ไข้หวัดใหญ่ 2009 กระทบจีดีพีไม่ต่ำกว่า 0.6% : โจทย์ที่รัฐต้องเร่งแก้

การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 [Pandemic (H1N1) 2009] ที่รุนแรงขึ้นในประเทศได้สร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ที่กำลังฟันฝ่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่ในขณะนี้ ท่ามกลางมรสุมหลายระลอกทั้งวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของโลก และปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A H1N1 นี้ไม่เพียงแต่เป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งโจทย์เศรษฐกิจใหม่ ในการบริหารเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ที่ทางการอาจต้องคำนึงถึงการวางมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยเตรียมแผนรองรับผลกระทบจากการระบาดของโรคนี้ไว้ด้วย

ทั้งนี้ เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคในการดำเนินชีวิตและกิจกรรมการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งขนาดความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจย่อมแปรผันไปตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ฯ ได้สร้างความกังวลในสังคมไทยจนอาจเรียกได้ว่าตื่นตระหนกนี้ ก็ได้สร้างเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพ ซึ่งการใช้จ่ายในด้านสุขภาพถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่คนทั่วไปไม่อาจหลีกเลี่ยง จึงเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ (จากเดิมที่ไม่มีแผนการใช้จ่ายด้านนี้มาก่อน) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดผลกระทบในทางลบต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ลงไปได้บ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลโดยรวมที่เกิดจากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

แนวโน้มการระบาด … ยาวนาน และยากที่จะคาดการณ์วิวัฒนาการของเชื้อ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลก หลังจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ยกระดับความรุนแรงขึ้นเป็นระดับสูงสุด คือระดับ 6 ซึ่งหมายถึงการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเรียกว่า Pandemic (H1N1) 2009 และได้ยอมรับว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A H1N1 นี้ได้แพร่ระบาดอย่างเต็มขั้นจนไม่สามารถหยุดยั้งได้ โดยเรียกร้องว่าประเทศต่างๆ ควรต้องเตรียมการด้านวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 164,541 คน และมีผู้เสียชีวิต 883 คน

สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ ในขณะนี้ รัฐบาลได้เปลี่ยนการรายงานสถานการณ์อย่างเป็นทางการจากรายวันมาเป็นรายสัปดาห์ โดยข้อมูลสะสมถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่มีการยืนยันผลการตรวจทดสอบแล้วจำนวน 6,776 คน มีผู้เสียชีวิต 44 คน ซึ่งการระบาดที่ขยายวงกว้างออกไปในเวลารวดเร็ว อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของไทยนับว่าอยู่ในขั้นที่รุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศในด้านมาตรฐานสาธารณสุขที่ปรากฏออกไปสู่สายตาของชาวต่างประเทศจึงไม่ดีนัก ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการเผยแพร่ข่าวของสื่อในต่างประเทศถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่สูงเกินความเป็นจริงมาก อาจเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้แก่ชาวต่างชาติที่รับรู้เรื่องราวของประเทศไทยจากภายนอก

สถานการณ์การระบาดของโรคในระยะต่อจากนี้เป็นสิ่งที่ยากที่จะคาดเดา เนื่องจากจนถึงขณะนี้ แม้แต่ประเทศที่มีการเริ่มต้นระบาดในช่วงแรกๆ อย่างเม็กซิโก หรือสหรัฐฯ จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่ได้น้อยลง แม้แต่ประเทศที่ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าในด้านระบบสาธารณสุข เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่ง และบางประเทศก็มีอัตราการติดเชื้อต่อจำนวนประชากรสูงเกือบร้อยละ 0.1 ของจำนวนประชากรของประเทศ เช่น บรูไน (ร้อยละ 0.09) ออสเตรเลีย และชิลี (ร้อยละ 0.07) ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.002 และประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.01

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การระบาดของโรคนี้ จะยังคงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน อาจจะตลอดครึ่งหลังของปีนี้ หรือต่อเนื่องต่อไปในปีข้างหน้าด้วย แต่การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจยากที่จะประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่ไกลออกไปถึงปีหน้า เนื่องจากไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ถึงวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสนี้ว่าจะมีความรุนแรงต่อไปมากหรือน้อยเพียงใด ณ จุดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยมีสมมติฐานการประมาณการ กล่าวคือ คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ แต่หากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการด้านการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการป้องกันการติดต่อของโรค ก็อาจช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในอัตราที่ชะลอลงเป็นลำดับ และลดความตื่นตระหนกของประชาชนลงได้ แต่ถ้าหากการแพร่ของเชื้อไวรัสนี้ยังคงไม่ชะลอลง ผลกระทบก็อาจจะยิ่งยาวนานขึ้น ภายใต้สภาวะดังกล่าวคนทั่วไปน่าจะเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวในการป้องกันการติดต่อของโรคมากขึ้น แต่จะมากเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการของทางการในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ชนิด A (H1N1) นี้เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความคืบหน้า ซึ่งหากเริ่มนำมากระจายให้แก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 4/2552 ก็จะทำให้ลดโอกาสการติดเชื้อและเสียชีวิตของคนกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ทั้งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน ผลต่อธุรกิจต่างๆ และการดำเนินการของภาครัฐ ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

