เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการหดตัวอย่างชัดเจน โดยไตรมาสที่ 4 ปี 2551 หดตัวถึงร้อยละ 4.3 นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี คาดว่ายังมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสที่จะชะลอตัวหรือหดตัวลงตาม โดยหลายอุตสาหกรรมส่งสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจน มีการปรับลดกำลังการผลิตและการจ้างงาน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าอุตสาหกรรมไอซีทีมีความแข็งแกร่งและสามารถต้านทานวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดรวมกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มีจำนวนผู้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 31.9 ล้านคน และมีจำนวนเลขหมายกว่า 61 ล้านเลขหมาย* อาจเรียกได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันไปแล้ว แม้ในปีนี้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ก็ถือว่ายังดีกว่าหลายอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญภาวะหดตัวอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าข้อสรุปของการจัดสรรคลื่นความถี่และการออกใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อการทำกลยุทธ์ทางการตลาด รวมทั้งการแข่งขันและการลงทุนในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงปีนี้และอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ตลาดบริการมือถือ … ยังมีโอกาสเติบโต แต่บริการเสริมใหม่ๆ ต้องรอ 3G
ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ทำให้คาดว่าการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะชะลอตัวลงไม่มากนัก โดยหากแบ่งตลาดบริการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ตลาดบริการเสียง (Voice Service) และตลาดบริการเสริม (Non-Voice Service) จะเห็นได้ว่าตลาดบริการเสียงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกไม่มาก โดยเฉพาะจำนวนเลขหมายใหม่ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เพิ่มสูงจนถึงประมาณ 61 ล้านเลขหมาย หากคิดเป็นอัตราส่วน Penetration Rate จะสูงถึงประมาณร้อยละ 96.2 แม้จะมีผู้บริโภคหลายรายที่ใช้เลขหมายมากกว่า 1 หมายเลข (Multiple SIM Cards) แต่ในภาพรวมแล้วก็ถือว่าตลาดเข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น โดยหากผู้ให้บริการต้องการขยายตลาดคงทำได้เพียงในตลาดต่างจังหวัดที่เป็นส่วนนอกเขตเมือง แต่ในปีนี้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการขยายตลาดต่างจังหวัดได้ ทั้งนี้ ในส่วนของการแข่งขันด้านราคายังคงอยู่ในระดับสูง โดยผู้ให้บริการยังคงใช้กลยุทธ์โทรในเครือข่ายราคาต่ำกว่าโทรนอกเครือข่าย เนื่องจากมีต้นทุนค่าเชื่อมโยงเครือข่าย (Interconnection Charge: IC) แต่คาดว่าความเข้มข้นของกลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่สูงดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากมีข้อเสียตรงที่ผู้บริโภคจะระมัดระวังการโทรและตามมาด้วยปริมาณการโทรที่ลดลง โดยผู้ให้บริการจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การเพิ่มปริมาณการโทรด้วยโปรโมชั่นหลายรูปแบบตามลักษณะของลูกค้า (Customer Segmentation) เพื่อตอบสนองผู้บริโภคได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด
ในส่วนของตลาดบริการเสริมถือว่ายังเป็นตลาดที่ผู้ให้บริการมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมากเมื่อเทียบกับตลาดบริการเสียง แม้ผู้บริโภคยังคงใช้บริการเสริมในด้าน SMS (Short Message Service) และ MMS (Multimedia Message Service) เป็นหลัก แต่การใช้บริการเสริมอื่นๆ เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาบริการเสริมที่มีแนวโน้มผู้ใช้มากขึ้น ได้แก่ บริการข่าว บริการเสียงเพลงรอสาย/เรียกเข้า และบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วยทำรายได้แก่ผู้ให้บริการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดของภาครัฐในการจัดเก็บภาษีบริการ SMS แม้จะยังไม่มีความชัดเจนทั้งในส่วนอัตราภาษี รูปแบบการจัดเก็บ และประเภทของบริการที่เกี่ยวข้อง แต่ก็คาดว่าจะมีผลต่อแผนการตลาดของผู้ให้บริการและกระทบต่อยอดการใช้บริการเสริมในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดบริการเสริมก็มีข้อจำกัดอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่มีการเปิดใช้บริการระบบ 3G ทำให้บริการเสริมต่างๆ มีข้อจำกัดในการพัฒนา เนื่องจากต้องใช้ความเร็วในการรับส่งข้อมูล ส่วนข้อจำกัดอีกด้านคือผู้ใช้บริการยังมีสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคยังคงเน้นการโทรเป็นหลัก ผู้ที่ใช้บริการเสริมด้านข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและวัยทำงาน รวมทั้งมักจะอยู่ในเขตเมือง ซึ่งข้อจำกัดด้านผู้ใช้นี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ให้บริการ ซึ่งแม้หลังการเปิดให้บริการ 3G ก็คาดว่าผู้ใช้บริการหลักน่าจะเป็นกลุ่มดังกล่าวซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้น หากผู้ให้บริการต้องการขยายตลาดบริการเสริมจะต้องดึงดูดให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใช้บริการมากขึ้น โดยต้องพัฒนา Content ให้มีความหลากหลาย ใช้งานง่าย และเข้ามาช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันสะดวกสบายมากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2552 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 166,000-169,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 0-2 ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 166,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 4 โดยมีปัจจัยลบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจชะลอลง แต่คาดว่าจะชะลอลงไม่มาก เนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการติดต่อสื่อสารอีกด้วย แม้ว่าอาจมีโอกาสที่จะไม่เติบโตจากปีก่อน แต่ก็ไม่ถึงกับอยู่ในภาวะหดตัวดังเช่นที่หลายอุตสาหกรรมต้องประสบ ส่วน 3G ซึ่งถือเป็นความหวังในการกระตุ้นตลาดก็คาดว่าในปีนี้จะเริ่มมีการลงทุนบนคลื่นความถี่ใหม่ ส่วนบนคลื่นความถี่เดิมคาดว่าจะเป็นเพียงเครื่องมือในการเพิ่มสีสันทางการตลาดมากกว่าที่จะเป็นบริการในเชิงพาณิชย์ ทำให้บริการเสริมใหม่ๆ คงต้องรอหลังการเปิดให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ใหม่เกิดขึ้นก่อน แต่ก็คาดว่าในปีนี้ผู้ให้บริการจะจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อขยายตลาดบริการเสริมไปสู่กลุ่มผู้ใช้ใหม่ๆ มากขึ้น ตลอดจนเพื่อกระตุ้นยอดการใช้บริการในกลุ่มลูกค้าเดิมให้เพิ่มขึ้นด้วย
ตลาดเครื่องมือถือ … จำนวนเครื่องใหม่ใกล้เคียงปีก่อน แต่มูลค่าตลาดลดลง
ตลาดเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับตลาดบริการ แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างหนึ่ง ทำให้ในภาวะเช่นนี้ผู้บริโภคอาจชะลอการเปลี่ยนเครื่องใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาเครื่องที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการยังคงปรับลดราคาลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการซื้อเครื่องใหม่เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องที่สองมากขึ้น สอดคล้องกับการทำโปรโมชั่นแข่งขันด้านราคาของผู้ให้บริการเครือข่าย
สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในตลาดล่างนั้นการแข่งขันด้านราคาจะอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการเข้ามาทำตลาดของโทรศัพท์เฮาส์แบนด์ ซึ่งปัจจุบันฟังก์ชั่นการถ่ายรูปและฟังเพลงถือเป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานในโทรศัพท์เกือบทุกรุ่นแล้วและบางประเภทยังมีฟังก์ชั่นระดับสูง เช่น TV Phone, Multi-SIM Phone เป็นต้น แต่ราคาจำหน่ายต่อเครื่องค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับโทรศัพท์อินเตอร์แบนด์ ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดระหว่างเฮาส์แบนด์และอินเตอร์แบนด์อาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ต่อ 70 ในส่วนของตลาดบนแม้สงครามราคาอาจไม่รุนแรงเท่าตลาดล่าง แต่ราคาจำหน่ายต่อเครื่องก็มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกันการแข่งขันด้านการออกแบบและฟังก์ชั่นยังเป็นตัวแปรสำคัญในตลาด โดยโทรศัพท์รุ่นใหม่มีการออกแบบให้ดูสวยงามและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้งานไปสู่ระดับสูงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานแบบทัชสกรีน ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานหลักของโทรศัพท์ที่จะออกมาใหม่ในปีนี้ รวมทั้งฟังก์ชั่นการรองรับระบบ 3G เพื่อเตรียมรองรับกับการเปิดให้บริการในอนาคต นอกจากนี้ ช่องทางการจัดจำหน่ายถือได้ว่ามีส่วนสำคัญในการขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่ช่องทางการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดเป็นช่องทางที่มีแนวโน้มเติบโต ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะขยายตลาดได้อีกมาก โดยเฉพาะเครื่องในกลุ่มเฮ้าส์แบรนด์ที่มีราคาถูกแต่มีฟังก์ชั่นการใช้งานครบถ้วน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ในปี 2552 จะมีประมาณ 8.8-9 ล้านเครื่อง ใกล้เคียงหรือลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่มีประมาณ 9 ล้านเครื่อง ส่วนมูลค่าตลาดจะปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 30,000-31,500 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 10-15 จากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 5 โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับโทรศัพท์ที่มีราคาถูกมากขึ้น เนื่องจากนำไปใช้เป็นเครื่องที่สอง รวมทั้งการเข้ามาอย่างถูกลิขสิทธิ์ของโทรศัพท์ทัชสกรีนรุ่นใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ตลาดโทรศัพท์ทัชสกรีนและสมาร์ทโฟนคึกคักมากยิ่งขึ้น ขณะที่ตลาดต่างจังหวัดยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากจำนวนผู้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่สูงนัก
3G และ MNP … ปัจจัยสำคัญต่อโอกาสการเติบโตและการแข่งขันในตลาดมือถือ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีปัจจัยที่จะส่งผลต่อตลาดที่สำคัญอยู่ 2 ประการ ได้แก่
ระบบ 3G จะมีผลในการกระตุ้นตลาดทั้งเครื่องรุ่นใหม่ที่รองรับระบบ 3G และบริการเสริมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยรอคอยการเปิดให้บริการ 3G มายาวนาน ในปีก่อนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) อนุญาตให้เปิดบริการ HSDPA บนคลื่นความถี่เดิมได้ เรียกได้ว่าเป็น 3G บนคลื่นเดิม แต่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เปิดให้บริการในลักษณะทดลองแบบจำกัดพื้นที่เท่านั้น โดยยังคงรอการออกใบอนุญาตบนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 GHz เนื่องจากมีความเหมาะสมและอาจคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า โดยล่าสุด กทช. มีแนวทางที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่โดยวิธีประมูล ซึ่งคาดว่าจะจัดสรรใบอนุญาตให้แก่ผู้ให้บริการ 4 ราย รวมทั้งคาดว่าอาจมีผู้ให้บริการจากต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้วย เนื่องจากไทยเป็นประเทศท้ายๆ ที่ยังไม่เปิดให้บริการ 3G จึงอาจเป็นโอกาสในการขยายตลาดได้ โดยคาดว่าในช่วง 2-3 ปีแรกผู้ให้บริการแต่ละรายน่าจะลงทุนประมาณรายละ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี หากคิดเป็นเม็ดเงินโดยรวมอาจสูงถึงประมาณ 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินลงทุน 3G บนคลื่นความถี่ 1900 MHz ที่จะเกิดขึ้นอีกประมาณ 29,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าระบบ 3G อาจช่วยกระตุ้นให้การลงทุนภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางภาวะซบเซาในปัจจุบัน นอกจากนี้ ระบบ 3G ไม่เพียงจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ธุรกิจบริการชำระเงินออนไลน์ ธุรกิจเกมส์ออนไลน์ เป็นต้น ท้ายที่สุดแล้วประเด็นที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือเงื่อนไขกฎระเบียบและกำหนดการในการออกใบอนุญาต ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการลงทุนและการเปิดให้บริการ 3G หากสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ ก็คาดว่าในปีหน้ามีโอกาสที่จะเห็นการให้บริการ 3G เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดไอซีทีของไทยให้เติบโตต่อไป แต่หากการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า ก็จะเป็นอุปสรรคในการขยายตัวของตลาดไอซีทีเช่นกัน
บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability: MNP) คาดว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันในการแย่งชิงและรักษาฐานลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากหลังการเปิดใช้บริการ MNP ผู้บริโภคจะสามารถเปลี่ยนเครือข่ายได้โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมาย ทำให้ผู้ให้บริการจะต้องออกโปรโมชั่นหรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะดึงดูดลูกค้าเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะการทำ CRM (Customer Relationship Management) ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการให้บริการที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หลักการ MNP จะต้องอยู่บนพื้นฐานในการรักษาสิทธิของผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นภาระต่อผู้ให้บริการมากเกินไป จึงทำให้ต้องมีการเก็บค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนเลขหมาย ซึ่งควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ คาดว่า กทช. จะสามารถประกาศหลักเกณฑ์ MNP ได้ในช่วงกลางปีนี้ และผู้ให้บริการจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี
สรุปและข้อคิดเห็น
อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะยังมีแนวโน้มเติบโตท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีนี้ แม้อาจชะลอตัวลงบ้างแต่ก็ถือว่ายังมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่
ตลาดบริการ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง อย่างไรก็ตาม จากการที่ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ทำให้คาดว่าการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะชะลอตัวลงไม่มากนัก โดยในส่วนของตลาดบริการเสียงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกไม่มาก โดยเฉพาะจำนวนเลขหมายใหม่ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนเลขหมายเพิ่มสูงจนถึงประมาณ 61 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราส่วน Penetration Rate ประมาณร้อยละ 96.2 แม้จะมีผู้บริโภคหลายรายที่ใช้เลขหมายมากกว่า 1 หมายเลข แต่ในภาพรวมแล้วก็ถือว่าตลาดเข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น ขณะที่การแข่งขันด้านราคายังคงอยู่ในระดับสูง โดยผู้ให้บริการยังคงใช้กลยุทธ์โทรในเครือข่ายราคาต่ำกว่าโทรนอกเครือข่าย แต่คาดว่าความเข้มข้นของกลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่สูงดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากมีข้อเสียตรงที่ผู้บริโภคจะระมัดระวังการโทรและตามมาด้วยปริมาณการโทรที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การเพิ่มปริมาณการโทรด้วยโปรโมชั่นหลายรูปแบบตามลักษณะของลูกค้ามากขึ้น ในส่วนของตลาดบริการเสริมถือว่ายังเป็นตลาดที่ผู้ให้บริการมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก แม้ผู้บริโภคยังคงใช้บริการเสริมในด้าน SMS และ MMS เป็นหลัก แต่การใช้บริการเสริมอื่นๆ ก็เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการข่าว บริการเสียงเพลงรอสาย/เรียกเข้า และบริการอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดของภาครัฐในการจัดเก็บภาษีบริการ SMS แม้จะยังไม่มีความชัดเจนทั้งในส่วนอัตราภาษี รูปแบบการจัดเก็บ และประเภทของบริการที่เกี่ยวข้อง แต่ก็คาดว่าจะมีผลต่อแผนการตลาดของผู้ให้บริการและกระทบต่อยอดการใช้บริการเสริมในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดบริการเสริมก็มีข้อจำกัดอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่มีการเปิดใช้ระบบ 3G ทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลไม่สูง ส่งผลต่อการพัฒนา Content ใหม่ๆ ส่วนข้อจำกัดอีกด้านคือผู้ใช้บริการยังมีสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคยังคงเน้นการโทรเป็นหลัก ผู้ที่ใช้บริการเสริมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและวัยทำงาน รวมทั้งมักจะอยู่ในเขตเมือง ซึ่งข้อจำกัดด้านผู้ใช้นี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ให้บริการในการขยายตลาดในอนาคต ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2552 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 166,000-169,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 0-2 ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 166,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 4 แม้ว่าอาจมีโอกาสที่จะไม่เติบโตจากปีก่อน แต่ก็ไม่ถึงกับอยู่ในภาวะหดตัวดังเช่นที่หลายอุตสาหกรรมต้องประสบ
ตลาดเครื่องลูกข่าย ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับตลาดบริการ แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างหนึ่ง ทำให้ในภาวะเช่นนี้ผู้บริโภคอาจชะลอการเปลี่ยนเครื่องใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับลดราคาจำหน่ายของผู้ประกอบการเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการซื้อเครื่องใหม่เพื่อนำไปใช้เป็นโทรศัพท์เครื่องที่สองมากขึ้น สอดคล้องกับการทำโปรโมชั่นแข่งขันด้านราคาของผู้ให้บริการเครือข่าย สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดล่างนั้นการแข่งขันด้านราคาจะอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะโทรศัพท์เฮาส์แบนด์ที่มีฟังก์ชั่นสูง แต่ราคาจำหน่ายต่อเครื่องค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดระหว่างเฮาส์แบนด์และอินเตอร์แบนด์อาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ต่อ 70 ในส่วนของตลาดบนแม้สงครามราคาอาจไม่รุนแรงเท่าตลาดล่าง แต่ราคาจำหน่ายต่อเครื่องก็มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกันการแข่งขันด้านการออกแบบและฟังก์ชั่นยังเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะการใช้งานแบบทัชสกรีนและรองรับระบบ 3G ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานหลักของโทรศัพท์ที่จะออกมาใหม่ในปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ในปี 2552 จะมีประมาณ 8.8-9 ล้านเครื่อง ใกล้เคียงหรือลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่มีประมาณ 9 ล้านเครื่อง แต่มูลค่าตลาดจะปรับลดลงโดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-31,500 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 10-15 จากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 5