ธุรกิจประกันชีวิตไทย ไตรมาส 4 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 7.2 ภายหลังจากมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามลำดับจากร้อยละ 13.7 ในไตรมาสแรก ร้อยละ 12.5 ในไตรมาสที่สอง และ ร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่สาม รวมทั้งปี 2551 ธุรกิจประกันชีวิตไทยขยายตัวร้อยละ 10.1 ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 ในปี 2550 และร้อยละ 4.0 ในปี 2549
เมื่อเปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยรับรวมไตรมาส 4 ปี 2551 กับไตรมาส 4 ปี 2550 นั้นพบว่า เบี้ยประกันภัยจำนวน 62,802.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากปีที่ผ่านมา ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก จำนวน 11,862.1 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 11.5 เบี้ยประกันภัยปีต่ออายุ จำนวน 43,717.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 และเบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว จำนวน 7,222.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 53.6
ทั้งนี้ หากพิจารณาธุรกิจประกันชีวิตตลอดทั้งปี 2551 (มกราคม – ธันวาคม) จะมีการขยายตัวที่ดีกว่าไตรมาส 4 (ตุลาคม – ธันวาคม) เนื่องจากอิทธิพลการขยายตัวของ 2 ไตรมาสแรก ทำให้ตลอดทั้งปีมีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับรวม 221,970.0 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.1 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยปีแรก จำนวน 44,732.5 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.4 เบี้ยประกันภัยปีต่ออายุ จำนวน 153,231.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.7 และอัตราความคงอยู่ร้อยละ 84 และเบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว จำนวน 24,005.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.1
ในไตรมาส 4 ปี 2551 นี้ ธุรกิจประกันชีวิตได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาการเมืองภายในประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเท่าที่ควร รวมทั้งการขาดความมั่นใจในการบริโภคของประชาชน และปัจจัยภายใน เช่น ปัญหาหลักเกณฑ์จากเบี้ยประกันภัยรับที่ผู้เอาประกันภัยจะสามารถนำเพียงเบี้ยประกันชีวิตหลักหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ธุรกิจประกันชีวิตจึงชะลอการออกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางด้านภาษีดังกล่าว เหล่านี้ล้วนส่งผลให้พฤติกรรมของประชาชนหันมาซื้อประกันชีวิตแบบที่ชำระเบี้ยประกันภัยระยะสั้นมากกว่าแบบที่ชำระเบี้ยประกันภัยระยะยาว โดยเฉพาะการชำระเบี้ยประกันภัยแบบจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา
บริษัทประกันชีวิตที่มีส่วนแบ่งการตลาด 5 อันดับแรกของไตรมาส 4 ปี 2551 ได้แก่ อันดับที่ 1 บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวร์รันส์ จำกัด ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 37.6 อันดับที่ 2 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 16.7 อันดับที่ 3 บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 7.2 อันดับที่ 4 บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6.6 และ อันดับที่ 5 บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6.5
สำหรับ บริษัทประกันชีวิตที่มีส่วนแบ่งการตลาด 5 อันดับแรกตลอดทั้งปี 2551 ได้แก่ อันดับที่ 1 บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวร์รันส์ จำกัด ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 37.5 อันดับที่ 2 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 14.5 อันดับที่ 3 บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 7.8 อันดับที่ 4 บริษัท ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6.8 และ อันดับที่ 5 บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6.8