อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันภัย เผยปี 51 ดำเนินธุรกิจได้ตามแผนปี 52 สะสมความพร้อมเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านงานบริการและระบบการบริหารภายใน อาศัยโอกาสเศรษฐกิจขาลง มุ่งรักษาฐานลูกค้าเดิม เน้นความมั่นคงทางการเงิน เพื่อรองรับนโยบายของ คปภ. ที่คุมเข้มมาตรฐานบริษัทประกัน
นายปกิต เอี่ยมโอภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัย จำกัด เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันภัยไทยในปี 2551 มีอัตราการเติบโตของตลาดรวมประมาณ 5% และยังคงความรุนแรงด้านการแข่งขันอย่างต่อเนื่องเพราะตลาดรวมเติบโตช้า ส่งผลให้หลายบริษัท ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอยู่เสมอ อาทิ ประกันภัยรถยนต์ประเภทใหม่ๆ ซึ่งกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ในขณะที่ประกันภัยในส่วนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) เริ่มลดน้อยลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าจะเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นนับจากปีนี้เป็นต้นไป
“ภาพรวมของ อลิอันซ์ ซี.พี ประกันภัย ในปีที่ผ่านมา นับว่ามีเบี้ยประกันภัยรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มียอดสูงกว่า 2,100 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 9% เมื่อเทียบกับปี 2550 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ กล่าวคือ การดำเนินการเพื่อสร้างความสมดุลย์ด้านกลุ่มลูกค้าระหว่างกลุ่มประกันภัยรถยนต์ประเภทที่1 และประเภทอื่นๆ การเติบโตของยอดขายในต่างจังหวัดเมื่อเปรียบเทียบกับในกรุงเทพฯ การพัฒนารูปแบบการขายและการสร้างพันธมิตรธุรกิจ และการเพิ่มสัดส่วนอย่างสำคัญของกลุ่มลูกค้ารายย่อยเมื่อเทียบกับธุรกิจโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่” นายปกิต เอี่ยมโอภาส กล่าว
ทั้งนี้ ด้านการขยายฐานลูกค้าของ อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันภัย นั้น พบว่า ณ สิ้นปี 2551 มีกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากกว่า 40% ซึ่งเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมาที่มีไม่ถึง 10% ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ “ ในปี 2552 จะเป็นปีที่บริษัทประกันภัยจะต้องเผชิญกับปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ลูกค้าจะระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายซึ่งน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยจะเห็นจากการเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ ณ ปัจจุบัน พบว่า ลูกค้าหันมาใช้บริการประกันภัยในประเภท 3 บวก และประเภท 2 มากขึ้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งบริษัทประกันภัยต่างๆ มีหน้าที่ต้องผลิตคิดค้นสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ถูกใจและเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้นบริษัทใดสามารถทำเรื่องดังกล่าวได้เก่งกว่า ก็จะมีโอกาสมากกว่าในการรักษาฐานลูกค้าและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ในส่วนของการประกันภัยโครงการขนาดใหญ่ซึ่งได้เหือดหายไปกว่า 2 ปี แต่ภายใต้รัฐบาลใหม่ ที่มีการใช้นโยบายการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม
ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยในส่วนของโครงการมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของธุรกิจประกันภัยไทยคือการที่ คปภ. ได้เริ่มออกกฎระเบียบและมาตรการใหม่ๆ เพื่อยกมาตรฐานธุรกิจประกันภัยในประเทศ ซึ่งได้เริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่น ระบบการจ่ายเบี้ยก่อนการคุ้มครอง (Cash Before Cover หรือ CBC) สำหรับการประกันภัยรถยนต์ และการเตรียมความพร้อมในการกำหนดความเพียงพอของทุนโดยดูจากระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital หรือ RBC) ซึ่งคาดว่าจะนำมาบังคับใช้ในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ การที่ คปภ. เริ่มดำเนินการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถือเป็นจุดเปลี่ยนของโครงสร้างธุรกิจประกันวินาศภัยของไทย และถือเป็นกลไกในการชี้ชะตาบริษัทประกันภัยในเมืองไทย เพราะหากบริษัทใดมีความมั่นคงในปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านการเงิน การบริหารงานภายใน และการบริหารความเสี่ยง ก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ในธุรกิจได้ในระยะยาว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัย จำกัด กล่าวแสดงความเห็น
ในส่วนของบริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัย นายปกิตกล่าวย้ำว่า “หัวใจในการบริหารบริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ในปีนี้คือการบริหารต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ โดยใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เน้นทุ่มเททรัพยากรของบริษัทฯ ในการพัฒนาระบบการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการด้านสินไหมทดแทน ซึ่งจะมีการนำระบบ Call Center ที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาทดแทนระบบเดิม โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบนี้ได้ในต้นไตรมาสที่ 2 นอกจากนั้น บริษัทฯ จะอาศัยช่วงเศรษฐกิจขาลงที่ตลาดมีการเติบโตช้า กลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงระบบบริหารภายใน ระบบบริหารความเสี่ยงให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และสร้างความพร้อมเพื่อให้บริษัทฯ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบใหม่ต่างๆ ได้อย่างดีในอนาคต