โนวาร์ตีสร่วมกับจีทีเอช จัดกิจกรรม Unforgettable Talk ให้ความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์

โนวาร์ตีสร่วมกับจีทีเอช จัดกิจกรรม Unforgettable Talk เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว ให้ผู้สูงอายุและบุตรหลาน ร่วมฟังความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ พร้อม ชมภาพยนตร์เรื่อง “ความจำสั้น…แต่รักฉันยาว” โดยเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ มาร่วมพูดคุยให้ความรู้ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์

เภสัชกรหญิงศิริลักษณ์ สุธีกุล ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้วิจัยและผลิตเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาท กล่าวว่า โรค อัลไซเมอร์ ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความเข้าใจของเรายังไม่มากพอ ทั้งๆ ที่เป็น โรคที่ผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก และบางครั้งคนรอบข้างก็จะไม่รู้ว่าควรจะปฎิบัติตัวกับผู้ป่วยอย่างไร และคำถามส่วนใหญ่ก็คือ เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้สมองของเราเสื่อมได้อย่างไรด้วยปัญหาเหล่านี้ เราจึงควรจะศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ โนวาร์ตีสจึงได้ร่วมกับ จีทีเอช จัดกิจกรรม Unforgettable Talk ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว โดยเชิญผู้สูงอายุพร้อมกับบุตรหลาน จำนวน 100 คู่ เข้าร่วมกิจกรรมฟรี ซึ่งภายในงานจะมีการตรวจสุขภาพ เช็คความจำให้กับผู้สูงอายุ กิจกรรมการสัมมนาวิชาการเรื่อง “โรคอัลไซเมอร์ โรคหลงลืมที่ถูกลืม” ซึ่งทางจีทีเอชและโนวาร์ตีสได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาโรค อัลไซเมอร์ โดยมี พญ.โสฬสินี เหมรุ่งโรจน์ และนพ.ไพโรจน์ บุญคงชื่น มาร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และผลกระทบต่อผู้ดูแลและคนรอบข้าง

นอกจากนี้ ยังมีการฉายวีทีอาร์ “ความจำสั้น…แต่รักฉันยาว” ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักของคนสองคู่ สองวัย พร้อมทั้งร่วมพูดคุยนักแสดงคู่สูงวัยในเรื่อง คือ คุณกฤษณ์ เศรษฐธำรง และ คุณศันสนีย์ วัฒนานุกูล ก่อนเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีดีเจอ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล จากคลื่น กรีนเวฟ FM 106.5 เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดงาน

ด้านแพทย์หญิง โสฬสินี เหมรุ่งโรจน์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึง สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ และการใช้ภาษา อาการหลงลืมจากโรคอัลไซเมอร์ จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากการที่ไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดได้และในที่สุดก็ไม่สามารถจดจำบุคคลใกล้ชิดได้ ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำ และการทำงานของสมองในด้านอื่น ๆ อีก เช่น สูญเสียความรอบรู้ การใช้ภาษา การคิดคำนวณ ความสามารถในการใช้มือทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรม และอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ เช่น หงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา หรือเฉยเมย เป็นต้น โดยในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

นายแพทย์ ไพโรจน์ บุญคงชื่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรม ด้านประสาทวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “สำหรับการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ จะดูจากประวัติการลืมและความผิดปกติอื่น ๆ ตามทีกล่าวมา ถ้าอาการเป็นชัดเจนก็จะให้การวินิจฉัยได้เลย แต่ถ้าเป็นอาการแรกเริ่ม อาจต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยไปสักระยะหนึ่งก่อน ร่วมกับการตรวจเอ็กซเรย์พิเศษที่ดูการใช้ออกซิเจนและการใช้พลังงานของสมอง ซึ่งหากตรวจพบว่าเป็น โรคอัลไซเมอร์ จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถให้ยาช่วย เพื่อชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง ให้สามารถดูแลตนเอง และทำกิจวัตร ประจำวัน ต่างๆ ได้นานขึ้น แต่ ไม่สามารถให้กลับมาจำได้ดีเท่าเดิม ดังนั้น หากสงสัยว่าผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการดังกล่าว ควรพามาพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งทดสอบสมรรถภาพสมอง หรือตรวจคอมพิวเตอร์สมอง เพื่อหาหนทางรักษาที่ถูกต้อง โดยอาจพิจารณาให้ยาชะลออาการความจำเสื่อม ซึ่งในบางรายที่มีอาการทางพฤติกรรมรุนแรง อาจจำเป็นต้องมีจิตแพทย์ช่วยในการรักษาด้วย”