การส่งออกของไทยในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราหดตัวชะลอลงเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 8.5 ตามสัญญาณบวกของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกไปตลาดหลักล้วนหดตัวชะลอลงไม่ว่าจะเป็นตลาดอาเซียนลดลงร้อยละ 16.7 จากเดือนเดียวกันของปี 2551 (YoY) เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 17.5 ในเดือนสิงหาคม (YoY) ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 19.3 (จากติดลบร้อยละ 30.4 ในเดือนก่อนหน้า) สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.9 (จากติดลบร้อยละ 23.1 ในเดือนก่อนหน้า) และสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 23.3 (จากติดลบร้อยละ 31 ในเดือนก่อนหน้า) สำหรับตลาดจีน การส่งออกของไทยไปจีนสามารถขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยเติบโตร้อยละ 4.5 ในเดือนกันยายน (YoY) สูงขึ้นจากที่ขยายตัว ร้อยละ 1.2 ในเดือนก่อนหน้า (YoY) ขณะที่มูลค่าการส่งออกในเดือนกันยายนอยู่ที่ 1.468 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคมที่มีมูลค่า 1.471 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 6.2 (YoY) ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.1 ในไตรมาสที่ 2 และร้อยละ 27.6 ในไตรมาสแรก ส่งผลให้การส่งออกไปจีนในช่วง 9 เดือนแรกลดลงเหลือร้อยละ 14 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 18 ในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าการส่งออกไปจีนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2551 และปัจจัยบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจภายในจีนและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนขยายตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย
แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจีน & ตลาดต่างประเทศปรับดีขึ้น
การส่งออกของไทยไปจีนที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนกันยายนได้แรงขับเคลื่อนจากความต้องการภายในจีนที่ขยายตัวตามการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ ของภาครัฐตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การก่อสร้างถนน รถไฟ โรงไฟฟ้า และที่อยู่อาศัยสาธารณะ รวมทั้งการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ที่ส่งผลขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 เติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 จากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 2 และร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนเติบโตร้อยละ 13.9 (YoY) สูงที่สุดในรอบกว่า 1 ปี ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยการเติบโตของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้อานิสงส์จากการปรับลดภาษีซื้อรถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1.6 ลิตรเหลือร้อยละ 5 จากเดิมที่ ร้อยละ 10 รวมทั้งการให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรเพื่อยกระดับสินค้ายานยนต์ในภาคเกษตร และให้เงินช่วยเหลือเจ้าของรถแวนและรถบรรทุกขนาดเล็กเพื่อยกระดับรถยนต์ ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ในจีนเดือนกันยายนยังคงขยายตัวร้อยละ 78.8 (YoY) เป็น 1.36 ล้านคัน และยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.8 (YoY) เป็นจำนวนสูงสุดต่อเดือนที่ 1.33 ล้านคัน ยอดขายรถในช่วง 9 เดือนแรกในจีนมีจำนวน 9.66 ล้านคัน คาดว่าจีนจะกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในปีนี้ และตลาดรถยนต์ในจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ราคาบ้านใน 70 เมืองสำคัญขนาดใหญ่และขนาดกลางของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ในเดือนกันยายน (YoY) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เติบโตร้อยละ 2 ส่งผลให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเขตเมืองเติบโตร้อยละ 33.3 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนยอดค้าปลีกในเดือนกันยายนยังคงเติบโตได้ร้อยละ 15.5 (YoY)
ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบประเภทสินแร่และวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งสินค้ายานยนต์ และวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางต่างๆ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวได้ สะท้อนจากการนำเข้าของจีนเดือนกันยายนที่หดตัวชะลอลงค่อนข้างมากเหลือร้อยละ 3.5 (YoY) ต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน สินค้านำเข้าสำคัญของจีนในเดือนกันยายนที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ สินแร่เหล็ก หดตัวชะลอเหลือร้อยละ 3.8 (YoY) เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 30 ในเดือนก่อนหน้า เครื่องไฟฟ้าและเครื่องจักร ลดลงร้อยละ 0.8 (จากที่ลดลงร้อยละ 13.5 ในเดือนก่อนหน้า) มอเตอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.9 (จากที่ลดลงร้อยละ 12.7 ในเดือนก่อนหน้า) และเหล็ก ลดลงร้อยละ 9.6 (จากที่ลดลงร้อยละ 22.2 ในเดือนก่อนหน้า) ขณะที่การนำเข้ายางสังเคราะห์ สามารถขยายตัวร้อยละ 14.9 (จากที่ลดลงร้อยละ 17.9 ในเดือนก่อนหน้า)
สาเหตุอีกประการที่ทำให้การนำเข้าของจีนปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราหดตัวชะลอลงค่อนข้างมาก เนื่องจากภาคส่งออกของจีนปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศแกนนำหลักที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของจีนเพื่อใช้ผลิตส่งออกกระเตื้องขึ้นในเดือนกันยายน โดยการส่งออกของจีนในเดือนกันยายนเริ่มหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 15.2 (YoY) จากที่ลดลงร้อยละ 23.1 ในเดือนก่อนหน้า (YoY) ถือเป็นอัตราลดลงน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน โดยการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดหลักของจีนปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในเดือนกันยายนนับตั้งแต่ที่ทรุดตัวลงในเดือนพฤศจิกายน 2551 ส่วนการส่งออกสินค้าของจีนที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอ รองเท้า และของเล่นมีอัตราหดตัวชะลอลงเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 8 ร้อยละ 4 และร้อยละ 7 ตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอัตราขยายตัวของการส่งออกโดยรวมของจีนที่ยังหดตัวเป็นเลข 2 หลัก
การส่งออกของไทยไปจีน … แนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนกันยายนหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม สินค้าที่ขยายตัวสูงขึ้นในเดือนกันยายน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนสินค้าส่งออกที่มีอัตราหดตัวชะลอลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และยางพารา ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ขยายตัวเป็นบวกแต่อัตราชะลอลง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลไม้สดแช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง สำหรับคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบถือเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้การส่งออกไปจีนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกไปจีนมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปจีน แม้การส่งออกในเดือนกันยายนยังมีอัตราติดลบเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2551 แต่หากเทียบกับเดือนสิงหาคมก่อนหน้า พบว่าสามารถขยายตัวได้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในอัตราร้อยละ 11.4 (MoM) จากเดือนสิงหาคมที่เติบโตร้อยละ 5.7 (MoM)
อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยบางรายการกลับมาหดตัวในเดือนกันยายนจากเดือนก่อนหน้าที่ยังขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และมอเตอร์/เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้าและวงจรพิมพ์หดตัวสูงขึ้นในเดือนกันยายน สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการนำเข้าของจีนที่เพิ่มขึ้นหลายรายการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับปกติ ความต้องการนำเข้าจึงเริ่มชะลอลง สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าของจีนหลายรายการเริ่มชะลอลง รวมถึงการนำเข้าถั่วเหลืองในเดือนกันยายนที่ลดลงร้อยละ 33 (YoY) หลังจากที่ปริมาณถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 4.71 ล้านตันในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในจีนหลายรายการที่ปรับลดลงตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนเกิดภาวะการผลิตส่วนเกิน เช่น เหล็กและซีเมนต์ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีราคาปรับสูงขึ้นตาม ทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกชะลอลง และหันมาใช้สินค้าในประเทศมากขึ้น สะท้อนจากการส่งออกเหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ไปจีนเดือนกันยายนที่กลับมาหดตัวร้อยละ 48 (YoY) จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 58 (YoY) และหดตัวร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)
การนำเข้าสินค้าหลายรายการของจีนคาดว่าอาจชะลอลงในระยะต่อไปตามปริมาณสินค้าคงคลังของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับปกติแล้ว หลังจากการนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้นติดต่อกันหลายเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนนำเข้ามากเพื่อใช้ในภาคก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกสินค้าบางรายการของประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยไปจีนอาจชะลอลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยที่ใช้สำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นการบริโภคต่อเนื่องของทางการจีน ทำให้อุตสาหกรรมสำคัญๆ ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ ที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ทำให้คาดว่าสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ที่สำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์
สรุป การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายนอยู่ที่ 1.468 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคมที่มีมูลค่า 1.471 พันล้านดอลลาร์ศหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 13 เดือน ขณะที่สามารถขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และมีอัตราเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 (YoY) จากร้อยละ 1.2 ในเดือนสิงหาคม (YoY) ตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 สามารถเติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 (YoY) จากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 2 และ ร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก เนื่องจากแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ทำให้ความต้องการของภาคเศรษฐกิจภายในจีนในไตรมาสที่ 3 เติบโตได้ต่อเนื่องทั้งในภาคการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ และเครื่องไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับความต้องการในต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นสะท้อนจากการส่งออกของจีนในเดือนกันยายนที่หดตัวชะลอลงต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน เหลือร้อยละ 15.2 (YoY) จากร้อยละ 23 ในเดือนก่อนหน้า (YoY) ขณะที่ความต้องการนำเข้าของจีนหดตัวชะลอลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือนเหลือร้อยละ 3.5 (YoY) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวได้ต่อเนื่องในเดือนกันยายนนี้ และเป็นการเติบโตที่ดีกว่าตลาดส่งออกอื่นๆ ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักอย่างอาเซียน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราหดตัวชะลอลงในเดือนกันยายนตามสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้สินค้าส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญกับความต้องการนำเข้าของจีนที่ชะลอลงหลังจากที่ปริมาณสินค้าคงคลังเริ่มเข้าสู่ระดับปกติแล้วสำหรับสินค้าบางรายการ เช่น เหล็ก และทองแดง ที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาในช่วงก่อนหน้านี้ แต่คาดว่าปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ตามแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของทางการจีนที่อัดฉีดเงินมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการบริโภคและการลงทุน โดยสาขาเศรษฐกิจที่ได้อานิสงส์ ได้แก่ เครื่องไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปเมื่อปริมาณสินค้าคงคลังเริ่มปรับลดลง ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องไฟฟ้า/ส่วนประกอบอื่นๆ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งน่าจะได้แรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกไปต่างประเทศของจีนที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น แม้ว่าความต้องการในตลาดเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก็ตาม เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ส่งผลให้การบริโภคยังอ่อนแรง แต่ก็คาดว่าจะช่วยให้ความต้องการนำเข้าเพื่อการผลิตส่งออกของจีนกระเตื้องขึ้นได้สะท้อนจากการส่งออกสิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นของจีนมีอัตราหดตัวชะลอลงค่อนข้างมากในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงตลาดต่างประเทศที่กลับมากระเตื้องขึ้น ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสำหรับงานเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี