สีทาอาคารครึ่งหลังปี 52 : ชะลอตัวน้อยกว่าครึ่งปีแรก

แนวโน้มการขยายตัวของสีทาอาคารภายในประเทศ มีความสัมพันธ์กับการเติบโตของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร อาคารชุด อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม และงานซ่อมแซมทั่วไป ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะปรับตัวไปตามภาวะเศรษฐกิจ

ตลาดสีทาอาคารในประเทศ…เผชิญหลากปัญหา
สีทาอาคารของไทยปี 2551 มีมูลค่าตลาดรวมในประเทศกว่า 11,000 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็นกลุ่มตลาดพรีเมียมและตลาดระดับกลางประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 58.3 ของตลาดสีทาอาคารโดยรวม และตลาดระดับล่างประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 41.7 ของตลาดสีทาอาคารโดยรวม

สำหรับแนวโน้มตลาดสีทาอาคารปี 2552 คาดว่าจะยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวถึงร้อยละ 7.1 (จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 4.2) โดยได้คาดการณ์ว่าในไตรมาส 2 GDP ของไทยยังคงหดตัวต่อเนื่อง ก่อนที่จะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาสต่อไป โดยคาดว่าจะปรับตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งหลังของปี 2552 นั้น โดยรวมจะยังคงชะลอตัว แต่น่าจะชะลอในอัตราที่น้อยกว่าช่วงครึ่งแรกของปี

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการชะลอตัวของธุรกิจสีทาอาคารในครึ่งหลังปี 2552 มีดังนี้
• ราคาวัตถุดิบ และอัตราอากรขาเข้าวัตถุดิบ
การผลิตสีต้องอาศัยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศ ได้แก่ วัตถุดิบที่เป็นสิ่งนำสี(Vehicle) และตัวปรับคุณสมบัติ(Additive) เป็นต้น ส่วนวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ สารสี และสีปรุงแต่งที่มีไททาเนียมไดออกไซด์ โครเมียม และแคดเมียม เป็นต้น วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสีคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนกว่าร้อยละ 80 ของต้นทุนการผลิตรวม นอกจากนี้ วัตถุดิบที่ใช้ผสมสียังต้องอาศัยการนำเข้าเป็นสัดส่วนมาก และเสียภาษีนำเข้าในอัตราค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 30 ของราคา อีกทั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2552 ก็มีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ระดับราคาวัสดุก่อสร้าง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างรวมมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนถึงต้นทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลถึงระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวขึ้นตาม ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อ ในส่วนดัชนีหมวดวัสดุฉาบผิวก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นการปรับให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

การชะลอตัวของการลงทุนก่อสร้างในประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาวิกฤติการเงินของสหรัฐฯที่ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อต่อเนื่องถึงปี 2551 เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจสีทาอาคารของไทย เนื่องจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง รวมทั้งการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีผลต่อเนื่องถึงความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และการซ่อมแซมบ้านหรือทาสีใหม่ โดยในไตรมาสแรกของปี 2552 การลงทุนด้านการก่อสร้างรวมในประเทศทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ทั้งปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 4.6 (ชะลอตัวมากที่สุดในไตรมาสที่ 4 ของปี ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และมาตรการลดหย่อนภาษีก็ตาม

โครงการที่อยู่อาศัยที่ออกขายทั้งหมด ณ สิ้นปี 2551 รวมทั้งสิ้นประมาณ 403,038 หน่วย แบ่งออกเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ อาคารชุด และที่ดินจัดสรร เป็นสัดส่วนร้อยละ 28, 6, 23, 2, 41และ 1 ของโครงการที่ออกขายทั้งหมด ตามลำดับ ซึ่งอาคารชุดขายได้คิดเป็นร้อยละ 80 ทาวน์เฮ้าส์ร้อยละ 67 และบ้านเดี่ยวร้อยละ 69 ของจำนวนที่ออกขายในแต่ละประเภท

