จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่เผชิญกับยอดขายที่ตกต่ำอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การเงินครั้งรุนแรงที่สุดของสหรัฐฯนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 ซึ่งลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ภาวะดังกล่าวได้บั่นทอนอำนาจซื้อรวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้จ่ายโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูง เช่น รถยนต์ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าในปีนี้ยอดขายรถยนต์โดยรวมทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 46.3 ล้านคันหดตัวลงถึงร้อยละ 11.2 ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ยอดขายหดตัวลงร้อยละ 5.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถยนต์ของสหรัฐฯที่ประสบปัญหาหนักจนทำให้บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน 2 ราย ซึ่งเผชิญกับมรสุมยอดขายที่หดตัวรุนแรงส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกิจการอย่างหนัก จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 ตามกฏหมายสหรัฐฯในที่สุด รวมทั้งมีแผนการปิดโรงงานและตัวแทนจำหน่ายหลายแห่งในสหรัฐฯ ถึงกระนั้นก็ยังมีการยืนยันจากผู้บริหารบริษัทฯที่จะรักษาฐานการผลิตในไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศและศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีความเห็นว่าในอนาคตสถานะการเป็นผู้รับการลงทุนที่น่าสนใจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์จากต่างประเทศของไทยยังมีโอกาสที่จะสั่นคลอนได้โดยเฉพาะในภาวะที่การแข่งขันเพื่อแย่งชิงการลงทุนจากต่างประเทศในภูมิภาคได้เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องมีแนวทางในการเสริมสร้างความน่าดึงดูดและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในการเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคได้ต่อไปในอนาคต
ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก
ในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์โลกต้องเผชิญกับยอดขายที่หดตัวอย่างรุนแรงไปเกือบทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และวิกฤตการเงินซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมหลายประเภททำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆทั้งจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ต่างก็พยายามนำเสนอกลยุทธ์ต่างๆมาจูงใจลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายให้ได้มากที่สุด แม้แต่รัฐบาลในหลายๆประเทศที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นของตนเองต่างก็ออกมาตรการหลายรูปแบบเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศตน เช่น จีนให้เงินสนับสนุนการเปลี่ยนรถเก่า อินเดียลดดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับการซื้อรถใหม่ และการที่สหรัฐฯให้เงินกู้จำนวนมากภายใต้เงื่อนไขแก่ค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่บางรายเพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น อย่างไรก็ตามวิกฤตอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้มีความรุนแรงมากทำให้ทั้งกลยุทธ์และมาตรการต่างๆที่ออกมายังไม่เพียงพอที่จะทำให้ค่ายรถต่างๆรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์โลกซึ่งมีกำลังผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน 2 ราย ซึ่งประสบกับปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ Chapter 11 ภายใต้การควบคุมดูแลของศาลล้มละลาย โดยเจตนารมณ์ของ Chapter 11 คือการเปิดโอกาสให้กิจการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อให้ภายหลังออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้วสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น และสามารถแข่งขันได้กับผู้ประกอบการหรือค่ายรถรายอื่นๆ
ทั้งนี้สำหรับบริษัทรถยนต์ที่ประสบปัญหา การปรับโครงสร้างภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นเป็นแนวทางออกหนึ่งที่มีความเหมาะสมที่จะช่วยฟื้นฟูกิจการเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติได้ใหม่ โดยภายหลังการฟื้นฟูกิจการแล้วมีความเป็นไปได้ที่กิจการจะมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้ขนาดของกิจการอาจเล็กลงกว่าเดิม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้สามารถนำไปสู่การปรับโครงสร้างทั้งระบบของกิจการได้ โดยเฉพาะการปรับลดขนาดของกิจการที่มีขนาดใหญ่เกินควรและไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวอาจจำเป็นต้องแลกกับการสูญเสียสิทธิในการบริหารรถยนต์บางตราสินค้าลงจากเดิม เช่น การขายสายการผลิตรถยนต์ตราสินค้าบางรายการให้กับบริษัทอื่นที่มีเงินทุนและความพร้อมที่จะพัฒนารถยนต์ภายใต้ตราสินค้าดังกล่าวต่อไป เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรักษาเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันสูงในตลาด นอกจากนี้การปรับโครงสร้างเพื่อลดขนาดกิจการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและการตลาดมากขึ้น ยังอาจจะต้องมีการลดจำนวนพนักงาน โรงงาน และดีลเลอร์บางส่วนลงด้วย ซึ่งภายหลังจากการปรับโครงสร้างคาดว่าจะทำให้กิจการกลับมาฟื้นตัว และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น อย่างไรก็ตามอนาคตหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้วขึ้นอยู่กับว่าบริษัทจะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอนาคตทางการตลาดและมีศักยภาพในการแข่งขันได้มากน้อยเพียงใด
ค่ายรถยนต์อเมริกันยังคงให้ความสำคัญต่อฐานการผลิตในไทย
จากสถานการณ์ดังกล่าวสังเกตุได้ว่า แม้บริษัทรถยนต์ต่างๆจะประสบกับปัญหาสภาพคล่องมากบ้างน้อยบ้างตามระดับผลกระทบที่ได้รับจากวิกฤตอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังได้รับการตอบรับที่ดีในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ที่มีศักยภาพให้กับบริษัทรถยนต์จากต่างประเทศ โดยที่ค่ายรถเกือบทั้งหมดยังคงรักษาฐานการผลิตเดิมในไทยไว้ และบางค่ายมีแผนที่จะขยายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นเพิ่มเติมขึ้นด้วยทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและที่วางแผนจะดำเนินการในอนาคต ซึ่งการแสดงเจตจำนงที่จะเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่องดังกล่าว แม้กระทั่งบริษัทรถยนต์ที่บริษัทแม่ประสบปัญหาต้องดำเนินการฟื้นฟูกิจการในสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินที่สุดแล้วนั้น ก็ยังยืนยันที่จะลงทุนและตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์บางประเภทที่สำคัญในระดับโลกด้วยนั้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่สำคัญอย่างหนึ่งว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นทั้งฐานการผลิตและการทำตลาดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของภูมิภาค ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่ออนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่น่าจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค แม้ว่าภาวะวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกครั้งนี้จะฉุดอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เดินถอยหลังไปก้าวใหญ่ และทำให้การไปสู่เป้าหมายตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ระยะที่ 2 ที่ตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 2 ล้านคันภายในปี 2554 ต้องล่าช้าออกไปก็ตาม
แต่ค่ายรถญี่ปุ่นหันไปขยายการลงทุนในจีน อินเดีย และเวียดนามมากขึ้น
จากวิกฤตอุตสาหกรรมยานยนต์ส่งผลให้บริษัทรถยนต์ต่างต้องปรับกลยุทธ์ของตน ซึ่งแนวทางหนึ่งคือการปรับแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและการทำตลาดให้กับสินค้าตนโดยการเลือกฐานการผลิตและการทำตลาดที่เหมาะสมกับกลยุทธ์ต่างๆ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้รับการลงทุนย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยแม้ว่าค่ายรถอเมริกันยังคงเน้นความสำคัญของฐานการผลิตในไทยขณะที่ค่ายญี่ปุ่นก็ยังมีการขยายการลงทุนในไทย ทว่าการขยายการลงทุนในประเทศอื่นๆของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ จีน อินเดีย และเวียดนามเป็นไปในอัตราเร่ง
ทั้งนี้จากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์) ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 พบว่ามีจำนวนโครงการ 56 โครงการ ลดลงจากปีก่อนที่มี 82 โครงการประมาณร้อยละ 37.7 และมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 7,400 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มี 13,400 ล้านบาทประมาณร้อยละ 44.8 และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคจากการวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เล่นรายสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้ (รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนอยู่ในตลาดไทยประมาณร้อยละ 90) พบว่ามีการลงทุนลดลงมากในไทยในปีที่ผ่านมา จากสถิติการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของญี่ปุ่นที่รายงานโดยของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น
