เศรษฐกิจโลกซบเซาหนัก…ปัจจัยเสี่ยงหลักของนิคมอุตสาหกรรมปี’52

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซาอันเป็นผลมาจากที่วิกฤตการณ์ทางการเงินได้กำลังส่งผ่านมายังภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การลงทุน กำลังชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่เพียงแต่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยเท่านั้น ยังต้องเผชิญกับความเชื่อมั่นที่ตกต่ำอย่างหนักของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนนานาประเทศทั่วโลกที่มีต่อประเทศไทย ส่งผลให้มีนักลงทุนบางกลุ่มถึงขั้นตัดสินใจเปลี่ยนแผนการลงทุนเดิมที่จะมาลงทุนในประเทศไทยไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตหรือบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะทำการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมเนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอย่างมาก แม้ว่าปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจะคลี่คลายลง แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยนั้นคงไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยปัจจัยที่ควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซายังคงมีอยู่และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่รวมถึงการเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินภาพรวมของแนวโน้มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปี 2552 ที่ยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะถดถอยมากยิ่งขึ้นกว่าในปี 2551 ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศจะขึ้นอยู่กับแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย

ปริมาณขายที่ดินช่วง 9 เดือนแรกของปี’51 ยังขยายตัวแต่มีมูลค่ายอดขายลดลง

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมมีจำนวน 3,484 ไร่ ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 32.9 สาเหตุที่ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ในช่วง 9 เดือนแรกเพราะเป็นช่วงหลังการเลือกตั้ง นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังค่อนข้างมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ประกอบกับผลกระทบของปัญหาวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ที่เกิดในสหรัฐฯ ยังไม่ลุกลามจนก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน ภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นยังค่อนข้างมีทิศทางที่ดีกว่าในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าในช่วงต้นปีราคาวัสดุก่อสร้างและราคาพลังงานได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากก็ตาม แต่ไม่ได้ถึงกับทำให้นักลงทุนหยุดการลงทุนไปเพียงแต่ส่งผลให้มีความล่าช้าในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและการดำเนินการก่อสร้างจริงเท่านั้น เนื่องมาจากความไม่มั่นใจต่อภาวะความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างและราคาพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายๆ ของปี สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งมีเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสำคัญของไทย 2 แห่ง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติที่ลดน้อยลงสะท้อนได้จากการที่นักลงทุนชาวต่างชาติได้เลื่อนการเจรจาซื้อที่ดิน ทั้งที่ก่อนหน้าได้มีการเจรจาถึงการลงทุนไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจโลกได้เริ่มซบเซามากยิ่งขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้การลงทุนใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น ทำให้การลงทุนมีทิศทางที่ชะลอตัวลง จากทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ซบเซาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้การขอรับการส่งเสริมการลงทุนของชาวต่างชาติ ในช่วงปี 2551 มีปริมาณเงินลงทุนทั้งสิ้น 297,461 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 40.8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีปริมาณเงินลงทุนทั้งสิ้น 502,432 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 63.3 สอดคล้องกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2551 ที่มีมูลค่ายอดขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวลงร้อยละ 48.4 แต่สำหรับรายได้จากการเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภคขยายตัวร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 (โดยการที่มูลค่ายอดขายที่ดินที่ลดลงคาดว่ามีสาเหตุหลักมาจากราคาขายที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมปรับลดลง เช่น ราคาที่ดินในเขตอีสเทร์นซีบอร์ดปรับลดลงร้อยละ 19.2 จากที่มีเฉลี่ยราคาประมาณ 4 ล้านบาทต่อไร่ เหลือประมาณ 3.2 ล้านบาทต่อไร่ ขณะเดียวกันการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมในระยะหลังมุ่งไปที่จังหวัดที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากขึ้น ด้วยราคาที่ดินในเขตต่างจังหวัดมีราคาที่ต่ำกว่า เมื่อคิดยอดขายในเชิงมูลค่าจึงมีทิศทางที่อาจจะลดลง แม้ว่าปริมาณพื้นที่ขายอาจจะเพิ่มขึ้นก็ตาม) ซึ่งในระยะที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว มาเป็นการสร้างโรงงานให้เช่า การให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่ลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากรายได้ที่จะได้รับนั้นค่อนข้างต่อเนื่องแตกต่างจากการขายขาดเพียงครั้งเดียว อีกทั้งยังสามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม

คาด…ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบต่อยอดขายพื้นที่ในนิคมฯ 4Q/51
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 เป็นต้นมาผลของวิกฤตการเงินได้เริ่มส่งผลกระทบมาสู่ภาคเศรษฐกิจจริงมากยิ่งขึ้น ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศของอุตสาหกรรมการผลิตบางกลุ่มลดลงอย่างรุนแรง เช่น ธุรกิจประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ส่งผลให้หลายๆ บริษัททั้งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและอยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลดกำลังการผลิตและเริ่มทยอยปลดพนักงาน บางบริษัทถึงขั้นต้องปิดกิจการลง ประกอบกับเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานได้ทำให้นักลงทุนรายใหม่ที่มีแผนจะลงทุนในไทยชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไปถึงขนาดที่บางรายมีแนวโน้มว่าอาจตัดสินใจเปลี่ยนการลงทุนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน และการขยายการลงทุนของลูกค้ารายเก่าก็ชะลอออกไปด้วย เพราะความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย

จากปัจจัยเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศที่ผ่านมา ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้สถานการณ์ทางการเมืองได้คลี่คลายลงไปแล้วก็ตาม คาดว่า แนวโน้มปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จะลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 2550 (ที่มียอดขายพื้นที่ทั้งสิ้น 2,201 ไร่) โดยอาจมีปริมาณขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมต่ำกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งจะทำให้รวมทั้งปี 2551 จะมีปริมาณการขายพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,300 ไร่ ลดลงร้อยละ 10.6 จากปี 2550 ที่มีปริมาณการขายพื้นที่ทั้งสิ้น 4,812 ไร่

สำหรับรายได้ที่ได้รับจากค่าเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภค คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย แม้ว่าบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้เริ่มลดกำลังการผลิตและทยอยปิดตัวลง แต่คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในปี 2552 ที่เศรษฐกิจโลกจะซบเซามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ทำการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทเหล่านี้มักจะมีฐานการผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ อาจส่งผลกระทบให้รายได้จากค่าเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภคของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปี 2552 มีแนวโน้มลดลงมากกว่าในปี2551

แนวโน้มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมปี 2552…ลดลงจากเศรษฐกิจโลกซบเซาหนัก

แม้ว่าในปี 2552 สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองได้คลี่คลายลง และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งมีเสถียรภาพมั่นคงขึ้น สิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ การที่รัฐบาลได้กำลังเร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวต่างชาติเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติให้กลับคืนมา อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจระหว่างที่รองบประมาณกลางปี 1.167 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงเดือนเมษายน 2552 และรัฐบาลกำลังให้ความสนใจในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด รวมทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางด้านราคาซื้อขายสินทรัพย์และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนชาวต่างชาติจะได้รับเมื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ในปี 2552 ปัจจัยลบสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าในปี 2551 ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้ของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยผ่านปริมาณยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ค่าเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภคที่ลดลง ตามการลงทุนใหม่ๆ ที่คงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา อีกทั้งการขยายการลงทุนของนักลงทุนรายเก่าที่อาจชะลอตัวลงเนื่องมาจากการลดกำลังการผลิตเพราะไม่มียอดคำสั่งซื้อเข้ามาหรือมีเข้ามาในปริมาณน้อย บริษัทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับทั้งยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากตลาดส่งออกเดิม และการขยายตลาดใหม่คงจะทำได้ลำบากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการขยายการลงทุนทั้งในแง่ของการขยายพื้นที่โรงงานและการขยายกำลังการผลิตคงจะเกิดขึ้นน้อยลง ส่วนรายรับที่ได้จากค่าเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภคคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เนื่องจากการลดกำลังการผลิต หยุดการผลิต หรือปิดกิจการลง ของบริษัทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ จุดสิ้นสุดของภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นเมื่อใด ถ้าเศรษฐกิจภูมิภาคหลักเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศสามารถรักษาเสถียรภาพได้อย่างต่อเนื่อง น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลบังเกิดผลและสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยกลับคืนมาได้ ถ้าหากสภาพแวดล้อมการลงทุนภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น คาดว่า มาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ประกาศให้สิทธิประโยชน์พิเศษสูงสุดแก่ 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31ธันวาคม 2552 น่าจะมีผลในการกระตุ้นการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีก่อนที่มาตรการจะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจทำให้การลงทุนจากต่างประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของปี 2552 จะมีประมาณ 3,400-3,700 ไร่ ลดลงร้อยละ 13- 20 จากปี 2551 ที่คาดว่าปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมจะมีทั้งสิ้น 4,300 ไร่

สรุปและข้อเสนอแนะ

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่เพียงแต่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยเท่านั้น ยังต้องเผชิญกับความเชื่อมั่นที่ตกต่ำอย่างหนักของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อและรุนแรง โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติที่ลดน้อยลงสะท้อนได้จากการที่นักลงทุนชาวต่างชาติได้เลื่อนการเจรจาซื้อที่ดิน ทั้งที่ก่อนหน้าได้มีการเจรจาถึงการลงทุนไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจโลกได้เริ่มซบเซามากยิ่งขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้การลงทุนใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้นและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกเป็นหลักที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเริ่มมียอดคำสั่งซื้อลดลงตามความต้องการซื้อในตลาดโลกที่ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อุตสาหกรรมเหล่านี้จึงได้เริ่มลดกำลังการผลิตลง บางอุตสาหกรรมถึงขั้นต้องหยุดผลิตหรือปิดกิจการลง

จากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกดังกล่าวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2551 ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมจะมีประมาณ 4,300 ไร่ ลดลงร้อยละ 10.6 จากปี 2550 ที่มีปริมาณการขายพื้นที่ทั้งสิ้น 4,812 ไร่ สำหรับรายได้ที่ได้รับจากค่าเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภค คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย แม้ว่าบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้เริ่มลดกำลังการผลิตและทยอยปิดตัวลง แต่คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในปี 2552 ที่เศรษฐกิจโลกจะซบเซามากยิ่งขึ้น

ในปี 2552 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยผ่านปริมาณยอดขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ค่าเช่าโรงงานและค่าบริการสาธารณูปโภคที่ลดลง ตามการลงทุนใหม่ๆ ที่คงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา อีกทั้งการขยายการลงทุนของนักลงทุนรายเก่าที่อาจชะลอตัวลงเนื่องมาจากการลดกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนอยู่บ้าง คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งรัฐบาลกำลังให้ความสนใจในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาเทิร์นซีบอร์ด และการเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น ในสภาวะดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของปี 2552 จะมีประมาณ 3,400-3,700 ไร่ ลดลงร้อยละ 13- 20 จากปี 2551 ที่คาดว่าปริมาณการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมจะมีทั้งสิ้น 4,300 ไร่

จากการที่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองค่อนข้างมาก ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ รัฐบาลควรจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยให้ฟื้นคืนกลับมาโดยเร็ว ทางด้านผู้ประกอบการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมควรลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจลงและอาจหาช่องทางขยายธุรกิจประเภทใหม่ หรือบริการรูปแบบใหม่ในการสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทต่างๆ บุคคลหรือพนักงานที่อาศัยอยู่ในเขตที่พักอาศัยและพาณิชยกรรม หรือธุรกิจที่สนับสนุนประสิทธิภาพของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงอาจเริ่มมองหาแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศกลุ่มใหม่อย่างกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะยังสามารถช่วยประคองให้เศรษฐกิจโลกไม่ถดถอยลงไปมาก