ผลเลือกตั้งอินเดีย ’09……ขยายโอกาสการส่งออกและการลงทุนของไทย

หลังอินเดียประกาศผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) ครั้งที่ 15 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 ปรากฏว่า พันธมิตรแนวร่วมก้าวหน้า (UPA) นำโดยพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส (INC) หรือพรรคคองเกรสของนายมันโมฮาน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มีคะแนนนำเหนือพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) ภายใต้การนำของพรรคภารติยะ ชนะตะ(BJP) แกนนำฝ่ายค้านอย่างขาดลอย โดยพรรคคองเกรสและพันธมิตรซึ่งมีคะแนนเสียงรวมกัน 260 คะแนน ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากกลุ่มแนวร่วมอื่นอีกเพียงเล็กน้อยเพื่อให้มีคะแนนเกิน 272 จากทั้งหมด 543 ที่นั่งในสภาในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งนี้การเลือกตั้งโลกสภาที่มีขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกและส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียประสบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับเป็นประเด็นท้าทายสำคัญที่อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำพาเศรษฐกิจอินเดียมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและจีน ให้มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 8 ต่อปีเพื่อที่จะลดปัญหาความยากจนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่นั่งในรัฐสภาของพรรคคองเกรสที่เพิ่มขึ้นถึง 60 ที่นั่ง สวนทางกับพรรคคอมมิวนิสต์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีแนวทางต่อต้านการลงทุนของต่างชาติที่มีคะแนนเสียงลดลงจาก 43 เหลือ 16 ที่นั่ง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อ เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการผ่านกฎหมายถือครองทรัพย์สินของต่างชาติและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคการลงทุนของต่างชาติในอินเดียมาโดยตลอด ทั้งนี้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอินเดียชุดใหม่ ย่อมจะเป็นที่จับตามองของหลายประเทศทั่วโลกที่หวังว่า อินเดียจะเป็นตลาดสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกให้บรรเทาจากภาวะตลาดต่างประเทศซบเซาเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกไปได้รวมทั้งประเทศไทยด้วย

นับตั้งแต่วิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาลามเข้าสู่เอเชียและอินเดีย รัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียหลังตลาดในประเทศซึ่งมีประชากรกว่า 1.1 พันล้านคนและเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงอย่างหนักโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสินเชื่อตึงตัวจากแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศและตลาดหลักทรัพย์ของอินเดียเอง ทั้งนี้ในปี 2550 ตลาดหลักทรัพย์อินเดียเป็นแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของอินเดียถึงร้อยละ 40 ของเงินทุนทั้งหมด ประกอบกับประชาชนอินเดียที่มีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักได้รับผลกระทบจากภาวะสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกร่วงลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้กำลังซื้อของคนชนบทในอินเดียลดลงซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลอินเดียจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งการสร้างการจ้างงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในชนบท การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังขาดแคลนอยู่มากในอินเดีย รวมถึงการลดภาษีในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศอินเดียปรับตัวสูงขึ้น เห็นได้จากยอดขายสินค้าคงทนอย่างโทรทัศน์ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 153 ยอดขายรถยนต์ในเดือนเมษายน 2552 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.5 (yoy) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 (yoy) และหากรัฐบาลชุดใหม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะช่วยให้สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเห็นผลชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

แม้ว่าอินเดียจะพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่แนวโน้มการพึ่งพาตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.2 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 43.3 ในปี 2551 ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกจนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคะแนนเสียงเสียงของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเพียงร้อยละ 5.3 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 16 ปีตามภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น แต่การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอินเดียยังต้องอาศัยปัจจัยกระตุ้นจากมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป แม้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของพรรคคองเกรสด้วยคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อน จะเป็นผลดีต่อการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยดังนี้

? นักลงทุนไทยอาจจะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุนของรัฐบาลอินเดีย เนื่องจากในปี 2552 การลงทุนของอินเดียคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.7 ลดลงจากร้อยละ 12.8 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (Consensus Forecast, May 2009) ดังนั้นทางการอินเดียจึงต้องสร้างแรงจูงใจและผลักดันให้การลงทุนจากต่างประเทศเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลที่กำลังประสบกับปัญหาขาดดุลงบประมาณอย่างหนักในปีนี้ ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีแนวทางต่อต้านการลงทุนของต่างชาติมีคะแนนเสียงลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 46 ที่นั่งเหลือเพียง 16 ที่นั่ง ส่งผลให้การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองทรัพย์สินและสาขาการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติจากปัจจุบันที่การลงทุนในอินเดียยังมีข้อจำกัดอยู่มากสำหรับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะการเพิ่มความเป็นเจ้าของในบริษัทประกันและการลงทุนในกิจการค้าปลีกของนักลงทุนต่างชาติ คาดว่านโยบายของรัฐบาลใหม่อินเดียจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น สาขาการลงทุนในภาคบริการที่เป็นโอกาสของไทยเช่น การก่อสร้าง โรงภาพยนต์ สปา โรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและร้านอาหารไทย รวมถึงห้างค้าปลีกค้าส่ง รวมถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเช่น การแปรรูปอาหาร การผลิตอาหารสัตว์ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์เคมี เป็นต้น

? ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยอาจจะได้ประโยชน์จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของรัฐบาลอินเดียและการเพิ่มกำลังซื้อให้กับคนในชนบท การกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของพรรครัฐบาลเดิมจะมีประโยชน์ในแง่ของการสานต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการไปแล้วซึ่งจะก่อให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายจนสามารถประสบผลสำเร็จได้ นอกจากนี้ หลังจากรัฐบาลอินเดียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับล่าสุดในเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ความเข้มแข็งทางการเมืองของพรรคคองเกรสช่วยให้การกู้เงินเพื่อนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ดำเนินไปได้ง่ายขึ้น หลังจากในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียยังไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่ารัฐบาลใหม่อาจจะกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกราว 362 ล้านล้านรูปีหรือ 72 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดดุลงบประมาณเรื้อรังและพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณ 2551 ที่ผ่านมา(เมษายน 2551 – มีนาคม 2552) ที่มีสัดส่วนร้อยละ 6 ของ GDP และหากกู้เงินเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่อาจจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ของ GDP ซึ่งจะมีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของอินเดียในอนาคต หากรัฐบาลใหม่สามารถแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างหนักควบคู่กับการกระตุ้นตลาดในประเทศ พร้อมกับตลาดส่งออกที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปีนี้ซึ่งจะส่งผลดีต่ออัตราการจ้างงานในประเทศและเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน และจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังสินค้าส่งออกของไทยในตลาดอินเดียที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย

? ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-อินเดียที่คาดว่าจะลงนามราวต้นปี 2553 รวมถึงความคืบหน้าในการเจรจา FTA ไทย-อินเดียรอบ 2 ที่จะขยายขอบเขตการลดภาษีสินค้าจากเดิม 82 รายการเพิ่มขื้นเป็นกว่า 3 พันรายการ โดยหลังจาก FTA ไทย-อินเดีย มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2547 ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอดและในปี 2551 ที่ผ่านมาไทยใช้สิทธิส่งออกสินค้า 82 รายการถึงร้อยละ 96.1 ทั้งนี้เนื่องจากอินเดียจัดเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูงและค่อนข้างซับซ้อน การลดภาษีภายใต้กรอบ FTA ส่งผลให้สินค้าไทยมีภาระต้นทุนทางภาษีต่ำกว่าประเทศคู่แข่งที่ยังไม่มี FTA กับอินเดียโดยเฉพาะคู่แข่งจากประเทศอาเซียนที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราค่อนข้างสูง สินค้าที่ไทยใช้สิทธิมากได้แก่ โทรทัศน์สี เครื่องเพชรพลอยทำด้วยโลหะมีค่า อย่างไรก็ตาม สินค้าเพียง 82 รายการที่ไทยเปิดเสรีกับอินเดียนั้นคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของสินค้าทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ จึงทำให้สินค้าหลายรายการที่ไทยมีความสามารถแข่งขันในตลาดอินเดียสูงยังไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเช่น น้ำผลไม้และผลไม้แปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษ ของเล่นและไฟเบอร์บอร์ด ทั้งนี้การเร่งเจรจาในกรอบทวิภาคีเพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมอีกกว่า 3 พันรายการน่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกไทยเข้าสู่ตลาดอินเดียได้มากขึ้น นอกจากนี้หาก FTA อาเซียน-อินเดียมีผลบังคับใช้ ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์จากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่สามารถใช้วัตถุดิบจากประเทศอาเซียนอื่นในการผลิตสินค้าได้รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมจากกรอบทวิภาคีเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบเป็นต้น

บทสรุป ชัยชนะของพรรคคองเกรสของนายกรัฐมนตรีมันโมฮาน ซิงห์ ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรหรือโลกสภา ของอินเดีย ครั้งที่ 15 ที่ประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 ส่งผลให้รัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียมีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้นเนื่องจากพรรคคองเกรสซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพันธมิตรมีคะแนนเสียงรวมกัน 260 คะแนน ขณะที่พรรคภารติยะ ชนะตะ(บีเจพี) แกนนำฝ่ายค้าน มีคะแนนเพียง 160 คะแนน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียประสบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งเข้าจัดการเพื่อนำพาเศรษฐกิจมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 8 ต่อปีเพื่อขจัดปัญหาความยากจนในประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากตลาดในประเทศชะลอตัวอย่างหนัก การกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของพรรคคองเกรสด้วยคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนน่าจะช่วยเปิดโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในอินเดียโดยเฉพาะในแง่ของการเปิดเสรีสาขาการลงทุนและการผ่อนคลายข้อจำกัดการถือครองทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวโน้มที่รัฐบาลอินเดียจะกู้เงินเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศและการสร้างการจ้างงานให้กับประชาชนโดยเฉพาะในชนบทน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการลงทุนในภาคก่อสร้างและการส่งออกสินค้าของไทย ประกอบกับความคืบหน้าในการเจรจาและลงนามความตกลงฯ FTA ทั้งกรอบไทย-อินเดียและอาเซียน-อินเดียจะช่วยสร้างโอกาสให้กับภาคส่งออกไทยได้มากขึ้นโดยคาดว่า สินค้าส่งออกของไทยที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิด FTA กับอินเดียคือ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก กระดาษ ของเล่น ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น