FTA อาเซียน-จีน: โอกาสขยายการค้าของไทยและอาเซียนในมณฑลกว่างซี

งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-Asean Expo) ครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2552 ณ นครหนานหนิง มณฑลกว่างซี (เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานบริหารด้านเศรษฐกิจและการค้าของจีน และประเทศสมาชิกอาเซียนรวม 10 ประเทศได้แก่ ประเทศบรูไน พม่า มาเลเซีย สปป.ลาว สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย เพื่อขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของอาเซียน สัดส่วนราวร้อยละ 11.3 รองจากญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ตามลำดับ โดยในปี 2551 มีมูลค่าการค้ากว่า 192 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ1 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 ส่งผลให้การค้าระหว่างจีน-อาเซียนชะลอตัวลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างจีน-อาเซียนคิดเป็น 88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 23.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (y-o-y) มูลค่าการส่งออกของจีนไปประเทศอาเซียนคิดเป็น 44.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าของจีนจากประเทศอาเซียนคิดเป็น 43.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเกือบร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y)

สำหรับมณฑลกว่างซีนั้น มีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์โดยมีพื้นที่ติดกับทะเลจีนใต้และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าที่เชื่อมโยงภาคต่าง ๆ ของจีนกับประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ กว่างซีถือเป็นมณฑลแห่งเดียวของจีนที่สามารถเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างจีนและอาเซียนทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้กว่างซีดำเนินแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ กว่างซี ซึ่งมีผลให้แผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป้ยปู้กว่างซีได้รับการยกระดับเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติ และได้ถูกรวมเข้าไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติจีน2 ทำให้การค้าระหว่างประเทศของมณฑลกว่างซีกับอาเซียนมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนกับประเทศจีนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ตั้งของไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและอยู่ไม่ไกลจากมณฑลกว่างซี โดยสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไทยที่มีโครงการเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทย-จีนที่นครหนานหนิง ในมณฑลกว่างซีและนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยรัฐบาลไทยได้จัดเตรียมงบประมาณการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าติดตามคือ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ รัฐบาลไทยเตรียมเสนอโครงการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในอาเซียนรวม 3 โครงการต่อกองทุนอาเซียน-จีน3 โดยโครงการก่อสร้างเส้นทางอาร์ 12 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งจากกรุงเทพฯ เชื่อมต่อไปยังเมืองผิงเสียง ในมณฑลกว่างซีรวมอยู่ในโครงการนี้ด้วยซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างเสร็จในปี 2554 โดยเส้นทางขนส่งดังกล่าว น่าจะทำให้เส้นทางการขนส่งอาร์ 12 จากกรุงเทพฯ ไปยังมณฑลกว่างซีมีบทบาทมากขึ้น จะเป็นโอกาสขยายช่องทางการค้าของไทยในตลาดอาเซียนที่มีขนาดประชากรราว 560 ล้านคน และประเทศจีนซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยจำนวนประชากรสูงถึง 1.3 พันล้านคน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ภาพรวมการค้ามณฑลกว่างซีกับอาเซียน และการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับไทย รวมถึงแนวโน้มและโอกาสการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีภายใต้การเปิดเสรีการค้าอาเซียน-จีนดังนี้

ภาพรวมการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียน
อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการค้ารวมทั้งหมดในมณฑลกว่างซี รองลงมาได้แก่ กลุ่มสหภาพยุโรป บราซิล และสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยของการค้ารวมระหว่างมณฑลกว่างซีและอาเซียนปี 2549- 2551 อยู่ที่ร้อยละ 48.5 ส่วนอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยของการส่งออกและการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 50.4 และร้อยละ 53.8 ตามลำดับ โดยในปี 2550 การค้ารวมระหว่างมณฑลกว่างซีและอาเซียนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 59.2 จากปี 2549 (y-o-y) ส่วนอัตราการขยายตัวของการส่งออกพุ่งสูงถึงร้อยละ 76.1 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเหลือร้อยละ 39.4 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ส่งผลให้การค้ารวมในปี 2551 ขยายตัวต่ำกว่าปี 2550 ร้อยละ 22.1 (y-o-y) ส่วนการนำเข้าขยายตัวเพียงร้อยละ 8 จากปี 2550 (y-o-y) สำหรับการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ลดลงเกือบร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) เหลือมูลค่า 2,539 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,827 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.8 (y-o-y) ส่วนมูลค่าการนำเข้า 819 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.6 (y-o-y)

เป็นที่น่าสังเกตว่า การชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดของการนำเข้าในปี 2551 และการหดตัวของทั้งการส่งออกและนำเข้าระหว่างมณฑลกว่างซีและอาเซียนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากผลกระทบของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคการส่งออกของจีนชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศปรับตัวลงตามกำลังซื้อที่ถดถอยในตลาดต่างประเทศ ส่งผลเชื่อมโยงให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/ขั้นกลางของมณฑลกว่างซีเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัวตามไปด้วย โดยสินค้านำเข้าสำคัญของมณฑลกว่างซีที่ลดลงในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ได้แก่ สินค้าแร่ธาตุ ลดลงร้อยละ 21.9 ถั่วลิสง ลดลงร้อยละ 14.8 เคมีภัณฑ์ ลดลงเกือบร้อยละ 30 เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 23.3 และเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 21.8 เป็นต้น

หากพิจารณาการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนเป็นรายประเทศ พบว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี รองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ โดยในปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างกว่างซี-เวียดนามสูงถึง 3,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเกือบร้อยละ 32 จากปี 2550 (y-o-y) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.3 ของมูลค่าการค้าระหว่างกว่างซีและอาเซียนทั้งหมด โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.3 จากปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวจากปี 2550 ร้อยละ 10.1 (y-o-y) ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนการค้ารวมระหว่างกว่างซีกับไทยน้อยกว่าเวียดนามอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.9 ของการค้ารวมทั้งหมดของกว่างซี มีมูลค่าการค้ารวม 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 37.8 จากปี 2550 (y-o-y) อัตราการขยายตัวของการส่งออกของกว่างซีไปไทยในปี 2551 เติบโตร้อยละ 47.3 จากปี 2550 (y-o-y) และส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 20.4 จากปี 2550 สำหรับการค้ารวมระหว่างกว่างซีและไทยในช่วง ม.ค.-ส.ค.ของปี 2552 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หดตัวกว่าร้อยละ 37.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2551(y-o-y) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังมณฑลกว่างซีได้แก่ สินค้าเกษตรอาทิ ผัก ผลไม้ และยางพารา รวมถึงอัญมณี และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เวียดนามมีศักยภาพทางการค้าในมณฑลกว่างซีสูงกว่าไทยนั้น น่าจะมีสาเหตุมาจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับมณฑลกว่างซี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับเวียดนาม อีกทั้งเวียดนามยังได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีจากจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกันด้วย ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของเวียดนามในอาเซียน อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนา โลจิสติกส์ของไทยที่เชื่อมโยงระบบขนส่งสินค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าเข้าสู่มณฑลกว่างซีของจีนผ่านเส้นทางอาร์ 9 และอาร์ 12 น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยกับคู่แข่งทางการค้ากับประเทศอื่นในอาเซียน ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการส่งออกของสินค้าไทยไปยังตลาดจีนจากประโยชน์ของการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของทั้งตลาดอาเซียนและจีนในอนาคต

แนวโน้มและโอกาสการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีภายใต้การเปิดเสรีการค้าอาเซียน-จีน
สำหรับแนวโน้มการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีและไทยคาดว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และขยายตัวในแดนบวกในปี 2553 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2552 เติบโตดีขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (y-o-y) เทียบกับในไตรมาสแรกของปีนี้ที่เติบโตในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (y-o-y) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของทางการจีนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาที่ได้ทุ่มงบประมาณฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในการกระตุ้นภาคบริโภคภายในประเทศที่ช่วยบรรเทาปัญหาการหดตัวของภาคการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก กอปรกับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนอย่างสมบูรณ์ในปี 2553 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการผลักดันความสัมพันธ์ด้านการค้าและโอกาสการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีและไทยให้ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

ทั้งนี้ การเปิดเสรีการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนกับจีนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Program) และการลดภาษีสินค้าทั่วไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้4

การลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Program)
ในส่วนของการลดภาษีสินค้าบางส่วนทันทีนั้น ไทยและจีนได้มีการลงนามความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการลดภาษีสินค้าเกษตรพิกัด 07-08 (ผักและผลไม้) เหลือร้อยละ 0 ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 เนื่องจากจีนและไทยเล็งเห็นศักยภาพทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 กำหนดลดภาษีสินค้าพิกัด 01-08 (สัตว์และพืช) เหลือร้อยละ 0 นอกจากนี้ไทยและจีนยังได้ลงนามตกลงเร่งลดภาษีสินค้าเฉพาะอีก 2 รายการคือ ถ่านหินแอนทราไซด์และถ่านหินโค้ก/เซมิโค้ก โดยกำหนดให้จีนและประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ5 ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2549 ส่วนประเทศอาเซียนใหม่อีก 4 ประเทศ6จะยืดหยุ่นระยะเวลาให้ถึงปี 2553 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนได้แก่ ลำใยแห้ง ทุเรียน ส้มโอ สับปะรด และมันสำปะหลัง ขณะที่สินค้านำเข้าของไทยจากจีนได้แก่ แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ควิน เห็ด หอมและกระเทียม7 และมันฝรั่ง เป็นต้น

