จากการที่ตลอดทั้งปี 2551 ประเทศไทยได้เผชิญกับหลากหลายปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อทั้งกำลังซื้อและอารมณ์ความรู้สึกในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปี 2551 ที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น จนผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยต้องชะลอการจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งยังมีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และตอกย้ำด้วยปัญหาวิกฤตการเงินโลกที่ลุกลามและเลวร้ายยิ่งขึ้นตามลำดับ โดยเริ่มส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จนกิจการหลายแห่งต้องปิดตัวลง หรือบางแห่งต้องมีการปรับลดพนักงาน ปรับลดเงินเดือน รวมถึงปรับลดโบนัสในปี 2551 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างมีพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกปี 2551 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.91 (ณ ราคาคงที่) และเป็นไปในทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่เติบโตร้อยละ 4.54 ตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ธุรกิจค้าปลีกปี 2552 : พิษเศรษฐกิจ…ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค
สำหรับสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกในปี 2552 อาจจะต้องเผชิญความท้าทายหนักกว่าในปี 2551 ที่ผ่านมาท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวลง และสถานการณ์การเลิกจ้างงานที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่คาดว่าจะมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยไม่แตกต่างจากปีก่อนหน้า เพราะผู้บริโภคยังมีความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าประเด็นสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกในปี 2552 ได้แก่
อัตราการขยายตัวของดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีการปรับตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดที่รายงานโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนถึงการหดตัวลงของอุปสงค์ในภาคเอกชนทุกด้านทั้งการส่งออก การบริโภคและการลงทุน โดยการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกปี 2552 หดตัวร้อยละ 19.2 (ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2551 แต่หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำจะพบว่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกปี 2552 หดตัวรุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ถึงร้อยละ 27 (ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากเช่นกันถึงร้อยละ 4.5 และดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 7.9 ซึ่งนับเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 56 โดยมีค่าที่ 74.0 และปรับตัวลงจากเดือนมกราคม 2552 ที่อยู่ในระดับ 75.2 อีกทั้งยังเป็นค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ด้วย โดยปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนปัญหาการว่างงานและการปรับลดเวลาทำงาน ยังคงเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน
ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาจจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 1 ในปี 2552 สำหรับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในครึ่งแรกปี 2552 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีอัตราการเติบโตต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคค้าปลีกค้าส่งในครึ่งแรกของปี 2547-2551 ที่มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 4.28 ต่อปี ตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในครึ่งแรกปี 2552 มีแนวโน้มอ่อนแรงลง มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างสูงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีแนวโน้มตกต่ำต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาการว่างงานที่อาจจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดต่ำลงยิ่งขึ้น รวมไปถึงการชะลอตัวลงของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าแม้โดยภาพรวมแล้วธุรกิจค้าปลีกอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นโดยเปรียบเทียบ เพราะประชาชนยังจำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยในส่วนของสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ประกอบกับการที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือให้เงินช่วยค่าครองชีพและมีโครงการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น การมอบเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท วงเงินรวมประมาณ 19,000 หมื่นล้านบาท โครงการเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน และโครงการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในธุรกิจค้าปลีกกระเตื้องขึ้นได้บ้าง และมีผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคค้าปลีกค้าส่งในปี 2552 อาจจะยังสามารถขยายตัวได้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคค้าปลีกค้าส่งในปี 2552 น่าจะชะลอตัวลงจากระดับร้อยละ 1.91 ในปี 2551 และอาจจะเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540ด้วย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการค้าปลีกค้าส่งในปี 2552 จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 0-0.3
ผู้บริโภคเน้นประหยัด…ต้องคุ้มค่าคุ้มราคาจึงจ่าย
จากการที่ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงานและการปรับลดเวลาทำงาน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2552 ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศที่อาจจะเกิดขึ้น ณ ที่หนึ่งที่ใดของโลก เป็นต้น ล้วนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยในปี 2552 อาจจะเป็นไปดังต่อไปนี้
ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะให้ความสำคัญต่อการเก็บออมเงินเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่มั่นใจในรายได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย หรือประหยัดและใช้จ่ายน้อยลง โดยเฉพาะการพยายามลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดค่าไฟ การลดงานสังสรรค์หรือการหาความบันเทิงนอกบ้าน การลดหรืองดซื้อเสื้อผ้าใหม่ การเปลี่ยนไปใช้สินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาถูกลง รวมถึงการเลื่อนซื้อสินค้าใหม่ๆเข้าบ้านแทนของเก่า เป็นต้น ทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยอาจจะได้รับความผลกระทบที่ชัดเจนกว่าสินค้าที่จำเป็นอย่างกลุ่มอาหาร หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน
ผู้บริโภคจะคำนึงถึงความคุ้มค่าในการซื้อสินค้าอย่างชัดเจนมากขึ้น จากปัญหาการว่างงานและการปรับลดเวลาทำงานในภาคการผลิต ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะทำให้อำนาจการบริโภคของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มหดตัวลงจากปีก่อน จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคจะหันมาเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาภายใต้ความต้องการที่มีมากกว่า 1 อย่างจากผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้นเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะของความต้องการสินค้าราคาถูกและคุณภาพดี โดยสินค้าที่ราคาถูกกว่าอาจจะไม่สามารถทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้ทันทีหากไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านคุณภาพสินค้า หรืออาจจะต้องการสินค้าทั้งที่หน้าตาดีและมีรสชาติเยี่ยม สินค้าสวยมีดีไซน์แต่ต้องมีประสิทธิภาพด้วย หรือถ้าเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นแล้วก็ต้องมีคุณสมบัติคงทนควบคู่ด้วย เป็นต้น จึงนับเป็นงานท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับทั้งผู้ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกที่ต้องพยายามแสวงหาสินค้าที่เป็นที่ต้องการของลูกค้ามาวางจำหน่ายเพื่อนำเสนอและกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อให้ได้ โดยมีความเป็นไปได้ว่ามหกรรมลดราคาหรือการนำเสนอขายสินค้าราคาถูกจะมีผลให้มีการตัดสินใจซื้อค่อนข้างสูงมากในยุคเศรษฐกิจขาลงเช่นปัจจุบัน ตามมาด้วยกิจกรรมชิงโชคแจกรางวัล และการโฆษณา/จัดกิจกรรม ณ จุดขาย
แหล่งช้อปราคาถูกกว่าจะได้รับความสนใจค่อนข้างสูง หากแบ่งสินค้าเป็น 2 ประเภทคือ สินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสินค้าอื่นนอกเหนือจากสินค้าที่จำเป็นทั้งในส่วนของสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องประดับตกแต่งกาย และอุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสาร เป็นต้น พบว่า ในส่วนของสินค้าจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้งของสถานที่และความสะดวกสบายในการเดินทาง ควบคู่กับความคุ้มค่าของราคาสินค้าที่วางจำหน่าย เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจด้านรายได้ในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคจึงต้องพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ด้วยการเลือกซื้อหรือใช้บริการร้านค้าใกล้บ้านมากขึ้น และซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแม้จะต้องซื้อถี่ขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังต้องการจับจ่ายในร้านค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างครบถ้วน ทั้งในส่วนของความหลากหลายของชนิดสินค้า และรูปแบบสินค้า ขณะที่พฤติกรรมการจับจ่ายกลุ่มสินค้าแฟชั่นก็เปลี่ยนไปโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงมา ด้วยการหันไปซื้อเสื้อผ้าแฟชั่น รวมถึงกระเป๋า และเครื่องประดับตกแต่งกายตามตลาดนัดในย่านต่างๆที่นับวันจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นตามลำดับแทนการซื้อสินค้าแบรนด์เนมจากห้างสรรพสินค้า กล่าวคือปัจจัยราคาจะมีอิทธิพลค่อนข้างสูงสำหรับการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นปัจจุบัน
ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับกลยุทธ์…เพื่อเชื่อมให้ถึงและดึงลูกค้าให้มั่น
แม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในปี 2552 จะไม่ดีนัก แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าภาวะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกในปี 2552 จะยังคงมีองศาความรุนแรงเดือดต่อเนื่องจากปี 2551 เพื่อช่วงชิงหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ โดยคาดว่าผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่หลายรายจะยังคงมีการใช้งบประมาณในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหรือการลงทุนขยายสาขาอย่างต่อเนื่องตามแผนเดิมในปี 2551 เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น และขยายช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ขณะที่โครงการใหม่ๆอาจเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยจะมีการชะลอแผนการลงทุนไปก่อนเพราะไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่มีสาขาเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่ขายในหัวเมืองหลักๆอยู่แล้ว ก็อาจจะมีความได้เปรียบเหนือกว่าผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังมีจำนวนสาขาไม่มากนัก ทำให้สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกจึงมีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อผู้บริโภคในภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้
ดังนั้นแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในปี 2552 จึงน่าจะเป็นไปในลักษณะดังต่อไปนี้
เน้นสร้างสรรค์ประสบการณ์แก่ลูกค้า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกจำเป็นต้องหาหนทางที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งโดยการสร้างมูลค่าของแบรนด์ และสร้างประโยชน์สูงสุดจากการเข้ามาในร้านของบรรดาลูกค้าให้มีประสบการณ์ที่ดี ทั้งรูปแบบการตกแต่งของกิจการร้านค้า การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ การอำนวยความสะดวกในการหาสินค้า ระบบการชำระเงินที่รวดเร็ว รวมถึงการบริการหลังการขาย เป็นต้น
เน้นศึกษาลักษณะและพฤติกรรมของตลาด และเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งที่เป็นฐานกลุ่มลูกค้าเดิม กลุ่มที่เกือบหรือกำลังจะมาเป็นลูกค้า กลุ่มที่เคยเป็นลูกค้าเก่าแต่หายไป รวมถึงกลุ่มที่มีแนวโน้มมาซื้อ/ใช้บริการ เพราะหากสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน โอกาสที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายในการสร้างรายได้เหนือคู่แข่งก็มีความเป็นไปได้สูง
การค้นหาลูกค้าตัวจริงของธุรกิจ ด้วยการสำรวจว่าลูกค้าของกิจการคือใครหรือกลุ่มไหน ลูกค้ามาจากไหนเป็นขาประจำหรือขาจร อาศัยใกล้ไกลจากร้านในรัศมีเท่าไร หรือการที่ลูกค้าหดตัวลดน้อยลงนั้นก็ควรจะต้องทราบด้วยว่าลูกค้าไปใช้บริการที่ไหน ขณะเดียวกันก็ต้องประเมินความพึงพอใจของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องด้วยเพื่อรับรู้ถึงปัญหา อันจะนำไปสู่แนวคิดในการปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนที่ลูกค้าจะหันไปใช้สินค้าหรือบริการจากร้านค้าคู่แข่ง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า กิจการที่รู้จักลูกค้าได้ดีที่สุดจะอยู่รอดได้ในปัจจุบัน แต่หากไม่มีข้อมูลหรือมีน้อยมากก็จะเหนื่อยกว่าคู่แข่งในที่สุด
เน้นกลยุทธ์หวังผลแบบทันทีทันใดรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันก็ได้กระแสเงินสดกลับมาโดยเร็ว จึงเป็นไปได้ว่ากลยุทธ์การลดราคาสินค้า ณ จุดขาย (โดยอาจจะเป็นไปในลักษณะของการลดราคาสินค้าลงแต่ยังคงจำหน่ายในปริมาณเท่าเดิม หรือการจำหน่ายในราคาเดิมแต่เพิ่มปริมาณมากขึ้น ) การขายสินค้าแบบเป็นแพกเก็จหรือการขายพ่วงกับสินค้าชนิดอื่น การซื้อ 1 แถม 1 รวมถึงการจัดกิจกรรมการตลาด ณ จุดขายแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยความถี่ในการจัดงานที่มากขึ้น พรีเซ็นเตอร์ที่น่าสนใจ ของกำนัลที่เร้าใจ และเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆเพิ่มมากขึ้น น่าจะเป็นกลยุทธ์หลักที่ผู้ประกอบการค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าร่วมกันนำมาใช้กันมากขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่การสะสมแสตมป์ หรือสะสมแต้ม อาจจะใช้ไม่ได้ผลนัก เพราะลูกค้าน่าจะชอบเห็นการลดแบบเห็นผลทันทีมากกว่า
