ปลาทูน่ากระป๋องปี’52 : ยอดจำหน่ายยังขยายตัวต่อเนื่อง

ปลาทูน่ากระป๋องเป็นหนึ่งในสินค้าที่คาดว่าจะไม่ได้รับจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยคาดว่ายอดจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2552 ทั้งยอดจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก อันเป็นผลจากการที่เป็นสินค้าอาหารพื้นฐานที่นิยมบริโภคทั่วๆไป ราคาไม่สูง และมีคุณค่าทางโภชนาการ คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย จากอานิสงส์ความต้องการของตลาดยังขยายตัวต่อเนื่อง ผนวกกับปริมาณปลาทูน่าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และราคาปลาทูน่ามีแนวโน้มลดลง

การผลิต…อานิสงส์ราคาปลาทูน่ามีแนวโน้มลดลง
ในปี 2551 นี้คาดว่าปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องของไทยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 410,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับปี 2550 เนื่องจากความต้องการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องทั้งในประเทศและส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ราคาปลาทูน่าในตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปี 2551 นี้อยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน โดยราคาเคยปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 1,950 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันในช่วงครึ่งแรกปี 2551 เนื่องจากปริมาณจับปลาทูน่าน้อยลงไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่คาดว่าแนวโน้มราคาทูน่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จะปรับลดลงไปที่ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เนื่องจากปริมาณการจับปลาทูน่าในช่วงครึ่งหลังปี 2551 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการจับปลาลดลง

สำหรับการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 มีปัจจัยเอื้อจากราคาปลาทูน่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 คาดว่าปี 2552 ราคาปลาทูน่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1,300-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาทูน่ายังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าราคาจะไม่ลงไปต่ำกว่าระดับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน เมื่อผนวกกับปัจจัยเอื้อทางการตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออกที่คาดว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาผู้บริโภคยังคงซื้อสินค้าปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากสินค้าราคาไม่แพง และเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นเป็น 450,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8

ตลาดในประเทศ…คนไทยบริโภคปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้น
ปลาทูน่ากระป๋องได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมบริโภคในประเทศไทย เดิมนั้นภาพลักษณ์ของสินค้าเป็นสินค้าพรีเมี่ยม ราคาจะอยู่ในระดับสูงกว่าปลากระป๋องประเภทอื่นๆ แต่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมทั้งการปรับเพิ่มรสชาติของปลาทูน่ากระป๋อง จากเดิมที่มีเพียงปลาทูน่าในน้ำมันและน้ำเกลือ มาเป็นสลัดทูน่า และปลาทูน่าปรุงรสด้วยเครื่องแกงที่เป็นที่รู้จักของคนไทย เช่น เขียวหวาน แพนง มัสมั่น เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มความหลากหลาย และเพิ่มโอกาสในการเลือกซื้อให้กับผู้บริโภค

ในปี 2551 คาดว่ายอดจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องจะเพิ่มขึ้นเป็น 16,500 ตัน มูลค่า 2,100 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2550 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 และ 23.3 ตามลำดับ คาดการณ์ว่าในปี 2552 ยอดจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 19,800 ตัน มูลค่า 2,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 และ 19.0 ตามลำดับ

ตลาดส่งออก…ขยายตัวสวนเศรษฐกิจซบเซา
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลก มูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเท่ากับ 1,418.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.9 ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความต้องการที่ขยายตัวอย่างมากของประเทศคู่ค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ลิเบีย แคนาดา ญี่ปุ่น อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และสหภาพยุโรป คาดการณ์ว่าในปี 2551 มูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเท่ากับ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2550 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.9

ตลาดส่งออกปลาทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งคือ สหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 19.0 ของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมด ประเด็นที่ต้องพึงระวังคือ คนอเมริกันให้ความระมัดระวังต่อสารปรอทตกค้างในผลิตภัณฑ์ ทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 2549 ชะลอตัวลงอย่างมาก แต่หลังจากที่มีการเน้นย้ำถึงมาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจรับรองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทำให้การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดสหรัฐฯกลับมาขยายตัวอย่างมากตั้งแต่ปี 2550 ส่วนการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังประเทศอื่นๆก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเทศคู่ค้าปลาทูน่ากระป๋องกระจายตัวอยู่ทุกภูมิภาค และมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในตลาดออสเตรเลีย ประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกา

สำหรับในปี 2552 คาดว่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องน่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวไม่มากนัก จากการที่เป็นสินค้าที่ยังเป็นที่นิยมบริโภค ทำให้ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาไม่สูงมากนัก และมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งผู้บริโภคบางส่วนจะเพิ่มการซื้อปลาทูน่ากระป๋องในร้านค้าปลีกทดแทนการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 นอกจากตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องแล้ว คาดว่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากอานิสงส์ของเจเทปป้าที่จะทยอยลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากในปี 2551 ที่อยู่ในอัตราร้อยละ 4.3 เหลือร้อยละ 3.2 ในปี 2552 และเหลือร้อยละ 0 ในปี 2555 รวมทั้งการแข็งค่าของเงินเยน รวมทั้งคนญี่ปุ่นปฏิเสธการซื้อสินค้าอาหารที่ผลิตในจีนและหันมาซื้อสินค้าไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้สถานการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันทางด้านราคาจะรุนแรงมากขึ้น และลูกค้าบางรายเริ่มมีการเจรจาขอปรับลดราคา เนื่องจากราคาปลาทูน่ามีแนวโน้มลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน ผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยยังได้ปัจจัยบวกจากการที่เงินบาทอ่อนค่า นอกจากนี้ บรรดาผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องต้องเร่งการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ และมีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของประเทศคู่ค้า อย่างที่ถูกต้อง และรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสในการเจาะขยายตลาดต่อไปในอนาคต

นอกจากการขยายการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องจากไทยแล้ว ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของไทยก็ได้เพิ่มกลยุทธ์การเจาะขยายตลาดต่างประเทศ ดังนี้

1.การเข้าไปซื้อเครื่องหมายการค้าในประเทศคู่ค้า เช่น การเข้าไปซื้อเครื่องหมายการค้า “Chicken of the Sea” ซึ่งมียอดจำหน่ายเป็นอันดับ 3 ในตลาดสหรัฐฯ และซื้อเครื่องหมายการค้า “Ace of Diamonds” ทั้งนี้เพื่อขยายตลาดในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นแบรนด์ราคาประหยัด ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกในการจำหน่าย และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบุกตลาดสหรัฐฯ

2.เป็นพันธมิตรธุรกิจกับประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และจีน เข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปปลาทูน่าในปาปัวนิกินี ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตปลาทูน่าร้อยละ 50 ของปริมาณปลาทูน่าของโลก ทั้งนี้เพื่อขยายการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดยุโรป ซึ่งปาปัวนิกินีได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี โดยเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0 ในขณะที่การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องจากไทยไปยังตลาดยุโรปต้องเสียภาษีสูงถึงร้อยละ 24.0 โดยโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในปาปัวนิวกินีนี้จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2553

บทสรุป
ปลาทูน่ากระป๋องนับว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่สินค้าที่คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกมากนัก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2552 ยอดจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้บริโภคยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ส่วนมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการที่ตลาดส่งออกหลักยังมีแนวโน้มขยายการนำเข้า เนื่องจากปลาทูน่ากระป๋องนับว่าเป็นสินค้าอาหารพื้นฐาน ราคาไม่แพง และท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคเน้นประหยัด ทำให้หันมาซื้อสินค้าอาหารสำเร็จรูปในร้านค้าปลีก ทดแทนการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งปลาทูน่ากระป๋องนับว่าเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมในช่วงที่ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด นอกจากตลาดสหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแล้ว ตลาดที่คาดว่าจะเติบโตอย่างมากในปี 2552 คือ ญี่ปุ่น จากอานิสงส์ของเจเทปป้าที่สินค้าปลาทูน่ากระป๋องจะได้รับการลดภาษีนำเข้า และอานิสงส์จากเงินเยนแข็งค่า ส่วนตลาดอื่นๆที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ คือ ตลาดในตะวันออกกลาง และแอฟริกา