จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 การส่งออกโดยรวมในเดือนมิถุนายน 2552 ยังหดตัวในอัตราที่สูงแม้ชะลอลงกว่าในเดือนก่อนหน้า แต่ถ้าพิจารณาตัวเลขการส่งออกที่ไม่รวมทองคำในเดือนนี้จะเห็นอัตราการหดตัวที่ชะลอลงชัดเจนกว่า และน่าจะถือเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่เห็นการส่งออกปรับตัวดีขึ้นในสินค้าหลายประเภทมากขึ้น สำหรับในช่วงเดือนต่อไป แม้คาดว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของทิศทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นช่วงฤดูกาลที่มีการส่งมอบสินค้าไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) อาจจะยังคงหดตัวในระดับสูง เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปียังคงต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งนอกจากต้องติดตามการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมของการส่งออกสินค้าของไทยแล้ว ยังต้องจับตาการขยายตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจับตาก้าวย่างของจีนสู่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2552 มีมูลค่า 12,335 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) โดยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 11,656 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพฤษภาคม (Month-on-Month) ขณะที่อัตราการหดตัวได้ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 26.6 ในเดือนพฤษภาคม และดีกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ (ว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 26.7) ซึ่งถ้าพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกนับว่าเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 (MoM) แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงหดตัวสูงเนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ จะเห็นภาพการปรับตัวดีขึ้นที่ชัดเจนกว่า โดยการส่งออกที่ไม่รวมทองคำในเดือนนี้หดตัวลงร้อยละ 24.9 ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 27.3 ในเดือนก่อนหน้า สำหรับในด้านการนำเข้าในเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 11,398 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 29.3 ชะลอลงจากที่หดตัวร้อยละ 34.7 มีมูลค่า 9,251 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพฤษภาคม สำหรับดุลการค้าในเดือนมิถุนายนเกินดุล 937 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจาก 2,405 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า โดยภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 การส่งออกมีมูลค่า 68,207 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวลงร้อยละ 23.5 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 57,216 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 35.4 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 10,991 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์การส่งออกในปี 2552 ว่าจะหดตัวร้อยละ 15.0-19.0
เมื่อพิจารณารายสินค้า สังเกตได้ว่าเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่เห็นการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกในหลายกลุ่มสินค้า ซึ่งกลุ่มที่ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน คือ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่หดตัวลงร้อยละ 17.7 และ 19.9 ตามลำดับ (จากที่หดตัวร้อยละ 23.4 และ 27.0 ในเดือนก่อน) อัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ หดตัวร้อยละ 11.1 (จากร้อยละ 30.5) เคมีภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 1.7 (จากร้อยละ 16.3) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 2.9 (จากร้อยละ 13.7) และยางพารา หดตัวร้อยละ 48.9 (จากร้อยละ 56.0) ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัวชะลอลงเล็กน้อย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 39.9 (จากร้อยละ 41.7) ข้าว หดตัวร้อยละ 35.9 (จากร้อยละ 38.1) เป็นต้น
ในด้านตลาดส่งออก จีนยังคงเป็นตลาดที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นตลาดที่ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเดือนนี้ รวมทั้งยังหดตัวชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยติดลบเพียงร้อยละ 3.6 (จากร้อยละ 10.9 ในเดือนก่อน) ขณะที่ตลาดใหม่อื่นๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น เวียดนาม หดตัวร้อยละ 10.1 และอินเดีย หดตัวร้อยละ 4.5 เป็นต้น ในด้านตลาดหลัก มีการปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มประเทศ G-3 โดยสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 22.7 (จากร้อยละ 29.9) ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 27.8 (จากร้อยละ 35.7) ประเทศยุโรปที่พัฒนาแล้วหดตัวร้อยละ 28.6 (จากร้อยละ 35.2) แต่ประเทศอาเซียนเดิม 4 ประเทศ หดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 42.5 (จากร้อยละ 36.1 ในเดือนก่อน)
แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค โดยจีนนับเป็นประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำประเทศแรกที่ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 กลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.9 จากที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 ปีที่ร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียก็เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงถึงร้อยละ 20.4 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.7 จากที่หดตัวไปถึงร้อยละ 10.1 ในไตรมาสแรก ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ในด้านสหรัฐฯ เครื่องชี้เศรษฐกิจบ่งชี้การปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต อสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงิน แต่สิ่งที่อาจฉุดรั้งให้การฟื้นตัวของสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง ก็คือปัญหาการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่ระมัดระวังการใช้จ่ายและคิดวางแผนเพื่ออนาคตมากขึ้น สังเกตได้จากอัตราการออมต่อรายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ สูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 จากร้อยละ 0 ในช่วงเดือนเมษายนของปีที่ผ่านมา และนับเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบเกือบ 16 ปี ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้ว สัญญาณการฟื้นตัวในหลายประเทศที่เริ่มชัดเจนขึ้นนี้จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของโลกปรับตัวดีขึ้น
เศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถ้าพิจารณาจากประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ที่คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ว่าจะหดตัวร้อยละ 1.4 และกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2553 นั้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว พบว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีอัตราการเติบโตเมื่อถ่วงน้ำหนักต่อจีดีพีของโลก (Contribution to World GDP Growth) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 ขณะที่ในกลุ่มประเทศ G-3 (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) มีอัตราการเติบโตเมื่อถ่วงน้ำหนักต่อจีดีพีของโลกลดลงร้อยละ 2.5 จึงมีผลลดทอนให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมหดตัวลงร้อยละ 1.4 ส่วนในปี 2553 ที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมอาจขยายตัวร้อยละ 2.5 นั้น เศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีอัตราการเติบโตเมื่อถ่วงน้ำหนักต่อจีดีพีของโลกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ขณะที่ผลบวกที่จะมาจากกลุ่ม G-3 มีเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น โดยกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าจะฟื้นตัวได้ก่อน และกลับมาขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีในปีข้างหน้า ได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย นำโดยจีนและอินเดีย นอกจากนี้ยังมีประเทศในภูมิภาคอาฟริกาและตะวันออกกลาง
สิ่งที่น่าจับตามองคือจีนกำลังจะก้าวแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่างเร็วคือในปีนี้ หรืออย่างช้าคือในปีหน้า โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าจีดีพีของจีนและญี่ปุ่นจะมีระดับใกล้เคียงกันที่ 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2552 ขณะที่ปีหน้าจีนจะเติบโตขึ้นมามีมูลค่าเศรษฐกิจเกินกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ญี่ปุ่นยังอยู่ใกล้เคียงกับปีปัจจุบัน ทั้งนี้ โอกาสที่จีนจะแซงหน้าญี่ปุ่นในปีนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ถึงร้อยละ 8 ตามเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้ รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจจะหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 6-14 จากที่หดตัวสูงร้อยละ 23 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยแม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นทั้งในด้านการเงินและการคลังมูลค่ามหาศาล แต่แม้กระนั้นอัตราการว่างงานก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 1-2 ของปีหน้า ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะกดดันภาวะการบริโภค และจะถ่วงให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้อาจใช้ระยะเวลานานนับปีกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวเต็มศักยภาพได้อีกครั้ง สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก แต่ผลกระทบในทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ประเทศคู่ค้าอาจนำประเด็นดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาเลือกประเทศที่สั่งซื้อสินค้า หรืออาจใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร นอกจากนี้ หากการแพร่ระบาดกระจายเข้าไปในระดับสถานประกอบการอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพองค์กร หรือส่งผลทำให้ผลิตสินค้าได้ล่าช้ากว่ากำหนด
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยการส่งออกอาจจะหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 6-14 จากที่หดตัวสูงร้อยละ 23.5 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2552 จะหดตัวประมาณร้อยละ 14.5-19.0
การปรับตัวดีขึ้นนี้คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ประเทศจีน ที่จีดีพีในไตรมาสที่ 2/2552 เริ่มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.9 ในด้านตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ก็มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจหดตัวในอัตราที่ชะลอลงในไตรมาสที่ 2/2552 และน่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 3/2552 แต่จะยังคงเผชิญปัญหาการว่างงานและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งอาจฉุดรั้งให้การฟื้นตัวยังคงเปราะบาง แต่โดยภาพรวมแล้ว สัญญาณการฟื้นตัวในหลายประเทศที่เริ่มชัดเจนขึ้นนี้จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของโลกปรับตัวดีขึ้น
ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าจะฟื้นตัวได้ก่อน และกลับมาขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีในปีข้างหน้า คือ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย นำโดยจีนและอินเดีย ภูมิภาคอาฟริกา และภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจีนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจีนกำลังจะก้าวแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่างเร็วคือในปีนี้ หรืออย่างช้าคือในปีหน้า นอกจากนี้ สัดส่วนของประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาต่อขนาดเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 30 ในปี 2551 ขึ้นไปอยู่ใกล้เคียงร้อยละ 40 ในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งเป็นปีที่ประเทศกลุ่มอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) โดยขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขึ้นไปใกล้เคียงร้อยละ 20 ของขนาดเศรษฐกิจโลก จากร้อยละ 12 ในปี 2551
นัยสำคัญของการฟื้นตัวสู่วัฏจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ที่มีต่อประเทศไทย ประการแรกคือ ภาครัฐและเอกชนของไทยควรให้ความสนใจต่อการทำการค้าขายกับกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งความต้องการสินค้าจากไทยของประเทศเหล่านี้ย่อมแตกต่างไปจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายมากกว่า ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอาจต้องการสินค้าต้นน้ำเพื่อเป็นวัตถุดิบหรือปัจจัยในการผลิตมากกว่า โดยในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคอาจต้องมุ่งกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคระดับบน เนื่องจากในตลาดล่าง สินค้าไทยอาจไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้นได้ ในอีกด้านหนึ่ง ในตลาดหลัก คือกลุ่ม G-3 นั้นผู้ประกอบการไทยควรเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากประชาชนของประเทศกลุ่มนี้ผ่านประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจอันเลวร้าย ซึ่งการที่ผู้บริโภคหันมาเก็บออมและใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ย่อมมีผลต่อสินค้าและช่องทางร้านค้าที่เลือกซื้อสินค้า ซึ่งจะมีผลต่อกำหนดกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และช่องทางจัดจำหน่ายของผู้ส่งออกไทยด้วย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในสภาวะที่เปราะบาง โดยปัญหาการว่างงานจะยังคงกดดันภาวะการบริโภค และจะถ่วงให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้อาจใช้ระยะเวลานานนับปีกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวเต็มศักยภาพได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังอาจมีสำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท ตลอดจนการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจมีผลกระทบในทางอ้อม เช่น ความกังวลของประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากไทย หรือหากมีการระบาดเข้าไปสู่ระดับสถานประกอบการอาจจะมีผลต่อประสิทธิการองค์กร ทำให้การผลิตล่าช้าไปกว่าสถานการณ์ปกติ