การลดภาษีสินค้าทั่วไป
การเปิดเสรีสินค้าทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ สินค้าปกติ (Normal Track) สินค้าอ่อนไหว (Sensitive Track) และสินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive Track) สำหรับสินค้าปกติ กว่า 6,500 รายการ เริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 โดยกำหนดให้อัตราภาษีของสินค้าทั้งหมดจะต้องลดลงเหลือร้อยละ 0 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2553 ส่วนสินค้าอ่อนไหว จะลดภาษีเหลือร้อยละ 20 ในปี 2555 และมีอัตราภาษีสุดท้ายอยู่ที่ร้อยละ 0-5 ในปี 2561 รายการสินค้าอ่อนไหวได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำตาล กาแฟ ชา ข้าวบางชนิด หินอ่อน รองเท้าที่ทำด้วยยาง แก้วและกระจก เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ และของเล่น เป็นต้น ขณะที่สินค้าอ่อนไหวสูง จะต้องลดภาษีมาอยู่ไม่เกินร้อยละ 50 ภายในปี 2558 โดยสินค้าอ่อนไหวสูงได้แก่ กาแฟ ข้าวสาลี ปุ๋ย ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์สี รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายใต้สิทธิประโยชน์การลดภาษีเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน สินค้าที่ได้รับสิทธิการลดภาษีต้องอยู่ภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า คือ สินค้าเกษตรพื้นฐานต้องใช้วัตถุดิบภายในทั้งหมด ส่วนสินค้าอื่น ๆ ต้องมีมูลค่าของวัตถุดิบที่ใช้ภายในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 โดยสามารถนำมูลค่าของวัตถุดิบจากทุกประเทศสมาชิกมารวมกันได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในแง่ของต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าในการเสาะหาและเลือกสรรวัตถุดิบที่เหมาะสมและมีต้นทุนต่ำในแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าภายใต้การเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน-จีนดังกล่าว เป็นโอกาสการขยายช่องทางส่งออกสินค้าของไทยไปยังมณฑลกว่างซีให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่มีศักยภาพในตลาดจีนเนื่องจากความต้องการในผู้บริโภคชาวจีนที่ขยายตัวมากขึ้น โดยผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคจีนได้แก่ ทุเรียน ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ลำใย มังคุด มะขาม มะม่วง เงาะ และกล้วย ส่วนสินค้าส่งออกของไทยประเภทอื่นที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันพืช ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางการขนส่งสินค้าทางเส้นทางอาร์ 9 จากจังหวัดมุกดาหาร ผ่านประเทศลาว เวียดนาม เข้าสู่ประเทศจีนทางด่านผิงเสียงเป็นเส้นทางกระจายสินค้าเข้าไปยังมณฑลกว่างซี และเส้นทางอาร์ 12 ที่อยู่ในแผนก่อสร้างเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งไปยังด่านผิงเสียงที่คาดว่าจะสร้างเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นในอาเซียน อีกทั้ง ในช่วงปลายปีนี้ทางการไทยและจีนมีแผนหารือร่วมกันในรายละเอียดด้านเทคนิคด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามันพืชไทย-จีน ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างกันมากขึ้น8 นอกจากโอกาสทางการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังเปิดโอกาสการขยายตัวของภาคการลงทุนและการค้าบริการในภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ของผู้ประกอบการไทย โดยอุตสาหกรรมการลงทุนของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบ ส่วนโอกาสการลงทุนในภาคธุรกิจบริการได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีก การเงินและธนาคาร เป็นต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายทางการจีนที่ต้องการขยายความเจริญจากทางตะวันออกเข้ามายังพื้นที่ตอนใน โดยเน้นการพัฒนาหลายสาขาโดยเฉพาะภาคบริการเช่น ภาคธนาคารและโลจิสติกส์ รวมทั้งยังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยวและค้าปลีก เป็นต้น

