กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ … ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่นักลงทุนอาจพิจารณากระจายการลงทุน

ตลอดช่วงที่ผ่านมาในปี 2552 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้นักลงทุนแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มักจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยเช่นกัน ทั้งนี้ ในบรรดากองทุนรวม FIF นั้น กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้มีมูลค่าการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด โดยในจังหวะที่มีการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้สูงสุดนั้น เงินลงทุนจากประเทศไทยที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวก็มีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551เป็นต้นมา เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยและให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี นอกจากนี้พันธบัตรเกาหลีใต้ที่บลจ.เลือกลงทุนนั้นมักจะมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A ขึ้นไป ขณะที่โดยส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนจะเน้นการลงทุนในระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน หรือ 1 ปี

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ยังคงดึงดูดนักลงทุนมีดังต่อไปนี้

กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ให้อัตราผลตอบแทนที่จูงใจกว่า (ระยะเวลา 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 1.80-2.00% ต่อปี 2.25-2.50% ต่อปี และ 3.30-3.45% ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. 2552 เป็นต้นมา) เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ที่มีระยะเวลาการถือครองเดียวกันในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำมาก อาทิ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (NAV Return เฉลี่ยของตราสารหนี้ระยะเวลา 1 ปี 1.93% ต่อปี) และเงินฝากประจำพิเศษ 15 เดือน (อัตราดอกเบี้ยประมาณ 1.25-2.25% ต่อปี)

พันธบัตรเกาหลีใต้ที่บลจ.เข้าไปลงทุนนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารกลางหรือตราสารหนี้ภาครัฐที่มีรัฐบาลเกาหลีใต้ค้ำประกันอยู่ซึ่งจะมีความมั่นคงสูงมาก (มักจะมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A+ จากสถาบันจัดอันดับเครดิตฟิตซ์) จึงสามารถสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในระดับหนึ่งว่าคงจะไม่เผชิญสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้

กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ยังคงปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดายังได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) 15% ให้กับนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง (MSB-Monetary Stabilization Bond) และกระทรวงการคลัง (KTB-Korea Treasury Bond) อีกด้วย

เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงขอนำเสนอภาวะล่าสุดของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ดังนี้

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้
แม้ว่าประเทศเกาหลีใต้จะได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของปี 2551 ขยายตัวเพียง 2.2% YoY (เทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัว 5.1%) เนื่องจากภาคการส่งออกทรุดตัวลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาทิ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสของเกาหลีใต้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/2552 และไตรมาส 2/2552 ที่ 0.1% YoY และ 2.3% YoY ตามลำดับ เทียบกับการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 4/2551 ที่ 5.1% YoY ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น โดยในไตรมาส 2/2552 การส่งออกขยายตัว 22.2% QoQ เทียบกับการหดตัว 19.9% QoQ ในไตรมาส 1/2552 ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ปรับขึ้นมา 40% จากสิ้นปี 2551 แล้ว นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ของเกาหลีใต้ก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน เช่น การบริโภค การลงทุน ตลอดจนการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระนั้นก็ดี เมื่อพิจารณาถึงการก่อหนี้สินต่างประเทศของเกาหลีใต้พบว่ามีมูลค่าสูงมากถึง 369,330 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 12,560,000 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุดไตรมาส 1/2552) ซึ่งโดยปกติแล้วเกาหลีใต้มักจะมีหนี้ต่างประเทศในระดับที่สูงอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จากฐานะเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง กอปรกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในระดับที่ดี ก็น่าจะเชื่อได้ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้คงจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว และกำลังเริ่มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ แต่เนื่องจากเงินลงทุนของนักลงทุนไทยในเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงมาก ตลอดจนนักลงทุนอาจเห็นว่าได้ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้มากเพียงพอแล้ว จึงอาจพิจารณากระจายการลงทุนไปยังช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเกาหลีใต้ได้เริ่มปรับลดลงเล็กน้อย (ประมาณ 0.20-0.40% เนื่องจากต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2552 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นจังหวะที่มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยนเงิรวอนไปเป็นเงินดอลลารืฯ ให้ปรับสูงขึ้น) ทั้งนี้ ช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจดังกล่าว อาทิ

พันธบัตรของรัฐบาล การออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่ออกไปแล้วจำนวนรวม 8 หมื่นล้านบาทนั้น ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนรายย่อยอย่างท่วมท้น ดังนั้น คาดว่ารัฐบาลไทยน่าจะออกขายพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า เนื่องจากมูลค่าของพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลที่เสนอขายออกไปยังไม่เต็มกรอบวงเงินกู้ ขณะที่ประชาชนก็ให้ความสนใจอย่างมากจากผลตอบแทนที่ค่อนข้างจูงใจ (ระยะเวลาการลงทุน 5 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปี) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลจะเป็นการลงทุนในระยะยาว แต่หากนักลงทุนมีความจำเป็นจะต้องขายพันธบัตรก่อนกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน อาจสามารถทำได้เนื่องจากความต้องการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ในตลาดรองน่าจะยังมีอยู่ แต่นักลงทุนอาจต้องยอมรับอัตราผลตอบแทนที่อาจปรับลดลงไปเป็นบางส่วน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในเรื่องสภาพคล่องและระยะเวลาการถือครองของนักลงทุนแต่ละรายด้วย

หุ้นกู้ภาคเอกชน ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2552 เป็นต้นมา บริษัทต่างๆ ทยอยออกหุ้นกู้เป็นจำนวนค่อนข้างมาก เพื่อล็อคต้นทุนเอาไว้ในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกคาดการณ์ว่าอยู่ในระดับต่ำสุดแล้ว โดยการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนนั้น สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในประเภทอายุเดียวกัน อาทิ หุ้นกู้ในท้องตลาดอายุ 3-5 ปี เรทติ้ง AAA จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.84%, เรทติ้ง AA จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.07%, เรทติ้ง A จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.93% และหุ้นกู้เรทติ้ง BBB จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.50% ต่อปี (ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ณ วันที่ 7 ส.ค. 2552) อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องอัตราผลตอบแทนแล้ว ประเด็นที่จะต้องพิจารณาสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน ก็คือ การเลือกหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดี อันหมายถึงความเสี่ยงจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ หรือโอกาสการได้รับเงินต้นและอัตราผลตอบแทนตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขของหุ้นกู้คืนครบจำนวนในอนาคต

กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Equity Fund) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นเอเชีย โดยกองทุนดังกล่าวน่าจะถูกนำเสนอขายให้กับนักลงทุนในระยะถัดไป เนื่องจากเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวก่อนกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ ส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวดีตามเศรษฐกิจไปแล้วมากกว่า 40% นับจากสิ้นปี 2551 (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดัชนีตลาดหุ้นจีนขยายตัว 73% ณ วันที่ 13 ส.ค. 2552 จากปลายปีที่แล้ว ) เทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งมีการปรับขึ้นเพียง 7% (ณ วันที่ 13 ส.ค. 2552 เทียบกับสิ้นปี 2551) ทั้งนี้การที่นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจในเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวก่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น เนื่องจากเริ่มต้นจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า อีกทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางในภูมิภาคดังกล่าวพร้อมใจดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีเศรษฐกิจจีนเป็นแกนหนุนหลัก นอกจากนี้ การเลือกลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่โดยผ่านการบริหารกองทุนของบลจ.ซึ่งมีความรู้และความชำนาญมากกว่านักลงทุนรายย่อย ก็น่าจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าการลงทุนด้วยตนเองที่จะถูกกำหนดทั้งวงเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ (5 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อราย) อีกทั้งมีข้อจำกัดด้านข้อมูลข่าวสารและความเชี่ยวชาญอีกด้วย โดยล่าสุด ณ วันที่ 11 ส.ค. 2552 ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือนของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 91% ต่อปี (NAV Return) กระนั้นก็ดี แม้ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นของตลาดเกิดใหม่จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปในระดับที่สูงจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก แต่นักลงทุนอาจต้องยอมรับความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาหุ้นด้วย

ผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษของธนาคารพาณิชย์ นับจากช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2552 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งได้เริ่มทยอยนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำปกติ ออกสู่ตลาด โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีระยะเวลาการออมที่สั้นกว่าพันธบัตรออมทรัพย์“ไทยเข้มแข็ง” และหุ้นกู้ภาคเอกชน แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำอายุ 7-10 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.25-1.60% ต่อปี (สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนปกติที่ระดับ 1.00-1.25%) นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังนำเสนอทางเลือกเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะยาว อาทิ เงินฝากประจำพิเศษ 36-40 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.50-3.00% ต่อปี และเงินฝากประจำพิเศษ 48-60 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.50-4.00% ต่อปี ทั้งนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษของธนาคารพาณิชย์ นั้น ค่อนข้างจะเหมาะกับผู้ออมที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจต้องยอมรับอัตราผลตอบแทนที่น้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านเงินปันผลที่น่าจะขยับสูงขึ้นตามทิศทางค่าเช่าและอัตราการเช่า ขณะที่ ราคาหน่วยลงทุนของกองทุน มักปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับขึ้นมาแล้วมากกว่า 40% จากปลายปี 2551) อย่างไรก็ตาม การออมเงินผ่านการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง และจำนวนอุปทานใหม่ (ได้แก่ การออกกองทุนใหม่ หรือการออกหน่วยลงทุนเพิ่มเติม หลังจากการเพิ่มทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์เดิม) ซึ่งคาดว่าการเพิ่มจำนวนอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดดังกล่าว อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีมากกว่าในอนาคตอันใกล้ ทำให้ผู้มีเงินออมที่สนใจลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ใหม่นั้น อาจต้องรอจังหวะการออกขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมโดย บลจ.นอกจากนี้ ก่อนการตัดสินใจลงทุน ผู้มีเงินออมควรตระหนักว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์มีหลากหลายประเภท ทั้งแบบที่กองทุนมีสิทธิความเป็นเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ (Free Hold) หรือแบบที่มีเพียงสิทธิการเช่าระยะยาว (Lease Hold) ขณะที่ ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนไปลงนั้น ก็มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์ โรงแรมและสนามบิน ตลอดจนโรงงาน ทำให้การออมเงินผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ควรต้องพิจารณารูปแบบของกองทุน ประเภทอสังหาริมทรัพย์ ทำเลที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น ตลอดจนความเชี่ยวชาญของแต่ละบลจ.ให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจด้วย

การลงทุนทางเลือกอื่นๆ อาทิ สินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองคำ น้ำมัน และสินค้าเกษตร ทั้งนี้ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เกิดแรงขายทำกำไรของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลให้ราคาของสินค้าดังกล่าวปรับฐานลงมาประมาณ 7% จากราคาสูงสุดของปี 2552 (ปลายเดือน พ.ค. 2552) อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะกลับมาได้รับแรงหนุนอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะถัดไปคงจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าที่จะขยับขึ้นอย่างรวดเร็วดังเช่นในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2552 ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์นั้น สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ โดยลักษณะของการลงทุนจะเป็นการนำเงินลงทุนของกองทุนรวมไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นๆ ในต่างประเทศที่ลงทุนโดยตรงในสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว หรือ นำเงินของกองทุนรวมไปลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีสัญญาอ้างอิงการให้อัตราผลตอบแทนตามการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) ที่อ้างอิงมูลค่าจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทต่างๆ ซึ่งนอกจากนักลงทุนจะเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าแล้ว ก็ยังเป็นอีกช่องทางที่นักลงทุนจะสามารถลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องทำธุรกิจค้าขายในสินค้านั้นๆ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจค้าขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น สินค้าเกษตร ก็สามารถเข้ามาลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ได้อีกด้วย กระนั้นก็ดี นักลงทุนที่สนใจลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อาจต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนทางด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เนื่องจากราคาของสินค้าดังกล่าวเป็นราคาในตลาดโลกซึ่งอาจผันแปรไปตามสภาวะเศรษฐกิจของโลกในขณะนั้น

การลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้น เป็นทางเลือกในการออมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงได้ โดยการลงทุนในหุ้นนั้น หากมีจุดประสงค์เพื่อคาดหวังผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียน ก็คงจะต้องเน้นไปที่หุ้นที่มีพื้นฐานดี ผลประกอบการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ โดยการลงทุนในลักษณะนี้ คงจะต้องเป็นการลงทุนในระยะที่ค่อนข้างยาว ขณะที่ หากผู้มีเงินออมมีจุดประสงค์ของการลงทุนในหุ้น เพื่อคาดหวังด้านกำไรส่วนทุนจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gains) ก็คงจะต้องอาศัยการซื้อและขายทำกำไรในช่วงสั้นๆ โดยมีหลักการเบื้องต้น คือ เข้าซื้อเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงและขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นดีดตัวสูงขึ้น ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของตลาดหุ้นของไทย พบว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ทยอยปรับฐานไปแล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ค. 2552 และเริ่มทยอยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงต้นเดือน ส.ค. 2552 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาจทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยขยับขึ้นไปถึงระดับ 710 จุด ได้ในปีนี้

กระนั้นก็ดี แม้จะมีการช่องทางการลงทุนต่างๆ ที่น่าสนใจและหลากหลายมากขึ้นสำหรับนักลงทุน นอกเหนือไปจาก การลงทุนในกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรต้องคำนึงถึงอัตราผลตอบแทน ความเสี่ยง สภาพคล่อง ตลอดจนระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งนักลงทุนสามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง

สรุปโดยรวม ตลอดช่วงที่ผ่านมาในปี 2552 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้นักลงทุนแสวงหาแหล่งลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มักจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยเช่นกัน ทั้งนี้ ในบรรดากองทุนรวม FIF นั้น กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้มีมูลค่าการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยและให้ผลตอบแทนในระดับที่ดี นอกจากนี้พันธบัตรเกาหลีใต้ที่บลจ.เลือกลงทุนนั้นมักจะมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A ขึ้นไป ขณะที่โดยส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนจะเน้นการลงทุนในระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน หรือ 1 ปี ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้กองทุนดังกล่าวยังคงดึงดูดนักลงทุน ได้แก่ อัตราผลตอบแทนที่จูงใจกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่มีระยะเวลาการถือครองเท่ากัน ขณะที่พันธบัตรเกาหลีใต้ที่บลจ.เข้าไปลงทุนนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารกลางหรือตราสารหนี้ภาครัฐที่มีรัฐบาลเกาหลีใต้ค้ำประกันอยู่ซึ่งจะมีความมั่นคงสูงมาก นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการที่กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาในกองทุนดังกล่าวยังได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) 15% อีกด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงขอนำเสนอภาวะล่าสุดของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ดังนี้ โดยในปี 2552 เป็นต้นมา พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาทิ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสของเกาหลีใต้ขยายตัวอยางต่อเนื่องในไตรมาส 1/2552 และไตรมาส 2/2552 ที่ 0.1% YoY และ 2.3% YoY ตามลำดับ เทียบกับการหดตัวของ GDP ในไตรมาส 4 / 2551 ที่ 5.1% YoY ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น โดยในไตรมาส 2/2552 การส่งออกขยายตัว 22.2% QoQ เทียบกับการหดตัว 19.9% QoQ ในไตรมาส 1/2552 ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ปรับขึ้นมา 40% จากสิ้นปี 2551 แล้ว นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจอื่นๆ ของเกาหลีใต้ก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน เช่น การบริโภค การลงทุน ตลอดจนการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระนั้นก็ดี แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 2/2552 ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ แต่เนื่องจากเงินลงทุนของนักลงทุนไทยในเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงมาก ตลอดจนนักลงทุนอาจเห็นว่าได้ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้มากเพียงพอแล้ว จึงอาจพิจารณากระจายการลงทุนไปยังช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเกาหลีใต้ได้เริ่มปรับลดลงเล็กน้อย (ประมาณ 0.20-0.40% เนื่องจากต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2552 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจดังกล่าว อาทิ พันธบัตรของรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Equity Fund) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นเอเชีย ผลิตภัณฑ์เงินฝากโครงการพิเศษของธนาคารพาณิชย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) การลงทุนทางเลือกอื่นๆ อาทิ สินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนการลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้น

กระนั้นก็ดี แม้จะมีการช่องทางการลงทุนต่างๆ ที่น่าสนใจและหลากหลายมากขึ้นสำหรับนักลงทุน นอกเหนือไปจาก การลงทุนในกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรต้องคำนึงถึงอัตราผลตอบแทน ความเสี่ยง สภาพคล่อง ตลอดจนระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งนักลงทุนสามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง