กรุงเทพฯ -11 สิงหาคม 2552 – เจ็ทสตาร์ สายการบินราคาประหยัดแห่งออสเตรเลียเดินหน้าขยายการลงทุนพลิกโฉมรูปแบบการให้บริการการเดินทางทางอากาศ ประกาศเตรียมเปิดให้บริการออกบัตรขึ้นเครื่องหรือบอร์ดดิ้งพาสผ่านระบบเอสเอ็มเอส และบริการเช็คอินล่วงหน้า 24 ชั่วโมงสำหรับผู้จองบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์เจ็ทสตาร์ www.jetstar.com โดยเตรียมเปิดให้บริการก่อนสิ้นปี 2552 ผู้โดยสารของเจ็ทสตาร์ซึ่งใช้บริการเช็คอินเที่ยวบินภายในประเทศออสเตรเลียบนเว็บไซด์ Jetstar.com จะได้รับสิทธิ์ให้เลือกรับบัตรขึ้นเครื่องหรือบอร์ดดิ้งพาส (boarding pass) พร้อมรหัสขึ้นเครื่อง (boarding code) ที่ส่งผ่านระบบเอสเอ็มเอสตรงถึงเครื่องโทรศัพท์มือถือของลูกค้าที่แสดงความจำนงไว้ ทั้งนี้
เจ็ทสตาร์เป็นสายการบินรายแรกของโลกที่ให้บริการออกบัตรขึ้นเครื่องผ่านระบบเอสเอ็มเอสส่งตรงถึงโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ และในเร็วๆ นี้ เจ็ทสตาร์ยังเตรียมเปิดให้บริการเช็คอินแบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาให้แก่ผู้โดยสาร โดยลูกค้าที่ซื้อบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์ Jetsar.com สามารถขอใช้บริการเช็คอินแบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทาง พร้อมรับบัตรขึ้นเครื่องผ่านระบบเอสเอ็มเอส
สำหรับระบบเอสเอ็มเอสที่ใช้ในการส่งบัตรขึ้นเครื่องคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท ซิสซิท กรุ๊ป (Sissit Group) และอยู่ในระหว่างการทดสอบ ณ สนามบินเมลเบิร์น อวาลอน ในขณะนี้ โดยเตรียมจะนำออกให้บริการในปลายปีนี้
มร. บรูซ บิวคานัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินเจ็ทสตาร์ กล่าวว่า “เทคโนโลยีใหม่ทั้ง 2 ระบบได้รับการออกแบบและพัฒนาสำหรับเจ็ทสตาร์โดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนและรองรับการให้บริการการเดินทางทางอากาศของเจ็ทสตาร์ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ส่งผลให้เจ็ทสตาร์เป็นสายการบินแรกในอุตสาหกรรมการบินที่ให้บริการออกบัตรขึ้นเครื่องผ่านระบบเอสเอ็มเอสและบริการเช็คอิอัตโนมัติ”เทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสายการบินเจ็ทสตาร์ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ยังลดขั้นตอนในการทำงานของพนักงานบริการลูกค้าของเจ็ทสตาร์ โดยบอร์ดดิ้งพาสผ่านเอสเอ็มเอสให้บริการแก่ผู้โดยสารที่ไม่มีกระเป๋าที่ต้องโหลดใต้เครื่อง
“เจ็ทสตาร์เตรียมจะนำเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวออกใช้ในตลาดเส้นทางบินในประเทศอื่นๆ หลังจากการทดสอบระบบแล้วเสร็จ การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในครั้งนี้ตอกย้ำถึงปณิธานของเจ็ทสตาร์ที่มุ่งมอบให้บริการที่เปี่ยมประสิทธิภาพแก่ลูกค้า และสนับสนุนการเดินทางอากาศให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว และสามารถเดินทางได้บ่อยครั้งมากขึ้น” มร. บิวคานัน กล่าวปิดท้าย