ธุรกิจประกันชีวิตปี 2552 : โอกาสทองของบริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคง

ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะประสบภาวะถดถอยในปีนี้ประมาณร้อยละ 3.5-6.0 ทำให้ทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จึงมีการปรับลดลงเป็นลำดับ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และประจำปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.5 และ 0.65-1.25 จากเดิม 0.75 และ 1.25-2.5 ตามลำดับ ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจประกันชีวิต ที่ยังคงกำหนดอัตราผลตอบแทนไว้คงเดิมประมาณร้อยละ 4-5 โดยคาดว่าอาจจะทำให้ผู้ออมกลุ่มหนึ่ง หันมาซื้อประกันชีวิตแทนการฝากเงิน

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสถานะและความมั่นคงของสถาบันการเงินระดับโลกหลากหลายแห่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าว นอกจากจะนำมาสู่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ตามมาด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ก็ยังมีผลกระทบมายังธุรกิจการเงิน รวมถึงธุรกิจประกันในไทยด้วย โดยเฉพาะในแง่ของความเชื่อมั่น และอำนาจซื้อของประชาชนที่ลดลง

กระนั้นก็ดี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้ซื้อประกันดังกล่าว คาดว่า บริษัทประกันชีวิตในไทยที่มีความมั่นคงทางการเงินยังน่าจะมีโอกาสในการขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการมีธนาคารพาณิชย์หนุนหลัง หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าร่วมกัน เช่น แบงก์แอสชัวรันส์ เป็นต้น แม้ว่าในปี 2552 เป็นปีแรกที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บังคับใช้เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนใหม่ของธุรกิจประกันชีวิต โดยกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องดำรงเงินกองทุนอย่างน้อยร้อยละ 150 ของเงินกองทุนขั้นต่ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจของบริษัทประกันรายกลางและเล็กที่มีฐานทุนไม่สูงพอ ทำให้ต้องจำกัดการขยายตัวเพื่อไม่ให้กระทบต่อสภาพคล่องและเงินกองทุน

จากภาวะแวดล้อมหลักดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตในปี 2552 น่าจะขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 6-8 เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากร้อยละ 10.6 ในปี 2551 โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมประมาณ 236,800-241,000 ล้านบาท

การเติบโตของธุรกิจใหม่ในปี 2552 : กระเตื้องขึ้นสวนทางภาพรวมเศรษฐกิจ
ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตทั้งระบบในปี 2551 เมื่อวัดจากเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมที่มีอยู่ 223,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.6 แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่า เป็นการเพิ่มขึ้นจากการชำระค่าเบี้ยประกันต่อเนื่องของกรมธรรม์เดิมเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากจำนวนเบี้ยประกันภัยปีต่อไปที่มีอยู่ 155,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.5 ขณะที่เบี้ยประกันภัยปีแรก ซึ่งมาจากธุรกิจใหม่ล้วน ๆ กลับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.11 ด้วยจำนวน 43,809 ล้านบาท ส่วนเบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว ยังคงขยายตัวดีถึงร้อยละ 37.8 โดยมีจำนวนเบี้ยประกันรับตรงรวม 24,018 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการทำประกันสินเชื่อตามเงื่อนไขการขอกู้ยืมเงินกับธนาคารพาณิชย์ เช่น กู้ซื้อที่อยู่อาศัย กู้ซื้อรถ เป็นต้น

ผลการดำเนินงานในปี 2551 ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจในช่วง 2-3 ไตรมาสแรก ก่อนที่จะซบเซาลงในไตรมาสสุดท้ายของปี ตามปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสถาบันการเงินโลก ที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อ ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้ทำประกันและผู้ถือครองกรมธรรม์ในไทย

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจในระบบการกำกับดูแลธุรกิจประกันชีวิตของ คปภ. รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลความน่าเชื่อถือด้านฐานะการเงินของบริษัทประกันชีวิตในไทย น่าจะมีส่วนช่วยเรียกความเชื่อมั่นของผู้ทำประกันกลับคืนมา ประกอบกับในปี 2552 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง และการขยายฐานผู้ทำประกันผ่านช่องทางการขายธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มรุกหนักมากขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ว่าจะเป็นอัตราเพิ่มที่ช้าลงมาที่ประมาณร้อยละ 6-8 อันเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจไทยเองที่คาดว่าจะถดถอยค่อนข้างมากโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยภาพรวมธุรกิจประกันในปี 2552 สามารถสรุปได้ดังนี้

