แนวโน้มตลาดไอทีปี 2552 : ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าต่อเนื่อง

จากภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในครึ่งแรกของปีนี้ ประกอบกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสชะลอตัวลงจากวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของตลาดไอทีทั้งสิ้น และดูเหมือนตลาดไอทีอาจยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอย่างรุนแรงทั้งในปีนี้และอาจต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินภาพรวมตลาดไอทีในปี 2551 และคาดการณ์แนวโน้มในปี 2552 รวมทั้งเสนอแนะสินค้าที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่ง

ภาพรวมปี 2551 … เติบโตต่ำกว่าคาด จากปัญหาราคาน้ำมันและความวุ่นวายทางการเมือง

ตลาดไอทีเริ่มต้นปีด้วยภาวะที่ต้องเผชิญสถานการณ์ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังต้องเผชิญสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ ต้องชะลอไป นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีแม้ราคาน้ำมันเริ่มมีทิศทางลดลง แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตลอดจนยังต้องเผชิญปัญหาวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดไอที ดังนี้

ค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะชะลอลงในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อภาระรายจ่ายของผู้บริโภคลงไปได้มาก แต่โดยเฉลี่ยแล้วอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใน 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.3 เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.1 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ทำให้ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งสินค้าไอทีหลายประเภทจัดอยู่ในลักษณะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค กล้องดิจิทัล เป็นต้น ส่งผลกระทบโดยเฉพาะตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 55-60 สำหรับในส่วนของต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยใน 10 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14.9 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.2 ทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนอาจต้องชะลอการลงทุนด้านไอทีลง

สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ส่งผลต่อบรรยากาศเศรษฐกิจและบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจมีแนวโน้มปรับลดลงมาโดยตลอด สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและการคาดการณ์ของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่มองภาวะเศรษฐกิจในอนาคตไม่สดใส นอกจากนี้ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็ส่งผลต่อการลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งโครงการ Mega Projects ทำให้การลงทุนของภาครัฐใน 9 เดือนแรกของปีนี้หดตัวประมาณร้อยละ 3.3 ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3 โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีบทบาทในตลาดไอทีประมาณร้อยละ 25-30

ความวิตกกังวลในปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ซึ่งมีสัญญาณที่ปัญหาจะลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าผู้บริโภคและภาคธุรกิจอาจจะชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนด้านไอทีเพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลงในปีหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 ใกล้เคียงกับปีก่อน

การชะลอการลงทุนด้านไอทีของภาคเอกชน ปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้ภาคธุรกิจเอกชนบางรายอาจต้องชะลอการลงทุนด้านไอทีเพื่อรอดูสถานการณ์ รวมทั้งยังมีโครงการลงทุนที่สำคัญที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการที่ต้องรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐ อาทิ การเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ไร้สายผ่านระบบ WiMAX ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แม้ขณะนี้จะอนุญาตให้เปิดบริการระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิมได้ แต่ก็อาจสร้างเม็ดเงินลงทุนแก่ตลาดไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนบนคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งทั้ง 2 โครงการคาดว่าจะได้รับอนุญาตภายในปีหน้า ทำให้ขณะนี้ผู้ให้บริการบางรายเริ่มเตรียมการลงทุน แม้จะยังไม่สูงแต่ก็อาจช่วยส่งผลดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้บ้าง ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนด้านอุปกรณ์สำนักงานคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าใน 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวประมาณร้อยละ 8.3 ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 10.7

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดไอทีอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ายังมีปัจจัยที่อาจสนับสนุนให้ตลาดยังมีการเติบโตได้ ดังนี้

 ราคาสินค้าและบริการที่ถูกลง เนื่องจากผู้ประกอบการแข่งขันกันปรับลดราคาและมีบริการผ่อนชำระสินค้าดอกเบี้ยต่ำมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายในภาวะที่ตลาดซบเซา รวมทั้งมีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น คอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ค (Netbook) ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาเหมาะสำหรับการใช้งานนอกสถานที่ เป็นต้น ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในส่วนของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าใน 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งขยายตัวประมาณร้อยละ 0.04 อีกทั้งจากข้อมูลของผู้จัดงาน Commart ครั้งที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ยอดการใช้จ่ายภายในงานก็สูงถึงประมาณ 3,200 ล้านบาท สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 ล้านบาท แม้จะต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่ยังคงมีอยู่จากผู้บริโภครายย่อย

