ปลาทูน่ากระป๋องเป็นหนึ่งในไม่กี่สินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากคาดว่าในปี 2552 การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากปริมาณการบริโภคปลากระป๋องของตลาดต่างประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปลาทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าอาหารที่นิยมบริโภคของชาวตะวันตก ราคาไม่แพงและมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นในภาวะที่ผู้บริโภคต้องประหยัด คนตะวันตกจะหันไปทำอาหารรับประทานเองกันมากขึ้น ปลาทูน่ากระป๋องก็เป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยม นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2552 เงินบาทที่อ่อนค่าและมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งราคาปลาทูน่าแช่แข็งที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการผลิตปลากระป๋อง โดยเฉพาะโรงงานผลิตขนาดใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้น
แม้ว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในช่วงเดือนมกราคม 2552 จะลดลงเหลือเพียง 104.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 แล้วลดลงถึงร้อยละ 24.6 อันเป็นผลมาจากผู้สั่งซื้อในต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ทั้งนี้เพื่อรอดูแนวโน้มราคาปลาทูน่าในตลาดโลกที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง อย่างไรก็ตาม ราคาปลาทูน่าในตลาดเริ่มปรับตัวขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ทั้งนี้เนื่องจากมาตรการลดปริมาณการจับปลาทูน่า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อปลาทูน่ากระป๋องจะกลับมาซื้อปลาทูน่ากระป๋องตามปกติ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเทศผู้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องสำคัญของไทยใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาจำหน่ายปลีกปลาทูน่ากระป๋องเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายภายในประเทศ ทำให้หันมาต่อรองราคารับซื้อปลาทูน่ากระป๋องจากไทย ดังนั้นคาดว่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณมากกว่าราคา บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องทั้งปี 2552 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 617,100 ตัน มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และร้อยละ 7.9 ตามลำดับ ซึ่งนับว่าชะลอตัวเมื่อเทียบกับการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2551 กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในปี 2551 เท่ากับ 1,853.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2550 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4
ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในปี’52…ส่งออกเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 มีดังนี้
1.ราคาปลาทูน่าปรับลดลง เพิ่มภาระผู้ประกอบการ ราคาปลาทูน่าปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายปี 2551 กล่าวคือ ราคาปลาทูน่าเฉลี่ยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 อยู่ในระดับ 1,173 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อเทียบกับในช่วงเดือนตุลาคม 2551 ที่ราคาปลาทูน่าพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ในระดับ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งการที่ราคาปลาทูน่าในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ในระยะสั้นนั้นประเทศผู้นำเข้าต่างชะลอการซื้อ ทั้งนี้เพื่อรอดูราคา อย่างไรก็ตามในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ราคาปลาทูน่าปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 1,000-1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากประเทศที่จับปลาทูน่ามีมาตรการลดปริมาณการจับปลาทูน่า ดังนั้นคาดว่าราคาปลาทูน่าในตลาดโลกจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระยะที่เหลือของปีนี้ประเทศผู้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจะหันกลับมาซื้อปลาทูน่ากระป๋องเช่นเดิม คาดการณ์ว่าราคาปลาทูน่าเฉลี่ยในปี 2552 จะอยู่ในกรอบ 1,000-1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบกับราคาเฉลี่ยในปี 2551 ที่อยู่ในระดับ 1,585 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผู้ประกอบการบางรายประสบ ก็คือ ผู้ประกอบการบางรายแบกภาระสต็อกวัตถุดิบปลาทูน่าและปลากระป๋องที่ผลิตแล้วรอส่งมอบ โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องทั้งรายใหญ่และรายย่อยประเมินว่าในช่วงต้นปี 2552 ไทยมีปริมาณสต็อกวัตถุดิบปลาทูน่าเพื่อใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพื่อการส่งออกที่ซื้อไว้ในช่วงที่ราคาสูง รวมกันไม่ต่ำกว่า 12,000-15,000 ตัน และสต็อกปลาทูน่ากระป๋องที่ลูกค้าไม่ยอมรับการส่งมอบไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน ทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องอาจต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ หลังจากที่ราคาปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งมีความผันผวน
นอกจากปัญหาการขาดทุนของสต็อกวัตถุดิบแล้ว ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาจากการที่ลูกค้าขอชะลอการรับมอบสินค้าในคำสั่งซื้อที่ทำสัญญาซื้อขายกันไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2551 ประเทศผู้นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องขอชะลอการส่งมอบโดยขอต่อรองราคาลงจากเดิม ขอชะลอการจ่ายเงินคำสั่งซื้อเก่า และขอเพิ่มระยะเวลาการให้เครดิตเพื่อชำระเงินสำหรับคำสั่งซื้อใหม่
