ส่งออกของเล่นไทยปี’ 52 : การออกแบบและพัฒนายังเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ

ของเล่น เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะทางด้านสติปัญญา ร่างกาย และจิตใจให้แก่ผู้เล่น ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศได้ปีละกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของเล่นของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 1.0 ของการส่งออกของเล่นทั่วโลกซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกของเล่นที่อยู่ในตลาดผลิตภัณฑ์ระดับเดียวกันกับไทย แต่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของเล่นในตลาดโลกสูงถึงร้อยละ 36 ความท้าทายทางการแข่งขันในตลาดของเล่นของไทยในปัจจุบัน จึงอยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมของเล่นไทยควรปรับตัวหรือพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงกับการเผชิญหน้าทางการแข่งขันกับสินค้าของเล่นราคาถูกจากจีนในตลาดโลกได้

การผลิตของเล่นของไทยในปัจจุบัน… เน้นการผลิตตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก
การผลิตของเล่นของไทยในปัจจุบัน ได้พัฒนาจากอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก ส่งผลให้มีนักลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อของบริษัทเจ้าของการออกแบบและลิขสิทธิ์ของเล่นในต่างประเทศ โดยของเล่นที่ผลิตได้นั้นสามารถจำแนกตามลักษณะของวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ของเล่นที่ทำจากพลาสติกหรือโลหะ อาทิ รถยนต์ รถไฟ และหุ่นยนต์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของของเล่นที่ผลิตทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างทำการผลิตตามคำสั่งซื้อ (Original Equipment Manufacturing: OEM) จากบริษัทเจ้าของการออกแบบและลิขสิทธิ์สินค้าในต่างประเทศ ทำให้การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่วัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก

ของเล่นที่ทำจากไม้ ส่วนใหญ่เป็นของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างสติปัญญาเด็ก ซึ่งในปัจจุบันตลาดมีความต้องการมาก ทำให้สัดส่วนการผลิตของเล่นไม้ต่อปริมาณการผลิตของเล่นทั้งหมดในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 เนื่องจากวัตถุดิบการผลิตที่ใช้ส่วนใหญ่สามารถหาได้ง่ายภายในประเทศ

ของเล่นที่ทำจากผ้าและวัสดุอื่นๆ อาทิ ตุ๊กตารูปคนและสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นของเล่นที่เน้นความสวยงามและความประณีตในการตัดเย็บเป็นหลัก ถือเป็นข้อได้เปรียบสำหรับอุตสาหกรรมของเล่นไทยที่มีแรงงานมีฝีมือ สัดส่วนการผลิตของเล่นประเภทนี้จึงมีประมาณร้อยละ 20 ของของเล่นที่ผลิตได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังสามารถจำแนกประเภทของเล่นตามลักษณะการใช้งาน หรือตาม Harmonized Code ได้เป็น ของเล่นที่มีล้อ เช่น รถจักรยานสามล้อทำด้วยพลาสติก ของเล่นที่เป็นตุ๊กตาทำด้วยผ้าแล้วยัดนุ่นหรือใยสังเคราะห์เป็นรูปคนหรือสัตว์ต่างๆ และของเล่นอื่นๆ เช่น หุ่นจำลอง ชุดของเล่นประกอบ ของเล่นเพื่อการศึกษา เป็นต้น

ส่งออกของเล่นไทยครึ่งแรกของปี 2552 หดตัวร้อยละ 13.5… คาดกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง
การส่งออกของเล่นของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 หดตัวลงอย่างมากจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 13.5 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,941.7 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักหลายๆ แห่ง อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ลดลงมากถึงร้อยละ 14.6, 40.6 และ 9.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การนำเข้าสินค้าในหลายประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกของเล่นของไทยไปยังตลาดในบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และจีน ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผลจากการเรียกคืนสินค้าของเล่นที่มีปัญหาด้านความปลอดภัยของจีน ทำให้ผู้นำเข้าในหลายประเทศหันมาสั่งซื้อของเล่นที่ผลิตจากไทยแทนมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าในประเทศฮ่องกงของผู้ประกอบการของเล่นไทยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกของเล่นของไทยไปยังฮ่องกงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.6 ถือเป็นตลาดส่งออกของเล่นใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทยสำหรับการแข่งขันในอนาคต

สำหรับประเภทสินค้าของเล่นที่มีมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 หดตัวลงมากที่สุด คือ กลุ่มของเล่นอื่นๆ (ประกอบด้วย ชุดของเล่นประกอบ ของเล่นฝึกสมองและเครื่องดนตรี ของเล่นจัดทำเป็นชุด และของเล่นอื่นๆ เช่น หุ่นจำลอง หุ่นจำลองที่มีมอเตอร์ รถไฟไฟฟ้า ฯลฯ) มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,642.6 ล้านบาท ขยายตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 15.1 ขณะที่กลุ่มของเล่นที่มีล้อ และกลุ่มตุ๊กตารูปคนและสัตว์ กลับมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11.2 และ 2.6 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของเล่นของไทยลดลงนั้น นอกจากจะเป็นผลกระทบมาจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าสำคัญแล้ว การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคของเล่นของผู้บริโภค ความนิยมในอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของธุรกิจของเล่น รวมทั้งความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะปริมาณสารเคมีปนเปื้อน ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดของเล่นโลกในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เข้าสู่ภาวะที่ค่อนข้างทรงตัวหรือมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขมูลค่าการส่งออกของเล่นของไทยที่ขยายตัวลดลงมาก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมการส่งออก สมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย และผู้ประกอบการของเล่น ต่างร่วมมือกันเพื่อเร่งทำการส่งเสริมการส่งออก โดยการนำผู้ประกอบการของเล่นไทยไปจัดโรดโชว์และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากผลการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 อุตสาหกรรมของเล่นไทยได้รับรายการคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าในต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก อาทิจากผลการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Hong Kong Toys & Games Fair 2009 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมของเล่นไทยได้รับคำสั่งซื้อทันทีจากการเข้าร่วมงาน และการสั่งซื้อภายใน 1 ปี คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 59 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจสูง ได้แก่ ของเล่นที่ทำจากไม้ ของเล่นเพื่อการศึกษา และลูกโป่ง นอกจากนี้ ภายในปี 2552 ประเทศไทยยังมีการจัดงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับของเล่นภายในประเทศขึ้นอีก 3 งาน ประกอบด้วย งาน Good Toy Awards งาน Kid of the World และงาน Thailand Exhibition ซึ่งคาดว่าจะช่วยดึงกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศให้เข้ามาดูของเล่นที่สร้างจากฝีมือคนไทยได้เพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของเล่นของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 น่าจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากครึ่งปีแรก หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0-5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551 ทั้งนี้ ในภาพรวมของการส่งออกของเล่นของไทยตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าจะมีการขยายตัวลดลงอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 1.5-5.0 จากปี 2551

แนวโน้มตลาดของเล่นเพื่อการศึกษาและของเล่นเพื่อการสะสมขยายตัวสูงขึ้น <.b>
จากผลของการนำผู้ประกอบการไทยไปเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ ทำให้พบว่าแนวโน้มความต้องการของเล่นเพื่อการศึกษาและของเล่นเพื่อการสะสมยังมีโอกาสขยายตัวได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของเล่นไทยที่จะสามารถผลิตและพัฒนาของเล่นประเภทนี้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น

ของเล่นเพื่อการศึกษา (Edutainment Toys) เป็นของเล่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะของเด็กในระหว่างการเล่น จัดเป็นกลุ่มของเล่นที่ตลาดมีการเติบโตเร็วที่สุด โดยในปี 2552 นี้คาดว่าตลาดของเล่นเพื่อการศึกษาของโลกจะมีมูลค่ารวมกว่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2555 ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของเล่นไทยที่จะหันมาเน้นการผลิตและทำการตลาดในกลุ่มของเล่นเพื่อการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการของเล่นไทยที่หันมาผลิตของเล่นเพื่อการศึกษาแล้วไม่น้อยกว่า 30 ราย

ของเล่นเพื่อการสะสม มีตลาดที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche Market) ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และสามารถยอมจ่ายเงินในจำนวนที่มากกว่าปกติหลายเท่าตัว เพื่อแลกกับความสุขที่ได้ซื้อของเล่นที่ตนเองมีความหลงใหล และใช้เวลาในการค้นหามานาน สำหรับตลาดของเล่นเพื่อการสะสมของไทยในขณะนี้ยังถือว่าเล็กอยู่มาก เมื่อคิดเป็นจำนวนนักสะสมซึ่งมีอยู่เพียงประมาณร้อยละ 23 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสความนิยมของเล่นเพื่อการสะสมที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการรับเอาวัฒนธรรมและค่านิยมของคนญี่ปุ่นและเกาหลีที่เพิ่มมากขึ้นของวัยรุ่นไทย รวมทั้งความนิยมในของเล่นสะสมประเภทพรีเมี่ยมที่เกิดขึ้นจากกระแสของภาพยนตร์และการ์ตูนยอดนิยมที่เพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าในระยะเวลาอีก 1-2 ปีข้างหน้า กระแสความนิยมในของเล่นเพื่อการสะสมจะยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มผู้บริโภคของเล่นเพื่อการสะสมจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนตั้งแต่วัยนักศึกษาไล่ไปจนถึงวัยทำงาน