โดย ณ สิ้นปี 2551 จำนวนที่อยู่อาศัยคงเหลือขายประมาณ 110,000 หน่วย เป็นบ้านเดี่ยว ร้อยละ 32 ทาวน์เฮ้าส์ร้อยละ 27 อาคารชุดร้อยละ 29 และประเภทอื่นร้อยละ12 ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนก่อสร้างโครงการใหม่ ในปี 2552 ผู้ประกอบการจึงใช้วิธีการระบายสต๊อคเก่าออกไปก่อนแล้วจึงรอจังหวะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนแล้วจึงค่อยลงทุนในโครงการใหม่ๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2552 น่าจะมีประมาณ 64,500-67,500 หน่วย หดตัวลงร้อยละ 10.5-14.5 จากปี 2551 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ปัจจัยหนุนที่อาจจะส่งผลให้ธุรกิจสีทาอาคารฟื้นตัวได้ในระยะยาว มีดังนี้
โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ เส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ แอร์พอร์ตลิ้งค์ เปิดให้บริการระหว่างสถานีพญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมระยะทาง 28.6 กิโลเมตร โดยใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงแบบทางคู่ ยกระดับขนานไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก สามารถเดินทางได้รวดเร็วประมาณ 15-30 นาที ซึ่งคาดว่าจะเปิดทดลองทั้งใช้ระบบในวันที่ 5 ธันวาคมปีนี้

จากการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และกำหนดการเปิดใช้บริการที่ชัดเจน ส่งผลให้ราคาที่ดินในเส้นทางดังกล่าว ได้แก่ บริเวณสถานีราชปรารภ มักกะสัน ประตูน้ำ พญาไท ปรับตัวสูงขึ้น โดยประตูน้ำ พญาไท เฉลี่ยอยู่ที่ 300,000 – 400,000 บาทต่อตารางวา เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อนที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซึ่งอยู่ที่ 200,000 บาทต่อตารางวาเท่านั้น

การก่อสร้างรถไฟฟ้าในทุกเส้นทางจะส่งผลให้เกิดการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอาคารชุด เพื่อเจาะตามกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือคนในวัยทำงานซึ่งต้องดำเนินชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ และส่วนมากเป็นโสด จึงนิยมความสะดวกในการเดินทาง ต้องการพื้นที่ใช้สอยไม่มากนัก ซึ่งหากการเปิดดำเนินการในเส้นทางแอร์พอร์ตลิ้งค์เป็นไปตามกำหนดคาดว่าน่าจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจสีทาอาคารกระเตื้องขึ้นในระยะยาวหลังจากที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 ซึ่งที่ผ่านมามีการก่อสร้างอาคารชุดในทำเลประตูน้ำ พญาไท ไปแล้ว 1,734 หน่วย ราคาอยู่ที่ 3-5 ล้านบาทต่อหน่วย ขายไปแล้วร้อยละ 75 ส่วนถนนรามคำแหงถึงลาดกระบังมีอาคารชุดแล้วเสร็จ 3,952 หน่วย ขายไปแล้วร้อยละ 70 นอกจาก นี้ยังมีอีกหลายโครงการที่คาดว่าจะเปิดตัวในไม่ช้า ทั้งอาคารชุด ทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยว รวมกว่า 100 หน่วย ซึ่งจะส่งผลให้การใช้สีทาอาคารเพิ่มขึ้นด้วย

การดำเนินนโยบายภาครัฐ
– มาตรการด้านการลดหย่อนค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าจำนอง รวมทั้งมาตรการด้านการลดหย่อนภาษีเงินได้สิ้นปี โดยเริ่มใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว

– การดำเนินโครงการบ้านยิ้ม 2 ขายให้แก่ข้าราชการกทม. กว่า 60,000 หน่วย ซึ่งเปิดโอกาสให้ข้าราชการกทม.จอง ภายในเดือนมิ.ย.นี้ โดยไม่จำกัดเงินเดือน ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและระยะเวลาผ่อนนานถึง 30 ปี ด้วยราคาบ้านที่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และหากซื้อบ้านหรืออาคารชุดใหม่ยังได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง และภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำเนื่องจากข้าราชการเป็นกลุ่มที่มีความมั่นคง

– การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เป็นต้นมา ส่งผลให้ดอกเบี้ยกู้ยืมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนที่ต้องการกู้เงินซื้อบ้านใหม่ หรือเพื่อซ่อมแซมบ้านหลังเดิม

– การปรับหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง หรือบ้านบีโอไอ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินและวัสดุก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70-80 ของต้นทุนการผลิต ทำให้ต้นทุนในการพัฒนาอาคารชุดราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท จะถูกลง 50,000-80,000 บาท ขณะที่บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮาส์ จะมีต้นทุนที่ถูกลงประมาณ 100,000 กว่าบาท เพราะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อย่างไรก็ตามยังมีอีก 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนพัฒนาโครงการ ได้แก่ ผังเมืองรวมกทม. กฎหมายควบคุมอาคารว่าด้วยเรื่องที่จอดรถ และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ยังพิจารณาล่าช้า

ตลาดสีทาอาคารต่างประเทศ…ยังชะลอตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก
ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกสีทาและวาร์นิช มีมูลค่า 1,055 ล้านบาท หดตัวลง ร้อยละ 7.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ทั้งปี 2551 ที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออก 2,977 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากผู้ผลิตเร่งขยายตลาดส่งออกเพื่อชดเชยตลาดในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2552 คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 3.5-4.5 ส่งผลให้ทั้งปี 2552 มูลค่าการส่งออกสีทาอาคารน่าจะหดตัวเพียงร้อยละ 5-6 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

ส่วนการนำเข้าสีทา วาร์นิชและวัตถุแต่งสี ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า 8,294 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 30.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ทั้งปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 29,047 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่าครึ่งหลังของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าน่าจะยังคงหดตัว แต่ด้วยอัตราที่ลดลง เนื่องจากความต้องการสีทาอาคารในประเทศจะหดตัวตามอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว

สรุป
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ที่เห็นผลชัดเจนและรวดเร็ว คือ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแน่นอนย่อมต้องส่งผลถึงธุรกิจสีทาอาคารให้ชะลอตัวตามไปด้วย ปัญหาวิกฤติทางการเงินของสหรัฐฯที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 ได้ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมในหลายประเทศประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลงจนต้องชะลอการผลิตหรืออาจถึงขั้นปิดกิจการ สำหรับประเทศไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และคาดว่าจะยังชะลอตัวตลอดปี 2552 ตามที่คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มหดตัวลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะมีแนวโน้มชะลอตัวในอัตราที่น้อยลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนการที่หลายธนาคารมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย จึงมีผลให้ความต้องการใช้สีทาอาคารในประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้น่าที่จะขยับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกเล็กน้อย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจสีทาอาคารควรปรับตัว เพื่อหาทางเพิ่มยอดขาย โดยเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความแตกต่างด้วยการแบ่งแยกเซกเม้นต์ เพื่อตอบสนองแก่ผู้ซื้อได้ตรงวัตถุประสงค์ความต้องการใช้งาน เน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดโปรโมชั่นแก่ร้านตัวแทนจำหน่าย โดยอาจขยายเครดิตให้แก่ร้านค้าที่มีประวัติการชำระค่าสินค้าที่ดี เนื่องจากร้านตัวแทนเหล่านี้เป็นสื่อกลางในการขายที่ใกล้ชิดลูกค้ามากกว่าทางบริษัท สามารถขอความร่วมมือด้านข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นในการขายได้ตรงตามความต้องการลูกค้า อีกทั้งควรหาช่องทางร้านค้าตัวแทนเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการขายโดยตรงให้แก่โครงการอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการขยายตลาดส่งออกเพื่อชดเชยตลาดในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว