เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา การเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนรัฐบาลต้องปรับเพิ่มวงเงินจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 15,000 ล้านบาท มาเป็น 30,000 ล้านบาท ซึ่งก็สามารถจำหน่ายได้หมดทั้งจำนวนภายในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้ง การเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งให้กับประชาชนทั่วไปและผู้มีสิทธิซื้อ ในวันที่ 15-21 กรกฎาคม 2552 รวม 50,000 ล้านบาท ตามวงเงินที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท รวมกับวงเงินเพิ่มเติมอีก 30,000 ล้านบาทซึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ก็คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ออมและสามารถจำหน่ายได้ทั้งหมดภายในเวลาอันรวดเร็วเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การออกพันธบัตรของรัฐบาลในครั้งนี้ นับว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินฝากบางส่วนออกจากระบบธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ หากมองไปในระยะข้างหน้า จะพบว่า ยังมีทางเลือกการออมอื่นๆ ที่อาจจูงใจให้เกิดการโยกย้ายเงินออมออกจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในทางเลือกนั้น ก็คือ หุ้นกู้เอกชน โดยจากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาคธุรกิจอาจมีแนวโน้มเสนอขายหุ้นกู้เอกชนอีกเป็นจำนวนราว 1 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 หลังจากที่ได้มีการเสนอขายไปแล้วประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาล รวมถึงนัยทางด้านสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยสรุปดังนี้ :-
ความต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่จูงใจของผู้ออม
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ออมล้วนมีความต้องการที่จะได้รับผลตอบแทนจากการออมเงินในอัตราที่ดีที่สุดภายใต้ระดับความเสี่ยงและสภาพคล่องที่เหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หรือก่อนที่จะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาลนั้น เป็นจังหวะเวลาที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อยู่ในทิศทางขาลงและมีระดับต่ำตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ผู้ออมส่วนใหญ่จึงได้มีการทยอยโยกย้ายเงินฝากออกไปลงทุนในทางเลือกการออมอื่นๆ (ทั้งกองทุนรวมประเภทต่างๆ ซึ่งรวมถึงกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ทองคำ ตั๋วแลกเงิน และหุ้นกู้เอกชน) เนื่องจากคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงกล่าวได้ว่า ความต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่จูงใจของผู้ออมไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง แต่ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง มีเงื่อนไขหรือรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของผู้ออม (พันธบัตรอายุ 5 ปี เสนออัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยในปีที่ 1-2 อยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ในปีที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 4 และในปีที่ 4-5 อยู่ที่ร้อยละ 5 อีกทั้งมีความเสี่ยงต่ำเพราะรัฐบาลเป็นผู้ออก) โดยเฉพาะผู้ออมรายย่อยที่อาจจะไม่สามารถเข้าถึงทางเลือกการออมอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ขณะที่พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งมีการกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำและขั้นสูงต่อราย จึงส่งผลให้การเปิดจำหน่ายพันธบัตรดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ล้นหลามโดยเฉพาะจากผู้สูงอายุทั่วไป
จังหวะที่ดีสำหรับการเสนอขายหุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพ
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าที่จะได้ผ่านสภาวะที่เลวร้ายที่สุดมาแล้วหลังจากที่หดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 (Year-on-Year) ในไตรมาสที่ 1/2552 โดยมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยอาจทยอยลดอัตราติดลบลงในไตรมาสถัดๆ ไป ซึ่งส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยคงจะสิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องหรือไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นเร็วเกินไปในระยะที่เหลือของปี
ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะดังกล่าว นับว่าน่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการระดมทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยแม้ว่าการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาล รวมทั้งการออกหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ในเดือนกรกฎาคมนี้ อาจเป็นการสร้างอัตราผลตอบแทนอ้างอิงที่มีระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพอสมควร ซึ่งคงจะมีผลต่อต้นทุนการออกหุ้นกู้เอกชนของบริษัทอื่นๆ ให้ขยับตัวสูงขึ้นบ้างตามระดับความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือที่แตกต่างกัน แต่การกำหนดอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รับการจัดอันดับเครดิตสูงกว่าระดับน่าลงทุน (Investment Grade) กอปรกับหากบริษัทที่ต้องการระดมทุนเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคง ก็คงจะทำให้หุ้นกู้ของบริษัทนั้นๆ เป็นหุ้นกู้ที่มีคุณภาพและได้รับความสนใจเข้าลงทุนจากผู้ออม โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้ออมยังมีความต้องการแสวงหาผลตอบแทนจูงใจผ่านการลงทุนในทางเลือกต่างๆ นอกเหนือจากการฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ เช่นปัจจุบัน นั่นหมายความว่า บริษัทที่มีความต้องการเงินทุนเหล่านั้น คงจะสามารถระดมเงินทุนระยะกลางถึงยาวได้นับตั้งแต่ตอนนี้ซึ่งภาระต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นไปมากนัก
