มาสเตอร์การ์ดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายและการเก็บออมตามลำดับความสำคัญ

มาสเตอร์การ์ดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายและการเก็บออมตามลำดับความสำคัญ พบคนไทยชอบกิน ดื่ม เที่ยว แต่เตรียมเก็บออมเพื่อเกษียณ การลงทุน และซื้อ/พัฒนาบ้าน/อสังหาริมทรัพย์

กรุงเทพฯ 1 กรกฎาคม 2552: มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ รายงานผลสำรวจการใช้จ่ายตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง อีก 6 เดือนข้างหน้า (MasterCard Survey on Consumer Purchasing Priorities) ของผู้บริโภคในแถบเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และอัฟริกา พบว่า ผู้บริโภคไทย และผู้บริโภคส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านการรับประทานอาหาร และสิ่งบันเทิงสูงสุดเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายด้านอื่นๆ โดยคนไทยยกค่าใช้จ่ายด้านการรับประทานอาหาร และสิ่งบันเทิงเป็นค่าใช้จ่ายที่มีความสำคัญสูงสุดเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยแฟชั่น และเครื่องประดับ (อันดับสอง) และซื้อ/พัฒนาบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ (อันดับสาม) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคไทย 41% เตรียมรัดเข็มขัดระวังเรื่องการใช้จ่าย และเตรียมเก็บออมเท่าเดิม ขณะที่ 31% วางแผนจะเก็บออมเพิ่มขึ้น และ 29% เก็บออมน้อยลง

ผลสำรวจการใช้จ่ายตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง เป็นการรายงานพฤติกรรมการเก็บออมเงินและการจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายในช่วงอีก 6 เดือนข้างหน้า และจัดทำปีละ 2 ครั้ง จากจำนวนผู้บริโภคทั้งสิ้น 9,211 คน ใน 21 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม อียิปต์ คูเวต เลบานอน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย อัฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 23 มีนาคมถึง 18 เมษายนที่ผ่านมา ผ่านทางการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว, ทางโทรศัพท์, และทางคอมพิวเตอร์ ในภาษาท้องถิ่น จากจำนวนดังกล่าว เป็นคนไทย 400 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป มีรายได้ปานกลางถึงสูง และจะต้องถือบัตรเครดิตของตัวเอง หรืออยู่ในเกณฑ์ที่จะมีบัตรเครดิตได้

รายงานเผยว่า 32% ของผู้บริโภคในภูมิภาคเตรียมรัดเข็มขัด และเก็บออมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 6 เดือนที่ผ่านมา 26% เตรียมเก็บออมน้อยลง และ 42% เตรียมเก็บออมเท่าเดิม โดยประเทศที่เตรียมเก็บออมเพิ่มสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม (52%) อินเดีย (47%) อัฟริกาใต้ (47%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (47%) และ นิวซีแลนด์ (46%) ขณะที่อียิปต์ (63%) ไต้หวัน (39%) เกาหลีใต้ (33%) มาเลเซีย (32%) และฮ่องกง (32%) รั้งตำแหน่งเก็บออมน้อยสุด โดยให้ความสำคัญกับการเก็บออมเพื่อลงทุน (46%) เพื่อเกษียณ (45%) และเพื่อซื้อ/พัฒนาบ้าน/อสังหาริมทรัพย์ (40%) มากที่สุด

ด้านการใช้จ่ายตามลำดับความสำคัญในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคในภูมิภาคถึง 69% ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร และสิ่งบันเทิงเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยแฟชั่น และเครื่องประดับ (49%), ฟิตเนส และสุขภาพ (36%), เครื่องใช้ไฟฟ้า/การเรียนพิเศษของบุตร (34%) และการท่องเที่ยวส่วนตัว (24%) โดยมีออสเตรเลีย (14%) จีน (13%) สหรัฐอเมริกา (13%) ไทย (11%) และญี่ปุ่น (10%) ซิวตำแหน่ง 5 ประเทศแรกที่อยากไปสูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศแรกที่ผู้บริโภคออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนามอยากไปมากที่สุด

ประเทศไทย ผลสำรวจด้านเก็บออมตามลำดับความสำคัญ
– ส่วนใหญ่ 41% เตรียมเก็บออมเท่าเดิม 31% เก็บมากขึ้น 29% เก็บน้อยลง
– 95% (จากเดิม 80% เมื่อผลสำรวจครั้งก่อน) เตรียมเก็บออมเผื่อฉุกเฉิน เพราะเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในอนาคตไม่แน่นอน และต้องเตรียมพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
– 45% เตรียมเก็บออมเพียง 1-10% ของรายได้ทั้งหมด, 28% เก็บ 11-20% และ 12% เก็บ 21-30%. โดยเหตุผลหลักของการเก็บออมเพื่อเกษียณ (53%) เพื่อการลงทุน (26%) และเพื่อซื้อ / พัฒนาบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์ (15%)
– สาเหตุหลักของผู้บริโภคที่คาดว่าจะเก็บออมน้อยลง คือ มีรายได้ไม่พอที่จะเก็บออม (81%)

ประเทศไทย ผลสำรวจด้านการใช้จ่ายตามลำดับความสำคัญ
– คนไทยส่วนใหญ่ (38%) บอกว่าใช้จ่ายไปกับค่าอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การเดินทาง และค่าน้ำ/ประปา มากที่สุด ถึง 41-50% ของรายได้ครัวเรือน
– การรับประทานอาหาร และสิ่งบันเทิง ยังคงเป็นค่าใช้จ่ายที่คนไทยให้ความสำคัญมากที่สุด (100%) ตามมาด้วยแฟชั่น เครื่องประดับ (54.5%) และซื้อ / พัฒนาบ้าน หรือ อสังหาริมทรัพย์ (17.8%)

ดร. ยุวะ เฮ็ดริก หว่อง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ กล่าวว่า จากผลสำรวจจพบว่า “สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกดูเหมือนว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้บริโภคระดับกลางในเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และอัฟริกาสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ช่วงก่อนหน้า และผู้บริโภคเองก็ยังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายต่างๆ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเรียกได้ว่า ทัศนคติ และการบริโภคภายในประเทศโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี และอยู่ในแง่บวกมากกว่าแง่ลบ”

ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าชมได้ที่ www.masterintelligence.com