ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2550 พบว่า
• สินทรัพย์สภาพคล่อง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิ) ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนกันยายน 2551 โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 1.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.09 หมื่นล้านบาท จาก 1.73 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบหลักอย่างเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นและเงินสด ขณะที่เงินลงทุนสุทธิลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในเดือนตุลาคม ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการระดมเงินผ่านการออกตั๋วแลกเงินระยะสั้นซึ่งผลักดันให้ยอดเงินกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 2.59 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าของยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 1.29 หมื่นล้านบาท จะมีขนาดที่น้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) จำนวน 1.85 หมื่นล้านบาทก็ตาม
• การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องเกิดขึ้นในทุกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดยการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจำนวน 1.93 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.27 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.38 หมื่นล้านบาท มาที่ 1.05 ล้านล้านบาท และกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 7.7 พันล้านบาท มาที่ 4.92 แสนล้านบาท
• อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2550 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ลดลง 2.33 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลดลงในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กและกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 3.23 หมื่นล้านบาท และ 2.76 พันล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดกลางเพิ่มขึ้น 1.18 หมื่นล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยจะขยับขึ้นในเดือนตุลาคม แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา สภาพคล่องของระบบแบงก์ไทยมีทิศทางที่ปรับลดลง และคาดว่าอาจจะยังมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตามแนวโน้มการลดลงของสภาพคล่องในระบบการเงิน โดยปัญหาวิกฤตการเงินโลกที่ยังไม่ยุติลง น่าจะทำให้ยังคงมีความต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องจากบรรดาบริษัทและสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ประสบปัญหา กอปรกับภาวะความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกที่คาดว่ายังมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง คงจะทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้ภาพรวมบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินไทยอาจยังตกอยู่ในภาวะซบเซา และนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการเข้าลงทุน ในขณะเดียวกัน ทางด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ก็อาจประสบกับภาวะชะลอตัวลง จากแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศชั้นนำที่ถดถอย และสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ แม้แรงกดดันเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงค่อนข้างมาก ซึ่งเพิ่มความยืดหยุ่นให้นโยบายอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย มีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลง แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงในระยะใกล้นี้ ธนาคารพาณิชย์คงจะเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในประเด็นการบริหารสภาพคล่อง ตลอดจนการดูแลคุณภาพหนี้ และการบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าว อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาในเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่างๆ อย่างระมัดระวังเช่นกัน