เศรษฐกิจโลกถดถอย…จับตาธุรกิจ SMEs จีน

ประเทศซึ่งได้รับสมญานามว่า โรงงานของโลกอย่างประเทศจีนกำลังได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งนี้อย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยภาคส่งออกของจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 (YOY) ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปีของจีนซึ่งคาดว่า ธุรกิจ SMEs ส่งออกของจีนยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบของภาคส่งออกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ทั้งนี้ จีนถือเป็นศูนย์รวมผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกวิสาหกิจขนาดเล็กและกลางขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในเมืองเหวินโจว มณฑลเจ้อเจียงซึ่งเป็นแหล่งรวมผู้ผลิตขนาดเล็กและกลางมากที่สุดในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาวิสาหกิจขนาดเล็กและกลางของจีนหลายรายต่างต้องเผชิญกับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกและความกดดันจากสถาบันการเงินในประเทศที่เพิ่มความเข้มงวดด้านการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการตามนโยบายการเงินของรัฐบาลจีนเพื่อสกัดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและบรรเทาภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ โดยจากการรายงานของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็กและกลางในประเทศจีนต้องปิดตัวลงจำนวน 67,000 ราย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ค้ารายสำคัญของจีน

ทั้งนี้ ธุรกิจวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของจีนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของจีดีพี และคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 68 ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมด อีกทั้งยังสนับสนุนการจ้างงานภายในประเทศร้อยละ 75 และ สร้างรายได้ทางภาษีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของรายได้จากภาษีทั้งหมดของภาครัฐ ปัจจุบันประเทศจีนมีจำนวนธุรกิจวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางประมาณ 40 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 4.3 ล้านรายได้ดำเนินการจดทะเบียนการค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกว่าร้อยละ 95 เป็นผู้ประกอบการจากภาคเอกชน

สัญญาณเตือนจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน

ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ชะลอตัวเหลือตัวเลขหลักเดียวเป็นร้อยละ 9.0 เทียบกับการเติบโตร้อยละ 10.1 ในไตรมาสที่ 2 และ 10.6 ในไตรมาสแรกของปีเดียวกันตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจากวิกฤติภาคการเงินสหรัฐ ฯ นับตั้งแต่ปี 2550 จนลุกลามถึงปัจจุบันซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัวทั่วโลก (Credit crunch) และได้ขยายวงกว้างไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็กและกลางของจีนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเนื่องจากต้องพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนเกือบร้อยละ 69 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกของจีนชะลอตัวลดลงเหลือร้อยละ 22 (YOY) จากร้อยละ 27 (YOY) ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 นอกจากปัญหาที่ตลาดส่งออกหลักของจีนอย่าง สหรัฐ ฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ชะลอการนำเข้าสินค้าตามกำลังซื้อที่อ่อนแรงลงจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกแล้ว ภาวะค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นและค่าแรงงานที่ถีบตัวสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา กอปรกับนโยบายการพัฒนาประเทศของกฏหมายฉบับใหม่ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงานจีนให้ดีขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายในประเทศจีนที่ลดต่ำลง ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายที่ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินและการสั่งซื้อที่ลดลงจนต้องปิดกิจการลง

จับตาภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจคู่ค้ารายใหญ่ของจีนอาจส่งผลกระทบต่อ SMEs จีน

กลุ่มประเทศคู่ค้ารายสำคัญของจีน ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย อินเดีย และ รัสเซีย เป็นต้น โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 กลุ่มสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับประเทศจีนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยครองสัดส่วนร้อยละ 16.4 รองลงมาคือ สหรัฐ ฯ ร้อยละ 12.7 ญี่ปุ่น ร้อยละ 10.3 และ กลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 9.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศบางประเทศในช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนทางการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐ ฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 ขณะที่ญี่ปุ่นและฮ่องกงปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยลดลงร้อยละ 0.6 และ 1.2 ตามลำดับ

นอกจากนี้ การส่งออกของจีนไปยังตลาดหลัก 5 อันดับแรก ล้วนขยายตัวในอัตราชะลอลงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น และ ฮ่องกง ยกเว้นตลาดเอเซียนที่ยังคงเติบโตในอัตราเร่งขึ้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะประเทศอาเซียนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในระดับรุนแรงน้อยกว่าอีก 4 ประเทศข้างต้น ประกอบกับจีนเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่สำคัญของอาเซียนซึ่งอาเซียนได้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ Asean-China FTA ทำให้การส่งออกของจีนไปอาเซียนยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

วิกฤตภาคการเงินของสหรัฐ ฯ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จนนำไปสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของจีน อาทิ สหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจ SMEs จีน โดยทำให้ยอดส่งออกสินค้าจากประเทศจีนไปยังประเทศคู่ค้ารายสำคัญเหล่านี้ลดน้อยลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซา ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ SMEs จีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศจึงได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอยที่อำนาจซื้อในตลาดหลัก ๆ อ่อนแรง รวมถึงปัญหาสินเชื่อตึงตัวจากวิกฤตการเงินโลกทำให้ธุรกิจที่สั่งซื้อสินค้าจากจีนต้องประสบความลำบากในการขอสินเชื่อและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย การส่งออกของธุรกิจ SMEs จีนที่ได้รับผลกระทบมากเป็นกลุ่มที่ผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมาก เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นด้วย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ค่าเงินหยวนในปัจจุบันเมื่อเทียบกันสิ้นปี 2550 ปรับตัวแข็งค่าขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ฯ และ ร้อยละ19.6 เมื่อเทียบกับค่าเงินยุโรปทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงในตลาดสหรัฐ ฯ และ ยุโรป ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยข้างต้นได้แก่ ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป ธุรกิจของเล่น ธุรกิจรองเท้าและเครื่องหนัง ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และ ธุรกิจของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

โดยสถิติล่าสุดจากกรมศุลกากรแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 กลุ่มธุรกิจ SMEs ในเมืองตงกวน มณฑลกว่างตงซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานผลิตของเล่นที่สำคัญของประเทศจีนมีมูลค่าการส่งออกของเล่นจำนวนทั้งสิ้น 1.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยเฉพาะการส่งออกของเล่นไปยังตลาดสหรัฐ ฯ ซึ่งปรับตัวลดลงเกือบร้อยละ 15 นอกจากนี้ การส่งออกของธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูปจากจีนไปยังสหรัฐ ฯ พบว่ามีการชะลอตัวด้วยเช่นกัน โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ปรับตัวลดลงเกือบร้อยละ 17

บทวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้ประกอบการ SMEs จีน…ผลกระทบต่อไทย

สถานการณ์ของผู้ประกอบการส่งออก SMEs จีนที่ต้องเปิดตัวลงจำนวนมากสะท้อนให้เห็นว่า การส่งออกของธุรกิจ SMEs จีนได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยโลกในครั้งนี้ ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวจนถึงกลางปี 2552 คาดว่าส่งผลให้เศรษฐกิจจีนที่พึ่งพาการส่งออกชะลอลงด้วยซึ่งรายงานล่าสุดจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนระบุว่า สถานการณ์การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจมีระยะยาวนานรวม 3 ปี โดยอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตลดลงเป็นเลขหลักเดียวตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2553 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางการจีนได้ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยทุ่มงบประมาณมหาศาลเป็นมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านหยวน (586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ) ซึ่งจะดำเนินการจนถึงปี 2553 โดยจะใช้งบประมาณมูลค่า 100 พันล้านหยวนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 นี้ เพื่อดำเนินแผนการกระตุ้นการบริโภคและภาคการลงทุนภายในประเทศภายใต้ 10 มาตรการ ซึ่งส่งเสริมการขยายตัวและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่ ระบบการเงิน การส่งออก อสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศและการพัฒนาความเป็นอยู่ในชนบท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ของจีนอาจใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน ดังนั้น คาดว่าในระยะสั้นนี้ เศรษฐกิจจีนอาจจะยังคงชะลอตัวลงไปอีก

ในส่วนของธุรกิจ SMEs จีน ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจีนนั้น ทางรัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศโดยการสนับสนุนให้ภาคธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้นเพื่อเป็นการปรับสภาพคล่องในตลาดโดยยกเลิกนโยบายจำกัดโควตาเพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จีน อีกทั้งทางการจีนยังออกมาตรการช่วยเหลือภาคการส่งออกในด้านภาษีที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากผลประกอบการของผู้ประกอบการที่หดตัวลงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ทางการจีนได้ออกมาตรการเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออก (Export Tax Rebates) ให้แก่ผู้ผลิตสินค้ามากกว่า 3,000 รายการ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs จีนอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป รองเท้า และ ของเล่น เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนสภาพคล่องทางธุรกิจและพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของ SMEs จีน ทางรัฐบาลจีนได้จัดงบประมาณสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs จีนมูลค่า 1 พันล้านหยวน เพื่อประกันสินเชื่อของ SMEs จีนอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด เห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลจีนดำเนินการอยู่ในขณะนี้น่าจะช่วยทำให้ธุรกิจ SMEs จีน เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น สินค้าส่งออกของธุรกิจ SMEs แข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้นในตลาดโลก นอกจากนี้ธุรกิจ SMEs จีนยังจะได้รับการพัฒนาและปรับปรุงไปอีกก้าวโดยนำการคิดค้นวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้ผลิตจีนตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยเทคโนโลยีและการออกแบบมากกว่าความได้เปรียบจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกเท่านั้น