ซึ่งผลกระทบจากทั้งสองปัจจัยข้างต้น ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องต้องเร่งปรับตัว ในการแก้ปัญหาผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องบางรายใช้วิธีลดกำลังการผลิต หรือใช้วิธีการเจรจาต่อรองเพื่อส่งมอบสินค้า ทั้งนี้เพื่อลดภาระสต็อกและค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะกดดันทางด้านราคาปลาทูน่ากระป๋องจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากราคาปลาทูน่าในตลาดโลกเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2552
นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2552 ประเทศทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับลดราคาจำหน่ายปลีกปลาทูน่ากระป๋องประมาณร้อยละ 10.0 ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นยอดการจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งการปรับลดราคาจำหน่ายทำให้ผู้นำเข้าของทั้งยุโรป และญี่ปุ่นต้องปรับลดราคารับซื้อจากผู้ส่งออกไทยด้วย แม้ว่าสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลงตั้งแต่ปลายปี 2551 ทำให้คาดหมายว่าไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทยมากนัก โดยแม้ว่าผู้ประกอบการบางรายอาจจะเผชิญปัญหาขาดทุนจากการสต็อกวัตถุดิบ และการต่อรองราคาจากประเทศคู่ค้า แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องก็ได้ปรับตัวโดยการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไม่เกิน 2 เดือน ลดภาระความเสี่ยงจากความผันผวนของทั้งราคาน้ำมันและราคาปลาทูน่ากระป๋อง จากเดิมผู้ส่งออกรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า 6 เดือน ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกชะลอหรือยกเลิกคำสั่งซื้อ หากราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้าสูงมากเมื่อเทียบกับราคาต้นทุนปัจจุบัน
2.อานิสงส์จากการเปิดเขตการค้าเสรี จากความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หลังจากปี 2551 ไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังออสเตรเลียโดยไม่มีการกำหนดโควตานำเข้า และอัตราภาษีนำเข้าลดลงเหลือร้อยละ 0 ทำให้การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปออสเตรเลียขยายตัวอย่างมาก (จากที่ในปี 2548 ปลาทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าที่มีมาตรการป้องกันพิเศษ กำหนดโควตานำเข้า 21,366,277 กิโลกรัม ในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 24,737,136 กิโลกรัม อัตราภาษีปรับลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา และเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2550 หากมีการนำเข้าเกินโควตาต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5)
นอกจากออสเตรเลียแล้วความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ก็ส่งผลให้การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังนิวซีแลนด์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน แม้ว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังนิวซีแลนด์ยังไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจ
3.การขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา ปัจจุบันการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยมีการขยายตัวในตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ และประเทศในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ แอลจีเรีย และอังโกลา แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังประเทศเหล่านี้จะยังไม่มากนัก แต่ก็มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
4.อย่างไรก็ตามการแข่งขันแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป คาดการณ์ว่าในปี 2552 ผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป เนื่องจากสหภาพยุโรปไม่ต่ออายุโควตาปลาทูน่ากระป๋องให้ไทย (สิ้นสุดตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2551) ทำให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 20.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยยังเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศกลุ่มแอฟริกันแคริบเบียนที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเทศแถบภูมิภาคละตินอเมริกา โดยเฉพาะเม็กซิโกหันมาผลิตปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มมากขึ้น และสนใจการขยายตลาดสินค้าปลาทูน่ากระป๋องมายังสหภาพยุโรป โดยรัฐบาลเม็กซิโกขอลดภาษีการนำเข้าสินค้าปลาทูน่ากระป๋องและเนื้อปลาทูน่าสเต็ก กับทางสหภาพยุโรป โดยมุ่งหวังจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าปลาทูน่ากระป๋องจากเม็กซิโกในตลาดสหภาพยุโรป ทำให้คาดหมายได้ว่าเม็กซิโกอาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่ไทยจะต้องจับตามอง ทั้งนี้ เนื่องจากเม็กซิโกมีข้อได้เปรียบไทยอยู่หลายประการ ทั้งปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าที่เม็กซิโกมีกองเรือจับปลาทูน่าเป็นของตนเอง ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก รวมทั้งศักยภาพการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
มาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการ…กระตุ้นยอดการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง
จากการคาดการณ์ว่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 แม้ว่าจะยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลง ดังนั้นมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การกระตุ้นการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 ให้เพิ่มขึ้นได้อีก ดังนี้
