อีริคสันเปิดตัวเทคโนโลยีพลังงานลม การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีฐาน

อีริคสันชูแนวคิดการสร้างสถานีโครงข่ายแบบเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุด ซึ่งเป็นโครงงานวิจัยการใช้พลังงานจากแรงลมรุ่นบุกเบิก โดยร่วมมือกับบริษัท Vertical Wind AB และมหาวิทยาลัย Uppsala ในประเทศสวีเดน ความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อต่อยอดแนวคิดของอีริคสันที่มุ่งมั่นจะนำเสนอโซลูชั่นพลังงานทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการเทคโนโลยีสื่อสารแก่ประชาชน

สถานีฐานแบบพลังงานลมชนิดนี้ ได้โครงสร้างต้นแบบประหยัดพลังงาน มาจากการออกแบบของอีริคสันที่ได้รางวัลชนะเลิศการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นจาก Wall Street Journal Technology Innovation Awards 2008 และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมให้มีระบบการใช้พลังงานแบบหมุนเวียน โดยใช้แรงลมจากการทำงานของระบบกังหันสี่ใบพัดที่ติดตั้งในระดับความสูงถึงห้าเมตร โดยใบพัดทั้งสี่จะทำงานแบบเงียบๆ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงและยังช่วยลดภาระการทำงานให้กับสถานีฐานนี้อีกด้วย

การทดลองในครั้งนี้จะเป็นตัวชี้ว่าการออกแบบสถานีฐานที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกับการใช้กังหันลม
แนวแกนตั้งนั้น จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการสื่อสารเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และที่สำคัญยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้จริง

สถานีฐานของอีริคสันอันเป็นที่ตั้งของหอรับส่งและเสาสัญญาณนั้นสร้างจากคอนกรีตที่ถูกออกแบบมาให้เป็นนวัตกรรมของสิ่งก่อสร้างชั้นเยี่ยม เพราะปริมาณสิ่งตกค้างและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้านกระบวนการผลิตและการนำมาให้บริการ น้อยกว่าปริมาณที่ได้จากสถานีฐานโครงเหล็กแบบเก่า ซึ่งสถานีแบบใหม่นี้ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ หอรับส่งสัญญาณของอีริคสันยังไม่จำเป็นต้องมีระบบป้อนพลังงาน (Feeders systems) และ
ระบบหล่อเย็น (Cooling systems) หอรับส่งสัญญาณนี้ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับโอเปอเรเตอร์ได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณการเผาผลาญพลังงานที่น้อยลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าสถานีฐานแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ อีกทั้งยังมีการออกแบบที่โดดเด่นล้ำสมัยและไม่ตายตัว สามารถสร้างตามขนาดและโทนสีที่หลากหลาย เพื่อให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้นๆ ได้อีกด้วย

นายอุล์ฟ อีวาล์ดสัน (Ulf Ewaldsson) ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายโครงข่ายคลื่นวิทยุ (Product Area Radio) ของอีริคสัน กล่าวว่า “การนำพลังงานจากแรงลมมาใช้ในหอรับส่งสัญญาณของอีริคสันนั้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายพื้นที่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนให้ครอบคลุมเขตชนบท และพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มี กระแสไฟฟ้าใช้ จากผลการวิจัยเกี่ยวกับหอรับส่งสัญญาณพลังงานลมที่ได้มานั้น ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของเราที่จะใช้ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีมาช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางโทรคมนาคมแบบยั่งยืน และสามารถนำบริการมาสู่ทุกคน”

การดำเนินงานในครั้งนี้อยู่ภายใต้พันธกิจของอีริคสันที่มุ่งพัฒนาการใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโอเปอเรเตอร์ ทั้งนี้ยังรวมถึงการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้สถานีฐานที่ครอบคลุมอยู่ทั่วทุกพื้นที่ การสร้างตัวอุปกรณ์รับส่งสัญญาณที่ช่วยประหยัดพลังงาน ด้วยการตั้งค่าอยู่ในสถานะ Standby ในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย (off-peak hours) การสร้างสถานีฐานโทรคมนาคมที่ใช้พลังงานจากไบโอดีเซล พัฒนาโซลูชั่นใหม่ที่ใช้พลังงานผสม (hybrid) ระหว่างดีเซลและแบตเตอรี่ ตลอดจนเครื่องชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งพัฒนาร่วมกันกับโซนี่ อีริคสัน