ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนธันวาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 (Year-on-Year) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 ปี (76 เดือน) นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 และยังคงชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 1.5 ค่อนข้างมาก โดยนอกจากราคาน้ำมันในประเทศได้ปรับลดลงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด เช่น ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ และเครื่องประกอบอาหาร ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนธันวาคมเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน (Month-on-Month) ลดลงถึงร้อยละ 1.6
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้ลดลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.8 (Y-o-Y) จากร้อยละ 2.0 ในเดือนก่อนหน้า ประเด็นที่น่าสังเกตสำหรับตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนนี้คือ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงมาต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เนื่องจากราคาพลังงานลดต่ำลงอย่างมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นตัวเลขติดลบในเดือนมกราคม ถ้าราคาน้ำมันในประเทศยังไม่มีการปรับขึ้นมากนัก แต่เงินเฟ้ออาจจะขยับสูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันภายใต้ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย ก่อนที่จะกลับมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 2
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างลดลงร้อยละ 1.7 ถึงร้อยละ 0.9 (-1.7 ถึง -0.9) เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะคงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดทั้งปี 2552 อาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างลดลงร้อยละ 1.0 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 (-1.0 ถึง +1.0) ลดลงจากร้อยละ 5.4 ในปี 2551 ทั้งนี้ สภาวะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีระดับสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนี้จะยังคงดำเนินต่อไปตลอดช่วงครึ่งปีแรก และแนวโน้มค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะยังคงอยู่ในแดนบวก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.0-1.0 ลดลงจากร้อยละ 2.3 ในปี 2551
ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสที่จะติดลบในปี 2552 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะตกอยู่ในภาวะเงินฝืดเรื้อรัง หรือภาวะที่เศรษฐกิจจะมีระดับเงินเฟ้อลดลงเป็นระยะเวลายาวนานนั้น คงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย โดยแนวโน้มการลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงอย่างมากในปี 2551 (โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3) และผลของฐานดังกล่าวคงจะหมดไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พร้อมๆ กับราคาน้ำมันอาจจะค่อยๆ เริ่มขยับขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับมามีระดับที่สูงในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ปัจจัยดังกล่าวคงจะสร้างความลำบากให้กับการดำเนินนโยบายการเงินบ้าง จากการที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวในลักษณะที่ผันผวนสูง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพ และตัวเลขเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (พื้นฐาน) ไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ ทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้เริ่มขยับขึ้น เนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออก หลังจากอิสราเอลใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อปาเลสไตน์ในเขตฉนวนกาซ่า ถ้าการสู้รบยืดเยื้อหรือบานปลายอาจจะกดดันราคาน้ำมันในสูงขึ้นได้ แม้คาดว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันคงจะไม่ถึงขั้นทะยานสูงขึ้นอย่างรุนแรง แต่ถ้าเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกให้จมลึกลงยิ่งขึ้น และการฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลายาวนานออกไปอีก ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกดดันต่อทิศทางเงินเฟ้อและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน