ตลาดคอมพิวเตอร์: ไตรมาสสุดท้ายปี 2552 แข่งรุนแรง

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง ผู้บริโภคบางกลุ่มชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งตลาดคอมพิวเตอร์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยสินค้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงจากคอมพิวเตอร์พกพา และจากการชะลอตัวลงของการประมูลงานทางราชการ ในขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์พกพากลับมียอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเน็ตบุ๊กที่ยังเป็นที่สนใจของตลาดในขณะนี้ เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงนัก สำหรับสถานการณ์ตลาดคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 3 ปี 2552 สาเหตุน่าจะมาจากผู้บริโภคเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่มีทิศทางเป็นบวกมากขึ้น (อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2552 มีอัตราการหดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอลงจากที่ติดลบเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ร้อยละ 7.1 ในไตรมาสก่อนหน้า) ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเริ่มมีการใช้จ่ายมากขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรก ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดระหว่างผู้ผลิตสินค้า (เจ้าของแบรนด์) จะเห็นได้ว่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายรายได้มีการปรับตัวทางธุรกิจท่ามกลางภาวะที่ผู้บริโภคถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบนานัปการ อาทิเช่น การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ และราคาให้มีความหลากหลาย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและความต้องการที่ใช้งานต่างกัน เป็นต้น ในขณะที่ผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่ายได้ทำแคมเปญกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำแคมเปญการตลาดร่วมกับบัตรเครดิต ในการผ่อนชำระสินค้ารายเดือนตามเวลาที่กำหนด การเสนอของแถม เช่น อุปกรณ์เสริมเครื่องเล่นดีวีดี แบบต่อภายนอก (External DVD) หรือสามารถเพิ่มหน่วยความจำ (RAM) ในเครื่องได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ผู้ซื้อยังได้รับส่วนลดพิเศษเมื่อชำระด้วยเงินสด เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มตลาดคอมพิวเตอร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ดังนี้

แนวโน้มตลาดคอมพิวเตอร์ปรับตัวดีขึ้น…ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

สถานการณ์ตลาดคอมพิวเตอร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดคอมพิวเตอร์น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (โครงการไทยเข้มแข็ง) และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่น่าจะส่งผลดีต่อทิศทางการจ้างงานและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้

การเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อทิศทางเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณบวก ผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น และคาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะกลับฟื้นขึ้นตามมา ทำให้ผู้ผลิตบางรายเตรียมเปิดตัวเครื่องรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ความเร็วเครื่องที่สูงขึ้น รวมถึงระบบปฏิบัติการใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้า เป็นต้น เพื่อกระตุ้นตลาดสร้างยอดขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และเป็นฤดูการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง

การแข่งขันทางธุรกิจที่สูง ในปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดคอมพิวเตอร์มากกว่า 20 แบรนด์ ทำให้การแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงมาก ทั้งแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น และการแข่งขันจากโลคอลแบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ของไทย (ที่ในระยะหลังจะเหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น) จากการที่มีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น จึงเกิดการเปรียบเทียบคุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น ซีพียู (ความเร็วของเครื่อง) ชิปเซ็ต ความจุของฮาร์ดดิสก์ ขนาดความจำที่มาในตัวเครื่อง ขนาดของมอนิเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ซื้อยังมีการเปรียบเทียบในเรื่องของราคาระหว่างแบรนด์มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตจึงต้องปรับผลิตภัณฑ์ของตน และการทำกลยุทธ์ด้านราคาให้สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันทางตลาด ทำให้คาดว่า ในช่วงสุดท้ายของปีนี้ ผู้ผลิตน่าจะมีการแข่งขันด้านราคาที่สูง การแข่งขันด้านคุณสมบัติของตัวเครื่อง และการเสริมจุดแข็งทางการตลาด เพื่อให้มีความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่ง เช่น การเพิ่มบริการเสริม โดยการซ่อมฟรีถึงบ้าน หรือมีการเพิ่มฟรีประกันเครื่องหาย เป็นต้น

โครงการไทยเข้มแข็ง ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ภาครัฐได้มีนโยบายการสนับสนุนการลงทุนด้านไอทีในสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดคอมพิวเตอร์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปีหน้า สำหรับโครงการลงทุนด้านไอทีภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง เช่น โครงการการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ในสถานศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะมีโครงการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 482,000 เครื่อง ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศอย่างน้อย 31,821 โรงเรียน และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมมูลค่าโครงการประมาณ 17,894 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คาดว่าจะเริ่มจัดหาคอมพิวเตอร์ประมาณ 100,000 เครื่อง ให้แก่โรงเรียน 10,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณ 3,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณไทยเข้มแข็งที่ออกมาครั้งแรกในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2552 ประมาณ 300,000 ล้านบาท

พฤติกรรมของผู้บริโภค ในปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคมักจะเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี ซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่สามารถเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้รวดเร็ว สร้างความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารข้ามประเทศโดยผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สร้างความบันเทิง เช่น ฟังเพลง ดูหนัง หรือเล่นเกมส์ เป็นต้น ความต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อที่จะมาเติมเต็มการใช้ชีวิตประจำวันจึงเกิดขึ้น และเมื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่มีอย่างไม่สิ้นสุด ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มซึ่งมีความชอบอยู่แล้ว ก็จะมีการปรับเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน หรือสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน ซึ่งจะเห็นได้จากความนิยมของคอมพิวเตอร์พกพาที่มีขนาดเล็ก (Netbook) นอกจากเน็ตบุ๊กจะมีราคาถูก มีขนาดเล็กและสามารถพกพาได้ง่ายแล้ว เน็ตบุ๊กยังถูกออกแบบมาเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้บริการเครือข่ายสังคม เช่น Facebook Hi5 และ My Space เป็นต้น

คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กยังคงมาแรง…ปัจจัยหนุนเรื่องราคา

คอมพิวเตอร์ขนาดพกพายังคงเป็นสินค้าที่เติบโตได้ดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจากผลสำรวจสินค้าขายดีในการจัดงานคอมมาร์ทในปีนี้ พบว่า สินค้าที่ขายดีเป็นอันดับ 1 คือ คอมพิวเตอร์ขนาดพกพา สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการเองได้มีการปรับลดราคา หรือออกคอมพิวเตอร์รุ่นที่มีราคาถูกลง ท่ามกลางภาวะที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน ทำให้ที่ผ่านมาตลาดนี้จึงยังคงมีการเติบโตได้ดี สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์พกพานั้นถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์พกพาขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า โน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า เน็ตบุ๊ก ซึ่งในระยะหลังเน็ตบุ๊กจะได้รับความนิยมจากผู้ซื้อมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่าโน้ตบุ๊ก นอกจากนี้เน็ตบุ๊ก ซึ่งถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อที่จะให้ผู้ใช้สามารถพกพาได้สะดวกสบายเนื่องจากมีน้ำหนักเบา และมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายซึ่งสามารถใช้ได้ในสถานที่ที่มีบริการ Wi-Fi จึงเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้งานเบาๆ เช่น กลุ่มนักเรียนและนักศึกษา เป็นต้น และกลุ่มลูกค้าที่นิยมการใช้บริการเครือข่ายสังคม

สำหรับแนวโน้มตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดพกพายังคงสามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ได้แก่ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดของตน มีการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และตามความกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่การเปิดตัวคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทยอยเข้ามาทำตลาดในช่วงท้ายของปีมากขึ้น ก็น่าจะทำให้การแข่งขันในตลาดคอมพิวเตอร์ทวีความเข้มข้น รวมถึงการเปิดใช้ระบบ 3G หรือ ไวแมกซ์ (Wi-Max) ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็น่าจะมีผลต่อการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ซึ่งผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์พกพาสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในระดับความเร็วที่สูงขึ้นในสถานที่มี่มีจุดให้บริการไวแมกซ์

คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมีทิศทางดีขึ้น: เจาะตลาดต่างจังหวัด…รอภาครัฐและเอกชนลงทุนด้านไอที

สำหรับตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างหนัก ทั้งจากคู่แข่งอย่างคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาที่ในระยะหลังเริ่มเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าประเภทเดียวกันเอง คือ การแข่งขันระหว่างคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป และคอมพิวเตอร์แบบสั่งประกอบเอง (DIY) ซึ่งผู้ใช้สามารถออกแบบสเปคของเครื่องตามความต้องการใช้งานของตนเองได้ และโดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ซึ่งพีซีจะถูกประกอบขึ้นมาจากผู้ประกอบการ ผู้ซื้อไม่สามารถเลือกส่วนประกอบในตัวเครื่องได้ ซึ่งผู้ประกอบการจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการใช้งานของตน และตลาดของคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเริ่มมีแนวโน้มที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมากขึ้น เนื่องจากเจ้าของแบรนด์ส่วนใหญ่ที่ลงมาทำตลาดจะเป็นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้โหมทำการตลาดอย่างหนัก โดยเฉพาะการหันมาเล่นเรื่องราคา ทำให้ในปัจจุบันราคาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะนั้นมีราคาที่ถูกลง และมีแนวโน้มที่จะลดลง ตามสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง

สำหรับแนวโน้มตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่า ตลาดน่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา แต่อย่างไรก็ตามตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็ยังคงมีช่องว่างในการทำตลาด ในส่วนของตลาดของผู้บริโภคเองก็ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดี เมื่อสัดส่วนการมีคอมพิวเตอร์ต่อครัวเรือนในประเทศไทยมีอัตราที่ไม่สูงนัก (จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ การมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ปี 2551 พบว่า จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ มีอยู่ 24.8 เครื่องต่อ 100 ครัวเรือน) โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีสัดส่วนการมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่น้อย เนื่องจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มีราคาที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ทำให้คาดว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน และกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับคืนมา ตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็น่าจะกลับมามีความคึกคักอีกครั้ง นอกจากตลาดของผู้บริโภคแล้ว แนวโน้มของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็น่าจะยังได้รับอานิสงส์จากโครงการภาครัฐ และภาคเอกชนที่น่าจะหันมาลงทุนในเรื่องของไอทีมากขึ้น ภายหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคเอกชนต้องชะลอการใช้จ่ายออกไป

สำหรับแนวโน้มภาพรวมตลาดคอมพิวเตอร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดคอมพิวเตอร์ในปี 2552 นี้ ปริมาณยอดขายน่าจะมีประมาณ 2.56 – 2.82 ล้านเครื่อง หดตัวประมาณร้อยละ 0.8 ถึงขยายตัวร้อยละ 9.3 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 30.3 ในปี 2551 โดยเป็นการลดลงของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ในขณะที่คอมพิวเตอร์ขนาดพกพายังคงมีการเติบโตที่เป็นบวก

ในขณะที่มูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์น่าจะมีประมาณ 47,370-51,295 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.9 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 23.5 ในปี 2551 สำหรับมูลค่าของตลาดคอมพิวเตอร์ที่ลดลงนั้น นอกจากจะมีปัจจัยจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้ามีราคาที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการต่างปรับกลยุทธ์การตลาดของตน ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง ผู้ประกอบการจึงหันมาเน้นการออกสินค้าที่มีราคาถูกลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการใช้งานได้อย่างดี

บทสรุป

สำหรับแนวโน้มตลาดคอมพิวเตอร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ตลาดคอมพิวเตอร์น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น ซึ่งน่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังมีความลังเลใจอาจจะกลับมาตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่น่าจะช่วยทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์ขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แล้ว ตลาดคอมพิวเตอร์ยังมีปัจจัยเฉพาะแวดล้อมธุรกิจที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโต อย่างเช่น การเปิดตัวคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้ผลิต เช่น แบตเตอร์รี่ประหยัดพลังงาน รวมถึงการเปิดตัวใหม่ของผู้ผลิตซอฟท์แวร์ อย่างเช่นระบบปฏิบัติการใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้า ที่อาจจะทำให้เกิดความต้องการในการเปลี่ยนเครื่อง เพื่อให้รองรับกับระบบปฏิบัติการใหม่นี้ นอกจากนี้การแข่งขันทางธุรกิจที่สูงที่มีผลต่อราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น อีกทั้งความชัดเจนในการเปิดให้บริการของระบบ 3G (ในปัจจุบันแม้ว่าจะยังไม่สามารถเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ก็มีผู้ให้บริการตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่บางรายเริ่มทำการทดลองให้บริการโมบาย อินเทอร์เน็ตบนระบบ 3G เฉพาะกับการเชื่อมต่อโน้ตบุ๊ก) ทำให้คาดว่าตลาดคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาน่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดี

สำหรับภาพรวมของตลาดคอมพิวเตอร์ในปี 2552 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณยอดขายน่าจะมีประมาณ. 2.56 – 2.82 ล้านเครื่อง หดตัวประมาณร้อยละ 0.8 ถึงขยายตัวร้อยละ 9.3ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 30.3 ในปี 2551 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของยอดขายคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ในขณะที่ยอดขายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะน่าจะมีจำนวนที่ลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากการทำตลาดที่รุนแรงของคู่แข่งอย่างคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา รวมถึงการชะลอตัวการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐที่มีผลต่อการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ดีตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะน่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้าย เมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น และกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับคืนมา ตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็น่าจะกลับมามีความคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้ภาคเอกชนเองก็น่าจะกลับมาให้ความสนใจในการลงทุนและพัฒนาระบบไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของตน รวมถึงตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะน่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ได้แก่ โครงการจัดหาคอมพิวเตอร์ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คาดว่า จะเริ่มจัดหาคอมพิวเตอร์ประมาณ 100,000 เครื่อง ให้แก่โรงเรียน 10,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณ 3,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณไทยเข้มแข็งที่ออกมาครั้งแรกในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2552 ประมาณ 300,000 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มราคาจำหน่ายต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกประเภทคาดว่า น่าจะยังคงลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการน่าจะยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคา โดยการส่งผลิตภัณฑ์ที่มีราคาไม่สูงนักมาเป็นตัวกระตุ้นยอดขาย ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 47,452-51,295 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.9 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 23.5 ในปี 2551 อย่างไรก็ตามคาดว่ามูลค่ายอดขายของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและเน็ตบุ๊กที่น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งทำให้มูลค่าของของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและเน็ตบุ๊กยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ ในขณะที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะคาดว่ามูลค่ายอดขายจะชะลอตัวลงทำให้มูลค่าตลาดจึงลดลงตาม