเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน และพลังงานทดแทน 2) กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 3) กิจการผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4) กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ 5) กิจการด้านการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ 6) กิจการในอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ โดยอุตสาหกรรมข้างต้นที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามที่กฎหมายสามารถให้ได้ ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ทุกเขตที่ตั้ง และหลังจากนั้นได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี และให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาได้ 2 เท่า รวมถึงหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินที่ลงทุน นอกเหนือจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ ทั้งนี้สิทธิประโยชน์พิเศษดังกล่าวนี้ ในเบื้องต้นบีโอไอคงจะให้ประโยชน์ย้อนหลังไปถึงโครงการที่ยื่นคำขอตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 ด้วย แต่ข้อสรุปคงต้องรอประกาศของบีโอไออย่างเป็นทางการอีกครั้ง

การช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติ โดยเป็นการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร และไม่มีภาระดอกเบี้ยในกรณีต้องชำระอากรวัตถุดิบก่อน ซึ่งบีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทุกราย ไม่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับส่งเสริม และจะมีผลบังคับใช้ไปถึงสิ้นปี 2552 โดยครอบคลุม 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องเรือนหรือเครื่องตกแต่งของเด็กเล่น เลนส์ สิ่งทอ เครื่องกีฬา ชิ้นส่วนยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเคลือบด้วยพลาสติก ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ และ สิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในประเด็นด้านค่าธรรมเนียมและภาระดอกเบี้ยอาจต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกระตุ้นการลงทุนพิเศษดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยกระตุ้นยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 เนื่องจากสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่อุตสาหกรรมทั้ง 6 กลุ่มเป็นสิทธิประโยชน์สูงสุดซึ่งตามหลักเกณฑ์ปกติแล้วจะต้องมีเงื่อนไขหลายข้อ แต่ถ้าผู้ลงทุนใช้โอกาสนี้ในการขอส่งเสริมภายในปี 2552 จะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้ในระยะที่ยาวนานถึง 13 ปี ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม โดยในช่วง 8 ปีแรกจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และใน 5 ปีต่อมาจะได้รับลดหย่อนภาษีนิติบุคคลกึ่งหนึ่ง จึงคาดว่าจะมีนักลงทุนที่ให้ความสนใจขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้จำนวนมาก ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันให้การขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับในปี 2551 ที่การขอรับการส่งเสริมการลงทุนปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้อาจพลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 650,000 ล้านบาท นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ส่งออกถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยลดภาระให้แก่ธุรกิจซึ่งมีโอกาสถูกกระทบรุนแรงจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลให้ภาวะอุปสงค์ในตลาดส่งออกหลักๆ ชะลอตัว ตลอดจนการแข่งขันในด้านราคาอาจจะยิ่งทวีความรุนแรง

 ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 โครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมีมูลค่า 341,900 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.9 จากมูลค่าการลงทุน 427,100 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ในด้านจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือมีจำนวน 964 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จาก 932 โครงการ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับโครงการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่าโครงการ 221,416 ล้านบาท (จาก 635 โครงการ) ลดลงถึงร้อยละ 33.8 จากมูลค่า 334,650 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่สำคัญเนื่องจากนักลงทุนรายสำคัญหลายรายมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่น้อยลง โดยญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุน 68,304 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.9 (จาก 83,173 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) สหรัฐฯ มีมูลค่าการลงทุน 7,477 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 84.3 (จาก 47,485 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) จีน มีมูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 93.4 (จาก 15,125 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) แม้ว่าจำนวนโครงการจะใกล้เคียงกับในปีก่อนก็ตาม สำหรับนักลงทุนรายสำคัญอื่นๆ ที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยุโรป (เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์) สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย เป็นต้น

กิจการที่มีมูลค่าโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเบา ส่วนหมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะมูลฐาน ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่กิจการที่มีมูลค่าการลงทุนลดลง ได้แก่ หมวดบริการและสาธารณูปโภค หมวดเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก หมวดโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการกระตุ้นการลงทุนที่ประกาศออกมาล่าสุดของบีโอไอจะมีผลในการกระตุ้นการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 ได้มาก เนื่องจากสิทธิประโยชน์สูงสุดที่ให้นี้จะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจได้ในระยะที่ยาวนานถึง 13 ปี ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม จึงคาดว่าจะมีนักลงทุนที่ให้ความสนใจขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้จำนวนมาก ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันให้การขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2552 มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดขอรับส่งเสริมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นนี้ อาจยังไม่นำไปสู่การลงทุนจริงโดยทันที เนื่องจากในด้านกระบวนการพิจารณาของบีโอไอเองก็มีขั้นตอนในการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริม ขณะเดียวกันนักลงทุนเองก็อาจยังต้องมีขั้นตอนในการเตรียมการ ดังนั้น ผลของมาตรการดังกล่าวอาจไม่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจในปี 2552 ได้ดังตัวเลขที่ผ่านเข้ามาในขั้นตอนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ สำหรับ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ส่งออกนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยลดภาระให้แก่ธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคการส่งออก ซึ่งมีโอกาสถูกกระทบรุนแรงจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่จะมีผลต่อภาวะอุปสงค์ในตลาดส่งออก ตลอดจนการแข่งขันในด้านราคาอาจจะยิ่งทวีความรุนแรง อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีในภาคการบริการ ซึ่งในส่วนของกลุ่มที่จะมีโอกาสถูกกระทบรุนแรงจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญเช่น ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลคงต้องหาแนวทางเยียวยาผลกระทบต่อไป