บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความไว้วางใจจากสำนักราชเลขาธิการ ให้พัฒนาโครงการ Royal e-Book เพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระราชวงศ์ผ่านเว็บไซต์ของ Microsoft Innovation Center และเว็บไซต์ของสำนักราชเลขาธิการ โดยพัฒนาจากเทคโนโลยี Microsoft Silverlight 2.0 นวัตกรรมล่าสุดจากไมโครซอฟท์ในการสร้างภาพที่เหมือนจริงและลูกเล่นที่น่าสนใจแก่เว็บไซต์ ถือเป็น Proof of Concept แรก ของศูนย์ Microsoft Innovation Center นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ถือเป็นการสดุดีและเผยแพร่พระราชประวัติเกี่ยวกับราชวงศ์แก่ประชาชนทั่วไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์หนังสือต่างๆ เกี่ยวกับพระราชวงศ์เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน อาทิ หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นั้น ทางสำนักราชเลขาธิการพบว่าการจัดพิมพ์หนังสือเป็นรูปเล่มไม่สามารถจัดพิมพ์และแจกจ่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง และต้องใช้งบประมาณมากในการจัดพิมพ์ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาของหนังสือได้อย่างทั่วถึง สำนักราชเลขาธิการจึงเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลดเนื้อหาหนังสือในรูปแบบไฟล์ PDF ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักราชเลขาธิการ ที่ www.ohmpps.go.th อย่างไรก็ตาม หนังสือต่างๆ ที่อยู่ในไฟล์ PDF นั้นมีขนาดใหญ่ จึงต้องใช้เวลานานในการดาวน์โหลด อีกทั้งความน่าสนใจของหนังสือในรูปแบบไฟล์ PDF ยังไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ สำนักราชเลขาธิการจึงได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ Microsoft Innovation Center โดยบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการทดสอบแนวคิดใหม่ หรือ Proof of Concept ของหนังสือ Royal e-Book โดยมีบริษัท ไอ คอนเซ็ปส์ จำกัด เป็นผู้พัฒนา โดยใช้เทคโนโลยี Microsoft Silverlight 2.0
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โครงการ Royal e-Book ถือเป็นหนึ่งในโครงการทดสอบแนวคิดใหม่ หรือ Proof of Concept ของศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ Microsoft Innovation Center โดยเทคโนโลยี Microsoft Silverlight 2.0 ที่ช่วยสร้างลูกเล่นให้กับการอ่านหนังสือผ่านเว็บไซต์ ทั้งในแง่รูปภาพมีความสวยงามเหมือนจริง และการเปลี่ยนหน้าหนังสือเสมือนพลิกหน้าหนังสือจริง ซึ่งโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สนใจได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ และทดสอบเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ได้ที่ Microsoft Innovation Center ซึ่งเปิดกว้างแก่นักพัฒนาทั่วไป”
นายปรีชา ส่งกิตติสุนทร ผู้อำนวยการกองข่าว สำนักราชเลขาธิการ กล่าวว่า “สำนักราชเลขาธิการมีหนังสือเกี่ยวกับพระราชวงศ์เป็นจำนวนมากที่ได้พิมพ์แจกจ่ายแก่ประชาชนในโอกาสต่างๆ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่นั้น การจัดพิมพ์หนังสือมักจะไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน เนื่องด้วยข้อจำกัดของงบประมาณในการจัดพิมพ์ อาทิ หนังสือที่ระลึกงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น อีกทั้งการเปิดให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบไฟล์ PDF ผ่านเว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการยังมีข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ 10 MB ขึ้นไป อาจใช้เวลารอกว่า 5 นาทีในจึงจะได้เริ่มอ่านหน้าแรก นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดซึ่งอินเทอร์เน็ตไฮสปีดยังไม่แพร่หลายนัก การดาวน์โหลดก็จะใช้เวลามากขึ้นไปอีก ซึ่ง เทคโนโลยีจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทยของไมโครซอฟท์ได้เป็นคำตอบของการก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ โดยได้นำเอาเทคโนโลยี Microsoft Silverlight 2.0 มาพัฒนาเป็น e-Book ที่สามารถอ่านได้เหมือนหนังสือเป็นรูปเล่มบนเว็บไซต์ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือเกี่ยวกับพระราชวงศ์อย่างทั่วถึงกัน”
สำหรับการพัฒนาโครงการ Royal e-Book ให้กับสำนักราชเลขาธิการนั้น ไมโครซอฟท์ได้ร่วมกับบริษัท ไอ คอนเซ็ปส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมตรวจลายนิ้วมือ Lives can4ALL ที่ได้รับการรับรองจาก FBI และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการพัฒนามาจากแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีไปช่วยปรับปรุงรูปแบบการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์จากเว็บไซต์ให้น่าสนใจ เหมือนการอ่านหนังสือจริง ทีมพัฒนาจึงได้นำเทคโนโลยี Microsoft Silverlight 2.0 ที่มีคุณสมบัติสร้างภาพและลูกเล่นบนเว็บไซต์ที่สวยงาม เสมือนเปิดหนังสืออ่านจริงๆ พร้อมทั้งยังแก้ปัญหาการดาวน์โหลดข้อมูล เนื่องจากเทคโนโลยี Microsoft Silverlight 2.0 จะดาวน์โหลดเฉพาะหน้าที่ผู้อ่านกำลังอ่านอยู่เท่านั้น ทำให้ผู้อ่านไช้เวลาในการรอสั้นกว่ามาก