การปรับลดต้นทุน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินกิจการที่ต้องให้ได้กำไรเพิ่มมากขึ้นหรือขาดทุนให้น้อยที่สุด ด้วยการพยายามปรับลดต้นทุนการดำเนินการให้ได้มากที่สุด ทั้งการผนึกรวมหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจให้ทำงานร่วมกัน การผลิตหรือเจรจาจัดซื้อสินค้าโดยคุมเรื่องต้นทุนให้ต่ำที่สุด การใช้ประโยชน์จากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในการสร้างตลาดของผู้ซื้อ รวมถึงการตัดสินใจปรับรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสม และเน้นหรือหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักของกิจการมากขึ้น
การบริหารความเสี่ยง เป็นไปได้ว่าการบริหารความเสี่ยงจะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีกนับจากนี้ เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยความเสี่ยงที่บริษัทจะหันมาให้ความสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ความผันผวนของค่าเงิน ความรับผิดชอบต่อสังคมที่อาจจะถูกต่อต้านจากกลุ่มชุมชนในท้องถิ่นในกรณีการขยายสาขาของกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยผู้ค้าปลีกที่เคยพึ่งพาซัพพลายเออร์เพียงรายเดียว ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดไปเป็นการพึ่งแหล่งวัตถุดิบให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยง
เน้นร้านค้าปลีกขนาดเล็กลง เพราะหาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีผลบังคับใช้ ก็อาจจะส่งผลให้การขยายสาขาขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น และการที่ผู้บริโภคแบ่งเป็นหลายประเภท ทำให้การหันมาเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม(Niche Market) จึงน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์นั้นในปี 2552 นั้นนอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็ก และขนาดกลางในการพัฒนากิจการเพื่อให้มีความทันสมัย ความแปลกใหม่ และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยเป็นการเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าต่างๆเช่าดำเนินการ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ขนาดกลาง-เล็กที่ยังมีกำลังซื้อในย่านชุมชนแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ๆอีกหลายรายก็มีแนวโน้มจะเปิดเกมรุกในรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน เพราะมีต้นทุนการลงทุนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับรูปแบบศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า อีกทั้งยังสามารถที่จะสนองตอบพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาศัยตามย่านชานเมืองที่นิยมจะหันมาจับจ่ายซื้อสินค้าใกล้บ้านมากขึ้นได้ด้วย
การปรับปรุงตกแต่งสถานที่ ร้านค้าขนาดเล็กที่จะอยู่ได้ในอนาคตนั้นนอกจากทำเลดี ใกล้แหล่งชุมชนและมีความสะดวกในการติดต่อและหาง่ายแล้ว ต้องมีการปรับปรุงร้านให้มีความโดดเด่นหรือดูน่าสนใจอยู่เสมอภายใต้การออกแบบที่สอดคล้องกับสินค้าที่วางจำหน่ายเพื่อเพิ่มความชัดเจนในการรับรู้ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ด้วยสินค้าใหม่ๆและสินค้าเดิมๆที่ได้รับตอบรับที่ดีจากลูกค้า นอกจากนี้ ควรต้องมีการจัดตกแต่งร้านให้มีความสะอาด และใช้พื้นที่ในการวางชั้นวางสินค้าที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า อันจะเป็นการสร้างเสน่ห์หรือเป็นภาพลักษณ์ที่ก่อให้เกิดจดจำได้ง่ายยิ่งขึ้น
บทสรุป
ธุรกิจค้าปลีก นับเป็นหนึ่งในภาคบริการ(Secvice sector) ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศในสัดส่วนประมาณร้อยละ 12-15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นอกจากนี้ ยังเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันและการลงทุนของต่างชาติสูงมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกขยายตลาดไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จากการที่ แนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในปี 2552 น่าจะเป็นไปอย่างระมัดระวังไม่แตกต่างจากปี 2551 เพราะผู้บริโภคยังมีความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต โดยมีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์การเลิกจ้างงานอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2552 ด้วย ทำให้ผู้บริโภคอาจจะซื้อหรือใช้บริการร้านค้าใกล้บ้านมากขึ้น และซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแม้จะต้องซื้อถี่ขึ้นก็ตาม รวมถึงคำนึงถึงความคุ้มค่าที่สุดจากเม็ดเงินที่จ่ายไป หรือมีการเปรียบเทียบราคาของห้างร้านผ่านสื่อต่างๆมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าแม้โดยภาพรวมแล้วธุรกิจค้าปลีกอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น เพราะประชาชนยังจำเป็นต้องจับจ่ายใช้สอยในส่วนของสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคค้าปลีกค้าส่งในปี 2552 อาจจะยังสามารถขยายตัวได้ ด้วยการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0-0.3 แต่ก็นับเป็นระดับอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากระดับร้อยละ 1.91 ในปี 2551 อีกทั้งยังนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ด้วย