ความกลัวติดเชื้อ … ฉุดรายได้ท่องเที่ยวและบริการ
การระบาดของเชื้อไวรัสนี้ไปทั่วโลกได้มีผลทำให้การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกลดลง ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงในประเทศไทยที่นับว่ารุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้ผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยยิ่งลดน้อยลงมากขึ้น ซึ่งผลกระทบอาจจะยาวนานต่อไปจนกว่าการระบาดจะคลี่คลายลง โดยล่าสุดได้มีการเปิดเผยของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งพบว่านักท่องเที่ยวจากประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลงมาก ขณะที่บริษัทสายการบินต่างก็ออกมาระบุถึงยอดผู้โดยสารที่ลดลงถึงร้อยละ 20 ซึ่งถ้าการแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 4/2552 ก็อาจจะกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน ที่ผู้ประกอบการกลุ่มท่องเที่ยวเคยคาดหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะเริ่มกลับเข้ามาหากสถานการณ์การเมืองของไทยนิ่งขึ้น

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินแล้ว ธุรกิจในภาคบริการภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หวาดวิตกต่อการติดต่อของโรค ทำให้มีผู้ใช้บริการลดลง นอกจากนี้ ถ้าการระบาดในช่วงต่อไปยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ รัฐบาลอาจสั่งให้หยุดกิจกรรมบางประเภทได้อีก ซึ่งสถานการณ์ทั้งหลายนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจ โดยธุรกิจที่อาจถูกกระทบเป็นอันดับแรกๆ เช่น ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ Entertainment Complex ร้านเกมส์ ร้านอินเทอร์เน็ต โรงเรียนพิเศษและกวดวิชา สถานบันเทิง ระบบขนส่งโดยสารสาธารณะ ขณะเดียวกัน การที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการออกมาจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน ก็อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดและยอดขายสินค้าหลายประเภทด้วย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ

ธุรกิจอิงกระแสสุขภาพ … รับอานิสงส์
ในภาวะที่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบในทางลบจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้เกิดการสะพัดของเม็ดเงินในหลายธุรกิจเช่นกัน ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง คือ ธุรกิจโรงพยาบาล ผู้ผลิตและผู้ขายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ตรวจทดสอบการติดเชื้อ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ดูแลทำความสะอาด ซึ่งสินค้าเช่นหน้ากากอนามัยเป็นที่ต้องการสูงจนขาดตลาด ทั้งนี้ สินค้าและบริการด้านสุขภาพถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายได้ และค่อนข้างเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง โดยปกติ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7 ของการบริโภคของภาคเอกชนทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 4 ของจีดีพีในแต่ละปี เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นเข้ามาสู่ธุรกิจนี้จึงมีมูลค่าไม่น้อย

นอกจากนี้ ความพยายามป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นโรค ยังส่งผลให้เกิดกระแสการซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพอื่นๆ ด้วย เช่น สมุนไพรที่ช่วยสร้างภูมิตุ้มกันโรค อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องโอโซนฆ่าเชื้อโรค และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระบบขจัดเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งกระแสสุขภาพที่มาแรงนี้น่าจะเป็นจุดขายให้ธุรกิจนำไปปรับกลยุทธ์สร้างยอดขายได้เป็นอย่างดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ การที่คนอยู่บ้านมากขึ้นก็อาจเป็นผลดีต่อธุรกิจจัดส่งสินค้าตามบ้าน Home Delivery และสินค้าที่ให้ความบันเทิงและความเพลิดเพลินภายในบ้าน เช่น ชุดโฮมเธียเตอร์ เครื่องดีวีดี และเคเบิลทีวี เป็นต้น รวมทั้งภาคธุรกิจก็อาจมีการติดต่อธุรกิจผ่านบริการ e-Commerce และบริการโทรคมนาคม (เช่น การติดต่องานผ่านโทรศัพท์ หรือ Teleconference) มากขึ้น

ผลกระทบโดยรวม … จีดีพีอาจลดลงอย่างน้อยร้อยละ 0.6
จากการประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น ทั้งในด้านลบและด้านบวกจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการหลายด้าน อาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท หรือตัดลดจีดีพีลงร้อยละ 0.7 จากประมาณการในกรณีพื้นฐานเมื่อเดือนมิถุนายน (ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นี้จะหดตัวลงร้อยละ 3.5) อย่างไรก็ตาม กระแสการป้องกันโรคจะทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ทางการก็จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการในด้านการรักษาพยาบาล การจัดหายาและวัคซีน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน และอื่นๆ ซึ่งประเมินว่าเม็ดเงินสะพัดจากอานิสงส์ของการระบาดของโรคดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท หรือทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ผลกระทบโดยรวมแล้ว จึงคาดว่าจะทำให้มูลค่าจีดีพีของไทยในปี 2552 นี้ สูญเสียไปอย่างน้อยประมาณ 51,000 ล้านบาท หรืออัตราการขยายตัวของจีดีพีลดลงประมาณร้อยละ 0.6 เป็นอย่างน้อย จากประมาณการในกรณีพื้นฐาน (ที่ร้อยละ 3.5) โดยจะกระทบให้จีดีพีในไตรมาสที่ 3 ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 1.6 ทำให้หดตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 5.6 จากเดิมคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 4.0 ขณะที่จะกระทบให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4 ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 0.9 ทำให้อาจขยายตัวร้อยละ 2.0 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 แต่ถ้าอัตราเพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาดในช่วงไตรมาสที่ 4 ยังไม่ชะลอลง ผลกระทบก็จะสูงขึ้นมากกว่านี้

โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากปัจจัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจจะทำให้อัตราการขยายตัวของปี 2552 นี้ ต่ำลงจากประมาณการในกรณีพื้นฐานที่คาดว่าจีดีพีจะหดตัวร้อยละ 3.5 มาเป็นหดตัวร้อยละ 4.1 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอาจจะหดตัวลงน้อยกว่านี้หากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกกลับมาดีขึ้น ทำให้การส่งออกมีการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้ง ถ้าหากรัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างได้ผล ที่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไปและชาวต่างชาติให้กลับคืนมาได้

โดยสรุป สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ล่าสุด มีความรุนแรงกว่าคาดการณ์ในกรณีพื้นฐาน ที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ที่เป็นช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ถ้าความรุนแรงของอาการของเชื้อไวรัสนี้ยังเป็นดังเช่นปัจจุบัน ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาอาการให้หายได้ ขอบเขตของการระบาดนี้ก็ยังคงอยู่ภายใต้กรอบประมาณการเศรษฐกิจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายจีดีพีอาจจะหดตัวลงไปถึงร้อยละ 5.0

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเชื้อไวรัสนี้จะยังคงแพร่ระบาดรุนแรงต่อไปตลอดช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ และมีโอกาสที่จะคงอยู่ยาวนานไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี หากมาตรการของทางการในการควบคุมการติดเชื้อยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคให้ชะลอลงได้ ซึ่งจะเป็นผลให้เศรษฐกิจและสังคมไทยจะต้องอยู่กับปัญหานี้ และเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ยาวนานต่อไปอีกหลายเดือน หรืออาจต่อเนื่องไปถึงปีหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความคืบหน้า ซึ่งวัคซีนที่จะนำเข้าจากต่างประเทศน่าจะสามารถนำมากระจายให้แก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 4 และเมื่อวัคซีนที่ทดลองผลิตภายในประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก ประสบความสำเร็จ ไทยจะสามารถผลิตวัคซีนใช้เองได้ 2.5-2.8 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งจะลดโอกาสการติดเชื้อและเสียชีวิตของคนกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น

จากการประเมินสถานการณ์ทั้งในด้านลบและด้านบวกจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการหลายด้าน อาจสร้างความสูญเสียแก่เศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท แต่จากเม็ดเงินสะพัดจากอานิสงส์ของการระบาดของโรคดังกล่าวอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 9,000 ล้านบาท เนื่องจากกระแสการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพที่มาแรง จะมีส่วนทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายในด้านนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่ทางการก็จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการดำเนินมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โดยรวมสุทธิแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในปี 2552 อย่างน้อย 51,000 ล้านบาท หรือมีผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีลดลงอย่างน้อยร้อยละ 0.6 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความโน้มเอียงที่จะไปสู่การหดตัวที่อัตราร้อยละ 4.1 จากกรอบประมาณการเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-5.0 โดยตัวแปรที่อาจจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว คือ การที่เศรษฐกิจโลกและการส่งออกอาจกลับมาดีขึ้น รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

สำหรับการดำเนินมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคนี้และผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคม โดยบทบาทสำคัญของรัฐบาลควรต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านกลไกของรัฐในทุกรูปแบบ เนื่องจากในช่วงแรกการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในเขตเมืองหลวง และเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีระบบสาธารณสุขที่ดี และประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว ในขั้นต่อไปจึงต้องเตรียมรับมือการระบาดสู่พื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ประชาชนก็ควรใส่ใจต่อการป้องกันการรับและการแพร่ของเชื้อโรค และถ้าภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ มีมาตรการป้องกันการระบาดของโรคภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยตัดวงจรการแพร่ระบาดได้มาก นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและชาวต่างชาติต่อแนวทางปฏิบัติและมาตรการรับมือของประเทศไทย อีกทั้งควรที่จะติดตามเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงให้แก่ประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

นอกจากโจทย์เฉพาะหน้า ในด้านการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข เพื่อต่อสู้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้แล้ว รัฐบาลควรจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ที่ไกลออกไปไว้ด้วย สิ่งที่หลายฝ่ายเป็นกังวล คือ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) นี้ สามารถแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และจู่โจมระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในปอดได้อย่างรวดเร็วกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ธรรมชาติของเชื้อโดยทั่วไปมักมีโอกาสเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อการดื้อยาหรือการกลายพันธุ์ของไวรัส นอกจากนี้ การพัฒนาวัคซีนก็เป็นสิ่งที่ยังต้องติดตาม เนื่องจากแม้องค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า วัคซีนชุดแรกน่าจะแจกจ่ายได้ในเดือนกันยายนนี้ และประเมินว่าทั่วโลกจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 4.9 พันล้านโดส ภายในระยะเวลา 12 เดือน แต่ผลการผลิตวัคซีนในเบื้องต้นพบว่าวัคซีนที่ได้น้อยกว่ากระบวนการผลิตวัคซีนไข้หวัดตามฤดูกาล หากเป็นเช่นนั้น ปริมาณวัคซีนที่ผลิตได้อาจน้อยกว่าที่มีการประเมินไว้

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลอีกข้อหนึ่ง คือ การเตรียมแผนการฉุกเฉินรองรับกรณีที่โรคระบาดนี้อาจจะมีวิวัฒนาการไปในทางลบ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะที่ไกลออกไป โดยควรมีการตั้งกลไกที่รับผิดชอบโดยตรงสำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการด้านต่างๆ และควรสร้างเครือข่ายสาธารณสุขที่พร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉิน โดยอาจมีศูนย์ย่อยๆ ในลักษณะ Health Safety Net ลงไปในทุกระดับของชุมชนตั้งแต่ประเทศ จังหวัด ไปจนถึงหมู่บ้าน ที่จะเป็นผู้รับและกระจายข้อมูลให้ไปสู่ชุมชนในระดับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งควรมีการประสานกับสื่อที่มีบทบาทในท้องถิ่น และมีการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เร่งให้ความรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจวิธีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในการป้องกันโรค การดูแลรักษาในเบื้องต้นสำหรับผู้ติดเชื้อ และดูแลการป้องกันแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น รวมถึงมาตรการตีกรอบสกัดการแพร่ของเชื้อ จะเป็นสิ่งที่กันการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ ซึ่งการลดโอกาสติดเชื้อและการให้การรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วอย่างทันท่วงที จะช่วยลดการสูญเสียชีวิต ตลอดจนการสร้างความมั่นใจต่อมาตรการของทางการว่ามีความพร้อมในการรับมือได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งจะลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจได้อย่างดีที่สุด

สำหรับโจทย์ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาสาธารณสุขที่กลายมาเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจนี้ จะเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการรักษาเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย โดยการที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้ตามเป้าในยามที่มีปัจจัยลบที่บั่นทอนการเติบโตลงนั้น ย่อมหมายความว่ารัฐบาลจะต้องเร่งรัดหรือเพิ่มการใช้มาตรการมากขึ้น ซึ่งแนวทางเฉพาะหน้าที่จะทำได้คือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การผลักดันโครงการไทยเข้มแข็ง ให้คืบหน้าตามกรอบเวลาที่วางไว้ นอกจากนี้ ในกรณีงบประมาณสำหรับการสาธารณสุขภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งที่เป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 นี้ รัฐบาลอาจยกขึ้นมาเป็นโครงการเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ทั้งต่อการควบคุมป้องกันโรค และผลต่อเศรษฐกิจด้วย