วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกในรอบนี้ ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ถูกมองว่าเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยในยามที่เศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาคของโลกไม่สามารถหลีกพ้นจากภาวะการชะลอตัว/ถดถอยไปได้ ทั้งนี้ แนวโน้มของเศรษฐกิจชั้นนำต่างๆ ที่อาจเติบโตในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพในปีนี้นั้น กำลังส่งผลกดดันต่อภาคส่งออกและฐานะดุลการค้าของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงภาคส่งออกของไทย ซึ่งในท้ายที่สุดก็อาจจะทำให้สกุลเงินเอเชียและเงินบาท ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระแสการอ่อนค่าของเงินในภูมิภาคไปได้ อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นแวดล้อมของเงินบาท และประเด็นที่ต้องจับตาในระยะถัดไปดังนี้
– เงินบาท…ในปี 2551 ที่ผ่านมา
เงินบาทปิดตลาดในประเทศในปี 2551 ที่ผ่านมา ด้วยการอ่อนค่าลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงหลังจากที่แข็งค่าขึ้นในช่วง 2 ปีก่อนหน้า (เงินบาทแข็งค่าขึ้น ร้อยละ 7.2 ในปี 2550 และแข็งค่าขึ้นร้อยละ 13.6 ในปี 2549)
• หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 2551 จะเห็นว่า เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในช่วงประมาณ 3 เดือนแรกของปี (เงินบาทแข็งค่าร้อยละ 7 จากระดับสิ้นปี 2550) โดยเงินบาททะยานแข็งค่าสุดในรอบทศวรรษโดยได้รับแรงหนุนจากแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก กระแสการคาดการณ์การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของธปท. และความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
• การเคลื่อนไหวของเงินบาทได้เปลี่ยนแปลงทิศทางเข้าสู่แนวโน้มที่อ่อนค่าลงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม และต่อเนื่องจนถึงช่วงท้ายปี 2551 ท่ามกลางความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งกลับมาได้รับแรงซื้อในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่นักลงทุนมองว่ามีความปลอดภัยในยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคซึ่งล้วนแต่ถูกกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และความอ่อนแอของดุลการค้า (ในช่วงกลางปี 2551) แต่เงินบาทก็ไม่ใช่สกุลเงินเอเชียที่ถูกกดดันมากนักในปี 2551 แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากปัญหาการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อ (ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ ‘เชิงลบ’ จากเดิม ‘มีเสถียรภาพ’) ก็ตาม โดยเงินบาทอ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ (ณ ระดับปิดตลาดปี 2551 เงินบาทอ่อนค่าจากระดับสิ้นไตรมาส 1/2551 ร้อยละ 9.5) อาทิ เงินวอน (เงินวอนร่วงลงร้อยละ 21.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน) เงินรูปี (เงินรูปีร่วงลงร้อยละ 17.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน) เงินรูเปียห์ (เงินรูเปียห์ร่วงลงร้อยละ 15.2 ในช่วงเวลาเดียวกัน) และเงินเปโซ (เงินเปโซร่วงลงร้อยละ 12.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน)
• แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมากในการประชุมเดือนธันวาคม 2551 แต่เงินบาทก็สามารถฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2551 (จากระดับประมาณ 35.74 ในช่วงต้นเดือนธ.ค.2551 มาปิดตลาดสิ้นปี 2551 ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ) ท่ามกลางบรรยากาศที่ดีขึ้นของการเมืองในประเทศ หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมืองและการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม ตลอดจนการชะลอตัวของกระแสการหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งตรงกันข้ามกับทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงท้ายปีที่ถูกกดดันอย่างหนัก หลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่กรอบร้อยละ 0.00-0.25
– เงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ยังคงถูกกดดันจากปัจจัยลบต่อเนื่องจากปี 2551
เงินบาทเริ่มต้นปี 2552 ด้วยการปรับตัวอย่างผันผวนในกรอบที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นปี 2551 ท่ามกลางความไม่แน่นอนในทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก แต่เงินบาทกลับถูกกดดันจากปัจจัยทางเทคนิค และความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นและสกุลเงินในเอเชียเพื่อปรับลดสถานะการลงทุนที่มีความเสี่ยง ขณะที่ ความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ นอกเหนือจากเฟดเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจยังคงถูกทดสอบด้วยปัจจัยลบที่ต่อเนื่องมาจากปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระแสการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งน่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ท่ามกลางความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทย พร้อมๆ กับภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืด ขณะที่ กระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากเฟด ยังคงเป็นปัจจัยบวกของค่าเงินดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2552
– แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งแรกของปี 2552
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลง เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อเงินบาทนั้นจะเป็นไปในทิศทางที่กดดันค่าเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งคงจะอ่อนค่าได้ยากในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ อาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มที่หดแคบลงของผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ กับเฟด โดยธนาคารกลางสำคัญอื่นๆ ยังคงมีพื้นที่มากพอที่จะรองรับแนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อบรรเทาความเสี่ยงของเศรษฐกิจจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลกในรอบนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดซึ่งเรียกได้ว่าได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ปลายปี 2551
– นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ อาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ (อาจจะมีมูลค่าทั้งสิ้นเกือบ 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ) ของฝ่ายบริหารหลังจากการเข้าดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ตระหนักดีว่า ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม ขณะที่ มาตรการทางการเงินในเชิงที่ผ่อนคลายจากเฟด อาทิ มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน นอกเหนือไปจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะเป็นผลดีและเอื้อประโยชน์ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถใช้เวลาฟื้นตัวที่ไม่ยาวนานมากนัก ซึ่งตรงกันข้ามกับมาตรการรับมือกับภาวะวิกฤตของประเทศอื่นๆ ซึ่งมีความหลากหลายน้อยกว่า และถึงแม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หลุดพ้นจากภาวะถดถอยทางเทคนิค (ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2552) แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะยังคงขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพตลอดทั้งปี 2552 ดังนั้นเงินดอลลาร์ฯ อาจจะยังคงได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนผู้แสวงหาสกุลเงินที่ปลอดภัยในยามที่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกยังไม่สิ้นสุดลง
– แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืด อาจเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ธปท.ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และนั่นก็เป็นนัยว่า เงินบาทอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจากแนวโน้มของผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯที่จะแคบลงในช่วงครึ่งแรกของปี เช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยอัตราการขยายตัวของ GDP อาจเริ่มมีค่าติดลบ (เศรษฐกิจหดตัว) ตั้งแต่ไตรมาส 4/2551 ต่อเนื่องมายังไตรมาส 1/2552 เป็นอย่างน้อย
– แนวโน้มการส่งออกของไทยอาจสะท้อนภาพที่น่าผิดหวังในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดิ่งลงอย่างรุนแรงทั่วโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับดุลการค้าต่างประเทศของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว และหากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของภาคต่างประเทศของไทยแล้วจะพบว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมักจะมีฐานะที่อ่อนแอในไตรมาส 2 ของทุกๆ ปี (จากปัจจัยด้านฤดูกาล เช่น การส่งกลับกำไรและเงินปันผล) ดังนั้นจึงเป็นนัยว่าปัจจัยสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงไตรมาส 2 ของทุกปีจะอ่อนแรงลงตามไปด้วย
– แนวโน้มความอ่อนแอของสกุลเงินในภูมิภาคและค่าเงินหยวน ซึ่งล้วนถูกกดดันจากแนวโน้มการส่งออกที่อ่อนแอและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลอดจนวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและจีนต้องเผชิญนั้น อาจทำให้สกุลเงินเอเชียและเงินหยวนยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ซึ่งในท้ายที่สุดเงินบาทก็อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระแสการอ่อนค่าของเงินในภูมิภาคไปได้ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจะไม่รุนแรงนักเนื่องจากการเข้าดูแลรักษาเสถียรภาพของค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีวัตถุประสงค์ให้เงินบาทปรับตัวสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
– ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา
แม้ว่าแนวโน้มเงินบาทอาจจะโน้มเอียงไปสู่กรอบการปรับตัวที่อ่อนค่าลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทนั้น ยังไม่สามารถให้ภาพที่ชัดเจนได้มากนัก เนื่องจากยังคงต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหลายประเด็นประกอบกัน อาทิ
– ความคาดหวังต่อการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งอาจส่งผลต่อตลาดการเงิน เนื่องจากนักลงทุนในตลาดการเงินอาจตีความสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเชิงบวกต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นผู้นำรายแรกของการฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ขณะที่ เฟดอาจถูกคาดหมายว่า จะเป็นธนาคารกลางชั้นนำแห่งแรกที่เริ่มทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจสามารถตีความในเชิงลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้เช่นกัน โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจมีความน่าสนใจน้อยลง หากนักลงทุนอาจเริ่มทยอยกลับเข้าลงทุนและแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าจากตราสาร/สินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากนักลงทุนเชื่อว่า ภาวะที่เลวร้ายที่สุดของตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกได้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งสุดท้ายแล้ว เงินดอลลาร์ฯ จะกลับมาอ่อนค่า (ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่า) ในช่วงปลายปี 2552 หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับว่าตลาดประเมินพื้นฐานทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ (ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้เช่นกัน) ว่ามีความแข็งแกร่งและน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนมากเพียงใด
– ประเด็นเกี่ยวกับภาระดุลการคลังของสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นมาจากการกอบกู้เศรษฐกิจ นักลงทุนในตลาดอาจประเมินว่า การเยียวยาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในรอบนี้นั้น ต้องแลกมาด้วยภาระการขาดดุลการคลังในระดับสูงหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเปราะบางให้พื้นฐานที่อ่อนแอของค่าเงินดอลลาร์ฯ ในระยะถัดไป ทั้งนี้ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังในระดับสูงของสหรัฐฯ รวมทั้งแนวโน้มการกระจายการถือครองสินทรัพย์ออกจากสกุลเงินดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินสามารถหยิบยกมาเป็นเหตุผลของการเทขายเงินดอลลาร์ฯ ได้อย่างต่อเนื่อง
– แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตัวเลขประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 จนถึงไตรมาสที่ 1/2552 เป็นอย่างน้อย ดังนั้นทำให้คาดการณ์ว่า หลังจากที่เงินบาทต้องเผชิญกับแรงกดดันจากแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 แล้วนั้น เงินบาทอาจมีโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทย จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงอย่างมาก ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับแนวโน้มที่สดใสขึ้นของภาคส่งออกของไทย
ปัจจัยกดดันเงินบาทในครึ่งแรกปี 2552 ปัจจัยหนุนเงินบาทในครึ่งหลังปี 2552
– การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางชั้นนำอื่นๆ และจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
– การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.
– ตัวเลข GDP, เงินเฟ้อ ของไทย ที่ดิ่งลง
– ตัวเลขส่งออกไทยที่คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยโลก
– การส่งกำไรกลับตามฤดูกาล ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจทำให้นักลงทุนคลายความกังวล และโยกเงินลงทุนกลับเข้ามาในตลาดเอเชีย รวมทั้งไทย เพราะมองว่า จุดที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตได้ผ่านพ้นไปแล้ว
– การขาดดุลการคลังในระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ
– แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
บทสรุป
ท่ามกลางความไม่แน่นอนในทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงเริ่มต้นของปี 2552 เงินบาทตอบรับภาพที่คลุมเครือของตลาดการเงินดังกล่าว ด้วยการปรับตัวอย่างผันผวนในกรอบที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นปี 2551 โดยแม้จะยังคงมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกในช่วงต้นปี แต่เงินบาทกลับถูกกดดันจากปัจจัยทางเทคนิค และความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นและสกุลเงินในเอเชียเพื่อปรับลดสถานะการลงทุนที่มีความเสี่ยง ขณะที่ ความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจยังคงถูกทดสอบด้วยปัจจัยลบที่ต่อเนื่องมาจากปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระแสการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งน่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ท่ามกลางความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทย พร้อมๆ กับภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืด ขณะที่ กระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงเป็นปัจจัยบวกของค่าเงินดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจไม่ใช่สกุลเงินเอเชียเพียงสกุลเดียวที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันนี้ เนื่องจากสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงค่าเงินหยวน ต่างก็ต้องเผชิญกับแนวโน้มการส่งออกที่อ่อนแอและภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบระดับ 35.70-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552
ในขณะที่ภาพของเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นั้น มีประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ ความคาดหวังต่อการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดการเงิน เนื่องจากนักลงทุนสามารถตีความสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าวได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ จะกลับไปอ่อนค่าลง (เงินบาทแข็งค่า) ในช่วงปลายปี 2552 หรือไม่นั้น ย่อมขึ้นกับว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอื่นๆ (ซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้เช่นกัน) จะมีความแข็งแกร่งเพียงพอและเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนหรือไม่เพียงใด นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเงินบาทก็คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อันเป็นผลจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการฟื้นตัวของการส่งออกตามปัจจัยด้านฤดูกาล หลังจากที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับภาวะการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ตาม ภายใต้แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2552 ที่อาจถูกกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง โดยเงินบาทที่อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความอ่อนแอของฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ตลอดจนกระแสการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี อาจจะมีแนวโน้มเปลี่ยนทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังหากความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลกฟื้นคืนกลับมา ดังนั้น จากความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว คงจะทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการบริหารจัดการเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในยามที่ต้องประสบกับความยากลำบากจากภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีหลากหลายปัจจัยลบรออยู่เบื้องหน้า