1.การใช้ประโยชน์จากเจเทปป้ายังไม่เต็มที่ อันเป็นผลจากข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นหรือเจเทปป้า ที่ทยอยปรับลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากร้อยละ 9.6 เป็นร้อยละ 0 ภายในเวลา 5 ปี (เริ่มจากปี 2550) ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยในตลาดญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดว่า “ปลาทูน่าจากไทย” จะต้องเป็นปลาทูน่าที่จับโดยคนไทย เรือไทยเท่านั้น สำหรับปลาทูน่ากระป๋องที่ใช้ปลาทูน่าที่จับโดยเรือประเทศที่สามนั้น ท่าทีเดิมของฝ่ายญี่ปุ่นในการเจรจาเจเทปป้า คือจะไม่ลดภาษีเลย แต่ผู้เจรจาฝ่ายไทยได้พยายามต่อรองให้ญี่ปุ่นยอมรับการนำเข้าวัตถุดิบจากเรือของประเทศที่สามได้ ในที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ยอมประนีประนอม โดยตั้งเงื่อนไขว่าสินค้าปลาทูน่ากระป๋องนำเข้าจากไทยจะได้สิทธิประโยชน์ภายใต้เจเทปป้า หากจับโดยเรือประเทศที่สาม หมายถึงเป็นเรือของประเทศใดก็ได้แต่เรือนั้นต้องจดทะเบียนกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission: IOTC) 27 ประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โดยที่เงื่อนไขดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อนผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องบางส่วนของไทยที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องเป็นเรือของประเทศสมาชิก IOTC เท่านั้น ทำให้ไม่ได้ยื่นขอใช้สิทธิเจเทปป้า ในเรื่องนี้คงต้องมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ประโยชน์จากเจเทปป้ามากขึ้น และเป็นการกระตุ้นการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดญี่ปุ่นอีกทางหนึ่งด้วย
2.การเร่งเจรจากรอบอาเซียน-ยุโรป แม้ว่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังสหภาพยุโรปจะต้องเผชิญการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น แต่ปลาทูน่ากระป๋องของไทยก็ยังคงมีโอกาสในการขยายตลาดได้อีกมาก นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม 2552 การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปบางประเทศยังมีการขยายตัวในอัตราที่สูง โดยเฉพาะอิตาลี และฝรั่งเศส ดังนั้น การเร่งรัดการเจรจาในกรอบอาเซียน-ยุโรป ซึ่งสินค้าปลาทูน่ากระป๋องนั้นเป็นหนึ่งในหลายสินค้าที่มีการหยิบยกขึ้นมาเจรจา เนื่องจากถ้าไทยได้รับการลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องก็จะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดสหภาพยุโรป แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาไปพร้อมกันคือ เนื่องจากเป็นการเจรจาในกรอบอาเซียน-ยุโรป หมายถึงว่าถ้าการเจรจาสำเร็จคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหภาพยุโรป คือ ฟิลิปปินส์จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน
3.การเร่งขยายการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในตลาดใหม่ การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดหลักในเดือนมกราคม 2552 นั้นลดลงทุกตลาดเมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกปลาทูน่กระป๋องไปยังตลาดใหม่ยังคงขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ อาร์เจนตินาร์ ซีเรีย อังโกลา ชิลี และฟินแลนด์ ดังนั้นจึงยังเป็นโอกาสของผู้ส่งออกปลากระป๋องของไทยที่จะต้องเร่งศึกษาถึงศักยภาพที่จะขยายการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดเหล่านี้
บทสรุป
การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องในปี 2552 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลง เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ ในปี 2552 เป็นการขยายตัวทางด้านปริมาณ ขณะที่ราคาหดตัว ส่งผลให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 7.9 จากที่อยู่ในระดับร้อยละ 42.4 ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องของไทยยังต้องปรับตัวรับมือกับปัจจัยเสี่ยงจากการที่ต้องแบกรับภาระสต็อกวัตถุดิบปลาทูน่าและปลากระป๋องที่ผลิตแล้วรอส่งมอบที่ซื้อและผลิตไว้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาปลาทูน่าในขณะนั้นอยู่ในเกณฑ์สูง และยังต้องรับมือกับการขอชะลอการส่งมอบ รวมถึงการต่อรองราคาของประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากไทยต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20.5 ในขณะที่คู่แข่งขันสำคัญคือ กลุ่มประเทศแอฟริกันแคริบเบียนเสียภาษีร้อยละ 0 รวมทั้งเม็กซิโกกำลังเจรจาเพื่อขยายตลาดปลาทูน่ากระป๋องในสหภาพยุโรป
แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการคือ การที่ยังต้องเร่งกระตุ้นยอดการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง โดยการใช้ประโยชน์จากเจเทปป้าให้เต็มที่ เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดญี่ปุ่น การเร่งเจาะขยายตลาดในสหภาพยุโรปบางประเทศที่การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องยังมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะอิตาลีและฝรั่งเศส รวมทั้งการเร่งการเจรจากรอบอาเซียน-ยุโรปซึ่งจะเป็นแนวทางในการลดภาษีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง ทำให้ไทยไม่เสียเปรียบในด้านภาษีนำเข้ากับประเทศคู่แข่งสำคัญ นอกจากนี้ ยังควรเร่งผลักดันการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดใหม่ที่มูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง