ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนไอกรนต้นแบบแห่งแรกเปิดตัวแล้วในประเทศไทย

คำบรรยายภาพ: ดร.จัง ปีเตอร์ (กลาง) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์วิจัย-พัฒนาและโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นของเอกชนรายแรกในประเทศไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ และ ดร. ฟาม ฮอง ไทย (ขวา) กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน

บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เปิดตัวศูนย์วิจัย-พัฒนาและโรงงานวัคซีนต้นแบบ ซึ่งเป็นของเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อพัฒนาวัคซีนแล้ววันนี้ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับเกียรติจาก ดร. จัง ปีเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัคซีนที่มีประสบการณ์ในการศึกษาและผลิตวัคซีนที่ใช้ในเด็กมายาวนานในระดับนานาชาติเป็นประธานในพิธี พร้อมแขกในแวดวงอุตสาหกรรมและสื่อมวลชนร่วมงานมากมาย

“เนื่องจากไบโอเนท-เอเชียมีประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจด้านวัคซีน ดังนั้นเราจึงได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ และการเปิดศูนย์วิจัย-พัฒนาย่อมแสดงให้เห็นถึงพันธะสัญญาของเราที่จะพยายามลดช่องว่างระหว่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดจำหน่ายวัคซีนตัวใหม่ในราคาย่อมเยาไปยังตลาดในประเทศกำลังพัฒนา” นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าว

ศูนย์วิจัย-พัฒนาและโรงงานวัคซีนต้นแบบของไบโอเนท-เอเชียแห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 17 ไร่ โดยงานออกแบบและก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีสำหรับการผลิต (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) ขององค์การอนามัยโลก โดยอาคารของศูนย์วิจัย-พัฒนานั้นมีพื้นที่มากถึง 2,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องแล็บควบคุมคุณภาพ และห้องแล็บเพื่องานวิจัยที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับ 2+ พร้อมเครื่องมือในการหมักเชื้อและขจัดสารปนเปื้อน

ดร. ฟาม ฮอง ไทย กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า “ทางบริษัทฯ ได้ลงทุนไปแล้ว 300 ล้านบาทสำหรับโครงการในเฟสแรก และได้รับประกาศนียบัตรจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัย-พัฒนาของเราจะเริ่มทำการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแบบไร้เซลล์ชนิดใหม่ โดยการใช้กล้าเชื้อที่ได้มาจากงานวิจัยร่วมกันระหว่างไบโอเนทและ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในด้านงานวิจัยของประเทศไทย”

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์นี้เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้ในปัจจุบันเพื่อป้องกันโรคไอกรนในประเทศทางแถบยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และเกาหลี แต่ยังไม่ได้รับความนิยมในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง

รศ.ดร.ชื่นจิตต์ บุญเฉิด หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โครงการวิจัยร่วมในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแบบไร้เซลล์นั้นประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การสร้างกล้าเชื้อต้นแบบ การเพาะเลี้ยงเชื้อ และการทำให้ความเป็นพิษลดลง ซึ่งดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้ได้กล้าเชื้อไอกรนชนิดใหม่ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันโรค กล้าเชื้อจะถูกเพาะโดยใช้สภาวะในการเพาะเลี้ยงเชื้อซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาใหม่ ทำให้สามารถแยกสารแอนติเจนออกจากสารตัวอื่นๆ ได้โดยใช้เทคนิคการแยกส่วนประกอบในสารผสม

ดร. จัง ปีเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัคซีน กล่าวเสริมว่า “การร่วมมือในครั้งนี้นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างกล้าเชื้อโรคไอกรนซึ่งให้ผลลัพธ์ที่สูงมากในการทำลายเชื้อโรคไอกรน สิ่งนี้จะทำให้สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในราคาที่ประเทศกำลังพัฒนามีกำลังซื้อ และจะเป็นครั้งแรกที่ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถเข้าถึงวัคซีนนวัตกรรมใหม่ในราคาที่ไม่สูงมากนักก่อนหน้าประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม”

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จในครั้งนี้ จะช่วยปูทางให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ๆ มากขึ้น ท้ายที่สุดเรายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดจำนวนผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาวัคซีนในเขตภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไป” นายวิฑูรย์กล่าวทิ้งท้าย