ผลต่อสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
จากตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีอยู่สูงถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 ทำให้อาจดูเหมือนว่าการทยอยไหลออกของเงินฝากไปสู่ทางเลือกการออมอื่นๆ น่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักในแง่ของปริมาณสภาพคล่องของระบบธนาคาร เพราะแม้สภาพคล่องอาจจะลดลงเมื่อเงินฝากถูกถอนออกไปในขาแรก แต่คงมีสภาพคล่องบางส่วนที่ทยอยไหลกลับเข้าสู่ระบบธนาคารอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวเพียงประการเดียว โดยการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อาจจะเกิดขึ้นได้ถึงแม้ว่าธนาคารเหล่านั้นจะยังคงมีฐานะสภาพคล่องในระดับสูงก็ตาม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้เข้ามาแข่งขันกันสู้ราคาหรือล็อคเงินฝากผ่านโครงการเงินออมต่างๆ อย่างเต็มที่มากนัก โดยเหตุผลสำคัญก็เพราะว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงมีทิศทางที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องตามภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การดำเนินการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งภาระต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ดอกเบี้ยรับที่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ได้เริ่มออกผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวพิเศษที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามปกติเพื่อรักษาฐานลูกค้าของตนไว้มากขึ้นบ้างแล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องติดตามในระยะถัดไปซึ่งคงจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้าสู่สนามแข่งขันด้านราคามากขึ้น ก็คือ ภาวะสินเชื่อ และกลไกการแข่งขัน ทั้งนี้ หากสินเชื่อเริ่มมีสัญญาณในเชิงบวกมากขึ้นตามการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์อาจมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ดำเนินการล็อคเงินทุนระยะกลางถึงยาวไว้ ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษต่างๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและฐานเงินทุนของตนให้มีความเข้มแข็งสำหรับรองรับการขยายกิจการในอนาคตข้างหน้า ถึงแม้ว่าธนาคารเหล่านั้นจะยังมีฐานะสภาพคล่องในปริมาณที่สูง และนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ตาม ในขณะที่ กลไกการแข่งขัน ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองและกับทางเลือกการออมอื่น จะผลักดันให้ความถี่ของการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของธนาคารมีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์ก็จะยิ่งขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจูงใจผู้ออม อย่างไรก็ตาม หากการขยายสินเชื่อไม่สามารถจะเติบโตได้เร็วตามที่คาดหวัง จังหวะเวลาของการเข้าสู่สนามแข่งขันกันสู้ราคาของธนาคารพาณิชย์ก็คงจะล่าช้าออกไปจากกรณีแรก
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การตอบรับอย่างท่วมท้นต่อการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาล สะท้อนถึงความต้องการของผู้ออมที่จะลงทุนในตราสารที่มีความมั่นคงสูงและให้ผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ทางด้านผลกระทบต่อระบบการเงินนั้น แม้ว่าเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ถูกโยกย้ายออกไปสู่การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาล รวมถึงหุ้นกู้ภาคเอกชน ตลอดจนตราสารทางการเงินต่างๆ อาจจะมีผลกระทบต่อตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (หลังจากที่เริ่มปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา) แต่ผลกระทบอาจเป็นไปในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี ตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว คงจะไม่ใช่ปัจจัยหลักเพียงปัจจัยเดียวในการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญน่าจะเป็นภาวะความต้องการสินเชื่อและการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินในระบบเพื่อช่วงชิงโอกาสในการล็อคต้นทุนเงินฝากระยะยาวก่อนผู้เล่นรายอื่น โดยเฉพาะเมื่อธนาคารพาณิชย์เริ่มเห็นสัญญาณว่าการขยายสินเชื่ออาจจะฟื้นคืนกลับมาแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ ได้ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามปกติไปบ้างแล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น ความถี่ของการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาวพิเศษดังกล่าว ก็คงจะทยอยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อจังหวะเวลานั้นมาถึง ก็จะเป็นโอกาสของผู้ออมที่จะมีทางเลือกในการตัดสินใจทำการออมที่หลากหลายมากขึ้น