ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกปี’52 แนวโน้มหดตัว…ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวได้ค่อนข้างดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 วิกฤตการเงินได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงตามลำดับ ส่งผลให้ช่วงปลายปีที่แล้วมีโรงงานผลิตสินค้าพลาสติกได้ทยอยปิดตัวลงไปแล้วกว่า 500 แห่ง และผู้ประกอบการกลุ่มในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกคาดการณ์ว่าในปี 2552 นี้ อาจมีแนวโน้มที่โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติกจะปิดตัวเพิ่มขึ้นอีก 500 แห่งเนื่องจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่จะยิ่งเห็นผลชัดเจนขึ้นในปี 2552 มีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกคงต้องเผชิญกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับลักษณะของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่ทำการผลิตตามคำสั่งซื้อ (OEM) เมื่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังถดถอยคงจะทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มทิศทางการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของปี 2552 ไว้ดังนี้

ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในปี 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 93,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 จากปี 2550 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 83,207 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาถึงร้อยละ 13.3 และเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเพียงร้อยละ 0.8 ซึ่งสอดคล้องกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้ราคาของเม็ดพลาสติกมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ ผลิตภัณฑ์กล่องและหีบพลาสติก รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์หลอดและท่อพลาสติก และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากพลาสติก โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบยานยนต์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบของสินค้าคงทน ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากกำลังซื้อที่ถดถอยลงของผู้บริโภคในช่วงเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศกำลังอยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เป็นส่วนประกอบหรือตกแต่งที่อยู่อาศัย เช่น พลาสติกปูพื้นและผนัง ชะลอตัวสูงจากที่เคยขยายตัวร้อยละ 19.6 ในปี 2550 ทำให้การขยายตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ในปี 2551

แม้ว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวได้ค่อนข้างดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 โดยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 17.9 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตามทิศทางการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ได้หดตัวลงที่ร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2550 ที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 15.4 เป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยหดตัวลงร้อยละ 8.6 และ 15.3 ตามลำดับ โดยสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเฉลี่ยไปยังประเทศสหรัฐฯ ลดลงจากร้อยละ 15.7 เป็น 12.6 และสหภาพยุโรปลดลงจากร้อยละ 11.4 เหลือร้อยละ 9.9 ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.0 จากร้อยละ 23.2 แสดงถึงการขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ ของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก และในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมาประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกให้ความสำคัญในการส่งออกไปมาก คือ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 35.4 โดยมีสัดส่วนการส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 เป็นร้อยละ 6.2 และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในตลาดประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ กล่องที่ทำจากพลาสติก (กล่องใส่ซีดี) เครื่องใช้สำนักงานที่ทำจากพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกปี 2552 ซบเซาต่อเนื่องจากปลายปี 2551

จากข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมา พบว่าตัวเลขมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในเดือนมกราคม 2552 มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,592 ล้านบาท หดตัวสูงถึงร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,724 ล้านบาท สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกหดตัวลงคือภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอยอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม นอกจากยอดคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาลดลงแล้วการตั้งราคาขายของผลิตภัณฑ์พลาสติกก็ไม่สามารถตั้งราคาได้สูงในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงซบเซา โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภทหดตัวสูงและชะลอตัวลงในบางผลิตภัณฑ์ ยกเว้นผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบที่ทำจากพลาสติก (แผ่นรองไหล่ เข็มขัด ถุงมือ เสื้อแจ็คเก็ต ซิป กระดุม ฯลฯ) ขยายตัวร้อยละ 10.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 36.4 ส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ส่งไปตลาดญี่ปุ่นยังสามารถขยายตัวได้เนื่องจากได้รับผลดีจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าประกอบกัน อย่างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบที่ทำจากพลาสติกยังสามารถขยายตัวได้

จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงได้ทำให้ยอดคำสั่งซื้อของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกเริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ต่อเนื่องมาในปี 2552 โดยปัจจัยเสี่ยงที่ควรต้องให้ความสำคัญ คือ ยอดคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มว่าจะหดตัวมากยิ่งขึ้นจากการที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะซบเซามากกว่าในปี 2551 และยังไม่มีสัญญาณใดที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าภาวะถดถอยนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ให้ลดลง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกจะมีแนวโน้มหดตัวลงประมาณร้อยละ 7.0 ถึงร้อยละ 12.0 จากที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 12.0 ในปี 2551 ทางด้านราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในอัตราที่มากกว่าเนื่องจากราคาวัตถุดิบ คือ เม็ดพลาสติกคงจะยังมีราคาไม่สูงเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งผู้ผลิตยังไม่สามารถตั้งราคาขายได้สูงในช่วงที่อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีแนวโน้มว่าในปี 2552 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปสู่ตลาดโลกจะมีแข่งขันทางด้านราคารุนแรงมากขึ้น เพราะคู่แข่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่อย่างจีนก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยเช่นกัน ภาคอุตสาหกรรมของจีนต้องประสบกับความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลให้อัตราการว่างงานในประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึงกำลังซื้อขนาดใหญ่ของตลาดภายในประเทศที่ลดลง ดังนั้น ในปี 2552 มีความเป็นไปได้ว่าประเทศจีนจะเร่งระบายอุปทานของสินค้าที่เหลืออยู่ออกมาสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ของการลดราคาสินค้าลง ซึ่งความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยมีน้อยกว่า เนื่องจากต้นทุนในการผลิตสินค้าของไทยยังคงสูงกว่าโดยเฉพาะต้นทุนด้านแรงงาน แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คาดว่า

ผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์ (ถุง กระสอบพลาสติก ขวดน้ำ ขวดแชมพู) คาดว่า อาจจะยังขยายตัวได้บ้าง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยตลาดที่มีการขยายตัวได้ดี ได้แก่ เวียดนาม แอฟริกาใต้ เป็นต้น ส่วนบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารมีโอกาสชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมอาหาร

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบที่ทำจากพลาสติก (เข็มขัด ถุงมือ เสื้อแจ็คเก็ต แผ่นรองไหล่ ฯลฯ) มีโอกาสจะขยายตัวได้ เพราะการส่งออกสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ส่งไปตลาดญี่ปุ่นยังสามารถขยายตัวได้เนื่องจากได้รับผลดีจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าประกอบกัน อย่างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบที่ทำจากพลาสติกขยายตัวตาม

ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ จะมีความต้องการใช้ลดลงตามอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบและอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวลง เนื่องจากส่วนใหญ่สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าคงทนซึ่งผู้บริโภคจะชะลอการซื้อสินค้าเหล่านี้ออกไปในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยการส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมกราคม 2552 หดตัวลงร้อยละ 27.7 และร้อยละ 38.9 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบหดตัวลงร้อยละ 32.8

ผลิตภัณฑ์ประเภทพลาสติกปูพื้น ปูผนัง และใช้สำหรับตกแต่งที่อยู่อาศัยหรือเฟอร์นิเจอร์พลาสติก คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซา คาดว่า ผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์คงจะยังคงชะลอการลงทุนออกไปก่อนในช่วงระยะเวลาครึ่งแรกของปี 2552 เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยการส่งออกในเดือนมกราคม 2552 พบว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้หดตัวลงร้อยละ 40.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากพลาสติก คาดว่า จะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลัก อย่าง สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยการส่งออกในเดือนมกราคม 2552 พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากพลาสติกชะลอตัวลงร้อยละ 9.5 จากร้อยละ 33.1 ในช่วงเดียวกันของปี 2551

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่ง คือ ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังซบเซาเช่นปัจจุบันการพิจารณาการให้สินเชื่อของธนาคารมีแนวโน้มว่าจะเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกร้อยละ 90 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจไม่มากนักอาจทำให้ต้องประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกคาดว่าในปี 2552 มีแนวโน้มว่าโรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติกอาจปิดตัวเพิ่มอีกประมาณ 500 แห่ง

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ การเพิ่มการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีร้อยละ 0.5 จากเดิม 60,000 บาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท หรือเป็นการยกเว้นภาษีจาก 300 บาทต่อปี เป็นกว่า 5,000 บาทต่อปี น่าจะเป็นปัจจัยบวกกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อาจช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกในปี 2552 อาจมีการใช้กลยุทธ์การลดราคาสินค้า ฉะนั้นผู้ผลิตควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา หันมาเน้นกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า ผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีรสนิยมแตกต่างกันไปในแต่ละตลาด และอาจพิจารณาทำการส่งออกกับกลุ่มประเทศภายในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยประโยชน์จากการเปิดเสรีสินค้าและบริการภายใต้ข้อตกลงอาเซียนที่จะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนมิถุนายน 2552

สรุปและข้อเสนอแนะ

มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 12.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 โดยการขยายตัวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาร้อยละ 13.3 และเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณร้อยละ 0.8 สอดคล้องกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกมีราคาสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกขยายตัวได้ค่อนข้างดีในช่วง 9 เดือนแรกของปี แต่เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องมาจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและต่อเนื่องมาในปี 2552 ซึ่งพบว่าตัวเลขมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกในเดือนมกราคมหดตัวสูงถึงร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกหดตัวลงคือยอดคำสั่งซื้อที่มีลดลง ประกอบกับการตั้งราคาขายผลิตภัณฑ์พลาสติกไม่สามารถตั้งราคาได้สูงในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ที่ควรต้องให้ความสำคัญ คือ ยอดคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มว่าจะหดตัวมากยิ่งขึ้น จากการที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะซบเซามากกว่าในปี 2551 และการพิจารณาการให้สินเชื่อของธนาคารกับผู้ประกอบการมีแนวโน้มว่าจะเข้มงวดมากขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระคืนหนี้มากขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ การเพิ่มการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง และมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี น่าจะเป็นปัจจัยบวกกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกจะมีแนวโน้มหดตัวลงประมาณร้อยละ 7.0 ถึงร้อยละ 12.0 จากที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 12.0 ในปี 2551 ด้านราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกคาดว่าน่าจะมีแนวโน้วปรับตัวลดลง เนื่องจากราคา เม็ดพลาสติกคงจะยังมีราคาไม่สูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งไม่สามารถตั้งราคาขายได้สูงในช่วงที่อำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งมีแนวโน้มว่าในปี 2552 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปสู่ตลาดโลกจะมีแข่งขันทางด้านราคารุนแรงมากขึ้น เพราะคู่แข่งใหญ่อย่างจีนก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าประเทศจีนจะเร่งระบายอุปทานของสินค้าที่เหลืออยู่ออกมาสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ของการลดราคาสินค้าลง

สำหรับแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญนั้น คาดว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์อาจจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องแต่งกายและของใช้ประกอบที่ทำจากพลาสติก มีโอกาสจะขยายตัวได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับผลดีจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์จะมีความต้องการใช้ลดลงตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก โดยสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าคงทนซึ่งผู้บริโภคจะชะลอการซื้อสินค้าเหล่านี้ออกไปในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ประเภทพลาสติกปูพื้น ปูผนัง และใช้สำหรับตกแต่งที่อยู่อาศัยหรือเฟอร์นิเจอร์พลาสติก คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซา

จากการที่กำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในปี 2552 อาจมีการใช้กลยุทธ์การลดราคาสินค้า ฉะนั้นผู้ผลิตควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา หันมาเน้นกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า ผลิตสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีรสนิยมแตกต่างกันไปในแต่ละตลาด นอกจากนี้ผู้ประกอบการอาจพิจารณาทำการส่งออกกับกลุ่มประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันเพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยประโยชน์จากการเปิดเสรีสินค้าและบริการภายใต้ข้อตกลงอาเซียนที่จะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนมิถุนายน 2552 โดยประเทศส่วนใหญ่ที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกจากไทยอยู่ก่อนหน้าแล้ว ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เป็นต้น ในขณะเดียวกันจากการที่ความต้องการของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยอาจหันไปนิยมสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากคุณภาพเหมาะสมกับราคา ฉะนั้นผู้ผลิตอาจพิจารณาผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจถดถอย เช่น อาจพิจารณาผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารบางประเภทที่สามารถใช้พลาสติกผลิตได้แต่มีราคาโดยเปรียบเทียบที่ถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ แก้ว กระเบื้อง เป็นต้น