1. เบี้ยประกันภัยรับปีแรก : คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4-6 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นจากการชะลอการซื้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีก่อน ทำให้ตัวเลขธุรกิจใหม่ในช่วง 2 เดือนแรก ของปี 2552 ขยายตัวถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากทำให้ธุรกิจประกันมีโอกาสชูผลตอบแทนที่สูงกว่าเป็นจุดขายได้ รวมถึงจากการรุกตลาดประกัน โดยเฉพาะผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ ที่ลูกค้าเริ่มมีความคุ้นเคยและเชื่อมั่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับที่ขายผ่านช่องทางดังกล่าวจะยังคงขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นด้านมาตรการภาษีสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตรายใหม่ ที่ถูกลดขอบเขตลงโดยให้นำเบี้ยประกันชีวิตหลัก และอนุสัญญาเฉพาะส่วนที่เป็นการคุ้มครองชีวิต (ไม่รวมการซื้อความคุ้มครองของสัญญาเพิ่มเติม เช่น อุบัติเหตุ สุขภาพ) มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลกระทบจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะมีจำกัด เนื่องจากจำนวนเงินเบี้ยประกันสำหรับซื้ออนุสัญญาของกรมธรรม์ใหม่คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 13.8 ของเบี้ยประกันภัยรับปีแรก และร้อยละ 2.7 ของเบี้ยประกันรับตรงรวมเท่านั้น

2. เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงเป็นประมาณร้อยละ 7-9 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ในปี 2551 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่การเลิกจ้างงานจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบต่อทั้งความสามารถในการชำระเบี้ยประกันปีต่อไปของบุคคลธรรมดา รวมไปถึงการยกเลิกกรมธรรม์ประกันกลุ่มและอุตสาหกรรมของนายจ้างบางรายที่เลิกกิจการ ปรับลดสวัสดิการ หรือปรับลดจำนวนแรงงาน เป็นต้น ส่งผลตามมาให้อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์มีโอกาสปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากในปี 2551

ทั้งนี้ ในปี 2551 ที่ผ่านมา อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ได้ลดต่ำลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตสถาบันการเงินโลก ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพด้านรายได้ของผู้ถือกรรมธรรม์ จนนำไปสู่การขอเวนคืนกรมธรรม์สูงกว่าช่วงเวลาปกติ

3. เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-2 เนื่องจากบริษัทประกันรายใหญ่บางแห่งอาจหันมาทำตลาดประกันชีวิตประเภทจ่ายเบี้ยครั้งเดียว เพื่อสร้างส่วนแบ่งตลาดเบี้ยประกันให้เพิ่มขึ้นในระยะสั้น แม้ในทางคณิตศาสตร์ประกันภัยพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะเป็นภาระต่อบริษัทมากในอนาคตก็ตาม อย่างไรก็ดี จากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของปีก่อน ประกอบกับเบี้ยประกันประเภทนี้อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการทำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์ มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามทิศทางสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ จึงทำให้เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียวโดยรวมอาจจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีนี้

2552 : ยังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสำหรับธุรกิจประกันที่มั่นคง
แม้ว่าการขยายธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ธุรกิจประกันชีวิตยังมีโอกาสในการขยายตลาดอีกมาก เนื่องจากสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Insurance Penetration Rate) ในปี 2551 ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงประมาณร้อยละ 2.45 ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่เกินกว่าร้อยละ 5-10 นอกจากนี้ จำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับต่อประชากรในไทย ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 25 เทียบกับสิงคโปร์ที่ร้อยละ 215 และมาเลเซียร้อยละ 40

ขณะที่ภาครัฐยังมีนโยบายส่งเสริมการประกันชีวิตทั้งที่ผ่านมาตรการภาษี การเสริมสร้างมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจให้มั่นคง และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตลาดของธุรกิจประกันชีวิตให้กว้างขวางขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจประกันชีวิตจะยังมีอัตราเติบโตเป็นบวกได้ ภายใต้ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ ดังนี้

1. บริษัทจะต้องมีฐานะการเงินมั่นคง และมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้มแข็ง ก็จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือกรมธรรม์ได้ ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยด้านความน่าเชื่อถือดังกล่าว ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้บริษัทประกันขนาดใหญ่หลายแห่ง สามารถรักษาอัตราการเติบโตและส่วนแบ่งทางธุรกิจได้อย่างมั่นคงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

2. บริษัทจะต้องมีเงินกองทุนที่สูงพอเพียงสำหรับการขยายธุรกิจ เนื่องจาก คปภ. เพิ่มความเข้มงวดของเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจประกันชีวิต โดยกำหนดให้ต้องดำรงเงินกองทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 150 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 และหากระดับเงินกองทุนต่ำกว่า 110 จะไม่สามารถเปิดสาขาเพิ่ม รวมถึงห้ามออกกรมธรรม์ใหม่ และหากต่ำกว่า 100 จะต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการกำหนดอัตราเงินกองทุนไว้สูงเช่นนี้ ทำให้บริษัทประกันบางแห่ง ไม่กล้าขยายตลาดเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งอาจกระทบต่อสภาพคล่องและเงินกองทุนของบริษัทให้ลดต่ำลงได้ เนื่องจากโอกาสทำกำไรในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวนั้นค่อนข้างยาก ไม่ว่าจะเป็นกำไรจากการรับประกันภัย หรือกำไรจากการบริหารเงินลงทุน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนที่สูงพอเพียง ในอันที่จะเติบโตในอัตราเร่งและชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้

3. บริษัทจะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มได้ รวมถึงต้องเร่งพัฒนาช่องทางการขายที่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้ารายใหม่ รวมถึงลูกค้าที่มีศักยภาพทางการเงินสูง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่ายตัวแทนที่เข้มแข็ง และมีภาพลักษณ์เป็นที่ไว้วางใจได้ของลูกค้า รวมทั้งการร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อขยายจุดบริการที่เข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง

บทสรุป
ธุรกิจประกันชีวิตในไทย ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยสามารถสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นในการทำประกันเพื่อลดความเสี่ยงในชีวิต และได้รับประโยชน์จากการออมเงิน ที่ให้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 1 แสนบาท แม้ว่าจะมีการลดขอบเขตการหักลดหย่อนสำหรับกรมธรรม์ที่ทำใหม่ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ให้สามารถนำเฉพาะเบี้ยประกันชีวิตหลักและอนุสัญญาที่เกี่ยวกับความคุ้มครองชีวิต (ไม่รวมการซื้ออนุสัญญาความคุ้มครองอุบัติเหตุ/สุขภาพเพิ่มเติม) มาหักลดหย่อนได้เท่านั้น แต่ผลกระทบจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะมีจำกัด เนื่องจากจำนวนเงินเบี้ยประกันสำหรับซื้ออนุสัญญาของกรมธรรม์ใหม่คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 2.7 ของเบี้ยประกันรับตรงรวมเท่านั้น

ในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นปัญหาที่มีผลโดยตรงมากกว่า โดยอาจทำให้อำนาจซื้อประกันของประชาชนลดลง สั่นคลอนความเชื่อมั่นการทำประกันใหม่ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรักษากรมธรรม์ของทั้งบุคคลธรรมดาและประกันกลุ่ม/อุตสาหกรรมของนายจ้าง แต่เนื่องจากโอกาสการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตยังเปิดกว้างอยู่มาก โดยสัดส่วนการซื้อประกันชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับระดับจีดีพีของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ ประกอบกับการรุกตลาดประกันผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพธุรกิจโดยรวมในปี 2552 ยังคงขยายตัวได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่อาจจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง โดยการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้จะขึ้นอยู่กับการรักษากรมธรรม์เดิม และการรุกขยายธุรกิจใหม่ควบคู่กัน

นอกจากนี้ การกำกับดูแลธุรกิจประกันชีวิตไทยของ คปภ. น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวได้ โดยเมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นมีความพร้อมมากขึ้น ธุรกิจประกันชีวิตจะมีโอกาสกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งได้อีก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงระดับความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น การศึกษาที่สูงขึ้น ประกอบกับการรณรงค์จากทางการให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการออมเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตยามชรา