การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยครึ่งหลังปี 2552 : ชะลอตัว แต่แนวโน้มดีขึ้น

ผลกระทบจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ทำให้ในปีที่ผ่านมา จีดีพีของญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับปี 2550 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.4 เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงยังส่งผลกระทบต่อเนื่องในปีนี้ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ทรุดตัวอย่างหนักที่ร้อยละ 15.2 อีกทั้งยังส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคมพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 จากร้อยละ 5 ในเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคมขยายตัวเกือบร้อยละ 6 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) สะท้อนถึงความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอาทิ สินค้ายานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดต่างประเทศที่กระเตื้องอาทิ เยอรมนีและฝรั่งเศส เป็นต้น โดยผลสำรวจความเห็นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นจากกระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีมุมมองเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจญี่ปุ่น “Tankan” รายไตรมาสล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอื่น ๆ ปรับตัวกระเตื้องขึ้นมาติดลบอยู่ที่ 48 ในเดือนมิถุนายน จากที่ติดลบอยู่ที่ 58 ในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ โดยเพื่อรับมือกับภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินงบประมาณมูลค่า 25 ล้านล้านเยน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มส่งสัญญาณปรับดีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีความมั่นคงนัก แต่คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวรุนแรงในไตรมาสแรกและคาดว่า อัตราหดตัวจะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งปีมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราติดลบ โดย Consensus Forecast ในเดือนกรกฎาคม 2552 คาดการณ์ว่า จีดีพีของญี่ปุ่นจะหดตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.4 ก่อนจะขยายตัวเป็นบวกในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ในปี 2553
ประเด็นที่น่าสนใจคือสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการญี่ปุ่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน กอปรกับสถานการณ์ความมั่นคงทางการเมืองของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาวะการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยในระยะต่อไปโดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกทำให้หลายแห่งต้องปิดกิจการลงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประโยชน์จากการเปิดตลาดและความร่วมมือภายใต้กรอบข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีทั้งในส่วนของความตกลงส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และกรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) น่าจะเป็นประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจญี่ปุ่นทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจากการจ้างงานในไทยที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 และ แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังนี้

สถานการณ์การลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานว่า การลงทุนจากต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเดือน ม.ค.-พ.ค.ของปี 2552 มียอดรวมทั้งสิ้น 226 โครงการ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่มีจำนวนโครงการรวม 365 โครงการ ลดลงร้อยละ 38 (y-o-y) มีมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติรวม 41.3 พันล้านบาท ลดลงเกือบร้อยละ 60 (y-o-y) โดยประเทศญี่ปุ่นถือเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดเนื่องจากเป็นประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยสูงสุด รองมาได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป สิงคโปร์ สหรัฐ ฯ ไต้หวัน และฮ่องกง ซึ่งไทยเป็นฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยรวม 7,000 บริษัท

โดยในปี 2551 นักลงทุนจากญี่ปุ่นมีสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยกว่าร้อยละ 34 ของมูลค่าโครงการการลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2552 มีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 84 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 17.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การลงทุนของญี่ปุ่นกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า พบว่า จำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมจากญี่ปุ่นในไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลงเกือบร้อยละ 42 ขณะที่มูลค่าโครงการลงทุนลดลงกว่าร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยทรุดตัวอย่างรุนแรงในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดโลกปรับตัวลดลงทำให้ผลประกอบการของนักลงทุนหดตัวและต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการขาดแคลนแหล่งเงินทุนในการปรับสภาพคล่องทางการเงินทำให้บริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยต้องลดกำลังการผลิตหรือชะลอแผนการขยายการลงทุนในไทยเพื่อประคับประคองตัวให้พ้นจากพิษวิกฤตทางการเงิน รวมถึงลดต้นทุนการผลิตและลดการจ้างงานเพื่อการอยู่รอดของบริษัท โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนโลหะ และยานยนต์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศของไทยซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีแผนเข้ามาขยายการลงทุนในไทยอาจหันไปขยายการลงทุนในประเทศอื่นที่มีศักยภาพในการผลิตและมีนโยบายด้านการลงทุนที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากกว่าไทยอย่างจีนและเวียดนาม เป็นต้น

แนวโน้มการลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552
สำหรับแนวโน้มการลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า น่าจะยังคงชะลอตัวแต่อาจจะปรับตัวดีขึ้นภายใต้การคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว กอปรกับแรงขับเคลื่อนจากความต้องการในตลาดโลกที่มีสัญญาณว่าน่าจะปรับตัวในทิศทางบวกตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจากประเทศที่มีบทบาทหลักของโลกอาทิ จีนและสหรัฐ ฯ ซึ่งได้ทยอยออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคภายในทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป โดยจะเป็นแรงส่งให้อุปสงค์ตลาดต่างประเทศกระเตื้องขึ้นซึ่งจะส่งผลเชื่อมโยงให้ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันการผลิตที่อาจเพิ่มขึ้นนี้จะเป็นปัจจัยเอื้อหนุนให้ผู้ผลิตเริ่มขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมยานพาหนะและชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลกสะท้อนจากการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของไทยในเดือนพฤษภาคมที่หดตัวชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เหลือร้อยละ 24.4 (y-o-y) จากที่ติดลบร้อยละ 37.4 ในเดือนมีนาคม (y-o-y)

ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มเอสเอ็มอีนอกจากเป็นการสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาของนักลงทุนจากการจ้างงานและการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีสู่ประเทศไทยแล้ว ยังช่วยผลักดันโอกาสการส่งออกของไทยสู่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการส่งออกกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการญี่ปุ่นสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรีในการลงทุนที่ไทยจัดทำกับญี่ปุ่นในระดับต่าง ๆ และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งได้แก่

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP)
ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2552 ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสด้านการค้าสินค้าระหว่างประเทศอาเซียนกับญี่ปุ่น โดยประเทศอาเซียนและญี่ปุ่นได้ตกลงลดภาษีนำเข้าสินค้ามากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าและมูลค่าการนำเข้าให้เหลือร้อยละ 0 ภายใน 10 ปี ขณะที่ญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าในสัดส่วนร้อยละ 90 ทันที อีกทั้งเมื่อเสร็จสิ้นการลดภาษีระหว่างกันตามแผนการลดภาษีข้างต้นแล้ว ญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากอาเซียนเพิ่มเติมโดยมีสัดส่วนรวมมากกว่าร้อยละ 92 ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความตกลงดังกล่าวยังไม่มีข้อผูกพันการเปิดเสรีที่ครอบคลุมการค้าบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น แต่ทว่านักลงทุนญี่ปุ่นสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นด้านการเปิดเสรีสินค้าในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อเสาะหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศภาคีและนำมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ปรับลดเป็นศูนย์ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีในกลุ่มสินค้าเกษตรคือ มะพร้าว กล้วย มะม่วง ฝรั่ง ทุเรียน มะละกอ กุ้ง ปู ปลาหมึกยักษ์แช่แข็ง แมงกะพรุน ปลาปรุงแต่ง และผลไม้กระป๋อง เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่มีศักยภาพทางการแข่งขันและได้เปรียบในปัจจัยด้านภูมิศาสตร์เพื่อเป็นศูนย์การลงทุนและส่งออกในภูมิภาคอาเซียนทั้งในด้านระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพที่เอื้อหนุนในการดึงดูดให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)
ภายใต้กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งไทยและญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 ได้กำหนดการลด/ยกเลิกภาษีหรือกำหนดโควตาพิเศษระหว่างกันภายใต้กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นนี้ คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่มีการค้าระหว่างกัน โดยสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่ได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษีนำเข้าจากญี่ปุ่นได้แก่ สินค้าประมง สินค้าผักและผลไม้ ไก่ อาหารสัตว์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงเครื่องดื่มที่ได้จากการหมักเช่น ไวน์ที่ทำจากผลไม้ เป็นต้น ส่วนสินค้าเกษตรที่ญี่ปุ่นให้โควตาแก่ไทยคือ กล้วย เนื้อหมูและแฮมแปรรูป และสับปะรดสด เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้น่าจะมีส่วนผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาผลิตอาหารในไทยและส่งออกกลับไปญี่ปุ่นโดยได้ประโยชน์จากอัตราภาษีนำเข้าที่ญี่ปุ่นยกเลิกไปตามความตกลง ฯ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตอาหารป้อนญี่ปุ่น ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสาขาสินค้าเกษตรค่อนข้างมากในปีที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการลด/ยกเลิกภาษีอาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง สารเคมีและเคมีภัณฑ์ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น โดยปัจจัยบวกภายใต้กรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นที่ช่วยส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยคือ การวางกรอบความร่วมมือระหว่างกันซึ่งหนึ่งใน 9 สาขาหลักที่ไทยทำร่วมกับญี่ปุ่นคือสาขาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งได้มุ่งเน้นการสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศเพื่อประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน โดยประโยชน์จากความตกลง JTEPA กรอบข้อตกลงดังกล่าวยังครอบคลุมในส่วนของการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศโดยเฉพาะในส่วนของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และชิ้นส่วนยานยนต์

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ว่าผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากความตกลงทั้งสองฉบับ แต่ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับ กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ที่มีความแตกต่างระหว่างกัน โดยผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความเหมาะสมและให้สิทธิประโยชน์สูงสุดที่ผู้ประกอบการจะได้รับอย่างละเอียด ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ของข้อตกลงของทั้งสองฉบับพบว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJECP) ได้รับโอกาสการส่งออกสินค้าบางชนิดมากกว่ากรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยญี่ปุ่นเปิดตลาดให้แก่ไทยเพิ่มขึ้นจำนวน 70 รายการอาทิ ปลาแซลมอน ปลาหมึก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และมะเขือยาว รวมถึงประโยชน์ในการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศภาคีเพื่อผลิตสินค้าส่งออกและยังได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJECP)

สรุป เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องในปีนี้ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ทรุดตัวอย่างหนักที่ร้อยละ 15.2 อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือนพฤษภาคมขยายตัวเกือบร้อยละ 6 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (m-o-m) เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งผลสำรวจความเห็นของบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นเปิดเผยว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่เริ่มมองแนวโน้มเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาสแรก นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทางการญี่ปุ่นยังได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินงบประมาณมูลค่า 25 ล้านล้านเยน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามภาวะทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นแต่คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ยังขยายตัวในอัตราที่ติดลบ โดย Consensus forecast ในเดือนกรกฎาคม 2552 คาดการณ์ว่า จีดีพีของญี่ปุ่นจะหดตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.4 ก่อนจะขยายตัวเป็นบวกในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ในปี 2553

ประเด็นที่น่าสนใจคือสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นหลาย ๆ ด้านของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการญี่ปุ่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน กอปรกับสถานการณ์ความมั่นคงทางการเมืองของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อสภาวะการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยในระยะต่อไปหลังจากที่การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยทรุดตัวค่อนข้างมากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกทำให้หลายแห่งต้องปิดกิจการในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประโยชน์จากการเปิดเสรีและความร่วมมือภายใต้กรอบการข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีทั้งในส่วนของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และกรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) น่าจะช่วยผลักดันให้การลงทุนของญี่ปุ่นรวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยจะช่วยกระตุ้นภาคการลงทุนและการจ้างงานในไทยมากขึ้นตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางการลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะยังคงชะลอตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งแรกของปีนี้ภายใต้การคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว กอปรกับแรงขับเคลื่อนจากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่มีสัญญาณว่าน่าจะปรับตัวในทิศทางบวกตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจากประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ทั่วโลกซึ่งได้ทยอยออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคภายในทำให้ความต้องการในตลาดต่างประเทศน่าจะกระเตื้องขึ้นซึ่งจะส่งผลเชื่อมโยงให้ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันการผลิตที่อาจเพิ่มขึ้นนี้จะเป็นปัจจัยเอื้อหนุนให้ผู้ผลิตเริ่มขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมหลักที่คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมยานพาหนะและชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรีในการลงทุนและใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ภูมิภาคอาเซียนซึ่งได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าและกรอบข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยจะได้ประโยชน์ทั้งจากการลดภาษีสินค้านำเข้าจากไทยไปญี่ปุ่นทำให้มีต้นทุนนำเข้าต่ำลง อีกทั้งยังจะได้ผลดีจากการมุ่งเน้นสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศเพื่อประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ว่าผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงที่ได้ระบุไว้ข้างต้น แต่ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับ กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างระหว่างกันของความตกลงของทั้งสองฉบับ โดยผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความเหมาะสมและให้สิทธิประโยชน์สูงสุดที่ผู้ประกอบการจะได้รับอย่างละเอียด