ในปี 2552 สถานการณ์อุตสาหกรรมไก่เนื้อพลิกกลับจากที่เคยเป็น “ปีทอง” ในปี 2551 ที่ผู้เกี่ยวข้องกับวงการไก่เนื้อ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตลูกไก่เนื้อ ผู้เลี้ยงไก่จำหน่ายในประเทศ และผู้ส่งออกต่างได้รับกำไรอย่างถ้วนหน้า แม้ว่าในปี 2551 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะอยู่ในเกณฑ์สูงก็ตาม กล่าวคือ ผู้ผลิตลูกไก่เนื้อขายได้ตัวละ 16-16.50 บาท ผู้เลี้ยงไก่ขายไก่มีชีวิตจำหน่ายในประเทศราคาตัวละ 36-37 บาท และผู้ส่งออกขายเนื้อไก่ได้ราคาเฉลี่ยสูงกิโลกรัมละ 135 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาไก่เนื้อทุกระดับตลาดที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปี 2551 ไก่มีชีวิตมีราคาตกต่ำลงมาเหลือตัวละ 27-28 บาท ต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงที่ตัวละ 30 บาท ลูกไก่เหลือตัวละ 4-5 บาท จากต้นทุนการเลี้ยงตัวละ 9 บาท เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาดี ผู้เลี้ยงจึงขยายการเลี้ยงไก่กันมากขึ้น ปัจจุบันปริมาณการผลิตลูกไก่เนื้อป้อนตลาดมีมากถึง 19.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ จากที่ควรจะอยู่ในระดับ 17.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ แต่ตลาดส่งออกในเดือนมกราคม 2552 กลับมีแนวโน้มหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งมูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 12.9 จากที่ในเดือนมกราคม 2551 มูลค่าการส่งออกเคยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 96.7 ส่วนการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคม 2552 ก็ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 61.2 จากที่เคยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสูงถึงร้อยละ 74.2 ในช่วงเดือนมกราคม 2551
ดังนั้น ในปีนี้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไก่เนื้อต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการปรับลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ เพื่อประคองตัวให้อยู่รอดในช่วงที่ราคาส่งออกเนื้อไก่อยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ ยังทำให้ผลิตภัณฑ์ไก่ซึ่งเคยเป็นความหวังว่าจะเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารแปรรูปที่จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2551 นั้นน้อยลงไป เนื่องจากคาดการณ์ว่าทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกในปี 2552 จะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 360 พันตัน มูลค่า 45,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วลดลงร้อยละ 6.0 และ 12.0 ตามลำดับ
ปริมาณการผลิตไก่เนื้อปี52…ลูกไก่เนื้อ เนื้อไก่ ล้นตลาด
คาดการณ์ปริมาณการผลิตไก่เนื้อในปี 2552 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 930 ล้านตัว เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 อันเป็นผลมาจากการส่งออกไก่แปรรูปในปี 2551 เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ในปี 2552 มีการขยายการเลี้ยงไก่เนื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งปริมาณการผลิตไก่เนื้อนี้มากกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ในช่วงปลายปี 2551 ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียง 920.15 ล้านตัวเท่านั้น
ปัจจุบันการผลิตลูกไก่เนื้ออยู่ที่ 19.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ในขณะที่การผลิตลูกไก่เนื้อที่เหมาะสมกับสภาพการส่งออกในปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 17.5 ล้านตัวต่อสัปดาห์ รวมทั้งเมื่อการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวทำให้เกิดปัญหาเนื้อไก่ล้นตลาดอีกด้วย เท่ากับว่าสภาพของอุตสาหกรรมไก่เนื้อในปัจจุบันเกิดปัญหาทั้งลูกไก่เนื้อ และเนื้อไก่ล้นตลาด ทำให้ผู้ประกอบการคือต้องประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ ผู้เลี้ยงอิสระ และผู้ประกอบการไม่ครบวงจร
ปัจจุบัน บรรดาโรงงานชำแหละไก่จำเป็นต้องระบายเนื้อไก่ออกมาจำหน่ายในประเทศในราคาต่ำกว่าต้นทุน เพราะหากเก็บสต็อกไว้นาน โอกาสจะกลายเป็นสต็อกสะสมล้นห้องเย็นในประเทศมีสูงมาก เพราะเพียงแค่ 2 เดือนแรกของปี 2552 สต็อกเพิ่มขึ้นจำนวนมากแล้ว หากปล่อยไว้โอกาสราคาจะลงยิ่งมากขึ้น ทำให้มีโอกาสขาดทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย
ต้นทุนผลิตลูกไก่เนื้อเฉลี่ยตัวละ 9 บาท แต่ราคาจำหน่ายเหลือเพียงตัวละ 4-5 บาท หรือขาดทุนเฉลี่ยตัวละ 5 บาท ไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มต้นทุนเลี้ยงอยู่ที่ตัวละ 30 บาท สามารถจำหน่ายได้เพียงตัวละ 27-28 บาท ต้นทุนเนื้อไก่ชำแหละส่วนเนื้อหน้าอกติดหนังกิโลกรัมละ 48-50 บาท จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 40-42 บาท เนื้อน่องต้นทุนกิโลกรัมละ 45 จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 42 บาท
การระบายเนื้อไก่จำหน่ายในประเทศในราคาที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าคนไทยจะหันมาบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเนื้อสุกรแล้ว เนื้อไก่ยังมีราคาถูกกว่ามาก คาดการณ์ว่าในปี 2552 ปริมาณการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 760 พันตัน เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากที่ในปี 2551 ปริมาณการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศลดลงจากการที่ราคาเนื้อไก่อยู่ในเกณฑ์สูงตลอดปี ซึ่งการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นประมาณร้อยละ 65.0 ของปริมาณการผลิตเนื้อไก่ทั้งหมด ซึ่งปริมาณการบริโภคที่เพิ่มขึ้นนับว่าเป็นการช่วยพยุงไม่ให้ราคาไก่ตกต่ำมากนัก
การส่งออกปี 52…ประเทศคู่ค้าชะลอการนำเข้า คู่แข่งขยายการผลิต
คาดการณ์ว่าในปี 2552 การส่งออกไก่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากตลาดหลักของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณความต้องการนำเข้าลดน้อยลง นอกจากนี้ ผู้นำเข้าหันมาต่อรองราคาสินค้า เนื่องจากในปีนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2551 ที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลว่าปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะไม่เพียงพอกับความต้องการ คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปในปี 2552 มีแนวโน้มลดลงเหลือ 360 พันตัน มูลค่า 45,400 ล้านบาท หรือทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 6.0 และ 12.0 ตามลำดับ
จากวิกฤติเศรษฐกิจและการค้าของโลกที่ส่งผลต่อกำลังซื้อที่หดตัวลงในปี 2552 นี้คาดว่าจะเกิดสงครามราคาเพื่อแย่งชิงคำสั่งซื้อกันอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยคู่แข่งสำคัญในการส่งออกไก่ของไทยในตลาดโลก ได้แก่ บราซิล สหรัฐฯ บางประเทศในสหภาพยุโรป(อียู) รวมถึงจีน แต่ในปี 2552 จีนถือเป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัว เพราะปีที่ผ่านมาสินค้าอาหารจีนมีปัญหาภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยของอาหาร ทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในสองตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่หลักของไทยย้ายฐานการสั่งซื้อไก่มาไทยมากขึ้นตามลำดับ แต่ในตลาดสหภาพยุโรปคงต้องแย่งชิงคำสั่งซื้อกัน
ตลาดญี่ปุ่น การส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 52.4 ของการส่งออกไก่แปรรูปทั้งหมดของไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดญี่ปุ่นยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นปี 2552 เนื่องจากผู้ส่งออกไทยได้เปรียบในเรื่องอัตราภาษีนำเข้าจากเจเทปป้า เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้ โดยเฉพาะบราซิลสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งสินค้าอาหารจากจีนยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักในสายตาของคนญี่ปุ่น ทำให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นหันมาสั่งซื้อไก่แปรรูปจากไทย อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ญี่ปุ่นเริ่มมีคนตกงานมากขึ้น และกำลังซื้อเริ่มลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบถึงปริมาณการนำเข้าเนื้อไก่แปรรูปจากไทย รวมทั้งต้องติดตามภาวะค่าเงินเยน เนื่องจากปัจจุบันเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว (เทียบกับระดับปลายปี) ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ราคาไก่แปรรูปของไทยที่ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นในสายตาของคนญี่ปุ่น
ตลาดสหภาพยุโรป สัดส่วนการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปคิดเป็นร้อยละ 42.7 ของการส่งออกไก่แปรรูปทั้งหมดของไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรปในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหา ดังนี้
-ค่าเงินยูโรและเงินปอนด์อ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้าผลิตภัณฑ์ไก่นำเข้าจากไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างบราซิลที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย ราคาไก่แปรรูปส่งออกไปตลาดอียูลดลงประมาณร้อยละ 10.0
-การส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีการกำหนดโควตาส่งออกไว้ 160,033 ตัน/ปี เสียภาษีในอัตราร้อยละ 8.0 ส่วนนอกโควตาเสียภาษีสูงถึง 1,024 ยูโร/ตัน มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 โดยผู้ส่งออกคาดว่าในเดือนกรกฎาคม 2552 นี้การส่งออกไก่แปรรูปของไทยจะเต็มตามโควตา ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไก่แปรรูปไปยังตลาดสหภาพยุโรปชะลอตัว จึงเร่งรัดให้รัฐบาลเจรจากับสหภาพยุโรปให้ขยายโควตาให้ไทย เนื่องจากไทยไม่ได้ส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จากปัญหาไข้หวัดนก จึงได้โควตาเพียงไก่แปรรูป ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งอย่างบราซิลที่ได้โควตาส่งออกทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ดังนั้น จึงเสนอให้สหภาพยุโรปรวมโควตาไก่แปรรูปและไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยได้โควตาเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2 แสนตัน หากได้รับความเห็นชอบจะทำให้ไทยสามารถส่งออกไก่สุกปี 2552 มากขึ้น
-หน่วยงานด้านอาหารและปศุสัตว์แห่งสหภาพยุโรประบุว่าตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2551 สหภาพยุโรปมีมติยกเลิกการระงับการนำเข้าไก่แปรรูปจากจีน ภายหลังจากถูกระงับการนำเข้าเป็นเวลานาน 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 ที่จีนมีปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ปัจจัยนี้ทำให้น่ากังวลว่าการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปจะรุนแรงขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันสินค้าจากไทยจะได้เปรียบในเรื่องคุณภาพของสินค้า และได้รับโควตาส่งออกปีละกว่า 1.6 แสนตัน ในขณะที่จีนยังต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง แม้ว่าต้นทุนการผลิตไก่เนื้อและค่าแรงงานที่ต่ำกว่าไทยก็ตาม
ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว…รับตลาดส่งออกชะลอตัว
ในขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มชะลอการนำเข้า แต่ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย คือ บราซิลยังคงขยายการผลิตไก่เนื้อในปี 2552 เนื่องจากทั้งปริมาณการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกของบราซิลยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากบราซิลสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ได้ทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป เนื่องจากบราซิลไม่มีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก กล่าวคือ คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตไก่เนื้อของบราซิลในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นเป็น 11,417 พันตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 โดยปริมาณการบริโภคภายในประเทศของบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 7,757 พันตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และคาดการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เพิ่มเป็น 3,660 พันตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ปัจจุบันบราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกไก่อันดับหนึ่งของโลก และเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ฮ่องกง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับฯ และซาอุดิอาระเบีย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในปี 2552 ผู้ส่งออกไก่เนื้อของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก รวมทั้ง บราซิลก็จะกลายเป็นอุปสรรคที่ผู้ส่งออกไทยจะต้องแข่งขันด้วย สำหรับในตลาดที่ผู้ส่งออกของไทยต้องการเจาะขยายตลาดใหม่ด้วย โดยเฉพาะตลาดในตะวันออกกลาง
การตั้งรับหรือปรับกลยุทธ์เพื่อฝ่าปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยทั้งระบบในปี 2552 ต้องหารือร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ ทั้งนี้เพื่อปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง ตลอดจนผู้ประกอบการแต่ละรายต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงปลายปีปัจจัยทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยกดดันทั้งกำลังซื้อของคนในประเทศ และกำลังซื้อในประเทศคู่ค้า ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งปี 2552 ยังไม่มีปัจจัยเอื้อจากภาวะเศรษฐกิจที่จะกระตุ้นให้มีการซื้อเนื้อไก่เพิ่มขึ้น และคาดว่าตลาดไก่เนื้อจะมีแนวโน้มซบเซาตลอดปี 2552
บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 2552 ผลิตภัณฑ์ไก่จะพลิกกลับเมื่อเทียบกับในปี 2551 ที่นับว่าเป็นปีทองของอุตสาหกรรมไก่เนื้อ โดยคาดการณ์ว่าผลจากวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ประเทศคู่ค้าชะลอการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ และการที่ต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศคู่แข่งสำคัญคือ บราซิล ซึ่งมีการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาภาวะลูกไก่เนื้อและเนื้อไก่ล้นตลาดในประเทศ จนกระทั่งบรรดาผู้ประกอบการต้องระบายสต็อก โดยจำหน่ายเนื้อไก่ในราคาต่ำกว่าต้นทุน ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาขาดทุนในระยะยาว เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในปี 2552 นี้ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่มีแนวโน้มลดลงเหลือ 360 พันตัน มูลค่า 45,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วลดลงร้อยละ 6.0 และ 12.0 ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยทางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายังเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อไม่ให้กระเตื้องขึ้นตลอดทั้งปี 2552 รวมทั้งการส่งออกยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ประเทศผู้นำเข้าให้ความสำคัญกับราคามากยิ่งขึ้น
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อในทุกระดับต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดส่งออกสำคัญที่ชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ที่มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2551 ที่การส่งออกขยายตัวเกือบ 1 เท่าตัว ส่วนตลาดญี่ปุ่นแม้ว่าจะยังขยายตัว แต่อัตราการขยายตัวก็เริ่มชะลอลง และยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยลดลงได้ในช่วงที่เหลือของปี 2552