โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ระยะที่ 2 มุ่งขยายผลสำเร็จ และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) องค์กรที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของวิสาหกิจ ครั้งที่ 4 ขึ้น เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลา 4 ปี (2548 – 2551) เพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ในอุตสาหกรรมการเกษตร 5 สาขา ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน กุ้ง ผักและผลไม้ กระดาษสา และมันสำปะหลัง และกลยุทธ์สำหรับการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในปี 2552 นี้ และจะสิ้นสุดในปีพศ. 2555

มร. เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ ในการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 GTZ จะยังคงพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมทั้ง 5 สาขาดังกล่าว และจะสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เป้าหมายสำคัญ

คือ การขยายผลสำเร็จที่ได้จากการดำเนินงานในระยะแรกไปสู่วงกว้างมากขึ้น โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือ 1) พัฒนาและขยายบริการต่างๆ ไปสู่ผู้ประกอบการและเกษตรกรรายอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด 2) ผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้ง 5 สาขาที่โครงการฯ ดำเนินการอยู่ และสร้างความแข็งแกร่งให้สมาคมองค์กรธุรกิจต่างๆ 3) วิเคราะห์หาจุดด้อยในห่วงโซ่มูลค่าตลอดขั้นตอนการผลิตเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และ 4) เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยมาตรฐานการรับรองคุณภาพ เพื่อให้เข้าถึงตลาดในต่างประเทศ การแนะนำนวัตกรรมใหม่ๆ การให้บริการเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทดแทน การดำเนินโครงการในระยะที่ 2 นี้ ยังสานต่อโครงการความร่วมมือไตรภาคีระหว่างประเทศเยอรมนี ไทยร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาใกล้เคียงอีกด้วย ”

การดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ไทยในระยะแรกที่ผ่านมานั้นประกอบด้วย 1) บริการด้านธุรกิจและการเงิน 2) บริการด้านประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ การให้บริการ 2 ทั้งส่วนนี้ได้มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการ การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ ได้ดังนี้

อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน

ชาวสวนปาล์มรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมจำนวน 2,363 ราย สามารถเพิ่มปริมาณผลปาล์มได้ร้อยละ 10 หรือคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 44 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้กิจกรรมการวิเคราะห์ดินและใบปาล์มเพื่อหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมก็ช่วยเพิ่มผลผลิตปาล์มได้ร้อยละ 15-20 หรือคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

ในส่วนของการผลิตน้ำมันปาล์มนั้น โรงงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 16 แห่ง สามารถลดการสูญเสียรายได้ถึง 753 ล้านบาท จากปริมาณการสูญเสียน้ำมันที่ลดลงในขั้นตอนการผลิต และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ได้จากก๊าซชีวภาพอีก 51 ล้านบาท

อุตสาหกรรมกุ้ง

ผลการดำเนินงานโครงการนำร่องวิเคราะห์สภาพและปรับปรุงดิน พบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ส่วนโครงการนำร่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้น สามารถประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 15 นอกจากนี้การส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งอินทรีย์และพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกนั้น ก็ได้รับยอดการสั่งซื้อกุ้งอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองจากฟาร์มกุ้งที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 60 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 750,000 ยูโร (ประมาณ 16,665 ล้านบาท) ในปี 2552 นี้ คาดว่ายอดสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 เมตริกตัน

อุตสาหกรรมผักและผลไม้
ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของไทย มาตรฐานการรับรองเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออก ดังนั้นจึงได้มีการดำเนินงานเพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อย 50 ราย ผ่านการรับรอง GlobalGAP Option 2 ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และมียอดการสั่งซื้อที่แน่นอนในแต่ละปี

โครงการยังได้ให้บริการคำแนะนำในการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมแก่สวนส้ม 1,200 แห่ง ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 6 และให้บริการการจัดการสวนแก่ชาวสวนลำไย ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตลำไยเกรด AA และเกรด A ได้ร้อยละ 46 ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 17 อีกด้วย ส่วนการแนะนำเทคโนโลยีการอบแห้งแบบใหม่นั้น ก็ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช่จ่ายด้านพลังงานลงได้ร้อยละ 19

อุตสาหกรรมกระดาษสา

การดำเนินโครงการกระดาษสาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 6.4 จากการใช้สารเคมี น้ำ และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (โดยผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีลงได้สูงสุดร้อยละ 20 และลดการใช้น้ำลงได้ร้อยละ 10 ผู้ประกอบการบางรายสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ถึงร้อยละ 40) นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดการใช้โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดน้ำเสีย แทนการใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ ในมาตรฐานในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนผลทางธุรกิจนั้น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีผลกำไรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.87 เป็นร้อยละ 33.37

โครงการฯ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการปรับปรุงคุณภาพของปอสา ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษสา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพแล้ว เกษตรกรชาวลาวก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง

โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังภายใต้โครงการนำร่อง 6 แห่งที่ทำการปรับปรุงการใช้พลังงานและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการเข้าร่วมกิจกรรม benchmarking และการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศนั้น สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้รวม 76 ล้านบาทต่อเดือน จากผลสำเร็จดังกล่าว ทำให้โรงงานอีก 6 แห่งสนใจนำหลักการดังกล่าวไปปฏิบัติใช้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้สนับสนุนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังแบบยั่งยืนเพื่อผลิตเอทานอล

GTZ เป็นสำนักงานของรัฐบาลเยอรมันในรูปแบบบริษัทที่ไม่หวังผลกำไร โดยดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GTZ ปฏิบัติภารกิจในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรปธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ GTZ ได้เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว