กนง.ลดดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงบ่ายวันที่ 3 ธันวาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ถึงร้อยละ 1.00 จากร้อยละ 3.75 สู่ร้อยละ 2.75 ซึ่งนับเป็นขนาดการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายการเงินของไทยภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนับตั้งแต่ปี 2543 และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความคิดเห็นต่อการประชุม กนง.ในรอบนี้ สรุปได้ดังนี้:-

แถลงการณ์หลังการประชุม แถลงการณ์หลังการประชุมนโยบายการเงิน สะท้อนให้เห็นว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นประเด็นที่ กนง.ให้ความสำคัญ โดย กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่แรงกระตุ้นจากภาครัฐยังคงมีข้อจำกัด ทั้งนี้ ปัญหาทางการเมืองในประเทศได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นและภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กนง.ยังสะท้อนความกังวลไปที่ภาคส่งออกของไทยอีกด้วย โดยระบุว่า วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศในภูมิภาคอย่างชัดเจน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยและมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในการประชุมของกนง.ในรอบนี้นั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงรุกเพื่อรองรับความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างชัดเจนมากขึ้นแล้วในขณะนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาทางการเมืองที่ยังคงไม่นิ่งอาจส่งผลทำให้แรงกระตุ้นของนโยบายการคลังต่อเศรษฐกิจมีความล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นโจทย์หนักในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกและความซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศจากปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้ อาจตกไปอยู่ที่บทบาทของนโยบายการเงินเป็นหลัก ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากนั้นได้กลายมาเป็นปัจจัยที่เอื้อให้กนง.มีพื้นที่มากพอสมควรในการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลในทางปฏิบัติของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อภาคเศรษฐกิจจริงนั้นยังคงต้องรอเวลาพิสูจน์ต่อไป เนื่องจากกลไกการส่งผ่านอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการจากสถาบันการเงินที่ต้องประเมินความเสี่ยงในการปล่อยกู้อย่างรอบคอบ เนื่องจากแม้ว่าปัญหาทางการเมืองบางส่วนได้ผ่อนคลายลงหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ระดับของความเสี่ยงทางการเมืองยังคงมีความเข้มข้นและเป็นปัจจัยลบของเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในระยะถัดไป 

—————————————
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น