อานิสงส์ฤดูหนาว…..ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายขยายตัวร้อยละ 7.4

ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายภายในประเทศโดยปกติแล้ว จะมียอดขายสูงสุดในช่วงฤดูหนาว คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป มากกว่าในช่วงฤดูอื่นๆ ซึ่งในช่วงฤดูหนาวจะมียอดขายเฉลี่ยที่ร้อยละ 65 ส่วนในฤดูร้อนและฤดูฝนรวมกัน จะมียอดขายเฉลี่ยเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายมีมูลค่ารวมสูงถึง 4,200 ล้านบาท เมื่อผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ ต่างเห็นโอกาสในตลาดที่มีมูลค่าสูงของผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายแล้ว ผู้ประกอบการจึงมุ่งนำผลิตภัณฑ์ของตนเข้ามาในตลาดช่วงฤดูหนาวมากขึ้นกว่าในช่วงฤดูอื่นๆ ทำให้ช่วงฤดูหนาวในปี 2551 นี้ การแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายน่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงปลายปี 2551

ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายปี’51 ขยายตัวร้อยละ 4.8
สำหรับช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม ในปี 2551 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แนวโน้มตลาดของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะเติบโตเพิ่มสูงขึ้น โดยน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,900 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวร้อยละ 7.4 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีการขยายตัวที่ร้อยละ 5 โดยมีมูลค่าประมาณ 2,700 ล้านบาท ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายทั้งปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของปี 2551 ที่มีการขยายตัวเกือบร้อยละ 5 เช่นกัน โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายในปี 2551 ขยายตัว มาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

ฤดูหนาวในปี 2551 เริ่มขึ้นเร็วกว่าทุกๆปี และอุณหภูมิหนาวเย็นกว่าปกติ จากสภาพอากาศหนาวเย็นของปี 2551 ที่เกิดขึ้นเร็วกว่าทุกๆปีประมาณ 2 อาทิตย์ รวมทั้งปรากฏการณ์ลานีญาที่จะทำให้ฤดูหนาวในปี 2551 มีอากาศหนาวเย็นกว่าทุกปีอย่างน้อย 1-2 องศาเซลเซียส โดยเขตพื้นที่กรุงเทพฯ อาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียสในบางช่วงของเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ส่วนภาคเหนือ อาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่า ระยะเวลาในช่วงฤดูหนาวอาจจะยาวไปถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งถือได้ว่ามีระยะเวลายาวนานกว่าปกติ ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกาย เพื่อดูแล และป้องกันผิวแห้งแตกจากอากาศหนาวเย็นในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ระหว่างเดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2552

ผู้บริโภคสมัยใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิง ดูแลตัวเองมากขึ้น ถึงแม้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลง แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้หญิงมากนัก เนื่องจากในปัจจุบัน กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงโสด การศึกษาดี มีการแต่งงานช้าลง และสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีการให้ความสำคัญกับการดูแล และรักษาความงามมากขึ้น รวมทั้งมองว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ก็มีการดูแลสุขภาพของตัวเองมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งผลการสำรวจ พบว่าผู้หญิงวัยทำงานมากกว่าร้อยละ 80 ให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคด้านความงามเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2,000-7,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเพศหญิงที่มีแนวโน้มการดูแล และรักษาความงามเพิ่มขึ้นเท่านั้น ผู้บริโภคเพศชายก็มีแนวโน้มการดูแลตนเองเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเห็นได้จากตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายที่ผลิตมาเพื่อผู้บริโภคเพศชายโดยเฉพาะ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการขยายตัวโดยรวมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตลอดทั้งปี 2551

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการตลาด จากการเป็นสินค้าที่จำหน่ายตามฤดูกาล ให้เป็นการขายได้ตลอดทั้งปีโดยไม่จำกัดฤดูกาล ในอดีตที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายมักถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และเป็นสินค้าที่จำหน่ายตามฤดูกาลเท่านั้น รวมทั้งผู้บริโภคมักจะลดการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากลุ่มนี้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงและยาวนานต่อเนื่องมาหลายปี จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ โดยพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับทุกฤดูกาล เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายในช่วงฤดูร้อน ผู้ผลิตก็ได้มีการปรับปรุงเนื้อครีม/โลชั่นที่ให้ความรู้สึกไม่เหนียวตัว หลังจากใช้ทาบริเวณผิวกายเหมือนกับผลิตภัณฑ์ในช่วงฤดูหนาว ทำให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายได้ตลอดทั้งปี และทำให้ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยผู้บริโภคไม่ได้มองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ดูแลผิวกายในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น แต่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

ไวท์เทนนิ่ง : ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายสุดฮิตของสาวไทย
ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) กลุ่มเบสิก (Basic) คือ กลุ่มบำรุงผิวกายขั้นพื้นฐาน 2) กลุ่มไวท์เทนนิ่ง (Whitening) คือ กลุ่มบำรุงผิวกายที่เน้นให้ผิวกระจ่างใส และระดับสีผิวขาวขึ้น และ 3) กลุ่มแอดวานซ์ เบเนฟิต (Advance benefit) คือ กลุ่มที่มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ช่วยกระชับผิว หรือลดรอยเหี่ยวย่นของผิวกาย นอกเหนือจากคุณสมบัติโดยทั่วไปของผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกาย

จากภาพรวมของตลาดรวมผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายภายในประเทศในปี 2551 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 4,400 ล้านบาทแล้ว เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายแยกตามรายประเภท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปีนี้ ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายประเภทไวท์เทนนิ่งยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก และอาจจะมีสัดส่วนในตลาดเพิ่มสูงขึ้นจนเกือบจะถึงร้อยละ 50 โดยคิดเป็นมูลค่า 2,200 ล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น ซึ่งมีแสงแดดแรงมากกว่าประเทศในเขตอื่นๆ บวกกับค่านิยมทางสังคมในปัจจุบันที่เห็นว่าการมีผิวขาว กระจ่างใส จะดูดีกว่าผิวคล้ำ ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับระดับความขาวของสีผิวมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายประเภทแอดวานซ์ เบเนฟิท คาดว่าจะมีสัดส่วนในตลาดเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยอาจจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 12 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 530 ล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีคุณสมบัติอื่นๆ ส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายประเภทเบสิกนั้น น่าจะมีสัดส่วนในตลาดลดลงเหลือร้อยละ 38 โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,670 ล้านบาท เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ตอบสนองแก่ผู้บริโภคในปัจจุบันที่ดูแลตนเองมากขึ้นเพียงระดับพื้นฐานเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายในปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเป็นสำคัญ หากผู้ประกอบการสามารถทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และมีความต้องการที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปได้ และสามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกายของตน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวของผู้บริโภคได้แล้วนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะตลาดตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ รวมทั้งอาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

บทสรุป
ในฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เป็นช่วงเวลาที่ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายมียอดขายสูงที่สุด เนื่องจากถือว่าเป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เพราะช่วยดูแล และป้องกันผิวหนังไม่ให้แห้งแตกในช่วงเวลาที่อากาศหนาวเย็น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2551นี้ ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกาย จะมีมูลค่าตลาดภายในประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,400 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วน่าจะมาจากยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม ที่มีมูลค่าถึง 2,900 ล้านบาท โดยขยายตัวประมาณร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก สภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูหนาวของปี 2551 ที่เริ่มขึ้นเร็วกว่าในทุกๆปี รวมทั้งมีการคาดการณ์ว่าฤดูหนาวปีนี้จะมีอุณหภูมิต่ำ และยาวนานกว่าฤดูหนาวในปีอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ต่างหันมาสนใจ และดูแลร่างกายของตนเองมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายในปี 2551 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนประเภทของผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีสัดส่วนในตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายเพิ่มมากขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายประเภทไวท์เทนนิ่ง และประเภทแอดวานซ์ เบเนฟิท โดยน่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 และร้อยละ 12 ตามลำดับ หากผู้ประกอบการต้องการเข้ามายืนอยู่ในตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายได้อย่างมั่นคงแล้ว ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อจะได้นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม ซึ่งก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวกายได้เพิ่มขึ้น