ข้าวนึ่ง : พระเอกส่งออกข้าวปี 2552/53

ในปี 2552/53 ผลผลิตข้าวของอินเดียลดลงไปประมาณ 6-7 แสนตัน อันเนื่องจากภาวะฝนแล้ง ทำให้รัฐบาลอินเดียประกาศหยุดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติในช่วงต้นเดือนกันยายน 2552 ไทยจะได้ประโยชน์โดยตรงในการส่งออกตลาดข้าวนึ่งแทนที่อินเดีย ทำให้คาดว่าปี 2552 นี้ไทยจะส่งออกข้าวนึ่งได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 3.5 ล้านตัน หลังจากที่ในปี 2551 ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งของไทยก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จากในปีปกติที่ส่งออกได้ประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งก็เป็นอานิสงส์ที่อินเดียหยุดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติเช่นกัน ทำให้สัดส่วนการส่งออกข้าวนึ่งของไทยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกข้าวโดยรวมของไทย จากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 จึงทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ของโลก

ปัจจุบันการค้าข้าวโลกอยู่ที่ประมาณ 29 ล้านตัน ซึ่งเป็นการค้าข้าวนึ่งประมาณ 5 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.2 ของตลาดข้าวทั้งหมด โดยไทยส่งออกข้าวนึ่งประมาณ 2 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 40.0 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2552 มีความกังวลกันว่าถ้าอินเดียกลับมาส่งออกข้าวนึ่งหลังจากที่งดการส่งออกในปี 2551 จะสร้างปัญหาให้กับการส่งออกข้าวนึ่ง โดยในช่วง 8 เดือนแรกการส่งออกข้าวนึ่งของไทยลดลงอันเป็นผลมาจากประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะในตลาดแอฟริกาชะลอการนำเข้า โดยรอการกลับเข้าตลาดของอินเดีย ดังนั้น การที่อินเดียประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติต่อเนื่องในปี 2552 น่าจะส่งผลให้การส่งออกข้าวนึ่งของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปี 2553 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากไทยส่งออกข้าวนึ่งแทนที่ตลาดอินเดีย จากเดิมนั้นการแข่งขันในการส่งออกข้าวนึ่งระหว่างไทยและอินเดียค่อนข้างรุนแรง กล่าวคือ ปกติราคาข้าวนึ่งของอินเดียจะถูกกว่าไทยเฉลี่ย 40-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวนึ่งของอินเดียได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล ทำให้ส่งออกได้ราคาต่ำกว่า แต่ที่ผ่านมาผู้ส่งออกของไทยยังสามารถแข่งกับอินเดียได้ในเรื่องคุณภาพ และการส่งมอบตรงเวลา แม้ว่าตลาดข้าวนึ่งในประเทศไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นตลาดข้าวนึ่งที่ใหญ่ที่สุด ไทยเริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดให้อินเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากก่อนหน้านี้ทั้งสองตลาดยอมจ่ายค่าพรีเมียม เพราะให้เครดิตคุณภาพข้าวไทยดีกว่า โดยยอมซื้อแพงกว่าข้าวอินเดียประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทที่แข็งค่ามาก ทำให้ผู้ส่งออกข้าวนึ่งของไทยแพงกว่าอินเดียถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ผู้นำเข้าข้าวนึ่งในทวีปแอฟริกาหันไปนำเข้าจากอินเดียมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวนึ่งเริ่มหันไปทำตลาดข้าวนึ่งในสหภาพยุโรป และตะวันออกกลางทดแทนตลาดแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันนี้ข้าวนึ่งกล้องของไทยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะรัฐบาลไทยได้ประกาศรับรองว่าข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอ(ข้าวตัดแต่งพันธุกรรม) ทำให้ผู้ที่รักสุขภาพหันมาบริโภคข้าวนึ่งกล้องจากไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงสีข้าวในอียูยังได้ประโยชน์จากการนำเข้าข้าวนึ่งกล้อง เพราะสามารถนำข้าวนึ่งของไทยไปสีและได้รำข้าวเป็นผลพลอยได้ ปัจจุบันอียูลดการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ เพราะเกรงความไม่ปลอดภัยจากข้าวจีเอ็มโอ

ปัจจุบันข้าวนึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น จากเดิมที่เป็นที่นิยมบริโภคเฉพาะในบางประเทศ ปัจจุบันได้รับความนิยมบริโภคแพร่หลายมากขึ้น โดยถือว่าข้าวนึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้าวนึ่งที่ไทยส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดในทวีปแอฟริกา และตะวันออกกลาง กล่าวคือ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวนึ่งไปยังทวีปแอฟริกาเท่ากับ 771.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วหดตัวร้อยละ 22.2 เนื่องจากผู้นำเข้าชะลอการซื้อเพื่อรออินเดียกลับเข้าตลาด รวมทั้งจากการที่ในปี 2551 ได้มีการซื้อข้าวนึ่งสต็อกไว้เป็นจำนวนมาก จากความกังวลในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คำสั่งซื้อข้าวนึ่งจากแอฟริกาจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์หลังจากที่อินเดียประกาศอย่างชัดเจนว่างดการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติต่อไปจนถึงกลางปีหน้า ดังนั้นการส่งออกข้าวนึ่งไปตลาดแอฟริกาที่มีสัดส่วนของการส่งออกมากที่สุดถึงเกือบร้อยละ 80 ของการส่งออกข้าวนึ่งทั้งหมดของไทยน่าจะส่งผลให้การส่งออกข้าวนึ่งในปีนี้เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับตลาดข้าวนึ่งที่น่าสนใจคือ ตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับฯ คูเวต และโอมาน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกข้าวนึ่งไปยังตลาดตะวันออกกลางยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็น 180.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 จากที่ในปี 2551 การส่งออกข้าวนึ่งของไทยไปยังตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นถึง 2.1 เท่าตัว สำหรับตลาดข้าวนึ่งในเอเชียนอกจากภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว คือ รัสเซีย จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีข่าวว่าจีนกำลังหันมาสนใจขยายกำลังการผลิตข้าวนึ่ง แต่การส่งออกข้าวนึ่งของไทยยังมีโอกาสขยายตัว เพราะปัจจุบันการส่งออกข้าวนึ่งไปยังจีนยังไม่มากนัก และยังไม่มีการเจาะขยายตลาดอย่างจริงจัง

ผลจากการคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวนึ่งมีแนวโน้มสดใสในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2553 ทำให้ข้าวนึ่งกลายมาเป็นตัวนำตลาดข้าวของไทย ชดเชยแทนข้าวขาวที่เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม ส่งผลต่อตลาดข้าวไทย ดังนี้

1.โรงสีหันมาปรับเครื่องจักรเพื่อผลิตข้าวนึ่ง ปัจจุบันโรงสีข้าวขาวปรับเครื่องจักรหันมาผลิตข้าวนึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 40-50 โรง เนื่องจากปัจจุบันกำไรจากข้าวนึ่งดีกว่าการผลิตข้าวขาว อันเป็นผลมาจากข้าวนึ่งส่วนมากจะใช้ข้าวคุณภาพต่ำเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวนึ่งจะสูงกว่าข้าวขาว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวลในระยะยาว สำหรับโรงสีที่ปรับขยายกำลังการผลิตข้าวนึ่ง คือ ข้าวนึ่งพึ่งเฉพาะตลาดต่างประเทศ เนื่องจากการขยายตัวของตลาด อาจจะไม่มากพอจะรองรับปริมาณการผลิตข้าวนึ่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาผลผลิตข้าวนึ่งมากเกินความต้องการของตลาด ในขณะที่การผลักดันขยายตลาดข้าวนึ่งคุณภาพดียังทำได้ไม่รวดเร็วนัก โดยปัจจุบันแม้ว่าภาวะการล้นตลาดของข้าวนึ่งอาจจะยังไม่ปรากฎให้เห็นชัดเจน เนื่องจากอินเดียยังไม่กลับเข้าตลาด แต่ถ้ากลางปีหน้าอินเดียกลับเข้าตลาดแล้ว บรรดาโรงสีที่ปรับเครื่องจักรมาผลิตข้าวนึ่งอาจจะประสบปัญหา เนื่องจากระยะคืนทุนนั้นประมาณ 3 ปี

2.ราคาข้าวเปลือกในประเทศไม่ตกลงมากนัก สถานการณ์ส่งออกข้าวนึ่งที่อยู่ในสถานะดีกว่าการส่งออกข้าวขาวในปี 2552 จะส่งผลให้โรงสีที่ผลิตข้าวนึ่งต้องกว้านซื้อข้าวเปลือกในตลาด โดยต้องให้ราคาสูงกว่าราคารับจำนำของรัฐบาล รวมถึงราคารับประกัน ซึ่งความต้องการข้าวเปลือกของผู้ผลิตข้าวนึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยพยุงไม่ให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำมากนัก จากปัญหาการส่งออกข้าวขาวที่ตกต่ำมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2552

จากการคาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวนึ่งมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถึงช่วงกลางปี 2553 ทำให้ความต้องการข้าวเปลือกเพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวนึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งความต้องการจากโรงสีที่หันมาปรับขยายผลิตข้าวนึ่ง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าราคาข้าวเปลือกขาวจะไม่ตกต่ำมาก แม้ว่าจะเป็นช่วงต้นฤดูการผลิต และจะเป็นปัจจัยช่วยในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยของรัฐบาลให้กับชาวนาอีกทางหนึ่ง กล่าวคือ การขยายตัวของตลาดข้าวนึ่งน่าจะส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิงมีไม่มากนัก

บทสรุป
ผู้ส่งออกข้าวนึ่งของไทยได้รับอานิสงส์จากการงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติของอินเดีย ส่งผลให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาที่ชะลอการนำเข้าข้าวนึ่งในช่วงที่ผ่านมาของปี 2552 ต้องหันมาสั่งซื้อข้าวนึ่งจากไทย แม้ว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกข้าวนึ่งจะหดตัวก็ตาม โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ไปจนถึงกลางปี 2553 จะเป็นช่วงโอกาสทองของผู้ส่งออกข้าวนึ่งของไทย โดยเฉพาะการขยายตลาดในแอฟริกา ส่งผลให้ข้าวนึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการส่งออกข้าวของไทย โดยสัดส่วนของการส่งออกข้าวนึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะการส่งออกข้าวขาวยังเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนามต่อไป หลังจากในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้เวียดนามเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวขาวจากไทย จนกระทั่งการส่งออกข้าวขาวของไทยหดตัวมากเป็นประวัติการณ์

จากการคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ไปจนถึงกลางปี 2553 การส่งออกข้าวนึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมาก ทำให้บรรดาโรงสีข้าวหันมาปรับขยายการผลิตข้าวนึ่งรองรับการขยายตัวของการส่งออก รวมทั้งจากประเด็นด้านแรงจูงใจของกำไรจากการผลิตข้าวนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องกังวลในระยะยาว คือ อาจจะเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด เมื่ออินเดียกลับเข้าตลาดในช่วงครึ่งหลังปี 2553 เนื่องจากข้าวนึ่งพึ่งพาตลาดส่งออกทั้งหมด รวมทั้งอาจประสบกับความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้หากตลาดส่งออกผันผวน เนื่องจากระยะคืนทุนของโรงสีข้าวนึ่งประมาณ 3 ปี ขณะที่การหันไปขยายตลาดข้าวนึ่งคุณภาพสูงในตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐฯ รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซืแลนด์ อาจจะเพิ่มไม่เร็วเท่ากับการขยายตัวของปริมาณการผลิตข้าวนึ่งของโรงสีไทย

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจของผลจากการขยายตัวของการส่งออกข้าวนึ่ง คือ น่าจะช่วยพยุงให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศไม่ตกต่ำมากนัก แม้ว่าจะเป็นช่วงต้นฤดูการผลิต เนื่องจากโรงสีที่ผลิตข้าวนึ่งต้องกว้านซื้อข้าวเปลือกเพื่อทำการผลิตข้าวนึ่งเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัว ส่งผลให้รัฐบาลอาจจะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาอ้างอิงมากอย่างที่คาดกันไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องเพียงใด