ทรูรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้น

ทรูประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากรายได้จากบริการโดยรวมและ EBITDA ของกลุ่มทรูเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า จากความสำเร็จของธุรกิจที่หลากหลาย นอกจากนี้ ผลประกอบการของทรูมูฟมีแนวโน้ม ฟื้นตัวเนื่องจากยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากค่า IC ลดลง ประกอบกับทรูออนไลน์มีรายได้เพิ่มจากบริการบรอดแบนด์และบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศ รวมทั้งจำนวนการเปลี่ยนจากแพ็คเกจสำหรับลูกค้าในวงกว้างมาใช้แพ็คเกจราคาสูงของทรูวิชั่นส์เติบโตต่อเนื่อง สอดรับกับยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ที่คืบหน้า ส่งผลให้ยอดผู้ใช้บริการแพ็คเกจรวมบริการหลากหลายภายในกลุ่มขยายตัว ยิ่งไปกว่านั้น แผนการระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม จะทำให้ทรูมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น และมีความพร้อมรองรับบริการ 3G ในอนาคต

รายได้จากบริการโดยรวมของกลุ่มทรู (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 13 พันล้านบาท และจากผลการดำเนินงานของทรูมูฟที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย หรือ EBITDA โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เป็น 4.4 พันล้านบาท หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า รายได้จากบริการโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ร้อยละ 0.6) ในขณะที่ EBITDA ลดลงร้อยละ 6 ส่วนใหญ่เนื่องจากรายได้ที่ลดลงและผลกระทบจากค่า IC ของทรูมูฟ

ขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปกติในไตรมาสนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 513 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุนสุทธิจำนวน 186 ล้านบาทในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของทรูมูฟเพิ่มขึ้น จากรายการปรับปรุงที่เกิดขึ้นในครั้งเดียว สำหรับไตรมาสนี้ ทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากไตรมาส 2 เนื่องจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง

ผลการดำเนินงานของทรูมูฟในไตรมาส 3 มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังการชะลอตัวในไตรมาส 2

ทรูมูฟสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ 720,000 ราย ในไตรมาส 3 ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดในผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 31 จากร้อยละ 23.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จทำให้กลุ่มผู้ใช้บริการด้าน Non-voice ที่ใช้ในปริมาณมาก หันกลับมาใช้บริการ เพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้รายได้จากบริการด้าน Non-voice เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากไตรมาสที่ผ่านมาและจากปีก่อนหน้า ปัจจุบันรายได้จากบริการด้าน Non-voice มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.5 ของรายได้จากบริการเมื่อไม่รวม IC

รายได้จากบริการของทรูมูฟ (ไม่รวมค่า IC) ลดลงเล็กน้อย (ร้อยละ 0.1) จากไตรมาสก่อนหน้า เป็น 5.5 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เป็น 1.4 พันล้านบาท หลังจากสามารถลด ค่าใช้จ่าย และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จะเห็นได้ว่า รายได้จากบริการ (ไม่รวมค่า IC) ลดลงร้อยละ 8 รายได้จากบริการที่ลดลงและผลกระทบจากค่า IC ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ EBITDA ลดลงร้อยละ 24

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานของทรูมูฟมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังจากชะลอตัวในในไตรมาส 2 และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ทรูมูฟยังคงเดินหน้าเพื่อปรับลดค่า IC ต่อไป และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุล ยิ่งขึ้นในต้นปีหน้า นอกจากนั้น การเติบโตของผู้ใช้บริการในไตรมาส 3 ทำให้มั่นใจว่า ในปีนี้จะยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ราว 1 ใน 3 ของตลาดโดยรวมตามเป้าหมาย ในขณะที่แผนการระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม นอกจากจะทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งแล้ว ยังจะทำให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต อาทิ การให้บริการ 3G อีกด้วย”

ทรูออนไลน์ยังคงมีผลประกอบการที่ดี ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ชะลอตัว

รายได้จากบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็น 6.4 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จากบริการโทรทางไกลระหว่างประเทศและบริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ EBITDA ลดลงร้อยละ 4.3 เป็น 2.4 พันล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า รายได้จากบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4

บริการบรอดแบนด์สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิได้ 20,000 ราย ทำให้มียอดผู้ใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 625,000 ราย โดยใช้บริการที่ Bandwidth สูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากโปรโมชั่น Super hi-speed Internet ที่ยังคงได้รับการตอบรับที่ดี โดยยอดผู้ใช้บริการ hi-speed Internet ความเร็วตั้งแต่ 1 Mbps ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63 จากร้อยละ 53 ณ สิ้นปี 2550 นอกจากนี้ บริการ Wi-Fi ยังมียอดผู้ใช้เติบโตต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 87,000 ราย จาก 53,000 ราย ในไตรมาส 2

เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ทรูวิชั่นส์สามารถเพิ่มยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิได้กว่าเท่าตัว เป็น 133,000 ราย เนื่องจากการขยายตลาดสู่ลูกค้าในวงกว้างประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก นอกจากนี้ อัตราการเปลี่ยนจากแพ็คเกจสำหรับลูกค้าในวงกว้างมาใช้แพ็คเกจราคาสูงของทรูวิชั่นส์เติบโตต่อเนื่องเป็นร้อยละ 27 จากร้อยละ 22 ในไตรมาส 2 ปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ยอดผู้ใช้บริการแพ็คเกจที่มีค่าบริการรายเดือนของ ทรูวิชั่นส์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ในไตรมาสนี้ จึงทำให้ทรูวิชั่นส์มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 1.3 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า

ทรูวิชั่นส์มีรายได้จากบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็น 2.4 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.9 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมาเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนท์เพิ่มขึ้น

“ทรูวิชั่นส์ ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาและผลิตรายการต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของ ผู้ชมชาวไทย นอกจากนี้ รายการที่ผลิตขึ้นเองดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนให้การขยายตลาดสู่ลูกค้าในวงกว้างประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น และยังจะมีส่วนทำให้ทรูวิชั่นได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการโฆษณาบนเคเบิลทีวี ในขณะเดียวกัน ยังปรับปรุงและเติมเต็มสาระบันเทิงสำหรับสมาชิกแพ็คเกจระดับพรีเมี่ยมอย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบมูลค่าเพิ่มและสร้างความผูกพันในหมู่สมาชิกของทรูวิชั่นส์” นายศุภชัยกล่าวสรุป

ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงคืบหน้า และเพิ่มยอดผู้ใช้บริการให้กับโปรโมชั่นที่ผสมผสานผลิตภัณฑ์และบริการภายในกลุ่มทรู โดยในไตรมาสนี้ ฟรีวิวแพ็คเกจ ซึ่งเป็นโปรโมชั่นระหว่างทรูมูฟ กับทรูวิชั่นส์ มียอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในขณะที่ โปรโมชั่น Super hi-speed Internet ระหว่างบรอดแบนด์กับทรูมูฟ และทรูวิชั่นส์ได้รับการตอบรับที่ดี และมีผู้สมัครใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงินกล่าวเสริมว่า “ในช่วงเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา ทรูมีการชำระหนี้คืนกว่า 3.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ หลังการเพิ่มทุนผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม จะทำให้งบดุลของทรูปรับตัวดียิ่งขึ้น และเชื่อมั่นว่าการเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะทำให้ทรูเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการเงิน การขยายธุรกิจ ซึ่งใน ที่สุดแล้ว ผู้ถือหุ้นและลูกค้าของกลุ่มทรู จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่”

หมายเหตุ: ในเอกสารฉบับนี้ คำว่า ทรู บริษัท บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม หมายถึง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และหรือ บริษัทร่วม