มร. ไมเคิล เชน ผู้อำนวยการด้านเทคนิค บริษัท ไอ คอนเซ็ปส์ จำกัด กล่าวว่า “Microsoft Silverlight 2.0 เป็นเทคโนโลยีล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่ช่วยสร้างลูกเล่นมัลติมีเดีย ทำให้การพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับเว็บไซต์มีความสมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านรูปภาพที่สวยงาม เหมือนจริง และการใช้งานที่รวดเร็ว สำหรับโครงการ Royal e-Book นั้น หลังจากได้รับการติดต่อจากไมโครซอฟท์ ไอ คอนเซ็ปส์ ก็ได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ และนักศึกษาโครงการ Microsoft Student Partner จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการตีโจทย์ เพื่อให้การพัฒนาแอพพลิเคชั่นออกมามีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด สำหรับการพัฒนาโครงการ Royal e-Book ไอ คอนเซ็ปส์ ได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี จากศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ Microsoft Innovation Center ที่ช่วยร่นระยะเวลาและงบประมาณในการพัฒนา Proof of Concept ต่างๆ ซึ่งไอ คอนเซ็ปส์หวังว่าโครงการ Royal e-Book จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงหนังสือต่างๆ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ผ่านเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว ลดเวลาและพื้นที่บนคอมพิวเตอร์ในการดาวน์โหลด”
นอกจากนี้ ทางศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย ยังได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาโครงการ Microsoft Student Partner จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมศึกษาและพัฒนาไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีประสบการณ์จริง และเรียนรู้จากบริษัทคู่ค้าของไมโครซอฟท์ที่มีความเชี่ยวชาญ โครงการนี้จึงเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไปในตัวอีกด้วย
นางสาวปฐมา กล่าวเสริมว่า “ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น และสนับสนุนบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระในประเทศ เรามีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ รองรับอยู่ที่ศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ Microsoft Innovation Center ซึ่งหากบริษัทหรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์นำเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่ไมโครซอฟท์มีให้ไปพัฒนาต่อยอด ก็จะถือว่าเป็นการนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาแนวคิดด้านนวัตกรรมให้เป็นจริงขึ้นมา เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม และนำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมไอทีไทยต่อไป”
ทั้งนี้ หนังสือเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ภายใต้โครงการ Royal e-Book ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 15 เล่ม คือ
– พระประวัติ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
– กัลยานิทรรศน์
– พระราชสาสน์ จากพระประมุข พระราชวงศ์ และประมุขประเทศต่างๆ ที่แสดงความเสียใจต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
– พระอภิธรรม ภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย (พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง
– การประดิษฐานพระโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
– พระธรรมเทศนา (10 เมษายน 2551) พิมพ์พระราชทานในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร
– พระธรรมเทศนา (20 กุมภาพันธ์ 2551) พิมพ์พระราชทานในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ปัญญาสมวาร
– สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ และงานศิลปะ
– รัชดาภิเษก
– รัชดาภิเษก เล่มที่ 2
– รัชดาภิเษก เล่มที่ 3
– รัชดาภิเษก เล่มที่ 4
– รัชดาภิเษก เล่มที่ 5
– รัชดาภิเษก เล่มที่ 6
– พระบรมราชาธิบาย เรื่องสามัคคี (พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พิมพ์พระราชทานในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร
โดยในอนาคต สำนักราชเลขาธิการและศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ Microsoft Innovation Center มีแผนที่จะนำหนังสืออื่นๆ ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาจัดทำให้ประชาชนศึกษาเพิ่มมากขึ้นภายใต้โครงการ Royal e-Book สำหรับการดาวน์โหลดหนังสือทั้ง 15 เล่มนั้น ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการ www.ohmpps.go.th และสามารถอ่านหนังสือในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่เว็บไซต์ศูนย์พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ไทย www.micthailand.net
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทไอ คอนเซ็ปส์ จำกัด ผู้ร่วมพัฒนาโครงการ Royal e-Book สามารถดูได้ที่ www.iconcepts.co.th.
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand
ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ
หมายเหตุ: หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/presspass/ ในส่วนของหน้าข้อมูลบริษัท