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น คาดว่า การส่งออกสินค้าของไทยประเภทวัตถุดิบ/กึ่งวัตถุดิบไปจีนซึ่งใช้สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจชะลอตัวลง เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเติบโตชะลอลงตามภาคส่งออกที่ซบเซา โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเติบโตร้อยละ 8.2 (YOY) ซึ่งต่ำสุดในรอบ 7 ปี ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นต้น/ชั้นกลางจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยชะลอตามไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากจีน โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราภาษีคืนส่งออกให้กับธุรกิจจีนส่งผลให้สินค้าส่งออกจีนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลก อีกทั้งการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ไทยและจีนมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่ที่ปัจจุบันจีนเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยมีเป้าหมายยกระดับสินค้าส่งออกไปสู่ตลาดระดับบนมากขึ้นแทนการผลิตสินค้าราคาต่ำ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความกดดันทางการแข่งขันให้เพิ่มสูงขึ้นโดยผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับสินค้านวัตกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในด้านเทคโนโลยีและการออกแบบโดยการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจพลิกความท้าทายดังกล่าวให้เป็นโอกาสโดยพิจารณาหาช่องทางเข้าไปเจาะตลาดในประเทศจีนเนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนซึ่งหันมาให้การสนับสนุนภาคการบริโภคภายในประเทศแทนการพึ่งพาการส่งออกในตลาดต่างประเทศ โดยใช้มาตรการยกระดับรายได้ของประชาชนและกระตุ้นการเติบโตของภาคเศรษฐกิจภายในประเทศได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจภายในจีนน่าจะยังคงเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงดูดผู้บริโภคในตลาดจีน ผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทยและใช้กลยุทธ์การประยุกต์สินค้าให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน โดยสินค้า SMEs ไทยที่น่าจะได้รับความนิยมในตลาดจีนคือ อาหารและผลไม้แปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางโดยเฉพาะสินค้าสปา เป็นต้น เนื่องจากในมุมมองของผู้บริโภคชาวจีนนั้น สินค้าไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกทั้งในด้านของคุณภาพและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้าไทย ดังนั้นสินค้าไทยจึงน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวจีน อย่างไรก็ตาม ในกรณีการเข้าไปลงทุนในจีนผู้ประกอบการ SMEs ไทย ไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในตลาดจีน อาทิ ข้อบังคับและกฎหมายต่าง ๆ และความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน เป็นต้น

สรุป

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ที่จะดำเนินการจนถึงปี 2553 อาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลดังกล่าว โดยคาดว่า ในระยะสั้นนี้ผลกระทบจากสถานการณ์การเงินโลกอาจส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลงไปอีก สำหรับธุรกิจ SMEs จีนซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีนต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวเนื่องจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากวิกฤติการเงินของสหรัฐ ฯ การถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ 3 อันดับแรกของจีนกำลังเผชิญกับอำนาจการซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศที่ลดต่ำลงซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs จีนที่เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญที่ป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มสินค้า SMEs จีนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นกลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้แรงงานมากที่ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นและต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นด้วยจนทำให้ผู้ประกอบการ SMEs จีนจำนวนมากต้องปิดกิจการลงได้แก่ ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและของเล่น เป็นต้น โดยล่าสุดการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี สะท้อนถึงธุรกิจ SMEs ที่คาดว่ายังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากภาวะซบเซาของภาคส่งออก

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของธุรกิจ SMEs จีนที่กล่าวมาดังกล่าวข้างต้น อาจบรรเทาลงเนื่องจากทางการจีนได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs จีน โดยการปรับเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าหลายประเภทและยกเลิกการจำกัดสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs จีน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน คาดว่า จะส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของจีนในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นก็ดีการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยการส่งออกสินค้าของไทยประเภทวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคส่งออกจีน ในขณะเดียวกันสินค้าส่งออกไทยก็อาจต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกับสินค้าส่งออกของจีนที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านราคาดีขึ้นจากมาตรการเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออกของทางการจีน สำหรับในระยะต่อไปคาดว่า ผู้ประกอบการ SMEs จีนน่าจะปรับปรุงและพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นจากนโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีของทางรัฐบาลจีนที่ต้องการยกระดับสินค้าจีนจากสินค้าราคาถูกไปสู่สินค้าระดับบนที่สร้างมูลค่าของสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจต้องประสบกับการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตลาดโลก แต่ทว่าผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจใช้โอกาสจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่คาดว่าจะทำให้ภาคบริโภคและการลงทุนในจีนเติบโตต่อไปได้ เข้าไปทำตลาดในประเทศจีน โดยยึดความต้องการของผู้บริโภคในประเทศจีนเป็นหลักและประยุกต์สินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ก่อนการเข้าบุกตลาดจีนผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรคำนึงถึงปัจจัยด้านลบอาทิ ข้อบังคับและกฎระเบียบต่าง ๆ และ ความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของจีน เป็นต้น 