สถานการณ์โรงพยาบาลเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งนอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจนทำให้กำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกัน ผลจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ยังคงมีจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยถึง 6,776 คนและมีจำนวนผู้เสียชีวิต 44 คน(ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2552) ส่งผลให้ประชาชนเป็นจำนวนมากเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลเอกชน ทั้งการตรวจวิเคราะห์และรักษาอาการไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมไปถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่มีอยู่แล้วเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน จนส่งผลให้จำนวนคนไข้ที่เข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นกว่าปกติมาก และจากข้อมูลล่าสุด การผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงปลายปี 2552 นี้ ซึ่งก็คาดว่า จะมีผู้สนใจใช้บริการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลเอกชนตลอดช่วงครึ่งหลังของปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีรายได้รวมกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีถูกกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในระดับที่รุนแรงน้อยกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปคือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจจะส่งผลเชิงลบต่อจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่ปรับลดลงอย่างมาก เนื่องจากบางส่วนเกรงว่าจะมาติดหวัดในประเทศไทย ซึ่งสร้างความกังวลให้กับคนไข้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนพอสมควร
สถานการณ์โรงพยาบาลเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ถูกปัจจัยลบที่กระทบตลาด อันเป็นผลจาก กำลังซื้อของภาคประชาชนที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อาทิ ผู้ป่วยในส่วนของโรคไม่ร้ายแรงและไม่จำเป็นเร่งด่วนก็ชะลอการเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนออกไป โดยหาซื้อยามากินเอง หรือหากเป็นโรคที่ต้องรักษาเร่งด่วนก็พิจารณาลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและหันไปใช้บริการสถานพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าทดแทนอาทิ โรงพยาบาลของรัฐ หรือคลินิกเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า สำหรับในส่วนของคนไข้ต่างประเทศนั้นเดินทางเข้ามาน้อยกว่าปีก่อนๆประมาณ 10-20 % เพราะบางส่วนชะลอการเข้ามารักษาพยาบาลหรือการผ่าตัดออกไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับสถานการณ์ด้านการเมืองของไทยที่ยังคงขาดเสถียรภาพต่อเนื่องมาในปี 2552 และมีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเป็นระยะๆ กระทบต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังจะพิจารณาได้จากช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 6.53 ล้านคนลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 7.88 ล้านคน
ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลเอกชนที่จับตลาดคนไข้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวและจับตลาดกลุ่มชาวต่างชาติทั้งในส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เกิดเจ็บป่วยแบบกระทันหัน และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในรูปของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพเพื่อรักษาโรคโดยเฉพาะ ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่เคยให้บริการคนไข้ชาวต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงต่างหันมาสนใจพึ่งกำลังซื้อจากคนในประเทศ เพื่อเสริมรายได้และประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอาทิ การลดราคาค่าห้องพักฟื้น การจัดแพ็กเกจรักษาในราคาประหยัด หรือแบบเหมาจ่ายในราคาพิเศษให้กับคนไข้เก่าและใหม่ อาทิ การตรวจสุขภาพประจำปีแบบมีส่วนลด การรักษาโรคที่ประชาชนใช้บริการมาก อาทิ โรคหัวใจ คลอดบุตร การรักษาข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ซึ่งแม้ว่ารายได้จากคนไข้ในประเทศจะไม่สามารถชดเชยกับรายได้จากคนไข้ต่างประเทศที่หายไปได้ทั้งหมด เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อคนของคนไข้ต่างประเทศที่สูงกว่าก็ตาม แต่ก็ช่วยให้โรงพยาบาลเอกชนดำเนินธุรกิจและประคองตัวฝ่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆไปได้ดีพอสมควร หากเทียบกับธุรกิจอื่นๆที่ซบเซาอาทิ โรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร สถานบันเทิง
ดังจะพิจารณาได้จากผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 13 แห่งช่วงไตรมาสแรกปี 2552 พบว่ารายได้จากการดำเนินงานมีทั้งสิ้น 12,737.3 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 12,724.6 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิมีทั้งสิ้น 1,245.9 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,523.5 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่า ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชนในช่วงไตรมาสสอง อัตราการเติบโตจะอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสแรกหรือลดลงเล็กน้อยเนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ทำให้คนไข้มีการเลื่อนหรือกำหนดวันพบแพทย์ออกไปเพื่อเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทบต่อคนไข้ต่างประเทศมาก
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่า สถานการณ์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญดังนี้
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศชั้นนำหลายประเทศมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยูโรโซน รวมถึงจีนและอินเดีย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทย รวมไปถึงการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งปัจจัยทั้งสองประการส่งผลดีต่อกำลังซื้อของภาคประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นต่อการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนและทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผลจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ระบาดอย่างรวดเร็ว จนมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งมีผู้ป่วย 1,209 คนและพบผู้เสียชีวิต 2 คน จนมาถึงปัจจุบันเพียงระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนจำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นเป็น 6,776 คนและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 44 คน(ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2552) ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม และเศรษฐกิจบางสาขา อาทิ สาขาการศึกษา โรงเรียน สถาบันกวดวิชา สาขาบันเทิงทั้งโรงภาพยนตร์ ร้านเกมและอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจภาคบริการกลับได้รับผลดีเป็นอย่างมาก เพราะจากเดิมผู้ป่วยที่เคยเป็นไข้หวัดทั่วไปจะหาซื้อยาในร้านขายยาเพื่อรักษาตัวเอง ก็มีการปรับพฤติกรรมโดยหันไปพบแพทย์ตามคลินิคหรือโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งมีข่าวการระบาดของโรครวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างหนาตากว่าปกติ โดยประชาชนบางส่วนมาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลป้องกันไว้ก่อน บางส่วนมาเพื่อตรวจเช็คสุขภาพว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจรักษาโรคไข้หวัดทั่วไป ทั้งนี้ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้กำหนดราคาการตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทุกโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกอยู่ที่ 3,500 บาทต่อราย โดยแบ่งเป็นการตรวจคัดกรองหาชนิดของเชื้อ 500 บาท และตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันอีก 3,000 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวยังไม่รวมค่ายา ค่ารักษา ค่าห้องพักต่างๆ และจากการที่ประเมินกันว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะสามารถผลิตออกมาใช้ได้ในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น คงจะมีผู้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันยังสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนกันเป็นจำนวนมากก็จะส่งผลดีต่อรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังอย่างมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แม้ว่าจะส่งผลทำให้คนไข้ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยรายได้โรงพยาบาลเอกชนหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจนส่งผลกระทบต่อคนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่ปรับลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึงปีละกว่า 1 แสนล้านบาท สามารถเติบโตท่ามกลางพายุการเมืองและเศรษฐกิจได้ แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังมีปัจจัยเสี่ยงซึ่งอาจบั่นทอนศักยภาพการดำเนินธุรกิจ ทั้งสถานการณ์ด้านการเมือง ซึ่งหากยังคงขาดเสถียรภาพต่อไปก็อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ อีกทั้งยังมีผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้า ประการสำคัญคือ ความเสี่ยงจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ซึ่งหากมีการระบาดรุนแรงจนมีระดับที่เป็นอันตรายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ก็อาจจะกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ รวมทั้งยังส่งผลให้คนไข้ในประเทศบางรายที่มีอาการเจ็บป่วยไม่มากไม่กล้าเดินทางไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนเพราะกลัวจะติดโรค ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคนี้ยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงปลายปี 2552 ก็จะกระทบช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทย ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและการบริการทรุดตัวลงมากกว่าที่คาด รวมถึงกระทบต่อจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย ซึ่งอาจกังวลว่าจะมีผู้ป่วยร่วมเดินทางมาในเที่ยวบินนั้นด้วย ในขณะเดียวกัน เมื่อมาลงสนามบินปลายทางก็ยังต้องผ่านการตรวจคัดกรอง และหากติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็อาจต้องอยู่พักรักษาในไทยหลายวัน ซึ่งสร้างความไม่สะดวกต่อคนไข้ชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน ควรเร่งดำเนินการในเบื้องต้นก็คือ การวางระบบการคัดกรองผู้ป่วยอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการซึ่งมีจำนวนมากอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสถานที่โดยเฉพาะสำหรับการคัดแยกผู้ป่วยเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นๆ ขณะเดียวกันควรมีการเข้มงวดและดูแลรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ทางการแพทย์และพื้นที่ภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในจุดที่มีการสัมผัสหรือใช้งานร่วมกัน อาทิ ราวบันได ที่จับประตู ลิฟท์ เก้าอี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้มาใช้บริการอื่นๆ ซึ่งหากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใดสามารถสร้างความมั่นใจทางด้านระบบการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความวิตกกังวลของผู้มาใช้บริการและจูงใจให้ผู้ป่วยเข้าใช้บริการมากขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนควรให้ความสนใจจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสำหรับคนไข้ชาวต่างประเทศที่พำนักอาศัยหรือทำงานในไทย รวมถึงคนไข้ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งคนไข้ในประเทศหลายกลุ่มยังคงมีกำลังจับจ่ายใช้สอยพอสมควร ที่น่าสนใจมีอาทิ กลุ่มพนักงานบริษัทและประชาชนทั่วไปที่มีประกันสุขภาพ รวมไปถึงกล่มคนไข้ในประเทศที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ได้รับสิทธิจากโครงการประกันสังคม ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรหาหนทางควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่าย เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการใช้กลยุทธ์การตลาดด้วยการลดราคาค่าบริการในอัตราพิเศษ โดยการปรับลดค่าใช้จ่ายสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การปรับโครงสร้างการบริหารงานองค์กรเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร รวมถึงการบริหารสินค้าคงคลังประเภทยาและเวชภัณฑ์ไม่ให้มีจำนวนที่มากเกินไป ประการสำคัญคือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนลูกค้าโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ให้มีต้นทุนลดลง และผลจากการลดต้นทุนดังกล่าว จะช่วยรักษาสถานะผลการดำเนินงานของธุรกิจให้มีกำไรภายใต้ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัว ประกอบกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กระตุ้นให้คนไทยเข้ารับการตรวจโรคเบื้องต้นเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้จากคนไข้ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ยังคงสามารถประคองตัวฝ่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดคือ สถานการณ์ด้านการเมือง รวมทั้งการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งหากเพิ่มระดับความรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกระทบต่อจำนวนคนไข้ต่างประเทศที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ว่า คนไข้ชาวต่างชาติจะเริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของฤดูการท่องเที่ยว