อุตสาหกรรมของเล่นไทย ถึงเวลาต้องมีสถาบันวิจัยและพัฒนาด้านการออกแบบและเทคโนโลยีแล้วหรือยัง?
จากการที่มูลค่าการส่งออกของเล่นของไทยในปัจจุบัน มีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลกเพียงร้อยละ 1 ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่จะเน้นผลิตของเล่นที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน อาทิ ตุ๊กตาที่ทำจากผ้า และของเล่นเด็กแรกเกิด โดยอาศัยปัจจัยด้านคุณภาพฝีมือแรงงานเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขัน กลับต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากสินค้าของเล่นราคาถูกจากจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในตลาดโลกประมาณร้อยละ 36.8 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่า ความได้เปรียบในด้านต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่า การมีแหล่งวัตถุดิบราคาถูกภายในประเทศ และความก้าวหน้าของการพัฒนาฝีมือแรงงานที่รวดเร็วของจีน จะส่งผลให้ข้อได้เปรียบในด้านคุณภาพฝีมือแรงงานของไทยสำหรับอุตสาหกรรมของเล่นลดลง จนในอนาคตสินค้าของเล่นของไทยอาจไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าของเล่นจากจีนได้ แม้ว่าปัจจุบันสินค้าของเล่นจากจีนจะยังคงติดปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้นำเข้าในหลายประเทศก็ตาม แต่ด้วยการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และฝีมือแรงงานที่รวดเร็วของจีน ทำให้คาดว่าในอนาคตอันใกล้สินค้าของเล่นจากจีนน่าจะกลับคืนสู่ตลาดได้อย่างแน่นอน ดังนั้น หากอุตสาหกรรมของเล่นไทยยังไม่มีการปรับตัวหรือกำหนดแนวทางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งให้ชัดเจนแล้ว อาจส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าของเล่นไทยในตลาดโลกลดลงได้อีก

ทั้งนี้ หากพิจารณาคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ จะพบว่าของเล่นจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา และมีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่สั้น ดังนั้น ปัจจัยดึงดูดสำคัญที่จะทำให้ของเล่นเป็นที่ต้องการของตลาดและได้รับความนิยม คือ รูปร่างลักษณะ (Character) เช่น การออกแบบของเล่นตามตัวการ์ตูนที่กำลังเป็นที่รู้จัก รวมทั้งการนำเอานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้กับผลิตภัณฑ์และทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดึงดูดเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องอาศัยการทำวิจัย ออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องด้วยในปัจจุบันที่การพัฒนาในด้านนี้ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของเล่นไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด เพราะการผลิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบของการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าในต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของการออกแบบและลิขสิทธิ์ของเล่น ทำให้ผู้ประกอบการของเล่นไทยขาดแรงจูงใจและมีโอกาสในการพัฒนาด้านการออกแบบและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์น้อย

ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการส่งออก ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หากพิจารณาแล้วเห็นว่าอุตสาหกรรมของเล่นของไทยยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในอนาคต คือ ต้องเร่งพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาเทคโนโลยีของเล่นให้สามารถเกิดขึ้น ภายใต้การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการไทย เพราะสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยดึงดูดสำคัญที่จะทำให้ของเล่นไทยเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาด รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมด้วยการมีตราผลิตภัณฑ์หรือลิขสิทธิ์สินค้าที่เป็นของผู้ประกอบการไทยเองโดยตรง อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ตามมาจากข้อพิจารณานี้คือ ในขณะนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ในประเทศไทยควรจะมีหน่วยงานกลางที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำวิจัย ออกแบบผลิตภัณฑ์ และพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมของเล่นให้เกิดขึ้น แล้วถ่ายทอดการพัฒนาเหล่านี้ไปสู่กระบวนการผลิตโดยกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่มีทักษะและประสบการณ์พร้อม อีกทั้งยังมีแรงงานที่มีฝีมือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการผลิต เพื่อให้อุตสาหกรรมของเล่นไทยสามารถก้าวข้ามจากการเป็นผู้ผลิตและส่งออกในตลาดผลิตภัณฑ์ระดับล่างไปสู่ตลาดระดับกลางถึงบน ที่มีคู่แข่งขันสำคัญซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้านการออกแบบและเทคโนโลยีของเล่นที่ไทยเป็นผู้รับจ้างทำการผลิตให้อยู่ในปัจจุบันอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมของเล่นไทย เพื่อเตรียมพร้อมในเบื้องต้นสำหรับก้าวไปสู่การเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีด้านของเล่นในอนาคต คือ ต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยเฉพาะการศึกษาลักษณะความต้องการของเล่นของผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน รวมทั้งศึกษาแนวโน้มความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของการออกแบบและพัฒนาของเล่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ขณะที่ในด้านกลยุทธ์ทางการตลาดนั้น การนำเอาเครื่องมือทางการตลาดสมัยใหม่ อาทิ การสร้างกระแส New Media ให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ มาใช้ในยุคที่กระแสอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ก็จะช่วยทำให้เกิดความแพร่หลายของช่องทางการตลาดและทำให้การสื่อสารทางตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคเกิดขึ้นได้รวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการทำให้ผลิตภัณฑ์ของเล่นนั้นเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้าง

สรุป
แม้ว่าของเล่นจะเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ไทยสามารถส่งออกและทำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละไม่น้อยกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอาศัยความได้เปรียบด้านคุณภาพฝีมือแรงงานเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขัน แต่ด้วยแนวโน้มของการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานและเทคโนโลยีประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ของเล่นของจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มวิตกว่า ความได้เปรียบในด้านคุณภาพฝีมือแรงงานของไทยในอุตสาหกรรมของเล่นนั้นกำลังลดลง อีกทั้ง ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของประเทศผู้นำเข้าสำคัญ รวมทั้งมาตรการตรวจสอบสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้นของประเทศผู้นำเข้า และการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคของเล่นของผู้บริโภค ก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของเล่นของไทยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยนั้น ตลาดของเล่นจะยังคงมีการขยายตัวของอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะของเล่นเพื่อการศึกษาที่จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทักษะและสติปัญญาของผู้เล่น ดังนั้น ในอนาคตจึงคาดว่าการแข่งขันในตลาดของเล่นจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความสร้างสรรค์ และการพัฒนาเทคโนโลยีประกอบสำคัญในของเล่น จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมของเล่นไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จึงถือเป็นความท้าทายใหม่ที่ยังรอการพัฒนาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มของผู้ประกอบการภายในอุตสาหกรรมเอง

สำหรับภาพรวมการส่งออกของเล่นของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 พบว่า มูลค่าการส่งออกหดตัวลงมากถึงร้อยละ 13.5 แต่ด้วยมาตรการส่งเสริมการส่งออกที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของเล่นของไทยที่มากขึ้น ทำให้คาดว่าการส่งออกของเล่นของไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกของเล่นของไทยตลอดทั้งปี 2552 น่าจะมีแนวโน้มหดตัวลงจากปีก่อนประมาณร้อยละ 1.5-5.0 โดยกลุ่มสินค้าของเล่นที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ของเล่นเพื่อการศึกษา เนื่องจากคาดว่ามูลค่าตลาดของเล่นเพื่อการศึกษาของโลกในปี 2552 นี้ จะมีมูลค่ารวมกว่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2555 ขณะที่ตลาดของเล่นภายในประเทศนั้น กลุ่มสินค้าของเล่นที่น่าจับตามอง คือ ของเล่นเพื่อการสะสม ซึ่งพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของเล่นของผู้บริโภคในตลาดนี้ จะอยู่บนพื้นฐานของความชื่นชอบและความหลงใหลในตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก แม้ว่าราคาของผลิตภัณฑ์จะสูงเพียงใดก็ตาม แต่ความสุขและความพึงพอใจของผู้บริโภคก็ยังมีอิทธิพลมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคเต็มใจจ่ายเพื่อซื้อของเล่นชิ้นนั้นๆ ได้ ทั้งนี้ คาดว่าตลาดของเล่นเพื่อการสะสมภายในประเทศมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากการรับเอาค่านิยมและวัฒนธรรมเกาหลีและญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน