แนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมปี 2552: เผชิญโจทย์ท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง

ธุรกิจกองทุนรวมตลอดปี 2551 ที่ผ่านมาอาจจะไม่ค่อยสดใสนักเนื่องจากเผชิญปัจจัยท้าทายจากภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 4.80 จากสิ้นปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,533,570.1 ล้านบาท โดยขยับลงจาก 1,610,892.9 ล้านบาทในปี 2550 ทั้งนี้แม้ว่าในช่วงต้นปีการเปิดขายกองทุนของบรรดาบลจ.จะมีออกมาอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้น หรือ กองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นไป ความต้องการลงทุนในธุรกิจกองทุนรวมเริ่มชะลอลงไปจากปัจจัยภายในประเทศได้แก่ ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง เหตุการณ์การปิดสนามบิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่อการลงทุนในประเทศมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมาก ในขณะที่ปัจจัยภายนอกได้แก่ การลุกลามของปัญหาวิกฤตการเงิน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจชั้นนำของโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2552 อีกทั้งความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีระดับสูง ยังทำให้ภาวะการลงทุนเป็นไปอย่างระมัดระวัง

ภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในปี 2551
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 4.80 จากสิ้นปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,533,570.1 ล้านบาท โดยขยับลงมาจาก 1,610,892.9 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2550 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดตลอดทั้งปี 2551 พบว่ามีทั้งสิ้น 1,105 กอง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกประเภทตามนโยบายการลงทุน พบว่ากองทุนที่ NAV ปรับลดลงนำโดยกองทุนรวมแบบผสมที่ NAV หดตัวมากถึง 81.04% และจำนวนกองทุนลดลง 15 กอง ซึ่งคงจะมีสาเหตุมาจากการที่นักลงทุนโยกย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมประเภทอื่นๆ เช่น กองทุนรวมประเภทตราสารทุน หรือกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ ในขณะที่กองทุนที่มี NAV เพิ่มขึ้นได้แก่ กองทุนรวมประเภทตราสารทุน กองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ รวมทั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ากองทุนรวมประเภทตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value: NAV) ขยับขึ้นถึง 94.57% ทั้งๆที่ภาวะตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ต้องเผชิญกับการปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งสาเหตุที่ NAV ของกองทุนดังกล่าวปรับขึ้นน่าจะมาจากจำนวนกองทุนหุ้นที่เพิ่มขึ้นมามากถึง 48 กองจากสิ้นปี 2550 กระนั้นก็ดี ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นกองทุนรวมแบบพิเศษพบว่า NAV ของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ปรับขึ้น 3.98% โดยคงจะมีสาเหตุมาจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้นในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2551 ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าวในช่วงปลายปี นอกจากนี้ แม้ว่าในปี 2551 ตลาดต่างประเทศต้องเผชิญกับความผันผวนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก แต่ NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ณ สิ้นปี 2551 กลับขยับขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งคงจะมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นทางด้านปริมาณที่ บลจ. มีการนำเสนอออกมาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 โดยจำนวนของกองทุน FIF เพิ่มขึ้นมากถึง 166 กองจากปีก่อนหน้า ส่วนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น NAV ขยับลง 7.99% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 และแตะระดับต่ำสุดที่ 384.15 จุดในช่วงปลายเดือน ต.ค.51 เพราะถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วทุกภูมิภาค ตลอดจนภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นว่าแม้รัฐบาลได้เพิ่มสิทธิการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ซื้อกองทุน LTF และ RMF โดยขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีไปที่ 700,000 บาท/ปี จากเดิมที่ 500,000 บาท/ปี สำหรับปีภาษี 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในช่วงระหว่าง ต.ค.-ธ.ค.51 แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่สามารถจะช่วยให้ NAV ของกองทุน LTF พลิกกลับมาเติบโตได้ในปี 2551 โดยปัจจัยหลักเป็นเพราะนักลงทุนพากันหลีกเลี่ยงความเสี่ยงท่ามกลางภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย

แนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมในปี 2552

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ยังมีอยู่ในระดับสูง ปี 2552 น่าจะยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับบลจ. ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้เพราะแม้ว่าประชาชนผู้ออมเงินจะมีความสนใจในช่องทางการลงทุนอื่นๆที่ให้อัตราผลตอบแทนในระดับที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แต่บลจ.ต่างๆยังคงเผชิญกับโจทย์ท้าทายภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยเช่นนี้ในการที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือกองทุนรวมที่ตอบรับความต้องการของผู้ออมหรือนักลงทุนได้อย่างครบครัน ทั้งในแง่ของอัตราผลตอบแทนในระดับที่จูงใจและความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ ส่งผลให้การเลือกสรรผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบลจ.ในปีนี้ ยังคงจะเป็นไปในเชิงที่ระมัดระวัง

โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในปี 2552 ที่สำคัญได้แก่

• แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย อันเป็นผลมาจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ตลอดจนปัจจัยลบในประเทศ เช่น ภาคการผลิตชะลอตัว ตลอดจนปัญหาการว่างงานซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญกับ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หรือมีอัตราการเติบโตที่ติดลบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเป็นเวลา 2 ไตรมาสติดกัน ในไตรมาสที่ 4/2551 และไตรมาสที่ 1/2552 รวมถึงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2/2552 ดังนั้นผู้บริโภคและผู้มีเงินออมจึงน่าจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุน ขณะเดียวกันทิศทางเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใสยังจะกระทบบรรยากาศการลงทุนในบางตลาด อาทิ ตลาดหุ้น อีกด้วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจึงเป็นการยากที่การลงทุนในกองทุนรวมจะหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว

ความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก นอกจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อ การใช้จ่าย และการออมของประชาชนแล้ว ความเสี่ยงเครดิตและความเสี่ยงคู่ค้า (Credit and Counterparty risks) ตลอดจนความผันผวนของราคาสินทรัพย์บางประเภท เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ยังมีผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงิน ทำให้ธุรกรรมการซื้อขายเป็นไปด้วยความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด ก็อาจทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ รวมทั้งกองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุน FIF นอกจากนี้เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงที่มากขึ้นจากปัญหาวิกฤตการเงิน ทำให้บางประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปแล้ว (Credit Rating) และหลายประเทศก็กำลังจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอีกเช่นกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง แม้อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลงจะเป็นผลบวกต่อการลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ตามราคาพันธบัตรที่ปรับขึ้น แต่แนวโน้มเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ที่คงจะมีระดับต่ำและมีความชันน้อย (นั่นคือ: ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวมีน้อย) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 คงจะทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับเหนืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีไม่มาก และก็อาจเป็นปัจจัยที่จำกัดเม็ดเงินลงทุนที่จะเข้าสู่กองทุนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักลงทุนที่ต้องการได้รับผลตอบแทนสูง

การครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุน FIF โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ทยอยครบกำหนดอายุไถ่ถอน ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลกลับมา โดยคาดว่ามีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้หากการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบลจ. ไม่สามารถดูดซับการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนดังกล่าวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็อาจมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปรับลดวงเงินสูงสุดในการหักค่าลดหย่อนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จาก 700,000 บาท ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2551 มาเป็น 500,000 บาท ตามเกณฑ์เดิมในปี 2552 ทั้งนี้แม้ว่าในปีนี้การขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีจะไม่เหมือนในปีที่ผ่านมา แต่ถ้าลูกค้าส่วนใหญ่ของบลจ. เข้าซื้อกองทุน RMF และ LTF ยังไม่ถึงวงเงินสูงสุด ก็น่าจะมีพื้นที่ให้ บลจ. ต่างๆ ขยายตลาดกองทุนดังกล่าวออกมาได้อีกในปี 2552 นอกจากนี้ถ้าตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเลือกลงทุนในกองทุนรวมนั้น ควรจะขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนแต่ละคนคาดหวังไว้ ตลอดจนความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ โดยกองทุนที่คาดว่าจะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ มีดังต่อไปนี้

กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น แม้ว่านักลงทุนจะคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยยังจะมีทิศทางการปรับลดลง ทำให้นักลงทุนน่าจะเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวมากกว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการล็อคอัตราผลตอบแทนพันธบัตรก่อนที่จะปรับลดลงอีกในระยะข้างหน้า แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความเสี่ยงเครดิตสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งอาจจะเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งพักเงินไว้กับการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นแทน แม้ว่าผลตอบแทนที่ได้จะเป็นไปตามดอกเบี้ยในตลาดเงินซึ่งอาจจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักก็ตาม

กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน น่าจะเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินฝาก โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทต่างๆ จะนำเสนออัตราอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้อยู่ที่ประมาณ 4.0-6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ระดับ 2.1-2.7% ที่ระยะเวลาการครบอายุที่เท่ากัน (อายุ 3-5 ปี) ดังนั้นการลงทุนในกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดี น่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเนื่องจากสามารถสร้างผลตอบแทนในอัตราที่ค่อนข้างสูง
กองทุนที่ลงทุนในหุ้นทุน (เงินปันผล) เหมาะกับนักลงทุนที่คาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนในอนาคต มีสภาพคล่องทางการเงินสูง และสามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับสูงได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายลง และเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นต่างๆได้ปรับตัวลงมารับข่าวร้ายในช่วงก่อนหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเป็นช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคงจะเริ่มส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากขึ้น กระนั้นก็ดีการลงทุนในหุ้นควรจะเป็นการลงทุนในระยะยาวเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการผันผวนขึ้นลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์

สรุปโดยรวม
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 4.80 จากสิ้นปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1,533,570.1 ล้านบาท โดยขยับลงจาก 1,610,892.9 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2550 โดยจำนวนรวมของกองทุนทั้งหมดตลอดทั้งปี 2551พบว่ามีทั้งสิ้น 1,105 กอง โดยสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจกองทุนรวมชะลอตัวมาจากปัจจัยภายในประเทศได้แก่ ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง เหตุการณ์การปิดสนามบิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อ่อนไหวต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่อการลงทุนในประเทศเป็นอย่างมาก ในขณะที่ปัจจัยภายนอกได้แก่ การลุกลามของปัญหาวิกฤตการเงิน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจชั้นนำของโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างพร้อมเพรียงกันในปี 2552 อีกทั้งความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ตลอดจนความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีระดับสูง ยังทำให้ภาวะการลงทุนเป็นอย่างระมัดระวัง

สำหรับแนวโน้มกองทุนรวมในปี 2552 น่าจะยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับบลจ. ในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้การเลือกสรรผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบลจ.ในปีนี้ คงจะยังเป็นไปในเชิงที่ระมัดระวัง โดยปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจกองทุนรวมในปี 2552 ที่สำคัญได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย อันเป็นผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจชั้นนำของโลก รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อ การใช้จ่าย และการออมของประชาชน ดังนั้นเพื่อที่จะหลี่กเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด นักลงทุนอาจจะเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ รวมทั้งกองทุนรวม ในขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงที่แม้จะส่งผลบวกต่อการลงทุนในกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ตามราคาพันธบัตรที่ปรับขึ้น กระนั้นก็ดี แนวโน้มเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ที่อาจจะมีระดับต่ำและมีความชันน้อย (Flat) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 นั้น อาจจะส่งกระทบผลต่อความน่าดึงดูดของกองทุนประเภทดังกล่าวและเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้าสู่กองทุน เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับเหนืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีไม่มาก นอกจากนี้ ปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาวะตลาดและการดำเนินธุรกิจของบลจ.ยังรวมไปถึงการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุน FIF โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยหากการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของบลจ.ไม่สามารถชดเชยการครบกำหนดอายุไถ่ถอนของกองทุนดังกล่าวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็อาจมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนการปรับลดวงเงินสูงสุดในการหักค่าลดหย่อนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จาก 700,000 บาท ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2551 มาเป็น 500,000 บาท ตามเกณฑ์เดิมในปี 2552 นั้น แม้ว่าในปีนี้การขยายเพดานการหักลดหย่อนภาษีจะไม่เหมือนในปีที่ผ่านมา แต่ถ้าลูกค้าส่วนใหญ่ของบลจ. เข้าซื้อกองทุน RMF และ LTF ยังไม่ถึงวงเงินสูงสุด ก็น่าจะมีพื้นที้ให้ บลจ.ต่างๆ ขยายตลาดกองทุนดังกล่าวออกมาได้อีกในปี 2552 ทั้งนี้ กองทุนที่คาดว่าจะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้แก่ กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน และกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทุนที่มุ่งเน้นผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล

ขณะที่สำหรับผู้มีเงินออมนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนรวมปี 2552 คงจะต้องติดตามข่าวสารและพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมของการลงทุนอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ท่ามกลางปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่ได้รับให้อยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ เพื่อที่จะได้เลือกประเภทการลงทุนหรือกองทุนรวมที่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงตัดสินใจลงทุนในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป