วันนี้ ความสำเร็จของบริษัท น้ำตาลมิตรลาว จำกัด ในกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นับว่า ก้าวพ้นเส้นทดสอบสำคัญ เมื่อน้ำตาลทรายดิบล็อตแรกจำนวน 22,940 ตันได้ถูกโหลดขึ้น ณ ท่าเรือกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2552 ที่ผ่านมา และจะถูกลำเลียงส่งไปจำหน่ายในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป โดยการบริหารของเทด แอนด์ ไลล์ ผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นคู่ค้าของกลุ่มมิตรผลมานานกว่า 30 ปี
ก้าวแรกแห่งความสำเร็จนี้ กล่าวได้ว่า เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของทีมผู้บริหาร ที่มองเห็นโอกาสในการขยายศักยภาพของผู้ผลิตน้ำตาลไทย ด้วยโอกาสทางการค้าการลงทุนในประเทศลาว ภายใต้กรอบความร่วมมือ East-West Economic Corridor: EWEC โดยมีจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นเสมือนแรงผลัก ให้อุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ซึ่งให้ความสนใจเข้าไปจับจองพื้นที่ในการทำการเกษตร ด้วยเงื่อนไขของการคมนาคมที่สะดวกขึ้น
น้ำตาลมิตรลาว เข้ามาใช้พื้นที่จากการได้รับสัมปทานในการปลูกอ้อยและก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลจากรัฐบาล สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2549 บนพื้นที่ 62,500 ไร่ เป็นเวลา 40 ปี และสามารถต่ออายุสัมมนาทานได้อีก 20 ปี โดยใช้เม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้น 63 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,300 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้ขยายพื้นที่ไปยังเขตข้างเคียงที่เมืองอุทุมพร แขวงสะหวันนะเขต และเมืองเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยในปีการผลิต 2551/2552 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 40,000 ไร่ คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยซึ่งจัดการโดยบริษัทเองประมาณ 70% และเป็นไร่อ้อยของเกษตรกรคู่สัญญา (Contact Farmers) 30% และคาดว่าในปี 2552/2553 จะขอสัมปทานพื้นที่เพิ่มอีกไม่น้อกว่า 62,500 ไร่ เพื่อขยายกำลังการผลิตเป็น 500,000 ตันอ้อย ด้วยกำลังการผลิต 5,000 ตันต่อวัน
ในรอบการผลิต 2551/2552 ที่ผ่านมา มิตรลาวมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 230,000 ตันอ้อย คิดเป็นน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 23,150 ตัน โดยบริษัทฯ ได้จัดสรรน้ำตาลจำนวน 22,940 ตัน ส่งจำหน่ายไปยังสหภาพยุโรปตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัท เทด แอนด์ ไลล์ ผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ผ่านกระบวนการโลจิสติกส์โดยบริษัท ยูไนเต็ด แสตนดาร์ด เทอร์มินัล จำกัด(มหาชน) ซึ่งดำเนินการขนส่งน้ำตาลจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มายังท่าเรือแหลมฉบัง และส่งต่อให้บริษัท อ่าวไทยคลังสินค้า จำกัด ดำเนินการส่งออก และจะใช้เวลาขนส่งประมาณ 40 วันจึงจะขึ้นน้ำตาลที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งการส่งออกน้ำตาลมิตรลาวเที่ยวแรกนี้ ได้รับเกียรติจาก พณฯ อ้วน พรหมจักร์ เอกอัครราชฑูต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย เป็นประธานในการส่งออกน้ำตาลเที่ยวปฐมฤกษ์ ส่วนน้ำตาลที่เหลือบริษัทฯ คาดว่าจะจัดจำหน่ายเพื่อการบริโภคภายในสปป.ลาว ได้ในไตรมาส 3/2552
“จากผลผลิตอ้อยที่ได้ตามเป้าในรอบการผลิต 25521/2552 ทำให้เรายิ่งสนับสนุนให้มีการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานปลูกอ้อยอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้อ้อยคุณภาพที่มีค่าความหวานและผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รวมถึงเร่งขยายพื้นที่แปลงปลูกเพื่อให้รองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจของกลุ่มมิตรผล
ในประเทศลาว และจะเป็นฐานการผลิตสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ในการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลในกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต โดยเราคาดว่าด้วยระบบการส่งเสริมที่มีประสิทธิภาพจะสามารถเพิ่มชาวไร่อ้อยคู่สัญญาได้อีกไม่น้อยกว่า 300 ราย จากเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 500 ราย” นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลมิตรลาว จำกัด กล่าว
การสร้างโรงงานน้ำตาลมิตรลาวและพัฒนาพื้นที่ปลูกอ้อย ใน สปป.ลาว นับเป็นความสำเร็จที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางธุรกิจของกลุ่มมิตรผล ซึ่งสะท้อนถึงเทคโนโลยีและศักยภาพของกลุ่มที่สามารถขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านและแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างเต็มภาคภูมิ การลงทุนครั้งนี้ยังถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอ้อยและน้ำตาล นับตั้งแต่การเตรียมพันธุ์อ้อย การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา รวมไปถึงกระบวนการผลิตน้ำตาล ซึ่งมิตรผลมีความเชี่ยวชาญไปยังสปป.ลาว อีกด้วย
การเข้ามาลงทุนของน้ำตาลมิตรลาว ไม่เพียงแต่เป็นการนำเม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลอันทันสมัยมาสู่สปป.ลาว เท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการดำเนินกิจกรรมที่ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการปลูกอ้อย และการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ฝายกั้นน้ำ เพื่อการคมนาคมขนส่งที่สะดวกยิ่งขึ้นของชาวบ้านในท้องถิ่นและในไร่อ้อย ด้วยการจ้างงานในไร่อ้อย ปัจจุบันมีโรงงานและในท้องถิ่นกว่า 5,000 ราย ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารายได้ที่หมุนเวียนต่อเดือนประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท รวมถึงการให้ความสนับสนุนด้านการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ให้แก่เยาวชน และประการสำคัญบริษัทฯ ยังได้นำส่งภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้กลับสู่ภาครัฐฯ อีกปีละประมาณ 700,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 24 ล้านบาท