กล้วย : ผลไม้ไทยที่ควรเร่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม

จากงานมหกรรมกล้วยแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-16 ส.ค. 52 ที่ผ่านมา โดยในงานมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และระดมความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาดกล้วย ทำให้เห็นว่า กล้วยเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกสร้างรายได้ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยยังมีโอกาสขยายมูลค่าการส่งออกกล้วยได้อีกมาก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เช่น เสื้อผ้าจากเส้นใยกล้วย กระเป๋าสาน เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับการส่งเสริม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากทุกหน่วยงานทั้งทางภาครัฐ และเอกชนให้ความร่วมมือในการส่งเสริม และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการค้า ก็จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากกล้วยของไทยนั้น สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และทำให้เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมากขึ้น

การผลิตกล้วยของไทย…ผลิตได้ทั่วทุกภาคของประเทศ
ปัจจุบันไทยสามารถปลูกกล้วยได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของการปลูกกล้วยจะมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ

1. การปลูกไว้รับประทานเอง (ปลูกหลังบ้าน) ส่วนใหญ่พื้นที่การเพาะปลูกจะไม่มากนัก มักปลูกเป็นพืชหลังบ้านไว้รับประทาน และใช้ประโยชน์จากส่วนอื่น ๆ ของกล้วย เช่น ใช้ใบตองมาห่ออาหาร เป็นต้น ประเภทของกล้วยที่นิยมปลูก ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม เป็นต้น

2. การปลูกเชิงการค้า ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยเชิงการค้ามากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประเทศนำเข้าที่สำคัญอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีปริมาณความต้องการนำเข้าจากไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก สำหรับกล้วยที่นิยมปลูกได้แก่

กล้วยหอม สามารถผลิตออกจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี แต่ยังคงมีปริมาณการส่งออกไม่มากนัก พื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมปี 2551/52 มีประมาณ 105,248 ไร่ ผลผลิต 240,394 ตัน ทั้งพื้นที่เพาะปลูก และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และ 1.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี สระบุรี นนทบุรี หนองคาย และนครสวรรค์ โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อการค้า คือ พันธุ์กล้วยหอมทอง ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 6.8 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 บาท/กิโลกรัม

กล้วยไข่ สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี พื้นที่เพาะปลูกกล้วยไข่ปี 2551/52 มีประมาณ 74,225 ไร่ ผลผลิต 172,587 ตัน ทั้งพื้นที่เพาะปลูก และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และ 1.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ จันทบุรี และเพชรบุรี ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 9.5 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 9.0 บาท/กิโลกรัม

กล้วยน้ำว้า สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี พื้นที่เพาะปลูกกล้วยน้ำว้าปี 2551/52 มีประมาณ 686,937 ไร่ ผลผลิต 1,115,101 ตัน ทั้งพื้นที่เพาะปลูก และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และ 0.06 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ได้แก่ ชุมพร เลย ระนอง นครราชสีมา และหนองคาย ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 5.4 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วที่มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 5.0 บาท/กิโลกรัม

การบริโภคในประเทศ…นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
กล้วยที่ปลูกได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคในประเทศ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากกล้วยมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ ซึ่งสามารถแยกได้ ดังนี้

บริโภคสด ส่วนใหญ่ผู้บริโภคในประเทศจะนิยมบริโภคกล้วยในลักษณะของผลไม้สด เนื่องจากได้คุณค่าทางสารอาหารมากมาย เช่น กล้วยไข่มีวิตามินต่าง ๆ เส้นใย และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น ส่วนราคานั้นแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วย คือ กล้วยหอมราคา 25-27 บาท/หวี กล้วยไข่ราคา 15-20 บาท/หวี และกล้วยน้ำว้าราคา 12-13 บาท/หวี

แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วย ส่วนใหญ่จะทำการแปรรูปอยู่ในลักษณะของสินค้า OTOP ประจำท้องถิ่นนั้น ๆ ผลิตขายในรูปของของฝาก หรือซื้อไปทานเล่น ซึ่งผลิตภัณฑ์กล้วยที่เห็นอยู่ตามท้องตลาด ได้แก่ กล้วยฉาบ กล้วยตาก กล้วยอบ เป็นต้น ส่วนราคานั้นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับยี่ห้อ และขนาด โดยมีราคาขายตั้งแต่ 35-50 บาท/ห่อ

ขายในรูปของใบตอง ประโยชน์ของใบตองนั้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น นำไปห่ออาหาร หรือห่อขนม ทำงานประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น บายศรี ตกแต่งกระทง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรบางรายปลูกกล้วยเพื่อใช้ประโยชน์จากใบตองเป็นหลัก โดยราคาขายอยู่ที่ 8-11 บาท/กิโลกรัม

ส่งออกกล้วย…สร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
ปริมาณการค้ากล้วยในตลาดโลกมีประมาณ 8.8 ล้านตัน มูลค่าเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศส่งออกรายใหญ่ของโลก ได้แก่ เอกวาดอร์ เบลเยียม คอสตาริกา โคลัมเบีย เยอรมนี และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทย กล้วยที่ปลูกได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ ส่วนการส่งออกกล้วย และผลิตภัณฑ์นั้น ยังมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศส่งออกอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเริ่มมีการส่งเสริมให้ปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกมากขึ้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกกล้วยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งกล้วย และผลิตภัณฑ์กล้วยเพื่อการส่งออกที่สำคัญของไทย มีดังนี้

กล้วยสดแช่เย็น มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในบรรดากล้วย และผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ชนิดของกล้วยที่ส่งออกในลักษณะของกล้วยสดแช่เย็น ได้แก่

1. กล้วยหอม โดยเฉพาะกล้วยหอมทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อการส่งออก นิยมรับประทาน เนื่องจากผลมีสีเหลืองสวย ผิวเนียน รสชาติหวานอร่อย เนื้อนุ่ม และมีกลิ่นหอม ลักษณะของกล้วยแต่ละลูกเรียงตัวกันอยู่ในหวีอย่างสวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกกล้วยหอมทั้งหมด 5,615.8 ตัน มูลค่า 88.0 ล้านบาท ทั้งปริมาณ และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7 และ 32.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน ตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น และจีน สำหรับตลาดญี่ปุ่นหลังจากที่มีข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ส่งผลให้ญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้ากล้วยหอมทองจากไทยเหลือร้อยละ 0 ทันที ซึ่งตามข้อตกลงฯ ญี่ปุ่นจะจัดสรรโควตาการส่งออกไว้ปีละ 6,000 ตัน และเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ต่อปี โดยทำการตกลงผ่านกลไกสหกรณ์ระหว่างสองประเทศ แต่ไทยมีการส่งออกจริงเพียงปีละ 3,000 ตัน ซึ่งไม่เต็มตามโควตาที่ได้รับ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนส่งออกกล้วยหอมทองในตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจแล้วประมาณ 7 บริษัท จึงคาดว่า ในปี 2552 นี้การส่งออกกล้วยหอมทองไปยังญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 4,000 ตัน

ส่วนจีน คาดว่ายังคงขยายตัวได้อีกมาก โดยเงื่อนไขในการส่งออกกล้วยหอมไปยังจีนถือว่าเป็นเงื่อนไขที่แตกต่างจากญี่ปุ่น เพราะจีนอนุญาตให้ส่งออกกล้วยหอมโดยไม่จำกัดขนาด ขณะที่ญี่ปุ่นค่อนข้างที่จะเข้มงวดในการส่งออก โดยมีการกำหนดขนาดมาตรฐานที่เท่ากัน คือ 8-9 นิ้วต่อลูกเท่านั้น ทำให้คาดว่า ไทยน่าจะส่งออกกล้วยหอมไปจีนได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยรองรับกล้วยหอมที่ไม่สามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้ สำหรับตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ ลาว (อัตราการขยายตัวร้อยละ 86.3) และสิงคโปร์ (อัตราการขยายตัวร้อยละ 756.9)

2. กล้วยไข่ เป็นกล้วยอีกชนิดหนึ่งที่มีการส่งออก เนื่องจากมีรสชาติดี ลักษณะการเรียงของผล และสีผลสวยสะดุดตา เดิมพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้าคือ พันธุ์กำแพงเพชร แต่เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของการตกกระ (senescent spotting) ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากล้วยไข่เป็นโรค จึงไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เกษตรกรบางรายจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นพันธุ์จากที่อื่น ๆ เช่น พันธุ์จากอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งดูแลง่ายกว่า อีกทั้งรสชาติยังถูกใจชาวต่างชาติเช่นกัน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกกล้วยไข่ทั้งหมด 5,799.5 ตัน มูลค่า 32.8 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน ตลาดส่งออกกล้วยไข่ที่สำคัญของไทยได้แก่ จีน และฮ่องกง ส่วนตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ เวียดนาม และญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีมูลค่าการส่งออกไม่มากนัก แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการขยายการส่งออกของไทยไปยังตลาดใหม่ ๆ

3. กล้วยอื่น ๆ เช่น กล้วยน้ำว้า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณการส่งออกทั้งหมด 1,017.9 ตัน มูลค่า 11.2 ล้านบาท ทั้งปริมาณ และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.3 และ 53.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน (สัดส่วนร้อยละ 63.0) และฮ่องกง (สัดส่วนประมาณร้อยละ 33.0) ส่วนตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ได้แก่ อิตาลี สหรัฐฯ และมาเลเซีย

ผลิตภัณฑ์กล้วย ผลิตภัณฑ์กล้วยที่ส่งออกในปัจจุบันมีหลายประเภท ได้แก่
1. กล้วยแปรรูปอย่างง่าย เช่น กล้วยอบแห้ง กล้วยฉาบน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีการควบคุมคุณภาพ และความสะอาดในการผลิตอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สินค้าได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปอย่างง่ายทั้งหมด 960.4 ตัน มูลค่า 79.7 ล้านบาท ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 50.0) จีน (สัดส่วนร้อยละ 15.0) และญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 9.0)

2. กล้วยแปรรูปบรรจุกระป๋อง วัตถุดิบที่นำมาใช้แปรรูปส่วนใหญ่ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่ที่สุกแล้ว นำมาปอกเปลือก ฝานบาง ๆ แล้วแช่ลงในน้ำเชื่อม นำไปบรรจุกระป๋อง และทำการส่งออก โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 ไทยสามารถส่งออกกล้วยแปรรูปบรรจุกระป๋องได้ทั้งหมด 87.4 ตัน มูลค่า 3.9 ล้านบาท ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 64.0) และฝรั่งเศส (สัดส่วนร้อยละ 15.0)

อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องพึงระวังกับปัจจัยเสี่ยงในการส่งออกกล้วยสด และผลิตภัณฑ์กล้วย ได้แก่

• คู่แข่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ เอกวาดอร์ เบลเยียม คอสตาริกา และฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ของโลก ซึ่งไทยจะต้องพัฒนาคุณภาพ และสร้างความแตกต่างให้กับกล้วย และผลิตภัณฑ์กล้วย รวมทั้งการจัดการที่ได้มาตรฐานการส่งออก คาดว่าจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

• การเก็บเกี่ยว จนถึงการขนส่ง ควรระวังในเรื่องของระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวกล้วย จนถึงส่งออกไปยังต่างประเทศ ควรเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่แน่นอน ให้ผลกล้วยสุก น่ารับประทานพอดี เมื่อถึงผู้บริโภคต่างประเทศ

การบรรจุภัณฑ์ ควรตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการส่งออกอย่างรอบคอบ ไม่ให้มีช่องทางให้อากาศเข้าไปข้างในได้ มิเช่นนั้น อาจจะทำให้กล้วยสุกงอมก่อนที่จะถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ สร้างความเสียหายให้กับผู้ส่งออก

ในอนาคต…เร่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม
เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของไทย รวมทั้งยังมีความคล่องตัวสูงทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ กล้วยจึงเป็นผลไม้ที่น่าสนใจ และควรมีการปลูกเป็นการค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเสนอแนวทางในการพัฒนาการปลูกกล้วยของเกษตรกรไทยให้กลายเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการค้า โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

สนับสนุน และส่งเสริมอย่างจริงจัง ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่มีการนำเข้ากล้วยของไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลังจากที่มีข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ส่งผลให้ญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้ากล้วยหอมทองจากไทยเหลือร้อยละ 0 ทันที นอกจากนี้ ยังมีตลาดใหม่ ๆ ที่น่าสนใจในการขยายการส่งออก เช่น สหรัฐฯ ลาว สิงค์โปร์ เป็นต้น

เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น การที่จะส่งออกกล้วยได้นั้น จะต้องมีการผลิตให้ได้มาตรฐาน และแต่ละประเทศที่ทำการส่งออกก็จะมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเข้ามาให้คำแนะนำ และให้ความรู้ในการเพาะปลูกกล้วยกับเกษตรกร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกกล้วยโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (GAP) มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยให้ได้คุณภาพมากขึ้น อีกทั้งควรให้ความรู้เกี่ยวกับความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้าง โรคพืช และแมลง ของประเทศผู้นำเข้า ก่อนที่จะทำการส่งออก

การเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วย นอกจากการส่งออกกล้วยสดแช่เย็นแล้ว ยังมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ถือเป็นโอกาสของไทยที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วย และเหมาะที่จะส่งเสริมให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารหวาน ผลิตภัณฑ์บำรุง/ถนอมผิว ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วยนำมาทอเป็นเสื้อผ้า เชือกกล้วย เป็นต้น

เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมตรวจสอบสารตกค้างก่อนส่งออก ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับการส่งออกกล้วย และผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด โดยการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมตรวจสอบสารตกค้างก่อนส่งออก และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยเพื่อการส่งออก รวมทั้งปรับปรุงกรรมวิธี การตรวจสอบอย่างรวดเร็ว และให้เป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า นอกจากนี้ ควรจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าด้วย

ให้ความร่วมมือ และประชาสัมพันธ์กล้วย และผลิตภัณฑ์กล้วยในต่างประเทศมากขึ้น ภาครัฐและเอกชน ควรให้ความร่วมมือ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกล้วย และผลิตภัณฑ์จากกล้วยให้มากขึ้น เช่น จัดงานแสดงสินค้าโดยการสาธิต หรือมีเอกสารเผยแพร่วิธีบริโภค/สรรพคุณให้ชาวต่างชาติได้ทราบ จัดงานแสดงเมนูอาหารต่าง ๆ ที่ทำจากกล้วยให้ชาวต่างชาติได้ทดลองชิม เป็นต้น

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐ และเอกชน ควรหันมาให้การสนับสนุน และส่งเสริมการเพาะปลูกกล้วยในเชิงการค้า และพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากกล้วยอย่างจริงจัง ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกที่เป็นตลาดหลักของไทยอย่างญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอย่างสหรัฐฯ หากมีการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าอีกไม่นาน กล้วย และผลิตภัณฑ์กล้วยของไทยจะสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และทำให้เป็นที่นิยม และรู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ การที่จะส่งออกกล้วย และผลิตภัณฑ์กล้วยไปแข่งขันในตลาดโลกได้นั้น ควรมีการดูแลอย่างเข้มงวด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และมาตรฐานในการส่งออกในแต่ละประเทศ เพื่อให้สินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้า