สรุปและข้อคิดเห็น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-Asean Expo) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2552 ณ นครหนานหนิง มณฑลกว่างซี (เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี) เป็นการขยายความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างจีน-อาเซียน โดยเฉพาะการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีซึ่งเปรียบเสมือนประตูการค้าสำคัญระหว่างจีนและอาเซียน โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าของไทยและประเทศอาเซียนกับประเทศจีนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไทยที่มีโครงการเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทย-จีนที่นครหนาน หนิง ในมณฑลกว่างซีและนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองคือ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้ รัฐบาลไทยได้เตรียมเสนอโครงการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในอาเซียนรวม 3 โครงการต่อกองทุนอาเซียน-จีน โดยมีโครงการก่อสร้างเส้นทางอาร์ 12 ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งจากกรุงเทพฯ เชื่อมต่อไปยังเมืองผิงเสียง ในมณฑลกว่างซีรวมอยู่ด้วย การขยายเส้นทางขนส่งอาร์ 12 ไปยังมณฑลกว่างซีดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสนับสนุนโอกาสการขยายช่องทางการค้าของไทยในตลาดจีนผ่านมณฑลกว่างซี

ปัจจุบันอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการค้ารวมทั้งหมดในมณฑลกว่างซี โดยในปี 2551 การค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนมีมูลค่ารวม 3,987 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว่าร้อยละ 37 จากปี 2550 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอาเซียนขยายตัวร้อยละ 56.8 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) ส่วนมูลค่าการนำเข้าจากประเทศอาเซียนขยายตัวร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า (y-o-y) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้การค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ลดลงเกือบร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (y-o-y) โดยสินค้านำเข้าสำคัญที่ขยายตัวลดลงในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2552 ได้แก่ สินค้าแร่ธาตุ ถั่วลิสง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนเป็นรายประเทศ พบว่า เวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลกว่างซี รองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ โดยในปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างกว่างซี-เวียดนามสูงถึง 3,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเกือบร้อยละ 32 จากปี 2550 (y-o-y) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.3 ของมูลค่าการค้าระหว่างกว่างซีและอาเซียนทั้งหมด ขณะที่ไทยมีสัดส่วนการค้ารวมระหว่างกว่างซีกับไทยน้อยกว่าเวียดนามอย่างเห็นได้ชัด โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.9 ของการค้ารวมทั้งหมดของกว่างซี มีมูลค่าการค้ารวม 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 37.8 จากปี 2550 (y-o-y) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังมณฑลกว่างซีได้แก่ สินค้าเกษตรอาทิ ผัก ผลไม้ และยางพารา รวมถึงอัญมณี และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ การที่เวียดนามมีศักยภาพทางการค้าในมณฑลกว่างซีสูงกว่าไทยน่าจะมีสาเหตุมาจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพรมแดนติดกับมณฑลกว่างซี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับเวียดนาม และยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากจีนสำหรับประเทศที่มีพรมแดนติดกันด้วย อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนา โลจิสติกส์ของไทยที่เชื่อมโยงระบบขนส่งสินค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าเข้าสู่มณฑลกว่างซีของจีนทางเส้นอาร์ 9 และอาร์ 12 น่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยกับคู่แข่งทางการค้าในประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความทัดเทียมกันโดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าสำคัญของไทย นอกจากนี้ ไทยยังจะได้รับประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของทั้งตลาดอาเซียนและจีน

ทั้งนี้ คาดว่าการค้าระหว่างมณฑลกว่างซีกับอาเซียนในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น และขยายตัวในแดนบวกในปี 2553 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากขยายตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 และปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนอย่างสมบูรณ์ในปี 2553 โดยสินค้าในบัญชีปกติจะมีภาษีเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีของจีนคือ ผลไม้ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคจีนที่ขยายตัวมากขึ้น ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนได้แก่ ทุเรียน ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ลำใย มังคุด มะขาม มะม่วง เงาะ และกล้วย ส่วนสินค้าส่งออกของไทยประเภทอื่นที่มีศักยภาพในมณฑลกว่างซีได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป/แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา น้ำมันพืช ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น นอกจากโอกาสทางการค้าของไทยในมณฑลกว่างซีที่ได้กล่าวมาข้างต้น ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่โอกาสการขยายตัวของภาคลงทุนและการค้าภาคบริการในภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ของผู้ประกอบการไทยโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและจีน อุตสาหกรรมการลงทุนของไทยที่มีศักยภาพได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบ ส่วนโอกาสการลงทุนในภาคธุรกิจบริการได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีก การเงินและธนาคาร เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานงานและขยายความร่วมมือกับประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายละเอียดพิธีการการขนส่งสินค้าระหว่างกัน เพื่อขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมแก่การคมนาคมขนส่งของไทยมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการไทยควรทำการศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในตลาดจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้ง ผู้ประกอบการยังควรคำนึงถึงคุณภาพสินค้าและการพัฒนาตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้บริโภคเพื่อประสบความสำเร็จในธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐในการให้ข้อมูลด้านการค้าที่เป็นประโยชน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