ราคาน้ำตาลตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2552 อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 18.57 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 เมื่อเทียบกับราคาเมื่อช่วงเดือนมกราคมซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 13.11 เซนต์ต่อปอนด์ สำหรับราคาน้ำตาลตลาดโลกในปัจจุ-บันไปจนถึงสิ้นปี 2552 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยถึงกว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 17-18 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 26 ปี นับจากปี 2527 เป็นต้นมา ในขณะที่ราคาจำหน่ายน้ำตาลล่วงหน้าในตลาดโลกปี 2553 ขึ้นไปสูงสุดในเดือนมีนาคม ถึงประมาณ 23 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งปัจจัยจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยไทยมีการพึ่งพาตลาดส่งออกถึงประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ ซึ่งในส่วนของชาวไร่อ้อยนั้นคาดว่า จะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีการผลิต 2551/52 และปีการผลิตหน้า 2552/53 ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่ดีที่สุดนับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ควรระวังและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดนั่นคือ วัฏจักรราคาน้ำตาลตลาดโลกช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา เมื่อราคามีการปรับตัวสูงขึ้นไประยะหนึ่งประมาณ 2-3 ปีราคาก็มักจะปรับตัวลดลง อันเป็นผลจากการเพิ่มผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศต่างๆตามแรงจูงใจด้านราคาจนฉุดราคาน้ำตาลให้ตกลงมา ดังนั้น ภาครัฐรวมทั้งชาวไร่อ้อยจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งจะช่วยบรรเทาหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ก่อนที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะค่อยๆปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเหมือนเช่นในปัจจุบันนั้น มีความกังวลกันมากว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี 2552 จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้แนวโน้มความต้องการบริโภคน้ำตาลชะลอตัวลง ประกอบกับการที่กลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่างลดการเข้ามาเก็งกำไรสินค้าน้ำตาลในตลาดซื้อขายล่วงหน้า และบางส่วนทยอยขายน้ำตาลที่ได้ทำสัญญาก่อนหน้านี้ โดยราคาน้ำตาลตลาดโลกเริ่มมีสัญญานปรับลดลงในเดือนกันยายน 2551 เป็นต้นมาซึ่งราคาอยู่ที่ระดับ 14.74 เซนต์ต่อปอนด์ ราคาได้ลดลงมาเหลือ 13.02 เซนต์ต่อปอนด์ 12.88 เซนต์ต่อปอนด์ และ 12.31 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม อย่างไรก็ตาม นับจากเดือนมกราคม 2552 เป็นต้นมา ราคาน้ำตาลตลาดโลกก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด จากระดับเฉลี่ย 13.11 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นมาเป็น 13.90 เซนต์ต่อปอนด์ 13.87 เซนต์ต่อปอนด์ และ 14.43 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ตามลำดับ ก่อนที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงอย่างชัดเจนในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นไปถึงระดับเฉลี่ย 16.76 เซนต์ต่อปอนด์และ 16.95 เซนต์ต่อปอนด์ ส่วนในช่วงเดือนกรกฎาคม ราคาน้ำตาลพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18.57 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ในขณะที่ราคาซื้อขายน้ำตาลตลาดล่วงหน้าปี 2553 อยู่ที่เฉลี่ย 20-21 เซนต์ต่อปอนด์ โดยมีราคาสูงสุด ณ เดือนมีนาคมที่ระดับ 23.50 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 26 ปี นับจากปี 2527 เป็นต้นมา
หลากปัจจัยหนุน…กระตุ้นราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่ง
สำหรับปัจจัยที่ผลักดันและสนับสนุนให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นแทนที่จะปรับลดลงตามที่คาดหมายไว้เดิม เกิดจากปัจจัยหลักผลผลิตอ้อยและน้ำตาลที่ลดลงทั้งทางด้านประเทศผู้ผลิตน้ำตาล ประเทศผู้บริโภคและนำเข้าน้ำตาลหลายแห่ง โดยองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ(ISO) ได้ประมาณการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าปริมาณการผลิตน้ำตาลปีการผลิต 2551/52 อยู่ที่ระดับ 156.6 ล้านตัน ลดลงเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนที่อยู่ที่ 167.3 ล้านตัน ส่วนปริมาณการบริโภคน้ำตาลปีการผลิต 2551/52 อยู่ที่ 164.4 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 161.3 ล้านตัน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าความต้องการถึงประมาณ 7.8 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ISO คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตน้ำตาลจะน้อยกว่าความต้องการถึง 9.4 ล้านตันทำให้สต็อกน้ำตาลของโลกลดลงเหลือเพียง 38 % ของปริมาณความต้องการบริโภค ซึ่งน้อยที่สุดในรอบ 3 ปี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวยังเป็นแรงจูงใจให้กองทุนเก็งกำไรต่างๆเข้ามายังตลาดซื้อขายล่วงหน้าจนผลักดันให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาล ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายสำคัญของโลกอันดับ 1-3 ได้แก่ บราซิล ไทยและออสเตรเลีย สำหรับบราซิลนั้นการเพาะปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศ รวมทั้งมีการนำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้นตามปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาล สำหรับไทยนั้นมีปริมาณอ้อยเข้าหีบปีการผลิต 2551/52 ทั้งสิ้น 66.5 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาล 7.2 ล้านตัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมว่าจะมีปริมาณอ้อยอยู่ที่ 71.8 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาล 7.6 ล้านตัน และต่ำกว่าฤดูการผลิตปี 2550/51 ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 73.3 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาล 7.8 ล้านตัน
ประเทศผู้บริโภคน้ำตาล ผลผลิตน้ำตาลของประเทศผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่ของโลกปรับลดลงหลายประเทศ ส่งผลทำให้ต้องนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ จากเดิมที่บางแห่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาล อาทิ อินเดียปริมาณผลผลิตน้ำตาลในปี 2551/52 อยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านตัน ในขณะที่ปีการผลิต 2552/53 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลประมาณ 16-17 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 23-24 ล้านตัน ทำให้อินเดียมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลเพื่อชดเชยน้ำตาลส่วนขาดในปี 2551/52 และปี 2552/53 ประมาณ 5 ล้านตัน/ปี อันเป็นผลจากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประสบภาวะภัยแล้งทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยได้รับน้ำฝนในระดับที่น้อยกว่าปกติ ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกอ้อยก็ปรับลดลง แม้ว่าราคาน้ำตาลจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ผลตอบแทนจากการปลูกอ้อยก็ยังต่ำกว่าพืชเกษตรประเภทอื่นๆที่มีการปรับราคาขึ้นไปสูง ส่วนปากีสถานมีความต้องการนำเข้าน้ำตาล 1.3 ล้านตันในช่วงปี 2552 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในปี 2552-2553 จนส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 42 รูปี/กิโลกรัมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม มาเป็น 55-57 รูปี/กิโลกรัมในปัจจุบัน ส่วนจีนก็มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลลดลงในปี 2551/52 ประมาณ 2.3-2.5 ล้านตัน ส่งผลทำให้ต้องนำเข้าชดเชย สำหรับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่นั้นปริมาณผลผลิตน้ำตาลในปี 2551/2 อยู่ที่ระดับ 7.6 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิตก่อนที่ผลิตได้ 8.2 ล้านตัน ส่งผลทำให้ต้องนำเข้าน้ำตาลจำนวน 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 2.6 ล้านตัน
กองทุนและนักเก็งกำไร ราคาน้ำตาลในตลาดโลกนอกเหนือจากขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านผลผลิตและปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลที่เป็นตัวกำหนดแล้ว ปัจจัยทางด้านกองทุนหรือนักเก็งกำไรก็มีส่วนสำคัญในด้านการกำหนดทิศทางราคาน้ำตาลเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินทุนค่อนข้างสูงและมักเข้าไปเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆที่สร้างผลตอบแทนสูง โดยอาศัยข้อมูลและการคาดการณ์ ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2551 กลุ่มกองทุนเก็งกำไรมีความกังวลว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกจะปรับลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาล ทำให้มีการเทขายน้ำตาลออกมาบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยง จึงทำให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องถูกรายงานออกมา อันเป็นผลจากภาวะฝนแล้ง รวมทั้งการปรับลดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในบางพื้นที่ ส่งผลให้กองทุนเก็งกำไรเริ่มกลับเข้ามาในตลาดซื้อขายน้ำตาลอีกครั้ง จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ร่วมกันผลักดันให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
ราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูง…ผลกระทบต่อไทย
ผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อหลายๆประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้นำเข้า ซึ่งต้องมีการปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกนั้น ผลกระทบทั้งในส่วนของชาวไร่อ้อย ภาคประชาชนและอุตสาหกรรมผู้ใช้น้ำตาล รวมทั้งภาครัฐ มีข้อแตกต่างออกไป สรุปได้ดังนี้
ผลกระทบต่อชาวไร่อ้อย ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ 1 ใน 3 อันดับแรกของโลก โดยผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกได้แก่ บราซิล สำหรับผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับสองของโลกนั้นแข่งขันกันระหว่างไทยและออสเตรเลีย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของแต่ละประเทศว่าจะมีมากน้อยเพียงใด สำหรับในปีนี้ ไทยมีผลผลิตที่สูงกว่าออสเตรเลีย จึงส่งผลให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกคิดเป็นปริมาณการส่งออกประมาณ 5 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 70 ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ดังนั้น การที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจึงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเป็นอย่างมาก โดยคาดว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีการผลิต 2551/52 จะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาอ้อยที่สูงสุดในรอบกว่า 26 ปีนับตั้งแต่มีการออกพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นต้นมาที่เดียว ในขณะที่รายได้ของชาวไร่อ้อยทั้งประเทศในปีการผลิต 2551/52 มีทั้งสิ้นประมาณ 66,500 ล้านบาท(คำนวนจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมค่าความหวานประมาณ 1,000 บาทต่อตัน x ปริมาณอ้อย 66.5 ล้านตัน)
ผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำตาลในประเทศ น้ำตาลถูกใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน อาทิ การเติมน้ำตาลในเครื่องดื่ม การทำอาหาร การใช้ในร้านอาหารและการทำขนม รวมถึงถูกใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลายๆประเภท อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มผลิตภัณฑ์นม อาหาร ยา และลูกกวาด เป็นต้น โดยปริมาณการใช้น้ำตาลทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมในประเทศมีประมาณปีละ 19-20 ล้านกระสอบหรือประมาณ 1.9-2.0 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำตาลตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ เหมือนกับราคาน้ำตาลของประเทศต่างๆที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย ปากีสถาน และอินโดนีเซีย เนื่องจากราคาปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาน้ำตาลในตลาดโลก อีกทั้งจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลในประเทศขึ้น อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับปัจจุบัน ซึ่งองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ(ISO) คาดว่า ราคาน้ำตาลจะปรับขึ้นไปสูงถึงระดับ 20-25 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งหากเป็นจริงจะทำให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่สูงกว่าราคาในประเทศและจูงใจให้เกิดการส่งออกน้ำตาล โดยเฉพาะตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสต็อกน้ำตาลที่ใช้บริโภคในประเทศได้หากมาตรการควบคุมไม่เข้มงวดพอ
ภาครัฐ ผลจากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ช่วยให้ภาครัฐ ลดภาระในการเข้ามาช่วยเหลือพยุงราคาอ้อยเหมือนเช่นปีก่อนๆที่ผ่านมา โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีการผลิต 2551/52 และปีการผลิต 2552/53 จะอยู่ในระดับสูงจนภาครัฐไม่ต้องเข้ามาพยุงราคา 2 ปีติดต่อกัน ส่งผลทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสามารถนำรายได้ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท ที่เกิดจากการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศอีกกิโลกรัมละ 5 บาทไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2551 ที่ผ่านมา และการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าน้ำตาล เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งชำระหนี้โรงงานน้ำตาลที่มีอยู่รวมกันประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถชำระหนี้จำนวนนี้ได้หมดภายในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ภาครัฐต้องติดตามต่อไปนั่นคือราคาน้ำตาลตลาดโลก ซึ่งยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปัจจัยด้านผลผลิตน้ำตาลตลาดโลกในปีการผลิตหน้าที่ยังคงต่ำกว่าปริมาณความต้องการบริโภค อันเป็นผลเกิดจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นหลายประเทศโดยเฉพาะอินเดีย และบราซิล ในขณะเดียวกัน จากทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจจูงใจให้บราซิลหันมานำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ส่งผลให้ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการควบคุมการส่งออกน้ำตาลอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนขึ้นในประเทศ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นข่าวดีต่อชาวไร่อ้อยที่จะได้รับผลตอบแทนการผลิตในระดับสูงกว่าปีก่อนๆ ซึ่งถือว่าดีกว่าพืชเกษตรอีกหลายชนิดที่ราคาตกต่ำ ซึ่งคาดว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในฤดูการผลิตหน้าคือ 2552/53 จะอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปีการผลิต 2551/2 คือประมาณ 1,000 บาทต่อตัน อันเป็นผลจากผลผลิตน้ำตาลของโลกที่ยังต่ำกว่าความต้องการ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพึงระวังที่สำคัญก็คือ ราคาน้ำตาลตลาดโลกช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา การขึ้นลงมักจะเป็นวัฏจักร กล่าวคือ เมื่อราคามีการปรับตัวสูงขึ้นไประยะหนึ่งประมาณ 2-3 ปีราคาก็มักจะปรับตัวลดลง อันเป็นผลจากการเพิ่มผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศผู้เพาะปลูกอ้อยรายสำคัญตามแรงจูงใจด้านราคาจนฉุดราคาน้ำตาลให้ตกลงมา ดังจะพิจารณาได้จากปี 2547 ซึ่งราคาน้ำตาลตลาดโลกอยู่ที่เฉลี่ย 8.61 เซนต์ต่อปอนด์ก่อนที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นมาเป็น 11.37 เซนต์ต่อปอนด์ ในปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 และเฉลี่ย 15.52 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 และหลังจากนั้นปีเดียว คือปี 2550 ราคาน้ำตาลตลาดโลกก็ปรับตัวลดลงมาเหลือเฉลี่ย 11.60 เซนต์ต่อปอนด์ หรือคิดเป็นราคาที่ลดลงถึงร้อยละ 25.3 สำหรับในปี 2551 ราคาน้ำตาลตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น เฉลี่ย 13.84 เซนต์ต่อปอนด์ และประมาณ 17-18 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2552
ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกในอนาคตที่ชะลอลงสามารถพิจารณาได้จากราคาจำหน่ายน้ำตาลล่วงหน้าส่งมอบในปี 2554 อยู่ที่เฉลี่ย 18.0-19.0 เซนต์ต่อปอนด์และส่งมอบปี 2555 อยู่ที่เฉลี่ย 15.0-16.0 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นผลจากประเทศผู้เพาะปลูกอ้อยรายสำคัญ ทั้งบราซิลที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ จะจัดสรรอ้อยเพื่อนำไปผลิตน้ำตาลที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น และปรับลดการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลลง ส่วนไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มผลผลิตอ้อยและน้ำตาลเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมทั้ง จีน อินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย ที่เป็นประเทศผู้บริโภคและนำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลกจะเร่งเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลมากขึ้น ทั้งนี้แม้ว่า จะไม่สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นได้ในช่วงปีการผลิตหน้าคือปี 2552/53 เนื่องจากต้องใช้เวลาในการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อย แต่คาดว่าปีการผลิตต่อๆไปผลผลิตอ้อยและน้ำตาลจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นจนสต็อกน้ำตาลของโลกมีเพียงพอที่จะใช้บริโภค ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลตลาดโลกให้อ่อนตัวลง ดังนั้น ภาครัฐรวมทั้งชาวไร่อ้อยจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพิจารณาวางแผนการผลิตน้ำตาลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ผันผวนตลอดแวลา รวมทั้งลดภาระของภาครัฐซึ่งก็คือกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่อาจจำเป็นต้องเข้ามาช่วยพยุงราคาอ้อยและทำให้ภาระหนี้ที่มีและชำระหมดในปี 2554 ต้องพอกพูนกลับมาอีก
สรุป
กล่าวโดยสรุปแล้ว ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 26 ปี นับเป็นความโชคดีของชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลตอบแทนการผลิตในระดับสูง หากเทียบกับรายได้ปีก่อนๆที่ผ่านมา รวมทั้งแตกต่างจากราคาพืชผลการเกษตรอื่นๆที่ชะลอตัวลงไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายไม่ควรเบาใจกับราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้นในช่วง 2 ปีการผลิตติดต่อกัน เนื่องจากราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยสนับสนุนทางด้านผลผลิตน้ำตาลของโลกที่ปรับลดลง ซึ่งบางส่วนเกิดจากภาวะฝนแห้งและภัยธรรมชาติ รวมทั้งปัจจัยทางด้านกองทุนเก็งกำไร ซึ่งสามารถออกจากตลาดน้ำตาลเพื่อไปเก็งกำไรตลาดอื่นๆหากให้ผลตอบแทนดีกว่าอาทิ ตลาดทองคำ ตลาดเงิน หรือตลาดน้ำมัน ซึ่งทั้ง 2 เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นราคาน้ำตาลจึงมีขึ้นมีลง ไม่แน่นอน และยิ่งราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก จะจูงใจให้ประเทศต่างๆเพิ่มผลผลิตน้ำตาลจนสูงกว่าปริมาณความต้องการและฉุดให้ราคาปรับลดลง ดังนั้นภาครัฐและชาวไร่อ้อยจำเป็นต้องมีการติดตามข้อมูลและการคาดการณ์ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศผู้ผลิต ผู้บริโภครายสำคัญอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง และเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงต้องติดตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่าราคาปัจจุบันจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ แต่หากราคาส่งออกน้ำตาลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการลักลอบส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศ และทำให้เกิดปัญหากระทบต่อปริมาณน้ำตาลที่ใช้สำหรับบริโภคในประเทศ จนผลักดันให้ราคาจำหน่ายน้ำตาลสูงเกินกว่าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คงต้องเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐที่จะติดตามควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เดือดร้อนต่อประชาชนผู้บริโภค