ทีเอ็มซี เดินเกมรุก ร่วมมือตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมวีซี เชื่อมแหล่งทุนหนุนผู้ประกอบการไฮเทคของไทย สร้างแหล่งทุนใหม่สู่ผู้ประกอบการทั้งระบบ ต้นยันปลายน้ำ ประเดิมงาน Innobiz หวังเกิดเจรจารอบแรกกว่า 200 ล้านบาท พร้อมเป็นสะพานเชื่อมสองกลุ่มแบบต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ TMC เปิดเผยว่า จากที่ผ่านมา TMC ประเมินว่าอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีของไทยขณะนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของบริษัทที่เริ่มต้นใหม่ก็มีโครงการดีๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้วก็ต้องการเงินทุนส่วนใหม่เข้ามาขยายกิจการให้เติบโตมากขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องมีแหล่งทุนเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบต่างๆ อาจมีข้อจำกัด ดังนั้น ทาง TMC จึงวางนโยบายใหม่ที่ต้องการเน้นเชิงรุก และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อหาแหล่งทุนหลากหลายรูปแบบให้กับวิสาหกิจทางด้านไฮเทคของไทยเพิ่มมากขึ้น
โดยล่าสุดทาง TMC ได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) จัดงาน Innobiz Matching Day เพื่อรวบรวมกลุ่มบริษัทไฮเทคของไทยที่ต้องการเงินทุนสนับสนุนประมาณ 15 ราย เพื่อมาเจรจากับแหล่งทุนจากการประสานงานของทุกฝ่าย จำนวน 25 ราย โดยคิดเป็นเงินทุนที่ต้องการสนับสนุนในรอบนี้ประมาณ 260 ล้านบาท ทั้งสองฝ่ายจะได้ตั้งโต๊ะเจรจา โดยหน่วยงานทั้งสามจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและอบรมผู้ประกอบการไฮเทคก่อนที่จะนำเสนอบริษัทต่อแหล่งทุน เนื้อหาในการให้คำปรึกษาประกอบด้วย เทคนิคการนำเสนอเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุน วิธีการจัดระบบการเงินภายในเพื่อให้ได้รับความสนใจ และเทคนิคอื่นๆ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจากันได้อย่างราบรื่น
ด้านนายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุน คือ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้มแข็งและเติบโตมีศักยภาพในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือที่เกิดจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีโอกาสนำเสนอโครงการให้กับนักลงทุนที่มีความสนใจ และสามารถนำไปสู่การร่วมลงทุนในกิจการดังกล่าว
การดำเนินงานในครั้งนี้ สอดคล้องกับพันธกิจหลักของศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการเห็นโอกาสในการใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนเพื่อต่อยอดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเชื่อมโยงพันธมิตรที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้มีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล นายชัยยุทธ์กล่าว
แผนเชิงรุกของ TMC ที่สนับสนุนด้านการเงินครั้งนี้จะขับเคลื่อนผ่านสองหน่วยงานหลักขององค์กรคือ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ Science Park โดยทั้งสองหน่วยงานจะเป็นช่องทางและค้นหาบริษัทไฮเทคของไทยที่มีประสิทธิภาพและต้องการเงินทุนสนับสนุน ไม่ใช่เฉพาะบริษัทที่เกิดจากหน่วยงานภายในเท่านั้น แต่จะเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ด้วย ทำให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้เข้าถึงการสนับสนุนอย่างจริงจังมากขึ้น
ส่วนประเภทของแหล่งทุนที่มาสนับสนุน ทาง TMC จะขยายกลุ่มเป้าหมาย จากเดิมหากผู้ประกอบการจะดำเนินการผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ก็จะมีปัญหาในด้านการสนับสนุนเนื่องจากระบบการประเมินมูลค่าทางทรัพย์สินทางปัญญาของไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับทำให้สถาบันต่างๆ ไม่กล้าเสี่ยงในการปล่อยเงินให้กับบริษัทเหล่านี้ โดยแผนการขยายแหล่งทุนนั้น TMC มุ่งเป้าหมายตั้งแต่การครอบคลุมลักษณะการสนับสนุนทุกรูปแบบ ตั้งแต่ Matching Grants/Seed Money หรือเงินทุนตั้งต้นกิจการ, หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินกิจการ, เงินร่วมลงทุนที่มาจากทั้งภาครัฐและเอกชน หรือ Government Sponsored & VCs, เงินกู้ในรูปแบบต่างๆ (Loans) และเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในงาน Innobiz ซึ่งเป็นการจับคู่ธุรกิจทางด้านการเงินครั้งแรกนี้ มีกลุ่มบริษัทที่เป็นซอฟต์แวร์ประมาณร้อยละ 80 เป็นกลุ่มบริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หรือไบโอเทคโนโลยีร้อยละ 20 ในขณะที่กลุ่มทุนสนับสนุนสามารถแยกออกได้เป็น กลุ่มทุนจากภาครัฐร้อยละ 12 กลุ่มทุนจากสถาบันการเงินและกองทุนร้อยละ 28 กลุ่มทุนจากกองทุนอิสระร้อยละ 20 กลุ่มทุนต่างประเทศร้อยละ 12
“การคาดหมายที่จะได้เงินทุนสนับสนุนจากงาน Innobiz ครั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกของการจัดการเจรจา ซึ่งแต่ละรายจำเป็นต้องมีการติดต่อและตกลงในรายละเอียดกันอีกมาก แต่การเปิดช่องให้ทั้งสองฝ่ายได้รู้จักกันและได้พิสูจน์ตัวตนระหว่างกัน จะทำให้เกิดผลในระยะยาว ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของ TMC ในการเป็นสะพานเชื่อมทั้งสองฝ่ายเข้าหากัน” ศาสตราจารย์ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนการรุกของ ผู้ร่วมจัดงาน จะขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการขยายจำนวนบริษัทไฮเทคของไทยออกไปมากกว่าเดิม เนื่องจากในโครงการนี้มีหลายบริษัทที่สนใจแต่เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในด้านการจัดการด้านการเงินที่ดีเพียงพอ คาดว่าในการจัดครั้งต่อๆ ไป ซึ่งทาง ผู้ร่วมจัดงาน จะดำเนินการทันทีที่ทั้งสองฝ่ายคือ ภาคเอกชน และแหล่งทุนมีความพร้อม จะมีจำนวนบริษัทและแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดย จะเน้นกลุ่มทุนที่มีศักยภาพและต้องการลงทุนในกลุ่มไฮเทคอย่างจริงจัง นอกจากนั้น ยังจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมายกลุ่มทุนไปยังต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นายโสภณ บุณยรัตพันธุ์ กรรมการสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจร่วมลงทุน (TVCA) เปิดเผยว่า แนวโน้มการร่วมลงทุนในระดับโลกคาดการณ์จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า วงเงินลงทุนของกลุ่ม Venture Capital หรือวีซีมีแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่ของการลงทุนจะพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นหลัก โดยอันดับหนึ่งนั้นอยู่ที่กลุ่มเทคโนโลยีสะอาด หรือ Clean Technology, เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Bio Technology โดยมีกลุ่มซอฟต์แวร์อยู่ในอันดับ 5 โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังทุ่มเข้ามาในทวีปเอเชียเป็นอันดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมืองไทยยังไม่ใช่เป็นเป้าหมายหลัก เนื่องจากการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก และการติดต่อระหว่างวีซีกับผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่จะอยู่ในลักษณะการติดต่อโดยตรง
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้เหล่าวีซีทั้งในไทยและต่างประเทศที่กำลังหาทางลงทุนกับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เนื่องเพราะทาง TMC จะมีเครือข่ายและประวัติของผู้ประกอบการที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของวีซีที่ต้องการลงทุนในบริษัทที่น่าจะประสบความสำเร็จแล้วนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต เพื่อทำให้การลงทุนได้รับผลตอบแทนกลับมาได้ การที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนทั้งกระบวนการจะทำให้เกิดความโปร่งใส และลดความเสี่ยงในการลงทุนไปอย่างมาก
“การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการสร้างเครือข่ายที่แน่นหนา และจะทำให้วีซีเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ทางสมาคมวีซีคงจะเข้าไปมีบทบาทในการทำให้เกิดการพบปะเช่นนี้บ่อยขึ้น” นายโสภณ กล่าว
ในส่วนของเม็ดเงินที่พร้อมจะลงทุนในครั้งนี้แม้ในปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัด แต่คาดว่าหลังจากที่ทุกฝ่ายได้สร้างเครือข่ายระหว่างกันแล้ว เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มวีซีสามารถนำไปประเมิน วางแผน และกำหนดจำนวนเงินที่จะลงทุนในอนาคตได้