ราคายางพาราร่วงเกินจริง เป็นโอกาสดีของการลงทุนระยะยาว

จากการที่ราคายางพาราในประเทศไทย ปรับตัวลดลงกว่า 50% จากราคาสูงสุด 108 บาท/ก.ก. จนเหลือ 55 บาท/ก.ก. เมื่อช่วงเดือนตุลาคมนั้น นายชานนทน์ ภู่เจริญยศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอสพี ฟิวเจอร์ส จำกัด (โบรกเกอร์ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย) ให้ความเห็น ราคายางพาราตกร่วงรุนแรงมากเกินไป สาเหตุมาจากความตกใจของชาวสวนยางที่คุ้นเคยการอ้างอิงราคาจากตลาดยางพาราที่ประเทศญี่ปุ่น (TOCOM) จนลืมไปว่าเราเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีศักยภาพที่จะกำหนดราคายางพาราในตลาดโลกได้เช่นเดียวกันกับที่ กลุ่ม OPEC กำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก

ปัญหาเกิดจาก ความคุ้นเคยเก่าๆของผู้ประกอบการและชาวสวนยาง ที่คอยแต่จ้องราคายางตลาดล่วงหน้าของ TOCOM ซึ่งถูกกดราคาอย่างกระหน่ำจากปัจจัยความวุ่นวายทางเศรษฐกิจโลก โดยลืมไปว่าปัจจุบันนี้เรามีตลาดล่วงหน้าของเราเองชื่อ AFET ที่ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นกลไกประกันความเสี่ยงด้านราคาได้เช่นกัน ซึ่งเราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ รู้ต้นทุนการผลิต ฉะนั้น ผมอยากจะบอกว่า จะยอมขายขาดทุนกันไปทำไม มันแค่ตกใจกันชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนี้ผมอยากแนะนำให้ ชาวสวนยางบ้านเราประกาศให้โลกรู้ว่าไปเลยว่า ราคายางควรจะเป็นเท่าไร เสนอราคาที่ต้องการผ่านตลาด AFET ได้เลย ฝรั่งหรือญี่ปุ่นจะได้มีสติกันบ้างว่า ของถูกเราไม่ขาย เก็บยางไว้เป็นปีได้ไม่เสียหาย ตราบใดรถยนต็เป็นล้านๆคันที่วิ่งอยู่บนถนนทั่วโลก ไม่ช้าไม่นานก็จะต้องการวัตถุดิบไปผลิตยางอะไหล่รถยนต์ แล้วพวกนั้นก็ต้องมาอ้อนวอนขอซื้อยางจากเราในที่สุด ดังนั้น ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ทำความเข้าใจบทบาทของเราเสียใหม่ว่าความจริงแล้วเรามีความได้เปรียบอยู่มาก และต้องนำความได้เปรียบนั้นมานำราคา นำตลาด เลิกเป็นผู้ตามตลาด TOCOM ได้แล้ว

นายชานนทน์ ยังกล่าวต่อไปว่า ตลาด TOCOM ในความเห็นผม ไม่ใช่ตลาดที่มีมาตรฐานเท่าไรนัก ดูได้จากความเชื่องช้าของการปรับช่วง Ceiling/Floor โดยตอนที่ราคายางเคยซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 320 เยน มีช่วง Ceiling/Floor กว้างถึง 16 เยน ซึ่งตอนนี้ราคายางปรับตัวลงมาประมาณ 50% อยู่ที่ 170 เยนแล้ว แต่ตลาด TOCOM ก็ยังไม่ปรับช่วงราคาให้เหมาะสมเลย ในขณะที่ ตลาด AFET มีการปรับช่วงราคา Ceiling/Floor ตามความเหมาะสมของตลาดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในไม่ช้านี้ ผมเชื่อว่าตลาด TOCOM ต้องมาปรับตัวตามเราแน่นอน นอกจากนี้ตลาด AFET ของเรามีมาตรฐานที่สูง การเบี้ยวสัญญาไม่เคยเกิดขึ้นและไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีนักลงทุนบางกลุ่มเข้าใจสับสนกับตลาด physical ที่เกิดการฉีกสัญญาทิ้งเมื่อราคาขึ้นลงอย่างรุนแรงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ผมขอให้ทุกๆฝ่ายมั่นใจได้เลยว่า ตลาดล่วงหน้า AFET ไม่มีการเบี้ยวหรือฉีกสัญญาทิ้งอย่างแน่นอนในทุกสภาวะตลาด

สำหรับทิศทางราคายางพารานั้น นายชานนทน์ ภู่เจริญยศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอสพี ฟิวเจอร์ส จำกัด มั่นใจว่าราคาไม่ต่ำกว่า 55 บาท/ก.ก แต่ราคาขาขึ้นอาจจะไม่ร้อนแรงเหมือนช่วงต้นปี 2551 อีกทั้ง การที่ตลาด TOCOM มีการขายล่วงหน้า (short) กันไว้มาก และจะต้องมีการส่งมอบสินค้าเมื่อสิ้นสุดสัญญานั้น จะมีบทบาทพอสมควร ซึ่งหากเรายืนราคาให้หนักแน่นไม่อ่อนไหวในช่วงนี้ จะส่งผลให้ผู้ที่ขายล่วงหน้าไว้ที่ TOCOM ต้องดิ้นรนหาซื้อยางเพื่อส่งมอบ และสุดท้ายก็ต้องซื้อจากเรานั่นเอง ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้เราสามารถบีบราคาให้ปรับตัวสูงขึ้นได้อีกพอสมควร และนอกจากนี้ ผมมีความเห็นว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นไปหา 100 เหรียญสหรัฐ ได้อีกครั้งในปีหน้า และผมคิดว่าความกังวลทางด้านเศรษฐกิจถดถอยน่าจะคลายกังวลเร็วๆนี้ และปัจจุบันก็ยังไม่มีแหล่งน้ำมันใหม่ๆที่ค้นพบ ฉะนั้น ราคาน้ำมันจะไม่ถูกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในตอนนี้ และเมื่อประเมิณสถานการณ์แล้ว ยางพาราก็น่าปรับตัวสูงขึ้นไปได้ถึง 90 บาท/ก.ก ในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้