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 15.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีประมาณ 13.4 ล้านคน ส่งผลดีต่อตลาดบริการด้านคอมพิวเตอร์ อีกทั้งเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 2 ของโฆษณาทั้งหมด ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในด้านบริการสื่อสารและโทรคมนาคม 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวประมาณร้อยละ 8.3 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.6

การลงทุนด้านไอทีขององค์กรขนาดใหญ่ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนอาจยังคงลงทุนต่อเนื่อง จากผลของภาวะการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สถาบันการเงินลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์เกี่ยวกับธุรกรรมออนไลน์ ปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยงตามกฎ Basel II และระบบบัญชีตามมาตรฐาน IAS 39 ธุรกิจโทรคมนาคมปรับปรุงระบบไอทีเพื่อรองรับบริการเสริมใหม่ๆ และปรับปรุงโครงข่ายเพื่อรองรับระบบ 3G บนคลื่นความถี่เดิม เป็นต้น รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ก็ทำให้หลายองค์กรต้องลงทุนเพิ่มเติม นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ก็ส่งผลให้หลายองค์กรให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมากขึ้น เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น

จากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินภาพรวมตลาดไอที ปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวในระดับที่ชะลอลงกว่าปีก่อน จากผลของการชะลอการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน แม้ในตลาดผู้บริโภคอาจยังมีกำลังซื้ออยู่บ้างแต่เมื่อเทียบกับปีก่อนก็คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลง ทำให้คาดว่ามูลค่าตลาดอาจต่ำกว่าที่ NECTEC ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปีว่าจะมีมูลค่าประมาณ 166,913 ล้านบาท และขยายตัวประมาณร้อยละ 13.9 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเมื่อต้นปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาด ไอทีปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 158,000-161,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 ชะลอลงจากปี 2550 ที่มีมูลค่าประมาณ 146,600 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวประมาณร้อยละ 12.5

แนวโน้มปี 2552 … คาดชะลอตัวลง จากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มตลาดไอที ปี 2552 คาดว่าทั่วโลกจะมีทิศทางชะลอตัวลง โดยล่าสุด IDC (International Data Corporation) คาดการณ์ว่ามูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกในปีหน้าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 เป็นการปรับลดลงจากครั้งก่อนที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.9 สำหรับประเทศไทยก็คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะต้องเผชิญปัจจัยลบจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์การปิดท่าอากาศยานและการยุบพรรค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 ส่วนในกรณีเลวร้ายที่การส่งออกและการลงทุนภายในประเทศหดตัวจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 2.5 ชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจอาจชะลอการใช้จ่ายด้านไอทีตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นตลาดต่างประเทศอาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สถาบันการเงินที่อาจต้องชะลอการลงทุนด้านไอทีเพื่อพยุงสถานะทางการเงินให้มีความมั่นคงมากขึ้นท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าอยู่มากมาย โดยคาดว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะปรับลดงบประมาณด้านไอทีลง เลือกลงทุนด้านไอทีที่มีความจำเป็นก่อนเท่านั้น อีกทั้งหลังเหตุการณ์การปิดท่าอากาศยานและการยุบพรรคสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้แผนการลงทุนด้านไอทีของภาครัฐและโครงการ Mega Projects มีความเสี่ยงที่อาจไม่เกิดขึ้นตามแผนการที่วางไว้ แม้ตลาดไอทีอาจมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพื่อเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และอินเทอร์เน็ตระบบ WiMAX ตลอดจนแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงก็ช่วยลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพของผู้บริโภคและต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจ แต่ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจต้องเผชิญปัญหารุมเร้าในปีหน้าทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ก็อาจช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาคธุรกิจได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีพื้นฐานตลาดไอทีปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 163,000-169,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 3-5 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 158,000-161,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 และต่ำกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มรายสาขา ดังนี้

ตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ (Computer Hardware)

ในปีหน้าคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีนี้ เนื่องจากการชะลอการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งคาดว่าจะเกิดการแข่งขันในตลาดอย่างรุนแรงทั้งด้านราคาและไม่ใช่ราคา โดยเฉพาะในตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่เครื่องราคาถูกจะมีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้นจากผลของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งการทำตลาดของคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊คที่มีราคาถูก ส่วนตลาดจอคอมพิวเตอร์คาดว่าสัดส่วนของจอ LCD (Liquid Crystal Display) จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าจอ CRT (Cathode Ray Tube) เป็นอย่างมาก โดยจอ CRT มีแนวโน้มจะหมดไปจากตลาด เนื่องจากผู้ผลิตจอ CRT หลายรายได้หยุดการผลิตไปแล้ว ตลอดจนมีเทคโนโลยีจอภาพใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด เช่น LED (Light Emitting Diodes) ซึ่งมีความเร็วในการตอบสนองต่อภาพสูงและประหยัดพลังงาน เป็นต้น ส่วนการลงทุนด้าน System อาจชะลอลงอย่างมาก เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้องค์กรต่างๆ คงต้องชะลอการลงทุนไว้ก่อน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีพื้นฐานตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 74,000-77,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 2-4 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 73,000-74,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 6-8

 ตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ (Computer Software)
คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยคาดว่าภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนในตลาดกว่าร้อยละ 65-70 จะชะลอการลงทุนด้านไอที ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 28 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจน สถาบันการเงินที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 17 ก็อาจระมัดระวังค่าใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งได้ดำเนินการลงทุนเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงตามกฎ Basel II ไปแล้วส่วนหนึ่งในปีนี้ แม้ยังคงคาดว่าจะมีการลงทุนในบางส่วน เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการแก่ลูกค้าและขยายตลาด เช่น ธุรกรรมการเงินออนไลน์ บริการข้อมูลทางการเงินออนไลน์ เป็นต้น ส่วนซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่มีโอกาสที่จะขยายตัวสูงขึ้นหากมีการเปิดให้บริการระบบ 3G ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนา Content ต่างๆ แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีหน้า อาจทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมีโอกาสที่จะปรับลดหรือชะลอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม นอกจากนี้ ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังคงอยู่ในระดับสูง จากการสำรวจของ BSA (Business Software Alliances) ในปี 2550 ไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 78 โดยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 468 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีพื้นฐานตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 64,000-67,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 3-5 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 62,000-63,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 9-11

 ตลาดบริการด้านคอมพิวเตอร์ (Computer Services)
ในปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลง หลังจากที่ในปีนี้เติบโตอยู่ในระดับสูง โดยบริการด้านเครือข่ายยังมีโอกาสเติบโตตามจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ส่วนบริการฝึกอบรมด้านไอทีคาดว่าจะปรับลดลงตามการปรับลดค่าใช้จ่ายของภาคเอกชน ส่วนบริการ IT Outsourcing ยังมีโอกาสเติบโตในภาวะที่ภาคธุรกิจต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย ซึ่งบริการ IT Outsourcing จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการลง รวมทั้งจากการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ทำให้หลายองค์กรเริ่มลงทุนปรับปรุงระบบให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวได้มากขึ้น เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและความคุ้มค่าในการลงทุน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีพื้นฐานตลาดบริการด้านคอมพิวเตอร์ในปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 24,500-25,500 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 6-8 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 23,000-24,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 12-14

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูงในปีหน้า การลงทุนด้านไอทีของภาครัฐและภาคเอกชนอาจไม่เกิดขึ้นตามที่คาดไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในกรณีเลวร้ายตลาดไอทีในปีหน้าอาจขยายตัวได้น้อยมากหรือไม่มีการเติบโตเลย และในกรณีดังกล่าวมูลค่าตลาดไอทีอาจจะลดลงกว่าในกรณีพื้นฐานประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท

สินค้าดาวรุ่งและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจะมีสินค้าดาวรุ่งและแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ดังนี้
คอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ค โดย IDC ประเมินว่ายอดจำหน่ายทั่วโลกในปี 2552 จะมีประมาณ 40 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีประมาณ 10 ล้านเครื่อง สำหรับไทยคาดว่าอาจมียอดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 25-30 ของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คทั้งตลาดในปีนี้ สำหรับในปีหน้าคาดว่าจะยังคงเป็นสินค้าสำคัญที่จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เนื่องจากเหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ใช้งานทั่วไปและผู้ที่นำไปใช้งานนอกสถานที่ อีกทั้งมีราคาถูกสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

อุปกรณ์อินเทอร์เน็ตแบบพกพา (Mobile Internet Devices: MID) จากการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,500 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,000 ล้านคน ในปี 2555 ทำให้ความต้องการใช้ MID มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าอุปกรณ์ MID จะมีการพัฒนาให้หลากหลายขึ้น เช่น Netbook, PDA, Smartphone, Mobile Storage, Multimedia Player เป็นต้น และจะสามารถรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้หลายระบบ เช่น 3G, WiMAX, Bluetooth, WiFi เป็นต้น

WiMAX คาดว่าอาจสามารถเปิดให้บริการได้ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีความแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยากต่อการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตแบบใช้สาย โดยคาดว่าหลังการเปิดให้บริการจะทำให้มีเครื่องลูกข่ายที่รองรับระบบ WiMAX เข้าสู่ตลาดมากขึ้น

3G เป็นการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะความเร็วในการรับส่งข้อมูล คาดว่าจะเปิดให้บริการบนคลื่นความถี่เดิมได้ภายในปีหน้าและคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2553 ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนา Content ต่างๆ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านไอทีมากขึ้นตามไปด้วย

Green Technology เป็นการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาและลดการปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในสินค้าและบริการด้านไอทีต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์บริหารจัดการการใช้พลังงาน คอมพิวเตอร์ที่ผลิตจากวัสดุที่สร้างมลภาวะต่ำ จอคอมพิวเตอร์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น

สรุปและข้อเสนอแนะ

ตลาดไอทีในปี 2551 ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในครึ่งปีแรก สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้การดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ ของภาครัฐต้องชะลอไป ในช่วงครึ่งหลังของปีแม้ราคาน้ำมันเริ่มมีทิศทางปรับลดลง แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตลอดจนยังต้องเผชิญปัญหาวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่สร้างความหวาดกลัวว่าปัญหาอาจลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจสนับสนุนการเติบโตของตลาดไอที ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าและบริการที่ถูกลง เนื่องจากผู้ประกอบการแข่งขันกันปรับลดราคา รวมทั้งการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ แก่ผู้บริโภค จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นสูง การลงทุนต่อเนื่องขององค์กรขนาดใหญ่ และการบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ทำให้หลายองค์กรต้องเร่งลงทุนเพิ่มขึ้น จากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินภาพรวมตลาดไอที ปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวในระดับที่ชะลอลงกว่าปีก่อน จากผลของการชะลอการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน แม้ในตลาดผู้บริโภครายย่อยอาจยังมีกำลังซื้ออยู่บ้างแต่เมื่อเทียบกับปีก่อนก็คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลง ทำให้คาดว่ามูลค่าตลาดอาจต่ำกว่าที่ NECTEC ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปีว่าอาจมีมูลค่าประมาณ 166,913 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 13.9 (ฮาร์ดแวร์+ซอฟต์แวร์+บริการ) เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากเมื่อต้นปี โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดไอทีปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 158,000-161,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 ชะลอลงจากปี 2550 ที่มีมูลค่าประมาณ 146,600 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 12.5

สำหรับในปี 2552 คาดว่าตลาดไอทีจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าจะต้องเผชิญปัจจัยลบจากวิกฤตการเงินสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์การปิดท่าอากาศยานและการยุบพรรค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 ส่วนในกรณีเลวร้ายที่การส่งออกและการลงทุนภายในประเทศหดตัวจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 2.5 ชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.8 ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจอาจชะลอการใช้จ่ายด้านไอทีตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นตลาดต่างประเทศอาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สถาบันการเงินที่อาจต้องชะลอการลงทุนด้านไอทีเพื่อพยุงสถานะทางการเงินให้มีความมั่นคงมากขึ้นท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าอยู่มากมาย โดยคาดว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะปรับลดงบประมาณด้านไอทีลง เลือกลงทุนด้านไอทีที่มีความจำเป็นก่อนเท่านั้น อีกทั้งหลังเหตุการณ์การปิดท่าอากาศยานและการยุบพรรคสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้แผนการลงทุนด้านไอทีของภาครัฐและโครงการ Mega Projects มีความเสี่ยงที่อาจไม่เกิดขึ้นตามแผนการที่วางไว้ แม้ตลาดไอทีอาจมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพื่อเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และอินเทอร์เน็ตระบบ WiMAX ตลอดจนแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลงก็ช่วยลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพของผู้บริโภคและต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจ แต่ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจต้องเผชิญปัญหารุมเร้าในปีหน้าทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ก็อาจช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาคธุรกิจได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในกรณีพื้นฐานตลาดไอทีปี 2552 จะมีมูลค่าประมาณ 163,000-169,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 3-5 ชะลอตัวลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่าประมาณ 158,000-161,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 รวมทั้งยังต่ำกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูงในปีหน้า การลงทุนด้านไอทีของภาครัฐและภาคเอกชนอาจไม่เกิดขึ้นตามที่คาดไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในกรณีเลวร้ายตลาดไอทีในปีหน้าอาจขยายตัวได้น้อยมากหรือไม่มีการเติบโตเลย และในกรณีดังกล่าวมูลค่าตลาดไอทีอาจจะลดลงกว่าในกรณีพื้นฐานประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท