ไอบีเอ็มเผยแนวคิด ‘ระบบธนาคารอัจฉริยะ’

จากภาพ : มร. อาจิต แนร์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคาร ไอบีเอ็มอาเซียน (ขวา) และนายสวัสดิ์ อัศดารณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคาร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ร่วมกันเผยแนวคิด “ระบบธนาคารอัจฉริยะ”

กรุงเทพฯ – 24 กันยายน 2552 – ไอบีเอ็มเผยแนวคิด “ระบบธนาคารอัจฉริยะ” (Smarter Banking) สำหรับธุรกิจสถาบันการเงินแห่งอนาคต เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวันนี้ที่มีการมีการเชื่อมโยงเป็นผืนเดียวกัน เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และมีความชาญฉลาดมากขึ้น

โดยระบบธนาคารอัจฉริยะที่ไอบีเอ็มนำเสนอจะช่วยรับมือกับปัญหาท้าทายที่สถาบันการเงินกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดยครอบคลุมการดำเนินงานของธนาคารที่ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น เช่นการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะใหม่ๆ ที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น ทำให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเพื่อให้บริการที่ดีขึ้น สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมถึงการช่วยบริหารความเสี่ยงจากธุรกิจและความเสี่ยงจากสถานะการเงินขององค์กรโดยรวมได้

“วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้เรามองเห็นอย่างชัดเจนว่าระบบการเงินทั่วโลกมีความเชื่อมโยงถึงกันและมีความซับซ้อนขึ้นมาก แต่ในขณะที่บูรณาการที่เกิดขึ้นทั่วโลกและผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้นก่อให้เกิดผลดีในหลายๆ ด้านก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหามากมายหลายประการเช่นกัน เพราะทุกวันนี้โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ระบบการเงินทั่วโลกกลับไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าระบบวิศวกรรมการเงินใหม่ๆ ที่ซับซ้อนนั้นได้ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายที่เราคาดไม่ถึง” มร. อาจิต แนร์ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคาร ไอบีเอ็มอาเซียน กล่าว

“หนึ่งปัญหาที่ธนาคารต่างๆ ต้องเผชิญมากที่สุดในขณะนี้คือ การรักษาสภาพคล่องและการรักษาเงินกองทุน แต่ในขณะเดียวกันธนาคารก็ต้องเน้นการขยายฐานลูกค้า และต้องสรรหาบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตามที่ต้องการเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธนาคารอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการบริหารต้นทุน การดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ธนาคารสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดไว้ได้

ที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายและการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานในหลายๆ ด้านแล้ว เช่น การใช้บริการเอาต์ซอร์สเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่เฉพาะงานทางด้านไอทีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการเอาท์ซอร์สในกระบวนการดำเนินธุรกิจต่างๆ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลลูกค้าและการบริหารข้อมูลลูกค้า เพื่อเชื่อมโยงการให้บริการทั้งภายในและภายนอกองค์กร พนักงานธนาคาร และทรัพยากรต่างๆ เข้าด้วยกัน และนำองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกันเพื่อเป้าหมายคือการให้บริการลูกค้าผ่านเครือข่ายที่ฉลาดและรวดเร็ว นอกจากนี้ การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้นจากภาครัฐและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อฟันฝ่าวิกฤตการเงินในครั้งนี้ ก็จะทำให้สถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นจะต้องมีการปรับใช้แนวทางการบริหารความเสี่ยงภายในองค์กรอย่างจริงจังมากขึ้น”

มร. แนร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันรูปแบบธุรกิจของอุตสาหกรรมการเงินทั้งระบบมีศักยภาพที่จะดำเนินธุรกิจให้ “ฉลาดขึ้น” ได้ โดยธนาคารต่างๆ ต้องมีพันธมิตรที่มีความเหมาะสม มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเข้าใจธุรกิจการเงินในภาพรวม รวมถึงมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธนาคาร โดยคาดว่าอุตสาหกรรมธนาคารจะมีการใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มมากขึ้นในด้านบริการเกี่ยวกับกระบวนการการดำเนินธุรกิจ การให้บริการแบบรวมศูนย์ การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า การวิเคราะห์ความเสี่ยง การกำกับดูแลและการรายงานตามกฎระเบียบ และการลงทุนในระบบที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

นายสวัสดิ์ อัศดารณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคาร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มลงทุนทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างสรรค์โซลูชั่นที่ตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของสถาบันการเงินต่างๆ เราเห็นว่าธนาคารที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ จะสามารถคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า และนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่เกิดความคาดหมายของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วกว่าคู่แข่งเสมอ รวมถึงความสามารถในการตรวจสอบสถานะความเสี่ยงได้อย่างรอบด้านอย่างทันท่วงที และตอบสนองอย่างรวดเร็วและเฉียบแหลมต่อสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป”

ทั้งนี้ไอบีเอ็มจึงได้นำเสนอแนวคิดใน 4 ด้านหลัก ตามแนวคิดของ “ระบบธนาคารอัจฉริยะ” (Smarter Banking) ซึ่งไอบีเอ็มแนะนำให้ธนาคารต่างๆ มุ่งเน้นในเรื่องความสำคัญในเรื่องของเงินกองทุน ค่าใช้จ่าย ความเสี่ยง และลูกค้า ด้วยแนวคิดดังนี้

? การพัฒนาระบบจัดการข้อมูลอัจฉริยะ (New Intelligence) ปัจจุบันธนาคารต้องจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมหาศาล แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวทันกับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารอัจฉริยะจึงจำเป็นต้องปรับปรุงความสามารถในการปรับเปลี่ยนข้อมูลที่มีอยู่ โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้มาอย่างทันท่วงทีแบบเรียลไทม์ ให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ธนาคารจำเป็นต้องมีระบบจัดการข้อมูลอัจฉริยะเพื่อรองรับการรวบรวมข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลอย่างทั่วถึงในทุกกระบวนการขององค์กร และระบบจัดการข้อมูลอัจฉริยะยังจะช่วยให้ผู้บริหารทุกระดับภายในองค์กรสามารถใช้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ดังกล่าว เพื่อปรับปรุงการตัดสินใจทางธุรกิจให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

? การลดค่าใช้จ่าย (Reduce Cost) ธนาคารอัจฉริยะจะมุ่งน้นที่การลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยยังคงรักษาคุณภาพการให้บริการและการป้องกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีหลายเทคโนโลยีที่สามารถช่วยธนาคารลดต้นทุนได้ อาทิ การรวมทรัพยากรด้วยเทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) การใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน การพัฒนาตามมาตรฐาน และการบริหารงานบริการ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น นอกจากนี้ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ยังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการลดค่าใช้จ่ายด้านไอที พร้อมทั้งรักษาขีดความสามารถในการให้บริการที่รวดเร็วและมีคุณภาพ โดยทั้งหมดนี้จะช่วยให้องค์กร “ทำงานได้มากขึ้น แต่ใช้ทรัพยากรน้อยลง”

? การบริหารความเสี่ยงเชิงบูรณาการ (Integrated Risk Management) กลยุทธ์การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่างๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสถาบันการเงินจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง หากแต่ผลการศึกษาล่าสุดของไอบีเอ็มกลับพบว่า 2 ใน 3 ของสถาบันการเงินระบุว่า ความคล่องตัวในการดำเนินงานของตนเองยังคงอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับต่ำ และมีสถาบันการเงินเพียงไม่ถึง 5% ที่รู้สึกมั่นใจในความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของตนเอง ระบบธนาคารอัจฉริยะจึงเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาเงินกองทุนจากการบริหารความเสี่ยงที่ดี อันจะนำมาสู่การสร้างผลกำไร ทั้งนี้เพราะความสามารถในการรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ดีจะเป็นตัวกำหนดความสามารถของธนาคารในการมอบผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ในสภาพตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ตลอดจนความผันผวนของตลาด และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ธนาคารจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงขีดความสามารถในการบริหารความเสี่ยง และมีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

? การใช้โครงสร้างไอทีที่ปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ (Dynamic Infrastructure) ธนาคารอัจฉริยะจะมุ่งเน้นการใช้ระบบไอทีที่สามารปรับเปลี่ยนได้ เพื่อรองรับการรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว และสามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก และการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องแม่นยำและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งโครงสร้างไอทีที่ปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการนี้จะช่วยธนาคารให้รับมือกับความท้าทายต่างๆ ในด้านความพร้อมใช้งานของข้อมูล ความปลอดภัยของข้อมูล การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

นายสวัสดิ์กล่าวว่า “ไอบีเอ็มได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในกลุ่มการเงินการธนาคารในประเทศไทยมานาน เรามองว่าต่อไปธนาคารเหล่านี้จะมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น และมีความฉลาดมากขึ้น ซึ่งธนาคารต่างๆ ล้วนต้องการการเติบโตทั้งในประเทศ ในระดับภูมิภาค และในระดับโลก จึงต้องมองหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่รองรับกับความต้องการทางธุรกิจ ซึ่งไอบีเอ็มสามารถให้บริการที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของธนาคารที่ครอบคลุมในทุกด้าน ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นต่างๆ ที่สามารถช่วยให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น”

ปัจจุบัน ไอบีเอ็มคือพันธมิตรที่สำคัญของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ ด้วยการให้บริการธนาคารชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญนับพันคน ประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง และด้วยเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมการเงินธนาคาร

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบธนาคารอัจฉริยะของไอบีเอ็ม โปรดเยี่ยมชม: http://www.ibm.com/banking