โมร็อกโก: แหล่งการค้า การลงทุน และช่องทางกระจายสินค้าที่น่าสนใจของไทย

ภาวะการค้าและการลงทุนที่ซบเซาในช่วงปี 2552 ส่งผลให้รัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ออกนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศปี 2553 เพื่อกระตุ้นการลงทุนไทยในต่างประเทศและเพิ่มโอกาสทางการค้าไทยในต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โมร็อกโกเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมีความพร้อมด้านการลงทุนโดยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากต่างประเทศอันดับ 4 ในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้เศรษฐกิจโมร็อกโกในช่วงปี 2540-2550 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี ไตรมาสแรกของปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 3.7(YoY) และในปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกในอัตราร้อยละ 5.4 ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โมร็อกโกจึงมีศักยภาพและเป็นโอกาสทั้งด้านการค้าและการลงทุนของไทยเพื่อใช้เป็นช่องทางการกระจายสินค้าของไทยไปยังประเทศที่โมร็อกโกมีข้อตกลงทางการค้า เช่น ทวีปแอฟริกา ยุโรป สหรัฐฯ และกลุ่มอาหรับ เป็นต้น

ปัจจัยสนับสนุนและโอกาสของไทย

 วิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของโมร็อกโกโดยตรงแต่ส่งผลกระทบทางอ้อมทำให้การค้าของโมร็อกโกชะลอตัวค่อนข้างมาก โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกและนำเข้าของโมร็อกโกหดตัวร้อยละ 32.2 และร้อยละ 21.2 ตามลำดับ รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งคาดว่าปี 2552 จะหดตัวร้อยละ 21(YoY) โดยในปี 2551 มีมูลค่า FDI 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เศรษฐกิจโมร็อกโกไตรมาสแรกปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 3.7(YoY) ชะลอลงจากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.8(YoY) คาดว่าเศรษฐกิจโมร็อกโกปี 2552 จะยังคงขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 5.4 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโมร็อกโกไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากนัก ประกอบกับรัฐบาลโมร็อกโกขยายการขาดดุลการคลังต่อ GDP จากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 2.9 เพื่อเพิ่มรายจ่ายด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเหลือร้อยละ 3.25 ซึ่งน่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนของโมร็อกโกในปี 2552 ซึ่งอาจส่งผลดีทางอ้อมต่อการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค และวัตถุดิบสินค้าเพื่อการผลิตจากไทยให้กระเตื้องขึ้นตามไปด้วย

โมร็อกโกเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ(FDI)เป็นอันดับ 4 ของทวีปแอฟริกา (รองจากไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และอียิปต์ ตามลำดับ) มีสัดส่วน FDI ไหลเข้าประเทศร้อยละ 4.9 ของ FDI ทั้งหมดที่ไหลเข้าทวีปแอฟริกา การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ การสื่อสาร การขนส่งและภาคอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้การประกอบธุรกิจในโมร็อกโกมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากการปรับปรุงบรรยากาศด้านการลงทุนหลายด้านโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านการให้สินเชื่อทำให้โมร็อกโกได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นจากธนาคารโลกให้เป็นประเทศน่าลงทุนอันดับที่ 128 ในปี 2553 จากอันดับที่ 130 ในปี 2552 แต่อย่างไรก็ตามในการทำธุรกิจในโมร็อกโกยังคงต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้าน เช่น ความเข้มงวดด้านแรงงาน(ชั่วโมงทำงาน และข้อบังคับการปลดคนงาน) ข้อจำกัดด้านสิทธิของผู้ถือหุ้นซึ่งสร้างความลำบากต่อการดำเนินธุรกิจ ระยะเวลาการจดทะเบียนเป็นเจ้าของธุรกิจใช้เวลานาน การจ่ายภาษีใช้เวลานาน การทำสัญญาการค้าเสียค่าใช้จ่ายสูง/ใช้เวลานาน และการนำเข้า-ส่งออกใช้เอกสารหลายชุด/ใช้เวลาดำเนินการหลายวัน เป็นต้น

แผนลงทุนของภาครัฐบาลในภาคธุรกิจการก่อสร้างมูลค่า 2.87 แสนล้านดีร์แฮม (ประมาณ 1.148 ล้านล้านบาท) ในปี 2551-2555 โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อยจำนวนกว่า 1 ล้านหน่วย เป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศ เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยสามารถเข้าไปลงทุนก่อสร้างห้องชุดราคาต่ำ ห้องชุดราคาปานกลาง บ้านเดี่ยวราคาถูก และยังคงมีเมืองใหม่อีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง สำหรับโครงการขนาดใหญ่ โมร็อกโกใช้มาตรฐานการก่อสร้างของยุโรปซึ่งส่วนใหญ่เลือกบริษัทจากสเปนและฝรั่งเศส จึงอาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการไทยแต่ก็ยังมีโอกาสหากไทยไปรับช่วงต่อโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของบริษัทสเปนและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโมร็อกโกจะเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่การลงทุนในรูปแบบ Joint-venture กับนักธุรกิจโมร็อกโกน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากจะช่วยทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

สิทธิพิเศษทางภาษีดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นประตูก้าวไปสู่ตลาดแอฟริกา ยุโรป อาหรับ และอเมริกา โดยคู่ค้าที่สำคัญของโมร็อกโกส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปรวมทั้งประเทศในตะวันออกกลางและเอเชียบางประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส(สัดส่วนร้อยละ 18) สเปน(ร้อยละ 13) อิตาลี(ร้อยละ 6) ซาอุดิอาระเบีย อังกฤษ จีน และรัสเซีย ตามลำดับ

o อัตราภาษีสินค้านำเข้าของโมร็อกโกในปี 2552 ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำภายใต้ข้อกำหนดของ WTO(MFN rate) อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 20.2 (อัตราภาษีอยู่ในช่วงร้อยละ 0-304) ปรับลดลงจากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 33.4 ในปี 2545 (อัตราภาษีอยู่ในช่วงร้อยละ 0 – 399) ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 29.0 สินค้าอุตสาหกรรมการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 19.9 และสินค้าแร่มีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำที่สุดเฉลี่ยร้อยละ 9.1(เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก เคมีภัณฑ์และปุ๋ย) สำหรับการนำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าจะมีระดับอัตราภาษีเฉลี่ยต่ำที่สุดร้อยละ 16 รองลงมาคือการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 21.5 และสินค้าขั้นสุดท้ายเพื่อการบริโภคเฉลี่ยร้อยละ 23.4 ตามลำดับ ทั้งนี้อัตราภาษีของเม็กซิโกที่ปรับลดลงน่าจะส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยให้มีโอกาสขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบเพื่อการผลิตที่มีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำ แต่สำหรับสินค้าเกษตรแม้ว่าไทยจะมีความสามารถในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรแต่การเข้าสู่ตลาดโมร็อกโกอาจลำบากเนื่องจากภาษีสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูงที่สุด(เมื่อเทียบกับสินค้าชนิดอื่น)

o สิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อตกลงทางการค้า ซึ่งโมร็อกโกให้ความสำคัญกับประเทศในกลุ่มอาหรับมากกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากกลุ่มอาหรับอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ประเทศในกลุ่มสันนิบาตอาหรับ(Areb League) เขตการค้าเสรีเมดิเตอร์เรเนียน(Agadir Agreement) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ สำหรับสิทธิพิเศษด้านภาษีกับประเทศอื่นๆ มีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยร้อยละ7.6 – 20.0 ได้แก่ ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO) สมาคมการค้าเสรียุโรป(EFTA) ประเทศในภูมิภาคยุโรป(EC) กินี ประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกา(Africa LDCs) มอริเตเนีย ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ จอร์แดน เซเนกัล ตูนีเซีย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งนักธุรกิจไทยในโมร็อกโกจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าของโมร็อกโกกับประเทศต่างๆในการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตที่มีอัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่าระดับภาษีปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อนักธุรกิจไทยที่ทำการผลิตในโมร็อกโกเพื่อการส่งออกสินค้าไปขายยังประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้ากับโมร็อกโกให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในยุโรป สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอาหรับ ที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

โมร็อกโกเปิดเสรีแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติในธุรกิจหลายชนิดรวมทั้งด้านการเกษตรกรรม (แต่ไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรในโมร็อกโก) เนื่องจากโมร็อกโกยังขาดประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จะเห็นได้ว่าโมร็อกโกตั้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรค่อนข้างสูงกว่าภาษีสินค้าชนิดอื่นๆเพื่อปกป้องการผลิตในประเทศ รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรหลายด้านโดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุน เช่น ปัจจัยการผลิต การวิจัยและพัฒนา และการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ธุรกิจประมงในเมือง Dakhla จังหวัด Eddahab-Lagouira เขตซาฮาราตะวันตก(Western Sahara)ทางตอนใต้ของโมร็อกโกที่ได้ให้สิทธิประโยชน์อย่างมากแก่นักลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สิทธิทำประมงชายฝั่งและประมงน้ำลึก ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถขออนุญาตทำการประมงได้โดยไม่จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับฝ่ายโมร็อกโก ซึ่งทางการโมร็อกโกกำหนดโควตาให้จับสัตว์น้ำในเขตนี้ได้ปีละ 1 ล้านตัน เมื่อจับสัตว์น้ำแล้วสามารถเลือกที่จะนำสัตว์น้ำนั้นออกนอกเขตโมร็อกโก หรือจะนำขึ้นฝั่งไปเก็บในห้องเย็นที่ภาคเอกชนโมร็อกโกสร้างไว้ หรือจะนำเข้าโรงงานแปรรูปก่อนส่งออก/ส่งไปจำหน่ายก็ได้