จากข้อมูลการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งล่าสุดในปี 2551 จะสังเกตได้ว่าจากที่ไทยเคยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมยานยนต์สูงที่สุดในอาเซียนรวมถึงจีนและอินเดียในปี 2550 แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2551การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในไทยได้ลดลงถึงร้อยละ 38.5 ขณะที่การลงทุนในหลายประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ จีน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6) อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยเฉพาะจีนและอินเดียซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศได้ขยายตัวสูงมากจากการมีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของเอเชีย ทำให้การลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มสูงขึ้นมากใน 2 ประเทศนี้ จนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนของญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าในไทย และอินเดียเริ่มมีจำนวนการลงทุนจากญี่ปุ่นไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ และแม้ขนาดตลาดของ 2 ประเทศนี้จะใหญ่มากจนสามารถรองรับกำลังการผลิตในประเทศได้เกือบทั้งหมด แต่ด้วยพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมประกอบกับความสนใจลงทุนจากต่างประเทศใน 2 ประเทศนี้ ทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างก็มุ่งหน้าเข้ามายังตลาดดังกล่าว ซึ่งปริมาณและคุณภาพรถยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มีโอกาสที่จะถูกนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยด้วยราคาต่ำ โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานซึ่งเป็นทิศทางความต้องการของตลาดในอนาคต เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่าแม้ทั้งจีนและอินเดียจะยังไม่ได้รับประโยชน์ด้านภาษีในการนำเข้ารถยนต์จากข้อตกลงเอฟทีเอกับไทยก็ตาม
นอกจาก 2 ประเทศนี้แล้ว ตัวเลขการลงทุนทางตรงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในเวียดนามก็พบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเช่นเดียวกัน ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ในเวียดนามจะยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นเทียบเคียงกับไทยได้เนื่องจากความไม่พร้อมในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน แต่ปัจจัยค่าจ้างแรงงานราคาต่ำกว่า และแนวโน้มตลาดขนาดใหญ่ในอนาคต เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนทางตรงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์จากประเทศต่างๆที่สำคัญ ประกอบกับเวียดนามมีความพยายามในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของตนให้ดีขึ้น ทำให้แม้ปัจจุบันเวียดนามจะต้องพึ่งการนำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จและกึ่งสำเร็จรูปเข้ามาประกอบในประเทศในสัดส่วนที่สูง แต่ก็มีโอกาสที่พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่สำคัญรายหนึ่งของภูมิภาคได้
ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยไม่มากก็น้อย หากไทยไม่เร่งสร้างความน่าสนใจในการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆในการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในทางกายภาพ ฐานความรู้และบุคลากร รวมถึงการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์โลก บริษัทรถยนต์ต่างชาติซึ่งเป็นผู้ลงทุนย่อมเลือกเป้าหมายที่ตั้งฐานการผลิตที่ได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้รับการลงทุนและอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความน่าดึงดูด เพื่อรักษาการลงทุนจากต่างประเทศให้มีอย่างต่อเนื่องต่อไป
การเสริมจุดแข็งของประเทศ : แนวทางสำคัญที่ควรเร่งทำเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะยังเป็นที่สนใจของบริษัทรถยนต์ต่างชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งหนึ่งของภูมิภาค แต่การกำหนดกลยุทธ์ในการจัดสรรการผลิตระหว่างประเทศของบริษัทข้ามชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านที่สำคัญ เช่น ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ต้นทุนดำเนินการโดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน ความเสี่ยงด้านค่าเงินที่ผันผวน ความมีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ เป็นต้น โดยที่ประเทศไทยนั้นในปัจจุบันมีจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศที่จะเกื้อหนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ดังนี้
– จุดแข็งของประเทศไทยในการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ ศักยภาพในการผลิตรถยนต์ของไทยที่อยู่ในระดับมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะการผลิตรถปิกอัพ 1 ตัน ประกอบกับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดี และความพร้อมและจำนวนที่มากเพียงพอของเครือข่ายอุตสาหกรรมสนับสนุนโดยเฉพาะในส่วนของชิ้นส่วนยานยนต์ระดับต่างๆในไทย รวมถึงนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี นอกจากนี้ฝีมือแรงงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับค่าจ้างต่ำ และขนาดตลาดรถยนต์ในประเทศที่ใหญ่พอโดยปัจจุบันอัตราการครอบครองรถยนต์ต่อประชากรอยู่ในอัตราส่วนประชากรประมาณ 10 คนต่อรถยนต์ 1 คัน รวมถึงการมีข้อตกลงเขตเสรีการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อการทำตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกับภูมิภาคอาเซียนและออสเตรเลีย ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยมีความน่าสนใจอยู่มาก
– จุดอ่อนของไทยปัจจุบันที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วง 3 ถึง 4 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานในระยะยาวยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ต้องเผชิญกับทิศทางการขยายตัวของการทำข้อตกลงการค้าเสรีก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และศักยภาพการผลิตและการตลาดของประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง เช่น เวียดนามที่นับวันมีแต่จะพัฒนาขึ้นขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังต่ำกว่าไทย และไทยยังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศอยู่มากซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานและการพัฒนาการผลิตในระดับสูงต่อไป
โดยสรุป จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ที่ตกต่ำเกือบทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์โลกต้องปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับการหดตัวดังกล่าว ซึ่งการปรับโครงสร้างดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างไม่อาจเลี่ยงในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทรถยนต์ต่างประเทศต่างๆ แต่จากการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าท่ามกลางกระแสการปรับโครงสร้างการผลิตของบริษัทรถยนต์หลายแห่งในโลก ประเทศไทยยังคงรักษาสถานะในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคของค่ายรถชั้นนำของโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะยังคงได้รับความสนใจจากบริษัทรถยนต์โลก แต่อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่นในภูมิภาคของเอเชีย พบว่า การลงทุนในไทยลดลงร้อยละ 38.5 ในปี 2551 ขณะที่การลงทุนในจีน อินเดีย เวียดนาม เพิ่มขึ้น และคาดว่าการลงทุนจะลดลงต่อเนื่องในปี 2552 ซึ่งถ้าพิจารณาตัวเลขมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 พบว่าลดลงจากปีก่อนถึงประมาณร้อยละ 44.8
จากสภาวะการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและหาแนวทางเสริมสร้างความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตให้กับประเทศเพื่อนบ้านไป ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นจะต้องเร่งทำ คือ การพยายามเสริมจุดแข็งของไทยในด้านต่างๆทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร และศักยภาพของอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสำหรับการผลิตรถยนต์อนาคตที่มีมาตรฐานสูงและเน้นการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทางเลือกเป็นหลัก เพื่อชดเชยกับค่าจ้างแรงงานและต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆที่อาจจะสูงกว่า รวมถึงรักษาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ขณะเดียวกันก็ต้องลบจุดอ่อนต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองในแต่ละครั้งได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนลงไปเรื่อยๆ รวมไปถึงการสร้างความชัดเจนในการดำเนินนโยบายร่วมกันในระยะยาวระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และทิศทางการพัฒนาพลังงาน นอกจากนี้ก็ควรหาโอกาสให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ว่าจะเป็น การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆที่เอื้อให้เกิดความน่าสนใจในการลงทุน อำนวยความสะดวกในการดำเนินการลงทุนผลิตของภาคธุรกิจ และร่วมกันหาตลาดศักยภาพใหม่ๆพร้อมทั้งการสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าเสรีในประเทศที่ไทยมีศักยภาพการแข่งขัน เป็นต้น คาดว่าจะช่วยทำให้การมาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยแม้จะหดตัวลงไปบ้างอย่างในภาวะปัจจุบัน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยแต่ก็จะยังคงมีความน่าสนใจต่อเนื่อง และนอกเหนือจากการเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนข้างต้นแล้วประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกประการที่รัฐไม่ควรมองข้าม คือ การที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในส่วนที่ช่วยได้ เพื่อให้กิจการของบริษัทนักลงทุนสามารถฝ่าวิกฤตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในอนาคต เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาวสำหรับนักลงทุนในการเป็นประเทศเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนต่อเนื่องไปในอนาคต