มกค. จับมือ 3 พันธมิตรขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ต 1.1 กิกะไบต์

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเซ็นสัญญากับ 3 ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตชั้นนำของประเทศ สามารถ อินโฟเนต ทรู อินเทอร์เน็ต และซีเอส ล็อกซอินโฟ ขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตจากเดิม 5 เท่า เป็น 1.1 กิกะไบต์ ก้าวเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอินเตอร์เน็ตที่เร็วที่สุดในประเทศ รองรับนักศึกษาใหม่ปี 2552 ที่จะได้รับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเรียนในระบบไฮบริด (Hybrid) หลังจากลงทุนเตรียมความพร้อมด้านไอทีอื่นๆ แล้วกว่า 300 ล้านบาท

รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตามปรัชญาและปณิธานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจในเอเชีย” ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในหลายด้านที่สอดคล้องและต่อเนื่องกัน เพื่อให้บรรลุตามตามปรัชญาและปณิธาณดังกล่าว ซึ่งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมหาวิทยาลัยได้พัฒนาและลงทุนด้านระบบไอทีต่างๆ มาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ในปีการศึกษา 2552 นี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตัดสินใจที่จะสานต่อโครงการมอบเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คให้กับนักศึกษาใหม่ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกอีกประมาณ 5,000 เครื่อง มูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท พร้อมทั้งอุปกรณ์ My Choice Clicker อีก 10,000 เครื่องมูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเรียนระบบไฮบริด

เพื่อรองรับการขยายตัวการใช้งานดังกล่าว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ลงทุนขยายศักยภาพเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมอีกปีละ 15 ล้านบาท เซ็นสัญญากับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตชั้นนำของประเทศถึง 3 ราย ได้แก่ บริษัท สามารถ อินโฟเนต จำกัด บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างเสถียรภาพและความน่าเชื่อของการใช้เครือข่ายสูงสุด โดยขยายความเร็วอินเทอร์เน็ตจากเดิม 210 Mbps เป็น 1.110 Gbps ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นสถาบันที่มีความเร็วอินเตอร์เน็ตสูงที่สุดในประเทศไทย เมื่อเทียบกับความเร็วอินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาลและเอกชน

แผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นแผนการระยะยาว และได้ทยอยลงมือพัฒนาตามแผนมาแล้วกว่า 3 ปี เริ่มจากปี 2549 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้มอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คให้กับอาจารย์ประจำเป็นมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงหลักสูตร เตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบอีเลิร์นนิ่ง และในปีต่อมาได้คิดค้นหลักสูตรการศึกษาใหม่ที่ผสานระบบเรียนในห้องเรียนแบบ Face to Face กับการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งเป็นระบบที่เรียกว่าไฮบริด ซึ่งเป็นนวัตกรรมลิขสิทธิ์เฉพาะของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ในปีการศึกษา 2551 มหาวิทยาลัยได้เริ่มนำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบไฮบริดมาใช้ พร้อมทั้งติดตั้งระบบ My Choice Opinion Finder มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท เพื่อเน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ในการเรียนการสอน และได้มอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คให้กับนักศึกษาปริญาตรี โท และเอก จำนวนทั้งสิ้น 5,200 เครื่อง รวมเป็นเงิน ประมาณ 110 ล้านบาท
เพื่อรองรับการใช้งานโน้ตบุ๊คจำนวนมากให้ได้อย่างเพียงพอ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปลี่ยนระบบเครือข่ายไร้สาย (WiFi) ใหม่ แบบรองรับเทคโนโลยีใหม่ IEEE 802.11 a b/g จำนวน 300 ตัว เป็นจำนวนเงินกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งมาตรฐานใหม่นี้สามารถรองรับการใช้งานจำนวนมาก และถือว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ใช้งานในระบบนี้ นอกจากนี้ยังปรับปรุงระบบเครือข่ายให้เป็นแบบ High Availability System. (HA.) เพิ่มเติมอุปกรณ์ให้มีจำนวน 2 ชุดเพื่อทำงานควบคู่กัน ทำให้ระบบเครือข่ายมีเสถียรภาพสูงสุด โดยได้ลงทุนเพิ่มเติมอุปกรณ์เราน์เตอร์ ไฟร์วอลล์ แบนด์วิธ แมนเนจเม้นท์มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท พร้อมติดตั้งปล๊กไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้งานเครื่องโน้ตบุ๊คของนักศึกษาในทุกห้องเรียน และทุกพื้นที่ เช่น โต๊ะนั่งพักผ่อนใต้อาคารเรียนทั่วทั้งมหาวิทยาลัย จำนวน 3,000 จุด เป็นเงินมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเริ่มโครงการ UTCC’s ADSL Research @ HOME ที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกับอาจารย์ทุกคนที่บ้าน เพื่อทำงานวิจัยและการเรียนการสอน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนปีละ 3 ล้านบาท จนถึงวันนี้สามารถกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ลงทุนกว่า 300 ล้านบาทเพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทุกคน

“จากแผนงานพัฒนาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมุ่งส่งเสริมศักยภาพของทั้งบุคลากรอาจารย์และนักศึกษา เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอนของอาจารย์และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้มีประสิทธิผลอย่างสูงสุด และสร้างความได้เปรียบด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอันจะเอื้อประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตของนักศึกษา” รศ.ดร.จีรเดชกล่าว