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโมร็อกโกเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ รัฐบาลกำหนดเป้าหมายในปี 2553 ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในโมร็อกโก 10 ล้านคน จึงเป็นโอกาสของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ได้แก่ ธุรกิจสปาไทย มีชื่อเสียงในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่นิยมการบริการนวดของไทย และแม้ว่าโมร็อกโกจะมีสปาของตัวเองแต่สปาไทยเองก็มีข้อได้เปรียบในตลาดระดับบนแม้ว่าราคาค่อนข้างสูง คือ นวดไทยราคาประมาณ 400 ดีร์แฮม/ชั่วโมง หรือประมาณ 1,600 บาท นอกจากนี้ธุรกิจสปาไทยที่เติบโตได้ดียังส่งผลดีต่อโอกาสขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อความงามของไทยให้ขยายตัวตาม เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ธุรกิจร้านอาหารไทย อาหารไทยในปัจจุบันได้รับความนิยมในโมร็อกโก โดยราคาอาหารไทยเทียบเท่ากับอาหารในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาหารจานเดียวราคาประมาณ 100-250 ดีร์แฮม หรือประมาณ 400-1,000 บาท แต่ร้านอาหารไทยชั้นนำในโมร็อกโกประสบปัญหาด้านการจัดซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารไทย ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากสเปน หรือฝรั่งเศส ดังนั้นตลาดสินค้าที่เกี่ยวกับการปรุงอาหารไทยก็เป็นอีกสาขาหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน

สินค้าไทยในโมร็อกโก ปัจจุบันการค้าไทยกับโมร็อกโกยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อยโดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 32 ของโมร็อกโก มีส่วนแบ่งทางการค้าในโมร็อกโกร้อยละ 0.5 ในขณะที่โมร็อกโกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 72 ของไทย มีส่วนแบ่งทางการค้าในไทยร้อยละ 0.06 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย การส่งออกและนำเข้าของไทยกับโมร็อกโกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวร้อยละ 28.7 และร้อยละ 26.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าไทยไปโมร็อกโกโดยเฉพาะสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและวัตถุดิบเป็นโอกาสที่สำคัญเพื่อนำไปผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังคู่ค้าที่สำคัญโดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

o สินค้าไทยที่มีศักยภาพในโมร็อกโกกว่าร้อยละ 87 เป็นสินค้ายานยนต์(ร้อยละ 46)และเครื่องใช้ไฟฟ้า(ร้อยละ 30) แม้ว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 จะชะลอตัวค่อนข้างมากเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างยุโรป แต่ในระยะที่ผ่านมาสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าการส่งออกสูง โดยเฉพาะรถแวน รถปิกอัพ ส่วนประกอบรถยนต์ รถยนต์นั่ง เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า/ซักแห้ง เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ของอเมริกา และญี่ปุ่น ได้เข้าไปลงทุนในโมร็อกโกมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในโมร็อกโกขยายตัวซึ่งอาจส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้ายานยนต์ของไทยไปโมร็อกโกให้ขยายตัวเนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และได้รับความไว้วางใจในการผลิตของบริษัทญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสให้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่นได้

o สินค้าไทยที่มีโอกาสเติบโตเนื่องจากการส่งออกขยายตัวเป็นที่น่าจับตามอง ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลามีชีวิต/พันธุ์ปลา น้ำผลไม้ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืนจากเส้นใยประดิษฐ์ ของเล่น เครื่องสำอาง/สบู่ และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ที่มีการขยายตัวอย่างโดดเด่น เนื่องจากโมร็อกโกมีความสามารถในการผลิตและแปรรูปอาหารทะเลค่อนข้างต่ำ แม้ว่าโมร็อกโกมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกปลาหมึกก็ตาม

o สินค้าที่โมร็อกโกมีความต้องการถือเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ พลาสติก เคมีภัณฑ์(โพลีเอทิลีน) กำมะถัน เหล็ก เครื่องจักรทางการเกษตร เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าเพื่อการบริโภคอื่นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสินค้าไทยอาจต้องประสบอุปสรรคจากการแข่งขันทางการค้าเนื่องจากในปัจจุบันโมร็อกโกนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากประเทศใกล้เคียงและคู่ค้าที่มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันที่มีราคาสินค้านำเข้าต่ำกว่าและได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น นำเข้าจากยุโรป กลุ่มประเทศอาหรับ จีน และรัสเซีย เป็นต้น

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

เศรษฐกิจโมร็อกโกชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และในไตรมาสแรกปี 2552 เศรษฐกิจโมร็อกโกขยายตัวชะลอเหลือร้อยละ 3.7(YoY) แต่อย่างไรก็ตามในปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกได้ในอัตราร้อยละ 5.4 ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นภาคการค้าและการประกอบธุรกิจในโมร็อกโก ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มการใช้จ่ายด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเพิ่มการขาดดุลการคลังต่อ GDP เป็นร้อยละ 2.9 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 3.5 อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับต่ำโดยหดตัวร้อยละ 1.0 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจโมร็อกโก จากผลกระทบทางอ้อมของวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อการส่งออกสินค้า การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยว(7 เดือนแรกของปี 2552)ให้หดตัวร้อยละ 32.2 ร้อยละ 21 และร้อยละ 11.5 ตามลำดับทิศทางเศรษฐกิจโมร็อกโกที่อยู่ในเกณฑ์ดี และปัจจัยบวกจากข้อตกลงทางการค้าระหว่างโมร็อกโกกับยุโรป แอฟริกา สหรัฐฯ และกลุ่มอาหรับ จะมีส่วนช่วยกระจายสินค้าได้อีกทางหนึ่ง โมร็อกโกจึงเป็นแหล่งดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศและเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยอีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกของไทยไปโมร็อกโก ในระยะสั้นอาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโมร็อกโกที่ชะลอตัวโดยการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกไปโมร็อกโกหดตัวร้อยละ 28.7 แต่สำหรับในระยะต่อไปการส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างกันยังค่อนข้างต่ำและที่สำคัญมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงขับเคลื่อนของความต้องการในประเทศและความต้องการจากคู่ค้าที่สำคัญของโมร็อกโก เช่น ยุโรป สหรัฐฯ และอาหรับ ประกอบกับการปรับลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าของโมร็อกโกโดยในปี 2552 อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยเหลือร้อยละ 20.2 จากร้อยละ 33.4 ในปี 2545 ส่งผลดีต่อสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าแร่ที่มีอัตราภาษีอยู่ในระดับที่ต่ำร้อยละ19.9 และร้อยละ 9.1 ตามลำดับ แต่สำหรับสินค้าเกษตรค่อนข้างมีอุปสรรคจากอัตราภาษีที่ระดับค่อนข้างสูงร้อยละ 29(เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น) นอกจากนี้การส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าในโมร็อกโกจะมีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 16 ในขณะที่การส่งออกวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปอัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 21.5 และ 23.4 ตามลำดับ สินค้าส่งออกที่สำคัญและมีโอกาสขยายตัวสูงของไทย ได้แก่ รถแวน รถปิกอัพ ส่วนประกอบรถยนต์ของรถยนต์นั่ง เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า/ซักแห้ง ปลาทูน่ากระป๋อง ปลามีชีวิต/พันธุ์ปลา น้ำผลไม้ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืนจากเส้นใยประดิษฐ์ ของเล่น เครื่องสำอาง/สบู่ และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

โมร็อกโกเปิดกว้างแก่นักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะการท่องเที่ยว การก่อสร้าง การสื่อสาร การขนส่ง และภาคการผลิต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทั้งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โอกาสการลงทุนของไทยในโมร็อกโก ได้แก่ ธุรกิจประมงมีโอกาสค่อนข้างมากเนื่องจากโมร็อกโกมีปัจจัยการผลิตที่พร้อมอยู่แล้วแต่ขาดศักยภาพในการผลิต ธุรกิจก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการพัฒนาประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะการก่อสร้างบ้านราคาต่ำและการรับช่วงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากนักลงทุนยุโรปในโมร็อกโก ธุรกิจสปาไทยและร้านอาหารไทย ขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยวในโมร็อกโกที่มีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยว ประกอบกับสปาไทยและอาหารไทยเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวในโมร็อกโก อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจในโมร็อกโกมีอุปสรรคหลายด้านที่ควรระวัง ได้แก่ ความเข้มงวดด้านแรงงาน ข้อจำกัดด้านสิทธิของผู้ถือหุ้น ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจที่ใช้เวลานาน เช่น ระยะเวลาการจดทะเบียนเป็นเจ้าของธุรกิจ และการจ่ายภาษี รวมทั้งการทำสัญญาการค้าที่เสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน และการนำเข้า-ส่งออกใช้เอกสารหลายชุด/ใช้เวลาดำเนินการหลายวัน เป็นต้น นอกจากนี้การขยายธุรกิจไทยในโมร็อกโกน่าจะส่งผลดีต่อความต้องการนำเข้าสินค้าไทยเพื่อรองรับการขยายธุรกิจไทยในโมร็อกโกได้อีกทางหนึ่ง เช่น วัตถุดิบประกอบอาหาร เครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร เหล็ก วัสดุก่อสร้าง และเครื่องสำอาง/สบู่ เป็นต้น